นักการเมือง มีความทะเยอทะยานเป็นเรื่องธรรมดา
แต่ต้องรู้จักควบคุมความต้องการของตนเอง ให้พอเหมาะพอดีกับสถานะแห่งตน และความเหมาะสมของประเทศชาติ
หากนักการเมืองที่เกิดในครอบครัวร่ำรวย มาบริหารประเทศ ต้องตระหนักรู้ว่า ประเทศชาติมิใช่ร่ำรวยเหมือนตระกูลตัวเอง
หรือนักการเมืองที่เป็นอดีตข้าราชการมาบริหารประเทศ ก็ต้องตระหนักรู้ว่า ประเทศชาติมิใช่มีเฉพาะภาคราชการ เป็นต้น
1. เมื่อวานนี้ นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ให้สัมภาษณ์สื่อที่ตึกชินวัตร 3
ยืนยันว่า นโยบายดิจิทัล วอลเล็ต ในคอนเซ็ปต์ยังมีอยู่แน่นอน แต่จะปรับรูปแบบ วางแผนว่าจะจ่ายเป็นเงินสดด้วย ก็ต้องรอดูว่าอะไรที่ต้องแก้ในรายละเอียดและแน่นอนว่าต้องแก้
พร้อมเปิดเผยว่า วันนี้จะสามารถลงนามรายชื่อคณะรัฐมนตรีทั้งหมดเพื่อเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป
“จริงๆ แล้ว อยากชนะอย่างที่คุณพ่อชนะ 377 เสียง เราจะได้ให้ทุกคนมีทุกตำแหน่ง
แต่มันก็ได้แค่ปริมาณหนึ่ง ก็ให้ช่วยกันค่ะ
ของพรรคอื่น ก็มีด้วยก็ได้ ให้ทุกคนได้แสดงความสามารถด้วย” - นางสาวแพทองธารกล่าว
2. “อยากชนะอย่างที่คุณพ่อชนะ 377 เสียง” นั้น สะท้อนความทะยานอยากทางการเมืองของอุ๊งอิ๊งค์
อุ๊งอิ๊งค์ ไม่ได้ประสบความสำเร็จ หรือแสดงให้เห็นความสามารถทางการบริหารธุรกิจ หรือบริหารราชการแผ่นดินอะไรมาก่อนเลย
วันนี้ ยังเรียนมินิ วปอ. อยู่เลยด้วยซ้ำ
แต่วันนี้ ทะยานอยาก คิดว่าอยากจะได้แบบที่พ่อเคยได้เสียแล้ว
พึงระวังความทะยานอยากเอาไว้ให้ดี
มิฉะนั้น มันจะนำมาซึ่งการตัดสินใจที่ “หลงอำนาจ” และหลงทิศหลงทางโดยเร็ว
3. ความทะยานอยากทางการเมือง ก็จะตามมาด้วยการตัดสินใจเพื่อล่าอำนาจทางการเมือง
หนึ่งในวิธีการที่ถูกนำมาใช้ คือ นโยบายประชานิยม
บ่อยครั้ง ตัดสินใจผลาญงบประมาณ โดยไม่คำนึงถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
และไม่คำนึงถึงฐานะทางการเงินการคลังของประเทศ
เป็นรัฐบาลมือเติบ ใช้จ่ายเงินราวมหาเศรษฐี ทั้งๆ ที่ประเทศไม่ได้ร่ำรวย ไม่มีเงินทองเหลือเฟือ ที่จะนำมาใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายอย่างไรก็ได้ เหมือนครอบครัวนายกฯ
ควรตัดสินใจบนพื้นฐานความเป็นจริง พอสมควร สมเหตุสมผล กู้เงินได้แต่ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า และคำนึงถึงความเสี่ยง
4. นายกฯ อุ๊งอิ๊งค์ ควรเรียนรู้คำเตือนจากอาจารย์คณิน บุญสุวรรณ อดีตมือกฎหมายพรรคเพื่อไทย (เสียชีวิตแล้ว) เคยเขียนหนังสือ “รัฐธรรมนูญตายแล้ว”
ชำแหละระบอบทักษิณอย่างหมดเปลือก
บางส่วน ระบุถึงพฤติกรรมในเชิงบริหารจัดการอำนาจ และแสวงหาอำนาจ
“ทศลักษณ์ทักษิโนมิกส์” 10 ประการเอาไว้
ประกอบด้วย
“1.บริหารประเทศด้วยการขยายอาณาจักรทางธุรกิจของครอบครัวและพวกพ้อง
2.แปลงรัฐธรรมนูญให้เป็นเครื่องมือของเผด็จการรูปแบบใหม่
3.ใช้การตลาด การโฆษณาชวนเชื่อและเงินเป็นเครื่องมือกลไกหลักในการบริหารประเทศ
4.เปลี่ยนประเทศให้เป็นสมรภูมิของความรุนแรง เปลี่ยน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นมิคสัญญี
5.ใช้สัญชาตญาณ “นักล่าอำนาจ” ที่คิดแต่จะเอาเปรียบคู่ต่อสู้มากกว่าจะใช้ “สปิริต” ในการสร้างความปรองดองแห่งชาติ
6.ได้ดิบได้ดี มีอำนาจด้วยอานิสงส์ของรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เคยเห็นความสำคัญ
ของรัฐธรรมนูญ ทำทุกวิถีทางเพื่อเบี่ยงเบนและหาผลประโยชน์จากช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตนสามารถเข้าสู่อำนาจและอยู่ในอำนาจได้นานๆ อย่างไม่ละอายแก่ใจ
7.สะท้อนความเป็นผู้นำประเทศคิดเร็ว พูดเร็ว ทำเร็วเปลี่ยนเร็ว ลืมเร็ว
8.เล่นพรรคเล่นพวกเลือกปฏิบัติ
9.บริหารประเทศแบบข้าเก่งคนเดียว
10.เป็นนวัตกรรมทางการเมืองใหม่ภายใต้การกำกับดูแลของอาณาจักร ทางธุรกิจ พยายามทำให้ตนเองและครอบครัวเป็นศูนย์กลางระบอบ”
นายกฯ อุ๊งอิ๊งค์พึงระวัง อย่าติดกับดักเดินตามรอย “ทศลักษณ์ทักษิโนมิกส์” เด็ดขาด มิฉะนั้น หายนะจะมาเยือนอย่างรุนแรง รวดเร็ว
5. การอภิปรายงบประมาณ 2568 วันแรก สะท้อนให้เห็นความจริงในการจัด
งบประมาณของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
เป็นการพยายามใช้จ่ายเงินเกินตัว เกินฐานะ และไม่สมเหตุสมผล
มุ่งตอบสนองการเมือง มากกว่าเศรษฐกิจของประเทศชาติอย่างแท้จริง
เอาง่ายๆ เมื่อได้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ และแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว ก็สามารถจะใช้งบกลางปี 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท มาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ทันที
นี่คือหน้าตักที่มีอยู่แล้ว
คำถาม คือ รัฐบาลชุดใหม่ จะตัดสินใจใช้เงิน 1.22 แสนล้านบาท ไปเพื่ออะไร?
จะมาเอาแจกหัวละหมื่นบาท ก็ได้จำกัดตามจำนวนเงินที่มีอยู่
จะนำมาเยียวยาน้ำท่วม ก็ได้
หรือจะนำมาทำโครงการคนละครึ่ง ก็จะได้เงินหมุนเพิ่มเท่าตัว
ฯลฯ
ส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี พ.ศ. 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท
ตั้งงบกลาง เพิ่มค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ 187,700 ล้านบาท ซึ่งจะเอาไปทำโครงการเติมเงินหมื่น
ในจำนวนนี้ ไปดึงเอางบที่กันไว้ใช้หนี้ธนาคารรัฐ 3.5 หมื่นล้านบาทมาด้วย !!!
คือ ลดการใช้หนี้ นำมาถลุงแทน
ถ้าจะเอาไปทำโครงการเติมเงินหมื่น จะต้องใช้เงินรวมกว่า 4.5 แสนล้านบาท
จะไปปรับลดเปลี่ยนแปลงงบส่วนไหนอีกจึงจะครบ
นายวีระ ธีระภัทรานนท์ กรรมาธิการวิสามัญ อภิปรายบางช่วง ระบุว่า
... ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาจัดทำงบประมาณด้วยการขาดดุลมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนทำให้หนี้สาธารณะพอกพูนเพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และการทำงบประมาณที่ขาดดุลอย่างเรื้อรังสร้างความวิตกให้แก่ผู้คนในอนาคต เพราะจะทำให้หนี้สาธารณะที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบนั้น
เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 รัฐบาลมีหนี้สาธารณะคงค้าง 11.54 ล้านล้านบาท
และเพิ่มเติมด้วยการเพิ่มหนี้ขาดดุลในปีงบประมาณ 2567-2568 อีก 865,000 ล้านบาท
เป็นการเพิ่มยอดหนี้คงค้างสาธารณะทะลุ 12 ล้านล้านบาท และอาจสูงถึง 13 ล้านล้านบาทภายในปี 2568
ในอนาคตอีก 3-5 ปีข้างหน้า หากมีการจัดทำงบประมาณที่เรื้อรังไปพร้อมกับการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลไปเรื่อยๆ ทุกปีเช่นนี้ จะทำให้ประเทศไทยมีปัญหาทางด้านการเงินการคลังอย่างหนักหนาสาหัสแน่นอน และการจัดสรรงบประมาณในปีนี้ มีการจัดสรรผ่าน 3 ก้อน ได้แก่
รายจ่ายประจำ 2,704,574 ล้านบาท
รายจ่ายลงทุน 908,224 ล้านบาท
รายจ่ายชำระคืนเงินต้น 150,001 ล้านบาท
นายวีระชี้ว่า สิ่งที่เห็นอย่างชัดเจนมาอย่างต่อเนื่องในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี จะเห็นว่ารายจ่ายประจำไม่ได้ลดลงและยังเพิ่มขึ้น ทำให้เราต้องพิจารณาถึงจุดที่อันตรายคือ รายจ่ายที่ยากจะตัดทอน ซึ่งขณะนี้ข้อมูล ณ ปี 2566 รวมแล้วคิดเป็นร้อยละ 67 ซึ่งตนคิดว่าอัตราส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2567 และปี 2568 ที่กำลังพิจารณาขณะนี้ เงินทุกบาททุกสตางค์ของรัฐบาลที่จะดำเนินการล้วนเป็นเงินกู้ที่มีภาระที่ต้องหาเงินต้น และหาเงินดอกเบี้ยมาชำระในอนาคตทั้งหมด
คนที่เข้าใจถึงการจัดทำงบประมาณย่อมรู้ดีว่า นี่คือสัญญาณอันตรายที่จะเกิดวิกฤตการคลังในอนาคต แม้การทำงบประมาณปี 2568 และงบประมาณในอนาคตจะจัดทำขึ้นตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ ร่าง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ฯลฯ ซึ่งทำถูกกฎหมาย หรือการทำตามกฎหมายครบถ้วนอย่างเคร่งครัดนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เป็นปัญหา การทำงานตามกฎหมายอย่างครบถ้วนก็สามารถนำไปสู่วิกฤตและหายนะได้เช่นกัน หากกระทำอย่างไม่ระมัดระวังและรอบคอบ
“ในฐานะที่ติดตามงบประมาณประจำปีมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ผมอยากจะบอกว่า ประเทศของเราติดกับดักการจัดทำงบประมาณเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในขณะที่ภาระการคลังเพิ่มขึ้นทุกปี หากดูการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้นก็จะเข้าใจ งบประมาณปี 2568 ตั้งงบรายงานเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐสูงถึง 410,253 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการจ่ายเงินต้นเพียง 15,000 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นดอกเบี้ยซึ่งต้องจ่ายกว่า 200,000 ล้านบาท ยังไม่รวมหนี้ที่ต้องคืนให้กับสถาบันของรัฐที่ออกเงินให้ก่อน ซึ่งมียอดคงค้างไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยตัวเลขที่ทราบอย่างชัดเจนในปี 2566 จำนวน 1,000,492 ล้านบาท แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบตัวเลขคงค้างที่ชัดเจนว่าเท่าไร
..นี่เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถานะทางการเงินของรัฐในปัจจุบันและในอนาคตอย่างแท้จริง
หากไม่มีการยับยั้ง และจะกลายเป็นความเสี่ยงทางการคลัง และนำไปสู่วิกฤตการคลัง” – นายวีระกล่าว
นอกจากนี้ นายวีระเสนอต่อที่ประชุมว่า จากนี้ตั้งแต่งบประมาณปี 2569 ต้องจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีแบบไม่เพิ่มรายจ่ายอีก เป็นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายที่เรียกว่า Zero Ghost Budget อย่างน้อย 3 ปี จนกว่าภาระทางความเสี่ยงจะลดลงจนถึงระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ และจากนี้ถึงปี 2569 ต้องหยุดสร้างภาระทางการเงิน
ในอนาคต โดยให้ใช้มาตรการทางการคลังออกเงินแทนรัฐบาลไปก่อน และใช้เงินต้นและดอกเบี้ย และชดเชยรายได้ในภายหลังตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ
5. ในความเป็นจริง กล่าวได้ว่า ถ้าพรรคส้มเป็นรัฐบาล จากนโยบายหาเสียงที่ประกาศไว้ หากทำตามนโยบาย ก็จะต้องผลาญเงินมหาศาล ไม่น้อยไปกว่ากัน
ดังนั้น ข้อเสนอของนายวีระน่ารับฟัง แต่สำหรับนักการเมือง หากตนเองไม่ได้เป็นรัฐบาล ก็จะพูดได้ทุกอย่าง ขัดขวางได้ทุกเรื่อง
แต่ถ้าตนเองได้เป็นรัฐบาลบ้าง ก็จะถลุง ผลาญงบประมาณ ล้างผลาญไม่ต่างกัน
นี่คือกับดักของประชาธิปไตยที่เสพติดประชานิยม
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี