ความเข้าใจของคนโดยทั่วๆ ไปไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม มักจะเป็นไปในทางเดียวกันว่า พรรคการเมืองจะต้องมีอุดมการณ์ หรือมาด้วยอุดมการณ์ โดยพรรคการเมืองต่างอุดมการณ์กันก็จะมีการแข่งขันกันในสนามเลือกตั้งในกรอบประชาธิปไตย เพื่อให้ได้ชัยชนะเพื่อจะได้มาจัดตั้งคณะรัฐบาลเพื่อบริหารและนำพาประเทศต่อไป
การแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองนั้น บางครั้งก็ไม่ได้เกิดขึ้นในกรอบสังคมประชาธิปไตยเสมอไป อาจจะเกิดขึ้นในสนามการสู้รบก็ว่าได้ แล้วฝ่ายผู้ชนะก็จะทำการขจัด ถอนรากถอนโคน ของฝ่ายผู้แพ้ให้สิ้นราบ แล้วก็วางตัวเป็นผู้ยิ่งใหญ่แต่ผู้เดียว มักกลายเป็นสังคมแห่งความเป็นเผด็จการ หรือสังคมแห่งอำนาจนิยม
ในกรณีของราชอาณาจักรไทยก็จัดได้ว่า ตั้งแต่สิ้นสุดการเมืองการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อปี พ.ศ. 2475ราชอาณาจักรไทยเราก็มีฉันทามติในหมู่ผู้คนและกลุ่มต่างๆ ว่า จะร่วมกันขับเคลื่อนและเสริมสร้างให้ราชอาณาจักรไทยเป็นสังคมประชาธิปไตย โดยจะมีพรรคการเมืองเป็นกุญแจและตัวขับเคลื่อนความเป็นไปในสนามการเมืองเป็นสำคัญ
จากบัดนั้นมาจนบัดนี้จัดได้ว่า ราชอาณาจักรไทยยังอยู่ในระหว่างการปรับตัว การพัฒนาตนเองให้เป็นสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง หรือมีความเป็นสากลเยี่ยงราชอาณาจักรอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย ภูฏาน นอร์เวย์ สวีเดน เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร เป็นต้น
กล่าวคือ พรรคการเมืองของไทยยังไม่ได้เป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ หรือจุดยืนทางการเมืองอย่างแน่ชัดเหตุหนึ่งก็เพราะไม่ฝักใฝ่ในเรื่องอุดมการณ์หรือไม่มีความเข้าอกเข้าใจในเรื่องอุดมการณ์โดยยังติดมั่นกับระบบเชื่อและตามผู้นำ ผสมกับระบบเครือข่ายอุปถัมภ์ค้ำจุน
พรรคการเมืองของไทยจึงมักเป็นพรรคเฉพาะกิจเฉพาะกาล ขึ้นอยู่กับตัวผู้นำที่เป็นเสมือนเจ้าของพรรค หรือตกอยู่ในอาณัติของครอบครัวการเมือง (หรือราชวงศ์การเมือง) โดยปราศจากอุดมการณ์เป็นตัวยึดโยงที่จะอำนวยให้พรรคการเมืองมีความต่อเนื่องและมีความถาวร
ในเรื่องอุดมการณ์การเมืองนั้น ก็อาจจะแบ่งออกเป็นอุดมการณ์ตามลัทธิการเมืองดังนี้ เช่น เสรีนิยม สังคมนิยม อนุรักษ์นิยม ชาตินิยม ประชานิยม เป็นต้น และถ้าจะเอาลัทธิการเมืองดังกล่าวเป็นตัวตั้ง พวกเราชาวไทยก็อาจจะถามตัวเองว่า แล้ว ณ วันนี้มีพรรคการเมืองของไทยอะไรบ้างที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองดังกล่าว ก็พอจะกล้อมแกล้มได้ว่า ก็มีพรรคการเมืองแบบประชานิยม และพรรคการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม แต่ก็จะไม่มีความชัดเจนใดๆ เพราะพรรคการเมืองแต่ละพรรคของไทย ณ วันนี้ไม่ได้เคยชี้แจงแถลงไขความเป็นตัวตนของตนแต่อย่างใด จัดได้ว่าต่างเป็นเพียงพรรคเฉพาะกิจที่มุ่งเข้าหาอำนาจรัฐ เพื่อใช้อำนาจในการตอบสนองความอยากและความปรารถนาของตน โดยมิได้มีจุดเริ่มต้นจากการมีอุดมการณ์เพื่อจะแสดงความเป็นตัวตนอย่างแท้จริง หรือเพื่อช่วยบ่งบอกทิศทางและคำมั่นสัญญาที่จะให้ไว้กับประชาชนและประเทศชาติ
อย่างไรก็ดี สังคมประชาธิปไตยของราชอาณาจักรไทยเราก็ยังไม่จนตรอก และยังพอมีหนทางที่จะก้าวไปข้างหน้าได้ ไม่ด้อยไปกว่าราชอาณาจักรอื่นๆ ที่มีความเป็นประชาธิปไตยแล้ว ถ้าพรรคการเมืองต่างๆ กลับเนื้อกลับตัวให้ถูกต้องเหมาะสม
คู่ขนานกันไปนั้น ประชาชนพลเมืองที่รักประชาธิปไตย และหวงแหนการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องร่วมกันออกมาเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองแสดงความเป็นตัวตนให้แน่ชัดว่า จะอยู่ปีกซ้าย ปีกขวา หรืออยู่ตรงกลางของอุดมการณ์การเมือง หรือจะเป็นฝ่ายเสรีนิยม หรือสังคมนิยม หรืออื่นใดมากน้อยเพียงใด
ชาวไทย และราชอาณาจักรไทยต่างเหนื่อยหน่ายกับการเมืองอุตสาหกรรมครอบครัวกันถ้วนหน้า ซึ่งก็น่าจะถึงเวลาแล้วที่จะต้องร่วมกันปลดแอกจากการครอบงำของผู้คนกระหยิบมือเดียว และร่วมกันผลักดันให้การเมืองและพรรคการเมืองของไทยเป็นของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริงเสียที
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี