ชาติไทยมีพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่นับรวมจนถึงปัจจุบันนี้๘ พระองค์ และเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทุกพระองค์มีแก่ประเทศชาติ ตลอดจนพระปรีชาสามารถ จึงมีการถวายพระสมัญญานามว่า “มหาราช”
พระมหากษัตริย์ผู้เป็นมหาราชพระองค์แรกของชาติไทยคือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระองค์เป็นพระราชโอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ที่นับกันว่าเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของชาติไทย โดยพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพ่อขุนบานเมืองผู้เป็นพระเชษฐา จึงเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ ๓ ของอาณาจักรสุโขทัย พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความกล้าหาญและมีพระปรีชาสามารถทั้งในด้านการรบและการบริหารบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง
ในด้านการรบนั้น ต้องถือว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ชาตินักรบอย่างแท้จริง โดยขณะที่มีพระชนมพรรษาได้ ๑๙ พรรษา พระองค์ได้ตามเสด็จไปในกองทัพ ของสมเด็จพระราชบิดา เพื่อกระทำศึกกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดซึ่งยกทัพมาตีเมืองตากซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของกรุงสุโขทัยในยุคนั้น พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ได้เข้ากระทำยุทธหัตถีกับพ่อขุนสามชนและกำลังจะเสียเปรียบ พ่อขุนรามคำแหงซึ่งทรงช้างเนกพลจึงไสช้างเข้ากระทำการต่อสู้แทนพระราชบิดา และสามารถเอาชนะพ่อขุนสามชนได้ จึงถือเป็นเกียรติประวัติด้านการรบที่สำคัญยิ่ง ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และเมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์ก็ได้ขยายอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัยออกไปอย่างมาก ครอบคลุมหัวเมืองในภาคเหนือทั้งหมด ไปจนถึงเวียงจันทน์ ส่วนทางใต้ก็ไปถึงราชบุรี เพชรบุรีและนครศรีธรรมราช
นอกจากพระปรีชาสามารถในด้านการรบแล้ว พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ยังเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถในเรื่องการบริหารปกครองบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง จนเจริญรุ่งเรืองและประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข ดังที่ปรากฏข้อความในหลักศิลาจารึกหลักที่ ๑ ที่ได้กล่าวไว้ว่า
“เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้าง ค้าใครจักใคร่ค้าม้า ค้า ใครจักใคร่ค้าเงินค้าทอง ค้า” ซึ่งแสดงว่าพระองค์ให้เสรีภาพแก่การค้าอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดว่า เมื่อพ่อแม่ถึงแก่ชีวิตนั้น ทรัพย์สินทั้งหลายให้ตกแก่ลูก ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน เสื้อผ้า ช้างม้า เรือกนาไร่สวนทั้งหมด เมื่อมีคดีความต่างๆ เกิดขึ้น ก็ให้มีการไต่สวนและตัดสินโดยไม่ให้มีความลำเอียง ไม่เข้าข้างผู้ที่กระทำผิด ที่บานประตูพระราชวังยังให้มีกระดิ่งแขวนไว้ เพื่อให้ประชาชนทั้งหลายที่หากมีความขัดข้องหมองใจหรือมีเรื่องราวต่างๆ ก็สามารถจะร้องเรียนได้โดยไปลั่นกระดิ่งที่แขวนไว้ เมื่อพระองค์ได้ยินก็จะมีการสอบสวนแล้วตัดสินด้วยความเป็นธรรม เป็นที่ชื่นชมของราษฎรเป็นอย่างมาก พระองค์ยังส่งเสริมการเกษตรตามที่ปรากฏในจารึกว่า “ให้สร้างป่าหมากป่าพลูทั่วเมืองทุกแห่ง ป่าพร้าวก็หลายในเมืองนี้ ป่าลาวก็หลายในเมืองนี้ หมากม่วงก็หลายในเมืองนี้ มะขามก็หลายในเมืองนี้ ใครสร้างไว้ได้แก่มัน”
พระองค์ยังเป็นผู้มีพระปรีชาสามารถเป็นอย่างยิ่งในเรื่องการชลประทาน โดยมีการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ และทำระบบชลประทานให้เมืองสุโขทัยโดยเก็บน้ำไว้ในตระพัง ใช้หล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรต่างๆ ทำให้สุโขทัยเป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างยิ่ง
หลักฐานของอ่างเก็บน้ำซึ่งยังปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ คือที่เรียกกันว่าสรีดภงส์หรือทำนบพระร่วง ซึ่งเป็นเขื่อนดินขนาดใหญ่ของเมืองสุโขทัย ถือเป็นหัวใจของความอุดมสมบูรณ์ภายในเมืองนี้ เขื่อนดินแห่งนี้ ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองสุโขทัยทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ห่างออกไปประมาณ ๒ กิโลเมตรเศษ บริเวณส่วนหนึ่งของแนวเทือกเขาประทับ อันเป็นแหล่งที่อุดมด้วยพืชพันธุ์ไม้ต่างๆ รวมทั้งพืชสมุนไพรและเป็นพื้นที่เปรียบเสมือนหลังคาที่สามารถรองรับน้ำฝนได้อีกด้วย
ซึ่งนับว่าเป็นความชาญฉลาดของพระองค์ ที่ทำให้เกิดการสร้างเขื่อนกั้นน้ำขนาดใหญ่ในระหว่างหุบเขา ตั้งแต่บริเวณกิ่วอ้ายมาถึงเขาพระบาทใหญ่ อันเป็นที่รวมของน้ำจากโขกต่างๆ มากถึง ๑๗ โขกเป็นคันดินสำหรับผันทิศทางของน้ำที่เรียกว่าสรีดภงส์ ซึ่งกล่าวไว้ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ น้ำจากสรีดภงส์นี้จะถูกระบายไปตามคลองเสาหอ เพื่อใช้ในการอุปโภค-บริโภคภายในเมือง โดยเข้าสู่เมืองทางมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้
ปัจจุบันนี้กรมชลประทานร่วมกับกรมศิลปากรได้ปรับปรุงสรีดภงส์ขึ้นใหม่ จากเดิมที่เป็นแนวคันดินสูงประมาณ ๑-๒ เมตร ให้มีความสูงและแข็งแรงมากกว่าเดิม โดยสูงประมาณ ๑๐ เมตร และทอดยาวประมาณ ๔๐๐ เมตร เพื่อใช้ในการกักเก็บน้ำ ซึ่งสามารถกักเก็บได้ถึง ๔ แสนลูกบาศก์เมตร เป็นประโยชน์ต่อพื้นที่เกษตรกรรมในบริเวณดังกล่าวมาก
นี่คือพระปรีชาสามารถและวิสัยทัศน์อันเป็นเลิศของอดีตพระมหากษัตริย์ไทย ที่เป็นมหาราชพระองค์แรกคือพ่อขุนรามคำแหง
ในเรื่องของพระปรีชาสามารถในเรื่องของน้ำและการจัดการน้ำของพระมหากษัตริย์นั้น คงต้องกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ผู้เป็นมหาราชที่เป็นที่รักยิ่งของประชาชนชาวไทยอีกพระองค์หนึ่ง นั่นคือพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ที่ทรงพระปรีชาสามารถอย่างแท้จริงในเรื่องน้ำและการจัดการน้ำ ตลอดรัชสมัยของพระองค์ได้ทรงจัดให้มีการสร้างเขื่อนใหญ่หลายแห่งทั่วประเทศ ที่สำคัญยิ่งคือเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ทั้งนี้ยังมีการสร้างอ่างเก็บน้ำกระจายไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย รวมทั้งการจัดการสร้างแก้มลิงในพื้นที่ต่างๆ เพื่อเป็นจุดพักน้ำ อันช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมได้อย่างดียิ่ง และยังทรงคิดค้นเรื่องของฝนหลวงจนสำเร็จ ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งได้เป็นอย่างดี พระปรีชาสามารถของพระองค์นั้นเป็นที่เลื่องลือและได้รับการเชิดชูพระเกียรติจากนานาชาติ
ประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่มาหลายครั้ง ครั้งที่ร้ายแรงและก่อให้เกิดความเสียหายมากที่สุดเกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นที่จดจำได้เป็นอย่างดี ในยุคที่มีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก ซึ่งเมื่อจะเกิดเหตุการณ์นั้น ได้ออกมาใช้คำพูดที่ว่า “เอาอยู่” เพื่อยืนยันว่ารัฐบาลสมัยนั้นจะจัดการไม่ให้เกิดปัญหาได้ แต่ก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง โดยไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่าเพราะมีการแทรกแซงของรัฐบาลไปยังองค์กรต่างๆ ที่มีความรู้และความสามารถในเรื่องของการจัดการน้ำ
จากปัญหาฝนตกหนักในปีนี้ ซึ่งเกิดจากปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้ขณะนี้มีน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงเกิดน้ำท่วมในจังหวัดภาคเหนือตั้งแต่เชียงราย แพร่ น่าน สุโขทัย ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายมากพอควร โดยเฉพาะจังหวัดสุโขทัย ซึ่งยังมีมวลน้ำจำนวนมากท่วมอยู่ มวลน้ำส่วนนี้ในที่สุดจะไหลลงมาสู่ภาคกลาง และหากมีฝนตกหนักซ้ำซ้อนก็จะทำให้เกิดผลกระทบจากมวลน้ำจำนวนมากที่จะผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลงมาสู่พื้นที่ราบลุ่มรอบกรุงเทพฯและใกล้เคียง จึงเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวัง และวางแผนจัดการน้ำให้ระบายน้ำลงสู่ปากน้ำเจ้าพระยาบริเวณอ่าวไทยให้เร็วที่สุด
คนไทยยังมีน้ำใจให้กันเสมอ เมื่อเกิดน้ำท่วมจึงมีผู้ที่มีจิตเมตตา ทั้งที่เป็นองค์กรของภาครัฐเอกชนและบุคคลทั่วไปจำนวนไม่น้อยได้ออกไปช่วยประชาชน ในพื้นที่น้ำท่วม นอกจากเรื่องของการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยบางแห่งให้มาอยู่ในที่พักชั่วคราว ยังรวมไปถึงการนำสัมภาระต่างๆ ไปจ่ายแจกเพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์ที่เกิดขึ้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑๐ ก็ได้ทรงมีพระเมตตาให้นำถุงยังชีพพระราชทานบรรจุสิ่งของที่จำเป็นไปแจกจ่ายยังพื้นที่ต่างๆ เป็นจำนวนมากมายมหาศาล โดยมีกองทัพได้ส่งกำลังทหารเข้าไปทั้งในการช่วยเหลือราษฎรและการแจกจ่ายถุงพระราชทานเหล่านั้น นำความปลาบปลื้มใจมาสู่ผู้ประสบภัยเป็นอย่างมาก
แต่ก็ยังมีพรรคการเมืองบางพรรค ที่หัวหน้าพรรคได้ไปกล่าวหาเสียงและพูดพาดพิงถึงการแจกจ่ายถุงยังชีพทั้งหลายว่า เป็นการสร้างบุญคุณในระบบอุปถัมภ์ และพรรคนั้นจะไม่ทำ ซึ่งถือว่าเป็นคำพูดที่เลวร้ายและไม่ควรจะเกิดขึ้นในสังคมไทย
และยังมีบางพรรคที่ใช้โอกาสนี้ไปหาเสียงตามพื้นที่ โดยออกข่าวว่าจะไปเยี่ยมเยือนประชาชนที่เดือดร้อน แต่ก็เป็นเรื่องแปลกเพราะแทนที่จะลงไปหาประชาชนที่เดือดร้อนจริง กลับกลายเป็นว่ามีการนำประชาชนที่เดือดร้อนมาพบปะกับผู้บริหารระดับสูงและระดับหัวหน้าพรรคการเมือง เป็นเรื่องของการสร้างภาพ ใช้การตลาดในการบริหารบ้านเมือง จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรได้รับการชื่นชม
ขอให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยจากน้ำท่วมเป็นการช่วยเหลือที่มาจากใจที่บริสุทธิ์ จากน้ำใจที่ดีงาม โดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น สิ่งนี้ต่างหากที่ควรได้รับการสรรเสริญ
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี