ผมเป็นคนหนึ่งที่เชื่อและยึดมั่นในหลักการที่ว่า พรรคการเมืองใดๆ จะต้องมีอุดมการณ์ที่แน่วแน่ไม่ว่าจะเป็นเสรีนิยม สังคมนิยม อนุรักษ์นิยม ประชานิยม ชาตินิยม หรืออื่นใดก็เลือกกันมาสักอย่าง เพราะตัวอุดมการณ์นี่แหละที่จะเป็นตัวเชื่อม ยึดโยง และเชื้อเชิญประชาชนให้มีการเข้ามาร่วมมือกันจากสิ่งที่เชื่อมั่นศรัทธาเหมือนๆ กัน ซึ่งเป็นนามธรรมที่สะท้อนความเป็นมนุษย์ และแสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างสัตว์มนุษย์ กับสัตว์มีชีวิตอื่นๆ ทั้งหมด
แต่ในขณะเดียวกันนั้น มนุษย์ก็อาจจะเลือกอยู่ร่วมกันด้วยผลประโยชน์ร่วมได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกันออกล่าสัตว์ การเก็บเกี่ยวพืชผล การป้องกันภยันตราย และการใฝ่หาอำนาจ
ในสังคมการเมืองไทยก็มีการจัดตั้งพรรคการเมืองกันขึ้นมาตลอดอายุประชาธิปไตย ล้มหายตายจากไปก็มาก บางพรรคก็ยึดเรื่องอุดมการณ์เป็นหลัก เช่น พรรคคอมมิวนิสต์ หรือพรรคสังคมนิยม หรือพรรคอนุรักษ์นิยม แต่พรรคการเมืองส่วนใหญ่ของไทยมักจะเป็นพรรคที่ก่อตั้งขึ้นมาบนพื้นฐานของการมีผลประโยชน์ร่วม เพื่อใฝ่หาอำนาจและเพิ่มพูนอำนาจ
การเป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ หรือการเป็นพรรคการเมืองที่ยึดในเรื่องอำนาจนิยม ต่างก็ไม่ได้มีความยั่งยืนถาวร เพราะมันเป็นเรื่องธรรมดาของทุกสิ่งทุกอย่างที่เสื่อมไปตามกาล ความยั่งยืนนั้นมักขึ้นอยู่กับบุคลากรที่เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นหลัก ซึ่งจากประวัติศาสตร์การเมืองโดยทั่วไปแล้ว พรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ มักจะมีอายุยาวนานกว่าพรรคการเมืองที่เป็นอำนาจนิยม (อยู่ได้เฉพาะกิจเฉพาะกาล) คืออยู่ร่วมกันได้เมื่อมีผลประโยชน์ร่วมกัน และเมื่อไม่มีผลประโยชน์ร่วมกัน หรือผลประโยชน์ไม่ลงตัว ก็แตกแยกล่มสลายไปได้ง่าย ในขณะที่พรรคการเมืองว่าด้วยอุดมการณ์นั้น แม้บางบุคคลจะจากลาไป แต่เมื่ออุดมการณ์พรรคไม่ได้จางหายไป ก็ย่อมจะมีบุคคลที่ยังยึดมั่นกับอุดมการณ์นั้นๆ เข้ามารับไม้ต่อ ทำให้ไม่ว่าเหตุการณ์สภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไป ขึ้นหรือลง แต่อุดมการณ์นั้นๆ ก็ยังจะคงอยู่ และขับเคลื่อนไปได้ และมีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้ ไม่เหมือนกับพรรคการเมืองแบบพึ่งพาผลประโยชน์ ที่เมื่อผลประโยชน์ไม่มีแล้ว ก็แตกแยกแตกหายกันไป
สำหรับประเด็นปัญหาเฉพาะหน้าของการเมืองไทยก็จะเห็นได้ว่า พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคที่ฝักใฝ่ในเรื่องผลประโยชน์เฉพาะกิจตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจของกลุ่มอดีตนายทหารหลังการรัฐประหาร จึงไม่ได้มีอุดมการณ์เป็นตัวเชื่อมโยง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์นั้น แม้ว่าปัจจุบันจะถูกครอบงำโดยกลุ่มผลประโยชน์ แต่เชื้ออุดมการณ์ว่าด้วยความเป็น “ประชาธิปัตย์” หรือประชาธิปไตยแบบเสรีนั้น ยังคงมีเชื้ออยู่ โดยสมาชิกที่ยึดมั่นในความเป็นประชาธิปัตย์ยังคงอยู่ในสังคม และรอโอกาสที่จะรวมตัวกันกลับมาฟื้นฟูพรรคได้ในอนาคต ซึ่งก็ยังต้องขึ้นกับความต้องการของสังคมอีกด้วยว่าจะเปลี่ยนแปลงกันไปขนาดไหนในวันนั้น
ในอีกพรรคหนึ่งที่จัดได้ว่าเป็นระดับชาติ พรรคเพื่อไทยก็คือ พรรคแบบผลประโยชน์ พึ่งพาลัทธิผู้นำ แม้จะผ่านเวลามาเป็นสิบปี แต่ก็ยังจัดได้ว่าเป็นพรรคเฉพาะกิจเฉพาะกาล เพราะหากผู้นำทางจิตวิญญาณ (เจ้าของพรรค) เกิดล้มตายลง พรรคก็ย่อมจะล่มสลายตามไปด้วย เนื่องจากไม่มีอุดมการณ์ให้ยึดโยง ส่วนพรรคภูมิใจไทยก็คงไม่แตกต่างจากพรรคเพื่อไทย
ส่วนพรรคประชาชน วันนี้ก็เริ่มมีภาพว่าจะกลายเป็นพรรคแห่งอุดมการณ์ ที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค แต่เอาเข้าจริงก็ยังดูเป็นเรื่องการใช้วาทะเป็นหลักอยู่ ยังไม่มีความแน่ชัดว่าเรื่องเสรีภาพและความเสมอภาคนั้น จะอยู่ในบริบทอุดมการณ์การเมืองกันอย่างใด เช่น ฝ่ายคอมมิวนิสต์ ก็มีการตีความคำว่า เสรีภาพจากมุมมองหนึ่ง ขณะที่ฝ่ายเสรีนิยมก็มีคำนิยามว่าด้วยสิทธิเสรีภาพอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้น พรรคประชาชนว่าอย่างไรในด้านต่างๆ? ก็สมควรออกมาพูดให้แน่ชัด แสดงความเป็นตัวตนอย่างแท้จริง มิเช่นนั้นก็จะไม่สามารถ ก้าวข้ามความเป็นพรรคที่มีเจ้าของ โดยอ้างอุดมการณ์เพื่อช่วงชิงอำนาจ แทนที่จะกลายเป็นพรรคแห่งอุดมการณ์ และเป็นสถาบันทางการเมืองต่อไป
ก็อาจจะกล่าวโดยสรุปได้ว่า สังคมประชาธิปไตยของไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างจริงจัง ก็เมื่อพรรคการเมืองมีอุดมการณ์ และพรรคการเมืองจะไม่เป็นพรรคแห่งผลประโยชน์อีกต่อไป
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี