เมื่อวานนี้ มีรายงานว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าอาคารชินวัตร 3
แต่เลี่ยงเข้าอาคารทางชั้นใต้ดิน เพื่อหลบกล้องสื่อมวลชนที่รออยู่บริเวณด้านหน้าอาคาร
หลังจากนั้น เวลา 11.40 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าอาคารชินวัตร 3 แสดงอาการยิ้มแย้มแจ่มใส ทักทายสื่อมวลชน
1. ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี
นายกฯอุ๊งอิ๊งค์ ลูกสาวนายทักษิณ เปิดเผยว่า เรียบร้อยแล้ว
เมื่อถามว่า จะสามารถนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯได้เมื่อไหร่?
นายกฯ อุ๊งอิ๊งค์ กล่าวว่า ขอไปคุยกับนายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯก่อน เพื่อดูขั้นตอนความเรียบร้อย แต่โผทุกอย่างนิ่งแล้ว
เมื่อถามว่า กังวลเรื่องของคุณสมบัติจะมีการร้องเรียนตามมาภายหลังหรือไม่?
นายกฯ อุ๊งอิ๊งค์โบกมือ พร้อมกับบอกว่า ไม่ซี (ไม่ซีเรียส)
2. ถึงวันนี้ ไม่มีใครสงสัยแล้วว่า ทักษิณยังมีบทบาททางการเมืองต่อพรรคเพื่อไทย นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลชุดใหม่ หรือไม่?
แต่ที่สงสัยและหวั่นวิตก คือ
ระหว่างการที่นายกฯอุ๊งอิ๊งค์ จะเผลอคิดว่าตัวเองเก่งกล้าสามารถที่จะนำพาบ้านเมืองได้ด้วยตนเองจริงๆ
กับ การที่นายกฯอุ๊งอิ๊งค์จะเห็นผิดว่าบ้านเมืองเหมือนของเล่นอีกชิ้นหนึ่งที่บิดาหยิบยื่นให้ เบื่อเมื่อไหร่จะเลิกเล่นก็ได้ โดยไม่ต้องระมัดระวังถึงผลกระทบใดๆ ?
อย่างไหน จะอันตรายกว่ากัน?
แบบไหน จะเกิดผลเลวร้ายมากกว่ากัน?
จึงได้แต่หวังว่า นายกฯอุ๊งอิ๊งค์จะตระหนักว่า นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
ภารกิจนายกรัฐมนตรี คือ ผู้นำประเทศ จะทำตามใจตัวเองไม่ได้เด็ดขาด จะต้องฟังเสียงประชาชน ทั้งที่ชอบและไม่ชอบ ฟังเสียงพรรคร่วมรัฐบาล ฟังเสียงฝ่ายค้าน
ไม่ใช่ทำตามความต้องการและผลประโยชน์ของพรรคพวกตนเองฝ่ายเดียว
อย่าทำตัวเป็น “เด็กหญิงเล่นไม้ขีดไฟ” ขณะที่บ้านเมืองเวลานี้ ยังเต็มไปด้วยเชื้อปะทุทางการเมืองสารพัดปม
เล่นกับอำนาจ ก็เหมือนเล่นกับไฟ
อย่าหลงคิดว่าจะทำอะไรก็ได้ มิฉะนั้น จะลงเอยไม่ต่างกับอาปู
ครม. ก็เช่นกัน อย่าลดศักดิ์ศรีของตนเองลง จนกลายสภาพเป็น “ครม.ผีกองกอย” ที่คอยกระโดดตามเสียงกระดิ่งจากผู้มีอำนาจนอกกฎหมายเท่านั้น
3. วันก่อน สื่อมวลชนรายงานภาพนายเปโดร สวาห์เลน (H.E. Mr.Pedro Zwahlen) เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย ได้โพสต์เอ็กซ์
เป็นภาพจับมือกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ
ขณะนี้ นายทักษิณไม่ได้มีตำแหน่งแห่งหนอะไรในรัฐบาล หรือในอำนาจรัฐ
จึงน่าจะสะท้อนได้ชัดเจนว่า ในมุมมองของคนนอกประเทศ เขาเห็นว่าใครมีบทบาทสำคัญในรัฐบาลไทย
4. สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ขณะนี้ มีเรื่องร้องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบและดำเนินการกับพรรคเพื่อไทย และนายกฯ อุ๊งอิ๊งค์แล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2567 ผู้ร้องเรียนรายเดิมที่เคยไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งยุบพรรคเพื่อไทย โดยอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและไม่ต้องสอบสวนเพิ่มเติม ซึ่งเป็นหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคเพื่อไทยยินยอมให้บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกชี้นำกิจกรรมของพรรค (อ้างว่าทักษิณแทรกแซงชี้นำนายกฯเศรษฐาแต่งตั้รัฐมนตรี โดยแทรกแซงชี้นำพรรคเพื่อไทยด้วย) อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง
รายงานระบุว่า ได้ไปยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพิ่มอีก 2 เรื่อง ได้แก่
(1) ขอให้นายทะเบียนพรรคการเมือง เสนอคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อออกคำสั่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ
บางตอนระบุว่า
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยรู้หรือควรรู้ถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับพฤติการณ์ของนายพิชิต ชื่นบาน แต่ยังเสนอแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แสดงให้เห็นว่า นายเศรษฐา ทวีสิน ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) ย่อมเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม หมวด 1 ข้อ 8 ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งถือว่ามีลักษณะร้ายแรง
อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) ด้วย จึงทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง หรือต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
การกระทำของนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ในการเสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี มิใช่เป็นเพียงการกระทำของนายเศรษฐา ทวีสิน โดยลำพัง
โดยก่อนที่นายเศรษฐา ทวีสิน จะใช้อำนาจนายกรัฐมนตรี เสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อหรือเป็นแคนดิเดต
นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับพรรคเพื่อไทย พ.ศ.2561 เรื่องการคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่กำหนดไว้ในข้อ 112 ว่า
“การคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะกรรมาธิการและกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี ที่ปรึกษา เลขานุการรัฐมนตรี และข้าราชการการเมืองอื่น ให้พิจารณาจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมกับตำแหน่ง ซื่อสัตย์สุจริตและมีคุณธรรม จริยธรรม โดยให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการบริหารกำหนด”
และต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า
“พรรคการเมืองต้องมีคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย นโยบาย และข้อบังคับของพรรคการเมือง มติของที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง รวมตลอดทั้งระเบียบ ประกาศ และคำสั่งของคณะกรรมการ ซึ่งต้องกระทำด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน และต้องให้สมาชิกมีส่วนร่วมและรับผิดชอบอย่างแท้จริงในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และการคัดเลือกสมาชิกหรือบุคคลซึ่งมีความรู้
ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรม จริยธรรม เข้าสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือตำแหน่งอื่น หรือเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง”
การเสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นกรรมการบริหารด้วย
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายพิชิต ชื่นบาน มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) และผู้นำความกราบบังคมทูลเสนอแต่งตั้งคือ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ดังนั้น คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ที่ทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบเพื่อให้นายเศรษฐา ทวีสิน นำความกราบบังคมทูลเสนอแต่งตั้ง จึงไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงซึ่งเป็นมาตรฐานทางจริยธรรมเดียวกันด้วย
หากคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยอ้างว่าได้มอบอำนาจให้กับนายกรัฐมนตรีไปแล้ว หรือเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีโดยแท้ จะเป็นการขัดต่อข้อบังคับของพรรค และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารพรรค
การกระทำของคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยไม่รอบคอบระมัดระวังและซื่อสัตย์สุจริต ในการคัดเลือกนายพิชิต ชื่นบาน เพื่อให้นายเศรษฐา ทวีสิน กราบบังคมทูลเสนอแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี เป็นการฝ่าฝืนต่อข้อ 112 ของข้อบังคับของพรรคเพื่อไทย พ.ศ.2561 และมาตรา 21 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
จึงขอให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณามีคำสั่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ เทียบเคียงตามมาตรา 22 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเดียวกัน
(2) ขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้อำนาจยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าต้องสิ้นสุดลงหรือไม่
บางตอนระบุว่า
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นซึ่งนำความกราบบังคมทูลเพื่อเสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
จึงทำให้กรรมการในคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยซึ่งได้ให้ความเห็นชอบ หรือละเว้นการพิจารณาให้ความเห็นชอบ เป็นผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
และเมื่อกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยปฏิบัติหน้าที่อยู่ภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรมเดียวกันกับนายกรัฐมนตรีที่กราบบังคมทูลเสนอแต่งตั้ง ย่อมจะต้องมีผลทางจริยธรรม
เช่นเดียวกันกับนายกรัฐมนตรี
หากพิจารณาได้ว่านางสาวแพทองธาร ชินวัตร ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงในการปฏิบัติหน้าที่กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยในครั้งนั้น ย่อมทำให้มิใช่เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงมาก่อนที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อันทำให้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5)
จึงเป็นหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) โดยมาตรา 170 วรรคสาม
บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย อันเป็นหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่ต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 53
และเมื่อรัฐหรือหน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการย่อมเป็นสิทธิของประชาชนที่จะติดตามและเร่งรัดให้ดำเนินการได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 51 ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ยังมิได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จึงขอใช้สิทธิในการติดตามและเร่งรัดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
เบื้องต้น... นี่ยังไม่นับเรื่องที่มีความผิดทางอาญา
บ้านเมือง ไม่ใช่ของเล่นของคุณหนู!
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี