วันที่ 25 ตุลาคมเดือนหน้าก็จะครบ 20 ปี“กรณีตากใบ”..อันเป็นโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่มีอดีตนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี..เหตุการณ์เกิดขึ้นในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 บริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
โดยเหตุการณ์ครั้งนั้นมีคนไทยมุสลิมเสียชีวิตไป 85 คน..และในจำนวนนี้เป็นการเสียชีวิตเหมือนถูก“ฆ่าตายทั้งเป็น”ถึง 78 คน..เพราะขาดอากาศหายใจและการถูกกดทับบริเวณหน้าอก..ระหว่างถูกลำเลียงใส่รถบรรทุกของทหารจากอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไปควบคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี..ส่วนอีก 7 คนถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิตระหว่างสลายการชุมนุม
จำนวนผู้เสียชีวิต 78 คน..ได้ถูกจับกุมตัวหน้า สภ.อ.ตากใบ พร้อมกับผู้ชุมนุมทั้งหมด 1,370 คน..และก่อนจะถูกนำตัวขึ้นรถบรรทุกทหารที่มีอยู่ 25 คัน..ผู้ถูกจับกุมทั้งหมดถูกถอดเสื้อมัดมือไพล่หลัง..จากนั้นจับใส่รถให้นอนคว่ำหน้าทับซ้อนกันสามถึงห้าชั้น..กว่าจะถึงจุดหมายใช้เวลาห้าชั่วโมง-ระยะทาง 150 กิโลเมตร..พอถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร..จึงพบว่ามีผู้ถูกควบคุมเสียชีวิตถึง 78 คน
โศกนาฏกรรรมครั้งนั้น ยังเท่ากับเป็นการ“สุมไฟ”ให้สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้คุโชนขึ้นมาอีกรอบ..และจนถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถทำให้เกิดความสงบลงใต้..ซึ่งอดีตนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร..นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น..เป็นผู้หนึ่งที่มิอาจปฏิเสธได้ว่า..มีส่วนสำคัญทำให้เกิด“กรณีตากใบ”..เนื่องจากเป็นผู้กำกับนโยบาย และอยู่ในพื้นที่ระหว่างเกิดเหตุการณ์
อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้ยังนับว่าโชคดีสำหรับญาติพี่น้องของผู้สูญเสีย..ก่อนที่คดีนี้จะหมดอายุความ 20 ปีในวันที่ 25 ตุลาคมเดือนหน้า..และปล่อยให้ผู้ต้องหาที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโศกนาฏกรรมครั้งนี้“ลอยนวล”พ้นคดีไปได้อย่างง่ายดาย..โดยนายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด..ได้สั่งฟ้องผู้ต้องหาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนั้น..ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และมาตรา 288..ซึ่งมาตรา 288 นี้บัญญัติไว้ว่า..“ผู้ใดฆ่าผู้อื่น..ต้องระวางโทษประหารชีวิต, จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี”
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 กันยายนวานนี้..นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด, นายณรงค์ ศรีระสันต์ และ นายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ รองโฆษกฯ ได้ร่วมกันแถลงข่าวว่า..เมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมานายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งฟ้อง“ผู้ต้องหาคดีตากใบ”จำนวน 8 คน
ประกอบด้วย..พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการ พล.ร.5 ผู้ต้องหาที่ 1, ร.ต.ณัฐวุฒิ เลื่อมใส ผู้ต้องหาที่ 2, นายวิษณุ เลิศสงคราม ผู้ต้องหาที่ 3, ร.ท.วิสนุกรณ์ ชัยสาร รน.ผู้ต้องหาที่ 4, นายปิติ ญาณแก้ว ผู้ต้องหาที่ 5, พ.จ.ต.รัชเดช หรือ พิทักษ์ ศรีสุวรรณ รน.ผู้ต้องหาที่ 6, พ.ท.ประเสริฐ มัทมิฬ ผู้ต้องหาที่ 7 และร.ท.ฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์ ผู้ต้องหาที่ 8
ย้อนกลับไปดูเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว..จากการแถลงของทีมงานโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด..เรื่องราวเป็นอย่างนี้..เริ่มจากในวันที่ 19 ตุลาคม 2547 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ตากใบ..ได้จับกุมตัวนายกามา อาลี กับพวกรวม 6 คน..ซึ่งเป็นอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) กรณีนำอาวุธลูกซองของราชการ ที่ใช้คุ้มครองหมู่บ้านไปมอบให้แก่คนร้าย..แล้วแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานว่า..อาวุธปืนดังกล่าวถูกคนร้ายปล้นไป..จึงถูกดำเนินคดีฐานแจ้งความเท็จและยักยอกทรัพย์
ต่อมาในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เวลาประมาณ 10.00 น. ได้มีประชาชนเป็นกลุ่มมวลชนประมาณ 300 - 400 คน มาชุมนุมกันที่หน้า สภ.อ.ตากใบ..เรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องหาทั้งหมดทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข และมีประชาชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ..จนกระทั่งเวลา 13.00 น. พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4 (ในขณะนั้น) ซึ่งปัจจุบันมียศ“ยศพลเอก”เป็น สส.บัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ได้สั่งให้เลิกการชุมนุม..โดยในช่วงเวลานั้นพื้นที่อำเภอตากใบ..อยู่ระหว่างการประกาศการใช้กฎอัยการศึก
ทีมงานโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด..ให้รายละเอียดว่า “หลังจากมีการตามกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และบิดามารดาของผู้ต้องหาทั้งหกคนมาร่วมเจรจา..แต่ไม่เป็นผล..โดยผู้ชุมนุมเสนอเงื่อนไขเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องหาทั้งหมดทันที..พร้อมทั้งโห่ร้องขับไล่ยั่วยุเจ้าหน้าที่..เหตุการณ์วุ่นวายได้เพิ่มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”
“พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผู้ต้องหาที่ 1 (ยศในขณะนั้น) ได้เรียกกำลังจากหน่วยต่างๆ และจัดรถยนต์บรรทุก จำนวน 25 คัน มาเตรียมพร้อมสลายการชุมนุม จนกระทั่งในเวลาประมาณ 16.00 น.เจ้าหน้าที่จึงเข้าสลายการชุมนุม..และจับกุมกลุ่มผู้ประท้วงขึ้นรถบรรทุกทั้ง 25 คัน เฉลี่ยคันละ 40 - 50 คน เพื่อออกเดินทางในเวลาประมาณ 19.00 น. นำผู้ชุมนุมทั้งหมดไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำหนองจิก จังปัตตานี ถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร เวลาประมาณ 21.00 น.”
“เมื่อนำผู้ถูกควบคุมลงจากรถบรรทุก..ปรากฏว่า มีผู้ถูกควบคุมถึงแก่ความตายทั้งหมด 78 คน โดยรถบรรทุกที่มีผู้ถึงแก่ความตาย มีผู้ต้องหาที่ 2 (ร.ต.ณัฐวุฒิ เลื่อมใส), 3 (นายวิษณุ เลิศสงคราม ), 4 (ร.ท.วิสนุกรณ์ ชัยสาร รน.), 5 (นายปิติ ญาณแก้ว), 6 (พ.จ.ต.รัชเดช หรือ พิทักษ์ ศรีสุวรรณ รน.) และ 8 (ร.ท.โท ฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์)เป็นพลขับ..ส่วนผู้ผู้ต้องหาที่ 7 (พ.ท.ประเสริฐ มัทมิฬ) เป็นผู้ควบคุมขบวนรถ”
จาการกระทำของผู้ต้องหาทั้ง 8 คนอันเป็นเหตุให้อัยการสูงสุดสั่งฟ้องนั้น..ทีมโฆษกสำนักงานอัยการอัยการสูงสุดแถลงว่า..“ผู้ต้องหาทั้งแปดย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า..การกระทำดังกล่าว..จะทำให้ผู้ตายขาดอากาศหายใจและถึงแก่ความตายได้..ดังนั้น การกระทำของผู้ต้องหาทั้งแปดจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น..คดีมีพยานหลักฐานพอฟ้อง..จึงมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งแปดตามข้อกล่าวหาดังกล่าว”
อนึ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมเดือนที่แล้ว..ศาลจังหวัดนราธิวาสได้มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดี“กรณีตากใบ”..ที่ญาติของนาย“อาแวเลาะ ปะจูกูเล็ง”ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ กับพวกรวม 48 คน..ได้ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหมด 9 คน..ฐานความผิดร่วมกันฆ่าผู้อื่น, ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น, ร่วมกันทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงเเก่ความตาย และหน่วงเหนี่ยวกักขังเป็นเหตุให้ถึงเเก่ความตาย
โดยศาลได้ประทับรับฟ้องเพียง 7 คน..ส่วนอีกสองคนยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง..คือ พล.ท.สินชัย นุตสถิตย์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 และพ.ต.อ.ภักดี ปรีชาชน อดีตรองผู้กำกับ สภ.อ.ตากใบ ปัจจุบันเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี
จำเลยทั้ง 7 คน ประกอบด้วย พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี (อายุ 74 ปี), พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร (อายุ 76 ปี), พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีต ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า และอดีต สว. (อายุ 73 ปี), พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ยศขณะนั้นในฐานะอดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 อดีต สว.(อายุ 77 ปี), พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกุล อดีตผู้กำกับสภ.อ.ตากใบในขณะนั้น (อายุ 70 ปี), นายศิวะ แสงมณี อดีตรองผอ.กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย (อายุ 78 ปี) และนายวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส (อายุ 78 ปี)
และล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา..ศาลจังหวัดนราธิวาสได้นัดจำเลยทั้ง 7 คน มาสอบคำให้การ..แต่ปรากฏว่า จำเลยทั้งหมดไม่ได้มาตามนัด..และไม่ได้แจ้งเหตุอันควรในการเลื่อนศาล..ศาลจึงออกหมายจับจำเลย 6 คน..คือ พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร, พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์, พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์, พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกุล, นายศิวะ แสงมณี และนายวิชม ทองสงค์
ยกเว้นเฉพาะ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ซึ่งปัจจุบันเป็น สส.พรรคเพื่อไทย..ได้รับความคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญมาตรา 125 ที่อยู่ระหว่างสมัยการประชุมสภา..ศาลไม่สามารถออกหมายจับ..หรือจับกุมตัวได้..ศาลจึงมีหนังสือด่วนที่สุดไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎร..เพื่อขออนุญาตจับกุม และมีหมายเรียก..รวมถึงมีหนังสือด่วนที่สุดขอให้จำเลยแถลงต่อสภาผู้แทนฯ..เพื่อสละความคุ้มกันและมาศาลในนัดหน้าวันที่ 15 ตุลาคมนี้
กรณี‘ตากใบ’นี้นับว่า 20 ปีก็ยังไม่สาย..และยังถือเป็นบทเรียนที่สำคัญอีกกรณีหนึ่งว่า..ข้าราชการประจำที่ยอมทอดตัวรับใช้อดีตนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร นั้น..จบแบบ“ศพไม่สวย”ทุกราย..เพราะจวนใกล้จะลงโลงกันอยู่รอมร่อก็ยังมี“คุก”เป็นบ่วงกรรมรอยู่ข้างหน้า
ส่วน“ทักษิณ ชินวัตร”รอดตายสบายหายห่วง..ขนาดหนีโทษคดีทุจริตโกงบ้านกินเมืองไปแล้ว..ก็ยังกลับมาใหญ่โตมีอำนาจคับฟ้าได้โดยไม่ต้องติดคุก !
รุ่งเรือง ปรีชากุล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี