สัปดาห์ที่แล้วได้เขียนค้างไว้เรื่อง มาตรการควบคุมการใช้จ่ายเงินราชการลับ ซึ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายประเภทหนึ่ง ที่ตั้งไว้เพื่อใช้จ่ายในราชการตามภารกิจอันไม่อาจเปิดเผย ดังนั้น การควบคุมการใช้จ่ายจึงไม่อาจจะทำอย่างรายจ่ายปกติได้ จึงมีมาตรการควบคุมการใช้จ่ายได้อย่างกว้างๆ คือ (๑)ด้านวิธีการงบประมาณ (๒) ด้านการเบิกจ่ายเงินราชการลับจากคลัง (ดูบทความ สัปดาห์ที่แล้ว) และ...
(๓) ด้านการตรวจสอบโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
เดิมได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.๒๔๗๖ มาตรา ๗ได้บัญญัติไว้เกี่ยวกับการตรวจสอบเงินราชการลับ ไว้ดังนี้
“การตรวจสอบรายจ่ายเงินราชการลับ ให้ถือว่าเป็นรายจ่ายจริงได้เมื่อนายกรัฐมนตรีได้ลงนามอนุมัติแล้ว”
วิธีการตรวจสอบตามมาตรานี้ เป็นระบบวิธีจ่ายก่อนตรวจ (Post Audit) คือการตรวจสอบภายหลังที่ได้มีการจ่ายเงินราชการลับไปแล้ว หรืออาจจะเรียกว่าเป็นการได้สัตยาบันโดยนายกรัฐมนตรี ซึ่งต่างกับระบบวิธีตรวจก่อนจ่าย (Pre Audit) ซึ่งหมายถึงต้องตรวจสอบความถูกต้อง รายการ วัตถุประสงค์ ก่อนที่จะมีการอนุมัติให้มีการจ่ายเงินออกไป ซึ่งในสภาพของเงินราชการลับไม่อาจจะกระทำโดยวิธีตรวจก่อนจ่ายได้ แต่ก็ยังมีมาตรการตามกฎหมายที่จะให้นายกรัฐมนตรีได้พิจารณาอนุมัติตรวจสอบดังที่กล่าวแล้ว
แต่เป็นที่น่าเสียดายที่กฎหมายมาตรานี้ได้ถูกยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติการตรวจเงินแผ่นดิน ฉบับใหม่ พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งไม่มีมาตรการในลักษณะดังกล่าวแล้ว
ควรกล่าวไว้ด้วยว่า...ในปี พ.ศ.๒๕๑๙ ได้เคยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างพระราชบัญญัติเงินราชการลับ แต่กระทรวงการคลังได้มีความเห็นเสนอนายกรัฐมนตรีว่า...ไม่ควรรับรองร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
สำหรับผู้เขียนมีความเห็นว่า ความจำเป็นของเงินราชการลับ ยังมีความสำคัญที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศชาติ ในหลักการ
จึงยังคงต้องตั้งไว้ แต่ทั้งนี้จะต้องอยู่ในลักษณะที่สำคัญอย่างยิ่งยวด และโดยมีหลักเกณฑ์ที่จะต้องคำนึงถึง ดังนี้
๑.มิใช่เพียงเหตุที่ว่า การตั้งเงินราชการลับเนื่องมาจากสาเหตุเป็นรายจ่ายที่ไม่อาจจะเบิกจ่ายได้ตามงบประมาณปกติ หรือเป็นรายจ่ายเพื่อสมทบกับประมาณปกติที่ส่วนราชการนั้นเห็นว่าต่ำกว่าที่ขอ และการจ่ายจากเงินราชการลับสะดวกและรวดเร็วกว่า
๒.มิใช่เพียงเหตุที่ว่า เป็นการตั้งไว้ตามประเพณี เพราะปีที่แล้วก็ได้เคยตั้งไว้ ปีนี้ก็ตั้งไว้ในอัตราที่เท่ากับปีที่แล้ว ไม่มีการแตกต่างกันเลย (ดู ตารางที่ ๒ และ ๓)
๓.การจ่ายเงินราชการลับแต่ละปีไม่อาจที่จะกำหนดได้พอดีเท่ากับวงเงินที่ได้ตั้งเอาไว้ตามสภาพของความเป็นจริง ดังนั้นเมื่อสิ้นปีงบประมาณควรจะมีเงินราชการลับเหลือคืนคลังอยู่บ้าง
๔.ควรจะต้องมีการตรวจสอบในระบบจ่ายก่อนตรวจ (Post Audit) โดยคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นพิเศษตามกฎหมายเพื่อให้มีอำนาจและหน้าที่ตรวจสอบเงินราชการลับ
สุดท้าย....ถึงแม้เงินราชการลับจะยังขาดกฎหมายที่จะควบคุมและบังคับ แต่กฎแห่งกรรมที่มีผลอันศักดิ์สิทธิ์ก็ได้เริ่มทำงานให้เห็นประจักษ์มาแล้ว...
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ปรีชา สุวรรณทัต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี