เมืองไทยนับว่ามีภัยพิบัติทางธรรมชาติน้อยกว่าประเทศอื่นๆ บนโลกใบนี้ นั่นเป็นเพราะว่าบรรพบุรุษไทยท่านเลือกทำเลที่ตั้งบ้านเมืองได้ดี จึงทำให้ประชาชนพลเมืองไม่ต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรงเหมือนกับประเทศอื่นๆ เช่น ไม่ต้องประสบภัยจากพายุไต้ฝุ่นที่รุนแรงเหมือนเช่นเวียดนาม ฟิลิปปินส์ ประสบพบเจอเป็นประจำทุกปี และไม่ต้องเจอกับภัยแผ่นดินไหวบ่อยครั้งเหมือนที่ญี่ปุ่นเจอะเจอมาโดยตลอด
แต่ก็ยังอดไม่ได้ที่ในบางครั้ง ประเทศไทยก็ยังต้องตกอยู่ท่ามกลางภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่บ้าง แต่ต้องย้ำว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติในไทยนั้นรุนแรงน้อยกว่าประเทศอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ แต่ทว่าภัยที่เกิดจากนักการเมืองไทย และคนไทยบางจำพวกนั้น ดูๆ ไปแล้วรุนแรง และสาหัสสากรรจ์ยิ่งกว่าภัยพิบัติจากธรรมชาติหลายเท่า ดังที่เราได้ประจักษ์แล้วว่า บ้านเมืองเรานั้นมีภัยอันตรายอันเกิดจากคนด้วยกันเองบ่อยมาก และเกิดขึ้นเกือบทุกปี อาทิ ภัยที่เกิดจากการปลุกปั่นปลุกระดมให้คนไทยลุกขึ้นมาเข่นฆ่าล้างผลาญกันเอง โดยภัยชนิดนี้เกิดมาจากลมปากของนักการเมืองเป็นสำคัญ
สำหรับเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มนุษยชาติรู้จักกันเป็นอย่างดี ก็ได้แก่ ภัยจากพายุชนิดต่างๆ ภัยจากไฟป่า ภัยจากแผ่นดินไหว สึนามิ ภัยอันเกิดจากน้ำท่วม น้ำแล้ง และภัยแผ่นดินถล่ม เป็นต้น
ยังนับว่าโชคดีมากที่ประเทศไทยไม่ต้องเผชิญกับปัญหาแผ่นดินไหวเหมือนที่ญี่ปุ่นต้องประสบ เพราะจากผลการวิจัยจากบริษัทประกันวินาศภัย ระบุว่าความเสียหายอันเกิดจากแผ่นดินไหวและแผ่นดินถล่มนั้น นับเป็นภัยพิบัติที่รุนแรงและสาหัสมากอย่างที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษยชาติ เพราะภัยธรรมชาติทั้งสองชนิดนั้นสามารถขุดรากถอนโคนกิจการของบริษัทต่างๆ ได้ราวกับถูกทำลายล้างจนหมดสิ้นได้ภายในพริบตา และมีข้อมูลด้วยว่าประมาณ ร้อยละ 40 ของบริษัทต่างๆ ที่ประสบเหตุแผ่นดินไหว แผ่นดินถล่มอย่างรุนแรง ต้องปิดกิจการไปอย่างถาวร
แน่นอนว่าภัยธรรมชาตินับเป็นอุบัติภัยร้ายแรงที่ยากจะพยากรณ์และคาดเดาว่าจะเกิดเหตุขึ้นในวันเวลาใดอย่างแน่นอนและตายตัว แต่ก็ต้องบอกว่าในยุคสมัยนี้ เมื่อมนุษย์มีวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ดีขึ้น ก้าวหน้ามากขึ้น ก็สามารถใช้เพื่อช่วยทำนาย และพยากรณ์ล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสียหายอย่างร้ายแรงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ดีกว่าอดีตหลายเท่า แต่ก็ต้องไม่ลืมว่ามนุษย์ยังไม่สามารถคาดการณ์ หรือทำนายว่าจะเกิดแผ่นดินไหวได้ในวันเวลาใด เพียงแต่เฝ้าสังเกตการเคลื่อนตัวของแผ่นดิน และรอยเลื่อนต่างๆโดยผ่านเครื่องมือวิทยาศาสตร์เท่านั้น
แต่สำหรับภัยพิบัติล่าสุดที่เกิดขึ้นในประเทศเวียดนาม ต้องยอมรับว่ารุนแรงและโหดร้ายมาก เนื่องจากได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วประมาณ 60 คน ส่วนสัตว์เลี้ยง ปศุสัตว์ล้มตายไปจำนวนเท่าไร ยังไม่มีการระบุตัวเลขที่ชัดเจน แต่ครั้นเมื่อหันกลับมามองเหตุภัยพิบัติอันเนื่องจากอุทกภัยในจังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะในเขตอำเภอแม่สาย ก็ต้องยอมรับตรงๆ ว่ารุนแรงและโหดร้ายมาก เพราะทำให้บ้านเรือน ทรัพย์สินของประชาชนชาวแม่สายเสียหายไปมากมายมหาศาล (ประเมินค่าความเสียหายไว้เบื้องต้นประมาณ 3 แสนล้านบาท) นอกจากข้าวของทรัพย์สินเสียหายแล้ว ยังส่งความเสียหายไปถึงชีวิตคนและสัตวเลี้ยง รวมถึงปศุสัตว์อีกมากมายจนไม่สามารถนับจำนวนได้ครบถ้วนในเวลาอันใกล้
จากการศึกษาข้อมูลจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบตะวันตก จะพบว่ามีการเตรียมรับมือกับเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างเป็นรูปธรรม เป็นระบบชัดเจนมาก ดังพบว่ามีการพูดถึงประเด็น Natural Disaster Protection (การป้องกันภัยอันตรายจากความวิบัติโดยธรรมชาติ) โดยมีการฝึกอบรมให้เตรียมรับมือกับเหตุภัยพิบัติอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยฝึกให้เตรียมพร้อมก่อนจะประสบภัยพิบัติ แล้วยังฝึกอบรมด้วยว่าเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นมาแล้ว จะต้องทำอย่างไร ปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อลดความสูญเสีย ความเสียหาย และเพื่อให้สามารถเอาตัวรอดได้อย่างปลอดภัยเมื่อต้องประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ อีกทั้งเมื่อภัยพิบัติผ่านพ้นไปแล้ว จะได้สามารถฟื้นฟูกิจการ ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ฟื้นฟูธุรกิจ และฟื้นฟูสุขภาพกายและจิตได้อย่างทันท่วงที เพื่อให้สามารถกลับไปอยู่ในสภาพที่เป็นปกติได้รวดเร็วที่สุด
ไม่มีใครปฏิเสธว่าการเกิดภัยพิบัติต่างๆ ในทางธรรมชาตินั้น อาจจะเกิดขึ้นกับพื้นที่แห่งใดบนโลกใบนี้ได้ทุกเมื่อ แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่า การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ และผลกระทบด้านลบของภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่มนุษย์ถูกฝึก และถูกอบรมเพื่อให้สามารถเอาตัวรอดได้ ย้ำว่ามนุษย์สามารถถูกฝึกอบรมให้เอาตัวรอดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ หากได้รับการฝึกอบรมที่ดี และถูกต้องตามหลักวิชาการ และหลักการปฏิบัติที่ถูกต้อง และทันการณ์
มีคำถามว่า ประเทศไทยมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เตือนภัยพิบัติให้ประชาชนรับทราบหรือไม่ ตอบว่ามี โดยหน่วยงานที่ทำหน้าที่โดยตรงคือศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย
นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเตือนภัยพิบัติล่วงหน้า โดยมีระบบ Early Warning System เพื่อปฏิบัติการเฝ้าระวัง และเตือนภัยล่วงหน้า กรณีเกิดเหตุน้ำหลากและดินถล่ม โดยมีชื่อหน่วยงานดังต่อไปนี้ กรมทรัพยากรน้ำ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาภัยสาธารณะ กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักวิจัยพัฒนาและอุทกวิทยา และศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ รวมทั้งหมด 10 หน่วยงาน
แต่คำถามคือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแจ้งเตือนเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติให้ประชาชนได้รับทราบก่อนจะเกิดเหตุภัยพิบัติขึ้นมาได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างเข้มแข็ง เข้มงวด เอาจริงเอาจังมากน้อยเพียงใด ทำไมจึงมักเกิดคำถามและเสียงวิพากษ์ด่าทอหน่วยงานต่างๆ เสมอๆ หลังจากเกิดภัยพิบัติขึ้นแล้ว สาเหตุมาจากประชาชนไม่รับฟังคำเตือน หรือประชาชนไม่ทราบคำเตือน หรือประชาชนไม่เชื่อคำเตือน แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติขึ้นมาแล้ว หน่วยงานที่ทำหน้าที่เตือนภัยก็ต้องรับผิดชอบ และต้องถามตัวเองว่าทำงานได้มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด รัฐมนตรีเจ้ากระทรวง และปลัดกระทรวงเหล่านั้นทำงานได้มีประสิทธิภาพเพียงใด มีความรับผิดชอบในหน้าที่มากเพียงใด หรือว่าเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติแล้วต่างก็ผลักภาระให้ประชาชน หรือโยนความผิดให้ลูกน้องในหน่วยงาน
ถามย้ำว่าก่อนจะเกิดเหตุน้ำท่วมและภัยพิบัติครั้งรุนแรงมากที่สุดในรอบ 50-60 ปี ที่จังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะที่แม่สาย หน่วยงานราชการต่างๆ ของไทยทำหน้าที่เข้มแข็งแล้วหรือยัง แจ้งเตือนชาวบ้านอย่างจริงๆ จังๆ หรือไม่ แต่เท่าที่ชาวบ้านผู้ประสบอุทกภัยบอกคือ ไม่มีคำเตือนใดๆ ที่เน้นย้ำให้ชาวบ้านต้องระมัดระวังตัว เพื่อให้รอดพ้นจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ย้ำว่าชาวบ้านที่เดือดร้อนบอกว่าไม่มีคำเตือนใดๆ จากทางการให้ระมัดระวังว่าจะเกิดภัยพิบัติร้ายแรงดังที่ปรากฏ แต่ก็พอจะได้ยินข่าวจากวิทยุบ้างว่ากรมอุตุนิยมวิทยาบอกว่าจะมีฝนตกหนัก และมีน้ำไหลหลาก แต่ก็ไม่ได้ระบุให้ชัดว่าพื้นที่ใดคือพื้นที่เสี่ยงอันตรายสูงสุด
มิหนำซ้ำเมื่อเกิดภัยพิบัติรุนแรงแล้ว ก็ยังไม่มีหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุโดยทันที แต่ก็ยังโชคดีที่มีทหารจากเหล่าทัพต่างๆ ไปให้ความช่วยเหลือ และยังมีความช่วยเหลือจากหน่วยงานเอกชน ดารา นักแสดง นักร้องและหน่วยงานสงเคราะห์ บรรเทาภัยจากภาคเอกชนเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติ แต่คำถามคือ แล้วหน่วยงานโดยตรงที่ต้องรับผิดชอบต่อชะตากรรมอันเลวร้ายของชาวบ้านอยู่ที่ไหน ทำอะไรกันอยู่ ทำไมไม่ทำหน้าที่ให้เคร่งครัด
แถมเมื่อเกิดเหตุแล้ว ก็ยังไม่มีหน่วยงานกลางที่มีหน้าที่โดยตรงในการให้ข้อมูลเรื่องที่พัก ที่หลบภัย ที่สงเคราะห์ กับผู้ประสบภัยอีก ชาวบ้านบอกว่าไม่มีข้อมูลใดๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่ได้รับความช่วยเหลือแบบฉุกละหุกเร่งด่วนจากทหาร และองค์กรเอกชน และภาคประชาชนด้วยกันเอง
ไม่ต้องถามถึงนักการเมืองในพื้นที่ เพราะไม่มีนักการเมืองหน้าไหนโผล่ศีรษะไปช่วยแก้ไขบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ส่วนบรรดารัฐมนตรีก็ไปลงพื้นที่ แต่ก็ดูเสมือนว่าไปเพื่อสร้างภาพ สร้างข่าวให้กับตนเองมากกว่าช่วยเหลือชาวบ้านอย่างจริงๆ จังๆ ส่วนนายกรัฐมนตรีนั้น ชาวบ้านผู้ประสบภัยบอกว่าลืมไปได้เลย เพราะในยามที่ชาวบ้านตกอยู่ท่ามกลางวิกฤตการณ์แสนสาหัส นายกรัฐมนตรีกลับบอกว่าต้องรอให้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อน แล้วยังบอกอีกว่ารอให้น้ำลดก่อนและจะไปพบชาวบ้านผู้ประสบภัย
ผู้ประสบภัยบอกว่าทุกคำพูดของนายกรัฐมนตรีในเรื่องของผู้ประสบภัยพิบัติคือการบ่งบอกสติปัญญาและความรับผิดชอบต่อสังคมของนายกรัฐมนตรีได้อย่างชัดเจน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าในเมื่อมีสติปัญญาและความรับผิดชอบน้อย ก็จึงพูดและแสดงออกตามที่เป็นข่าว
ผู้ประสบภัยพิบัติบอกว่า ไม่มีใครรู้ว่าภัยธรรมชาติจะเกิดขึ้นวันเวลาใดอย่างชัดเจน แต่การเตือนภัย การบอกให้ระวังภัย และการฝึกซ้อมเพื่อเตรียมรับมือกับภัยพิบัติ เป็นสิ่งที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบโดยตรง และไม่มีทางปฏิเสธได้ นอกจากนั้นยังต้องมีสถานที่สำหรับรองรับผู้ประสบภัยให้ทันการทันเวลาอีกด้วย ไม่ใช่เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติร้ายแรงแต่ละครั้ง ผู้ประสบภัยก็ได้พบแต่การเล่นละครตบตาชาวบ้านของนักการเมือง รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีทุกครั้งไป
ชาวบ้านผู้ประสบภัยฝากบอกว่า การสร้างภาพเล่นละครตบตาคนด้วยการผัดข้าวผัด มันคือการจงใจแสดงความโง่เขลา และความไร้สติปัญญาของรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และนักการเมือง
ผู้ประสบภัยพิบัติบอกว่าเลิกเล่นละครฉากโง่ๆ ด้วยการผัดข้าวผัดเสียทีเถอะ ชาวบ้านไม่ได้รอกินข้าวผัดสร้างภาพจากนักการเมือง แต่ชาวบ้านต้องการการแจ้งเตือนภัยที่เป็นกิจจะลักษณะ มีสาระ มีข้อมูลครบถ้วนมากกว่า เพราะมันจะช่วยให้ชาวบ้านรอดพ้นความตายและความเสียหายได้อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด และนายกรัฐมนตรีต้องกลับไปสำรวจตัวเองด้วยว่า เวลาชาวบ้านประสบภัยพิบัติขั้นรุนแรงนั้น นายกรัฐมนตรีต้องทำอะไรเป็นลำดับแรก ไม่ใช่บอกเพราะไร้สติว่ายังไม่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ขอให้ผู้ประสบภัยพิบัติรอไปก่อน น้ำลดแล้วจะไปช่วย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี