แทบไม่น่าเชื่อว่าในปี 2567 สื่อกระแสหลักในประเทศไทยยังถูกนักการเมืองสามานย์ใช้เป็นเครื่องมือทำลายชื่อเสียงอีกฝ่าย เหตุการณ์ทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในทศวรรษ 2552 คราวนั้น มีการปล่อยคลิปเสียงกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีว่า สั่งฆ่าคนเสื้อแดง แต่การปล่อยคลิปเสียงไร้สาระคราวนั้นทำผ่านทางวิทยุชุมชนคนเสื้อแดงและถูกนำมาขยายความในสภาโดย สส.เครือข่ายคนเสื้อแดงด้วยกัน จึงถูกจับได้ตั้งแต่วันแรกว่าคลิปเสียงนั้นปล่อยโดยพรรคไหน และวิญญูชนผู้มีสติปัญญาต่างรู้ว่า คลิปเสียงหวังทำลายนายอภิสิทธิ์เป็นการตัดต่อจากคลิปเสียงที่นายกรัฐมนตรีจัดรายการวิทยุในโอกาสต่างๆ เข้าด้วยกันทำให้เข้าใจว่านายอภิสิทธิ์สั่งฆ่าประชาชน
การปล่อยคลิปเสียงโจมตีนายอภิสิทธิ์คราวนั้น หากจะมีความเสียหายบ้างก็จำกัดวงในหมู่นักการเมืองเท่านั้น เพราะคลิปเสียงปล่อยสื่อในเครือข่ายคนเสื้อแดงแต่การปล่อยคลิปคล้ายเสียง พลเอกประวิตรวงษ์สุวรรณ หรือ ลุงป้อม หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม นั้นถือเป็นการสร้างความเสื่อมเสียแก่มาตรฐานสื่อสารมวลชนของไทยอย่างร้ายแรง เนื่องจากว่าคลิปซึ่งไม่มีที่มาที่ไปได้แพร่หลายทางทีวี ช่อง 9 ที่แปลงสภาพจากองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทมหาชนจำกัดกับกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2547 ต่อมา ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2547 อสมท จึงเป็นบริษัทกึ่งรัฐวิสาหกิจที่ต้องสร้างความน่าเชื่อถือในการนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
การปล่อยคลิปเสียงเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม นั้น เป็นที่ประจักษ์ว่า มีเป้าหมายเพื่อทำลายผู้ที่มีเสียงคล้ายคนในคลิปเท่านั้น ที่สำคัญคลิปเสียง ที่ปล่อยออกมาไม่ได้ชี้ว่า เจ้าของเสียงนั้น สร้างความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างไร ทุจริตคอร์รัปชั่นในโครงการไหนรับสินบนมาเท่าไหร่ เท่าที่ฟังดูพอเข้าใจได้ว่าผู้ที่มีเสียงคล้ายคนในคลิปอยากเป็นนายกรัฐมนตรี และดูเหมือนว่าในคลิปเสียงจงใจประจานว่า คนที่มีเสียงคล้ายแทรกแซงการโยกย้ายข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ผ่านมานานแล้ว
กล่าวโดยสรุป คือ ในคลิปเสียงที่สร้างความฮือฮากันอยู่ในขณะนี้ ไม่ได้มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ หรือ มีข้อมูลว่าเจ้าของเสียงนั้น กระทำความเสียหายที่นำมาเป็นหลักฐานดำเนินคดีได้ จึงอนุมานได้ว่าผู้นำคลิปเสียงมาเผยแพร่ถูกใช้เป็นเครื่องมือธุรกิจการเมืองสามานย์ที่ใช้สื่อมวลชนทำลายฝ่ายตรงข้าม ดังนั้นการที่สื่อมวลชนเอาตัวเข้าไปมีส่วนในความขัดแย้งหรือเป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถือว่าผิดจรรยาบรรณร้ายแรง
สื่อมวลชนที่ได้เรียนตำราตามมาตรฐานสากลจะไม่ตกเป็นเครื่องมือนักการเมืองสามานย์จากการให้ข่าว “ซีฟ” (Exclusive) ในตำราสากลข่าว “ซีฟ” คือ ข่าวที่ได้มาโดยการเสาะหาเฉพาะตัว หรือ การสัมภาษณ์พิเศษโดยไม่มีสื่ออื่นๆ เกี่ยวข้อง และ ต้องเป็นประเด็นสำคัญ สื่อที่ผ่านการอบรมตามมาตรฐานสากลถือว่า “ข่าวขอกันไม่ได้” คือข่าวที่มีคนบอกว่า“ไอ้น้องข่าวนี้ขอนะอย่าเอาไปแพร่หลาย หรือ ที่มีคนบอกว่า “ช่วยลงข่าวนี้ให้ด้วยนะ” ข่าวทั้งสองอย่างนี้ นักข่าวที่ผ่านตำรามาตรฐานสากลมาจะทำในสิ่งตรงข้าม คือ ข่าวขอไม่ให้แพร่หลายเสนอนั่นแหละคือข่าว ดังภาพข่าวที่มีคนเอามือไปปิดหน้ากล้องทีวี จึงเป็นภาพที่ดีกว่าภาพที่แหล่งข่าวยิ้มร่าปั้นหน้าให้กล้องเล่าข่าวขอไม่ได้
สักตัวอย่าง ปี 2529 ขณะที่สงครามกลางเมือง ในประเทศกัมพูชายังร้อนแรง ผู้เขียนกับช่างภาพได้รับคำเชิญไปทำข่าวในพนมเปญ เนื่องจากในเวลานั้นไทยกับกัมพูชา ไม่มีความสัมพันธ์ที่ต่อกัน การเดินทางไปพนมเปญต้องไปทางเรือ พวกเราออกจาก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ล่องเรือผ่านเกาะกงไปยังแซอำปึน ตอนใต้พนมเปญ และเมื่อไปใกล้ถึงแซอำปึน น้ำลดเรือเกยตื้นเข้าเทียบท่าไม่ได้ ขณะที่รอน้ำขึ้นอยู่นั้นทหารรัฐบาลนั่งเรือหางยาวเข้ามาปล้นรัฐมนตรีข่าวสารและเจ้าหน้ารัฐบาลที่อยู่ในเรือ เมื่อโจรในคราบทหารจากไป ผู้ว่าฯเดินมาตบไหล่ผู้เขียนแล้วพูดว่า“พวกนั้นเป็นทหารนอกคอกอย่าถือเป็นสาระอย่าทำเป็นข่าวเลยนะ” เราตอบว่า 8 ชม.ที่ผ่านมานี้เป็นข่าวชิ้นเดียวที่รายงานได้” ผลจากการรายงานข่าวทหารปล้นรัฐมนตรี ผู้เขียนกับช่างภาพถูกทิ้งให้เผชิญหน้ากับเขมรแดงและทหารรัฐบาลในแซอำปึน นานสี่วัน (หาอ่านได้ในหนังสือนักข่าวสายโจร)
เอาละกลับมาว่ากันเรื่องข่าว“ซีฟ”ที่มีคนนำมาให้ในตำราสากลเขาเตือนว่า นั้นเป็นการหลอกใช้และข่าวซีฟทำนองนี้มักมาพร้อมปัจจัยซึ่งอาจมารูปสปอนเซอร์ จึงไม่แปลกใจที่ได้เห็นข่าวไร้สาระนำเสนอผ่านทีวีช่อง 9 ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนข่าวคลิปเสียงคล้ายลุงป้อมเป็นที่ฮือฮาในเวลานี้นั้นจึงอนุมานได้ว่า เป็นคลิปเสียงที่มาจากฝ่ายตรงข้ามของลุงป้อมที่เลือกจะเปิดเกมรุกอีกฝ่ายก่อนที่จะถูกแฉชนิดเรียกว่า เอ็งชั่วช้าข้าก็เลว พิเคราะห์จากที่ทั้งสองฝ่ายกล่าวหากันไปมาในเวลานี้พอเดาได้ว่า ฝ่ายเปิดฉากโจมตีก่อนเลวร้ายกว่า เลยเปิดฉากโจมตีก่อนกันไม่ให้อีกฝ่ายนำความชั่วร้ายของตนออกมาแฉ พูดกันตามเนื้อผ้า ฝ่ายถูกโจมตีก็มีข้อครหา มีเสียงติฉินนินทาเรื่องไม่มีธรรมาภิบาลมีพฤติกรรมเล่นเกมใต้ดินตลอดถึงเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น และ แทรกแซงการทำงานองค์กรอิสระ
ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา แต่นั้นเป็นเพียงข้อกล่าวหา ที่ไม่เคยมีเรื่องถึงโรงถึงศาล แม้ถูกร้องเรียนตลอดมาแต่ก็ไม่สามารถเอาผิดเขาได้ เป็นเพราะบารมีในกองทัพหรืออิทธิพลทางการเมืองไม่อาจทราบได้แต่ในเมื่อยังไม่ถูกศาลตัดสินจึงถือว่า ยังเป็นผู้บริสุทธิ์
ส่วนฝ่ายที่สงสัยว่า นำคลิปเสียงมาให้สื่อมวลชนในเครือข่ายใช้โจมตีนั้น อาจมีความชั่วช้าเลวร้ายกว่าผู้ถูกโจมตีหลายเท่า เพราะไม่เพียงแทรกแซงยังมีบารมีเหนือรัฐบาล ยังมีข้อครหาว่า ย่ำยีทำลายกระบวนการยุติธรรม มีพฤติกรรมอยู่เหนือกฎเกณฑ์ใดๆ ของประเทศนี้โดยที่ไม่ติดคุกตามคำตัดสินเด็ดขาดของศาลฯ แม้แต่วันเดียว ผู้ต้องสงสัยโจมตีอีกฝ่ายก่อนผู้นี้ นอกจากเคยมีประวัติทุจริตคอร์รัปชั่น ร้ายแรงที่สุด แล้วยังตกเป็นจำเลยในคดีอาญามาตรา 112และ เคยพูดว่า “ถ้า..ไม่มีความสุขอย่าหมายว่าประเทศไทยอยู่กันได้อย่างมีความสุข” จะเห็นได้ว่าตั้งแต่คนนี้กลับมาประเทศไทยหลังจากหนีไปต่างประเทศหลายปี ผู้ต้องสงสัยคนนี้ได้สร้างความแตกแยกครั้งใหม่ให้เกิดความวุ่นวายเพราะการทำตัวอยู่เหนือกฎเกณฑ์เหนือกฎหมาย ทำตัวเป็นศูนย์กลางอำนาจที่นักการเมืองไร้อุดมการณ์ต้องก้มหัวให้
และจากความอหังการ ความซ่าไร้ขอบเขตของผู้ต้องสงสัยอาจทำให้ผู้สืบสันดานตกนรกทั้งเป็นได้ ผู้ต้องสงสัยจึงใช้สื่อเป็นเครื่องมือโจมตีอีกฝ่ายที่มีรายงานว่าอีกฝ่ายมีคลิปเด็ดอยู่ในมือเช่นกัน ดังนั้นการเปิดประเด็นก่อนเพื่อความได้เปรียบโดยการนำคำแก้ตัวของฝ่ายตรงข้ามมาปรับใช้หากตกเป็นฝ่ายถูกแฉ
จะเห็นได้ว่าไม่นานหลังจากคลิปที่ว่าถูกปล่อยออกมาบรรดาลิ่วล้อก็แห่กันออกมาแก้ต่างว่า “นั้นเป็นคลิปปลอม เป็นการตัดต่อที่สร้างขึ้นโดย AI หรือ Artificial Intelligence เป็นแอปพลิเคชั่นที่สามารถทำเสียงเลียนแบบและภาพได้เหมือนจริง ดังนั้นหากผู้ถูกกระทำก่อนตอบโต้ด้วยคลิปสำคัญ ที่อ้างว่ามีอยู่ในครอบครองนั้น ฝ่ายทีถูกแฉกลับก็อ้างได้ว่า “นั้นเป็นคลิป AI” เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ฝ่ายเปิดเกมรุกก่อนเองก็อยู่ภาวะปากกล้าขาสั่น เพราะทุกวันนี้มีผู้ร้องต่อ กรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้วนับสิบคำร้อง ในบรรดาผู้ร้องที่ดูเหมือนสะเปะสะปะอยู่บ้าง แต่อย่างน้อยมีสี่คำร้องที่ยื่นถึง ป.ป.ช.โดยบุคคลไม่เปิดเผยนาม และเชื่อว่าคำร้องของผู้ไม่ประสงค์ออกนามเป็นไม้ตายที่ทำให้บิดาจอมอหังกา์และผู้สืบสันดานตกนรกทั้งเป็นได้ในเวลาไม่นานเกินรอ
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นความเสื่อมทรามของธุรกิจการเมืองทุนสามานย์ ที่สื่อมีจรรยาบรรณไม่ควรเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความสามานย์ในธุรกิจการเมือง
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี