ดังที่ทราบกันทั่วไปว่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ฝ่ายกองทัพพม่าได้เข้าทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐและล้มล้างการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นเวลาถึง 3 ปีกว่าแต่ก็ยังมิสามารถยึดอำนาจได้เบ็ดเสร็จจนทุกวันนี้ เพราะประชาชนพลเมืองพม่าทุกหมู่เหล่าและชาติพันธุ์ได้ร่วมกันออกมาต่อต้าน เริ่มด้วยการประท้วง การนัดหยุดงาน และการทำอารยะขัดขืนต่างๆ เพื่อแสดงความไม่เห็นชอบและไม่พึงพอใจต่อการรัฐประหาร และได้เรียกร้องให้ฝ่ายกองทัพพม่าคืนประชาธิปไตยให้กับประเทศชาติ
แต่จนบัดนี้ ฝ่ายกองทัพพม่าก็ไม่ได้ฟังเสียงประชาชนแต่อย่างใด แต่ได้ใช้กำลังปราบปราม ทั้งการจับกุมและกักขังโดยปราศจากการใช้กระบวนการยุติธรรมที่ควรจะพึงเป็น ซึ่งก็ไม่สามารถทำให้ประชาชนพลเมืองพม่ายอมสยบราบคาบได้แต่อย่างใด หากแต่ได้จับอาวุธขึ้นสู้รบกับฝ่ายกองทัพพม่าอย่างมุ่งมั่น และด้วยขวัญกำลังใจว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องและจำเป็น
ฝ่ายต่อต้านการรัฐประหารทั้งหมดได้เรียกตัวเองว่า เป็นฝ่ายประชาธิปไตย จนในที่สุดก็มีความเห็นพ้องต้องกันว่า การต่อต้านฝ่ายกองทัพนั้นมิใช่เพื่อที่จะเอาชัยชนะเท่านั้น หากแต่เป็นการปฏิวัติสังคมด้วย (Revolution) กล่าวคือ จะมุ่งเปลี่ยนแปลงรูปโฉม และสร้างสังคมพม่าใหม่ที่ประเทศพม่าจะเป็นประเทศแบบสหพันธ์รัฐ คือหลายๆ รัฐที่เป็นรัฐแห่งชาติพันธุ์จะมารวมกัน และประเทศพม่าจะเป็นประเทศประชาธิปไตยแบบสากล โดยจะมิมีชาติพันธุ์หนึ่งใดถูกกีดกันออกไปแต่อย่างใด อีกทั้งประเทศพม่าใหม่นี้ ฝ่ายกองทัพจะต้องไม่เข้ามามีบทบาททางการเมืองได้อีกต่อไป โดยฝ่ายกองทัพจะต้องอยู่ในกรมกองและมีหน้าที่ป้องกันความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ และไม่มีสิทธิและหน้าที่ที่จะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องการบ้านการเมือง
อีกทั้งประเทศพม่าในรูปโฉมใหม่นี้ จะต้องปราศจากการที่ชาติพันธุ์หนึ่งใดเป็นใหญ่แต่ผู้เดียว และไปครอบงำชาติพันธุ์อื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องของความไม่ทัดเทียมและการเลือกปฏิบัติต่อกันและกัน ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ฝ่ายชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่คือ ชาติพันธุ์พม่า (Burman) ได้เพียรพยายามที่จะครอบงำชาติพันธุ์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น มอญ กะเหรี่ยง กะเหรี่ยงแดง ฉาน ฉิ่น คะฉิ่น ยะไข่ และมุสลิมโรฮีนจา (Burmanization) เป็นต้น แต่ก็มิได้ประสบความสำเร็จและเผชิญกับการต่อต้าน เป็นสงครามย่อยๆ ตามจุดต่างๆ ของพม่ามาโดยตลอด
การลุกฮือของประชาชนพลเมืองทุกหมู่เหล่าและชาติพันธุ์ต่อการรัฐประหารของฝ่ายกองทัพ ซึ่งบุคลากรส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดเป็นชาติพันธุ์พม่า จัดได้ว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างประชาชนส่วนใหญ่กับกลุ่มอำนาจที่เป็นอภิสิทธิ์ชนส่วนน้อย เพื่อปลดแอกจากการครอบงำของกลุ่มทหารส่วนน้อยนี้ เพื่อสร้างสังคมใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย จึงสามารถเป็นที่ยอมรับได้โดยประชาคมโลกว่า เป็นการปฏิวัติสังคม
และในการนี้ประชาคมโลกที่ยึดมั่นในเรื่องประชาธิปไตย ในเรื่องสิทธิเสรีภาพ และในเรื่องสิทธิมนุษยชนโดยทั่วไป และไม่เอาด้วยกับลัทธิอำนาจนิยม หรือการเมืองการปกครองแบบทหารนำพา ก็ควรจะต้องให้ความสนอกสนใจกับความเป็นไปในพม่าอย่างจริงจัง แล้วก็คงจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องชอบธรรมที่จะยืนหยัดอยู่กับฝ่ายประชาธิปไตยที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศพม่า
ในส่วนของประเทศไทยก็ยังเป็นที่น่าเสียดายที่ว่า การรับรู้เกี่ยวกับการปฏิวัติสังคมของพม่าในแวดวงต่างๆ ของไทย ยังไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวาง และฉะนั้นมิตรจิตมิตรใจและความเอื้ออาทรที่คนไทยเราจะมีต่อคนพม่าก็เลยยังมีข้อจำกัดและห่างเหินอยู่ ซึ่งก็คงต้องเป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐ ฝ่ายสื่อ ฝ่ายแวดวงวิชาการ และฝ่ายองค์กรภาคประชาชน ภาคประชาสังคม จะต้องช่วยกันให้ความรู้ต่อชาวไทย และในขณะเดียวกัน รัฐบาลไทย รัฐสภาไทย และพรรคการเมืองไทย ก็ต้องเร่งตัดสินใจว่าจะยังเอาแต่พินอบพิเทาต่อฝ่ายกองทัพพม่า หรือจะหันไปยืนข้างเคียงกับชาวพม่าที่มุ่งหวังที่จะมีชีวิตอยู่ในสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตย และมิยอมอยู่ในอาณัติของกลุ่มอำนาจอภิสิทธิ์ชนใดๆ อีกต่อไป
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี