หลังจากเปิดสภาฯ ที่ถูกปิดไปสมัยพระยามโนฯ เป็นนายกรัฐมนตรี สภาฯ ได้ให้ความสนใจและคิดถึงการป้องกันการกระทำที่ผิดรัฐธรรมนูญยิ่งตอนที่มีผู้เสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการสอบสวนการกระทำของพระยามโนฯ นายกรัฐมนตรีในการปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรายิ่งมีผู้สนับสนุนความเห็นนี้มาก โดยมีความเห็นว่าให้ทำเป็นกฎหมายที่จะหาทางป้องกันรัฐธรรมนูญต่อไป
ปรากฏว่าเวลาผ่านไปประมาณสัก 3 เดือน ร่างกฎหมายที่จักป้องกันรัฐธรรมนูญ ก็ได้รับการเสนอเข้าสภาฯในวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 วันนั้นสภาฯ ได้พิจารณา 3 วาระรวด
โดยตั้งอนุกรรมการเต็มสภา หลังจากผ่านวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการแล้ว ในวาระที่สองเป็นการพิจารณาเรียงมาตรา ก็มีการอภิปรายขอแก้ไขกันไม่มาก บางมาตราทางรัฐบาลก็ยอมให้แก้ไข บางมาตรารัฐบาลไม่ยอมให้แก้ไข จนเป็นที่ตกลงกันได้ ในวาระที่สอง และได้รับมติให้ผ่านเป็นกฎหมายออกมาบังคับใช้ในวาระที่ 3 ที่หน้าสังเกตก็คือ ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับการพิจารณาผ่านสภาฯ ทั้ง 3 วาระในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง และการประชุมวันนี้ก็เป็นการประชุมพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้เพียงฉบับเดียวด้วย
อีก 10 วันต่อมา พระราชบัญญัติการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 ก็ได้รับการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนพ.ศ. 2476 กฎหมายฉบับนี้มีเนื้อหาสาระที่สำคัญและน่าจะยกมาให้พิจารณากันดังนี้
1. น่าจะเป็นครั้งแรกที่บ่งบอกถึงความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญไว้ในวรรคสอง ที่ว่า “โดยที่สภาผู้แทนราษฎรถวายคำปรึกษาว่า สมควรที่จะจัดการป้องกันรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ”
2. มาตรา 3 “ผู้ใดกระทำการด้วยประการใดๆ เป็นปฏิปักษ์ต่อ หรือเพื่อให้ประชาชนเสื่อมความนิยม หรือหวาดหวั่นต่อการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม แม้การกระทำดังกล่าวมาแล้ว เป็นเพียงการคบคิดหรือทำความตกลง หรือเตรียมการก็ตาม ท่านว่าผู้นั้นมีความผิด ต้องระวังโทษจำคุกตั้งแต่สามปีจนถึงยี่สิบปีหรือปรับตั้งแต่ 500 บาท จนถึง 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นับว่ามีโทษหนักมาก
3.มาตรา 4 “… เมื่อเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทย รายงานว่าบุคคลใดดำเนินการอันเป็นเหตุก่อให้เกิดความผิดตามมาตรา 3 ข้างต้น ให้กระทรวงมหาดไทยส่งเรื่องให้คณะกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีจะได้แต่งตั้งขึ้นเพื่อไต่สวนวินิจฉัย ถ้าเห็นว่ามีมูลก็ให้ทำความเห็นเพื่อให้บุคคลนั้นอยู่ภายในเขตที่ อันมีกำหนดได้เป็นเวลาไม่เกินสิบปี และให้กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจสั่งการให้เป็นไปตามความเห็นนั้น”
4.กรรมการตาม มาตรา 4 “ต้องตั้งขึ้นจากข้าราชการตุลาการ” ข้อนี้นับว่ายังดีที่ให้บุคคลที่เป็นตุลาการเป็นผู้พิจารณา
5. ส่วนบุคคลที่ถูกสั่งลงโทษนั้น ต่อมาอาจร้องขอให้ถอนคำสั่งได้ คือยังไม่ครบเวลาที่ถูกลงโทษ แต่แสดงตนว่าสนับสนุนรัฐธรรมนูญ ก็พ้นโทษได้ โดยต้องยอมรับรองว่า
ประการแรก จะไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ
ประการที่สอง จะเผยแพร่สนับสนุนด้วยความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรีก็จะอนุมัติให้เพิกถอนคำสั่งเดิมได้
มีนักการเมืองที่มีชื่อเสียง เคยถูกกฎหมายนี้เล่นงานมาแล้วในช่วงปีพ.ศ. 2476 ถึงพ.ศ. 2480 อยู่ 2 ท่านซึ่งเป็นที่รู้จักดี คือด็อกเตอร์โชติ คุ้มพันธุ์ กับนายธรรมนูญ เทียนเงินกรณีนายธรรมนูญนั้นถูกส่งไปกักกันเขตอยู่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ต่อมาในสมัยนายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงคราม สส.เตียง ศิริขันธ์ ได้เป็นผู้เสนอให้ยกเลิกกฎหมายนี้ได้ในพ.ศ. 2481
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี