วันที่เรื่องร้อนมากเข้ามาในสภาฯ ก็คือวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาของการดำเนินการเลือกตั้งครั้งแรกของสยาม และหลังจากวันนี้อีกเพียงไม่กี่วัน สภาฯจะประชุมกันไม่ได้ เพราะมีกบฏที่นำโดยพระองค์เจ้าบวรเดชเข้ามายึดดอนเมือง และยื่นคำขาดให้รัฐบาลของพระยาพหลฯยอมแพ้ ส่วนเรื่องที่ว่าร้อนนี้ท่านประธาน เจ้าพระยาพิชัยญาติได้นำเข้ามาเอง ท่านได้รับจดหมายจากนายถวัติ ฤทธิเดช ตอนเที่ยงของวันที่ 5 นี่เอง ขอให้ท่านแจ้ง และแจกให้สมาชิกสภาฯ นายถวัตินี้คือผู้นำสมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยาม และเขากำลังเป็นข่าวใหญ่ในบ้านเมือง ทำให้การเมืองร้อนระอุ เพราะได้ยื่นฟ้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเป็นประมุขของประเทศ ความในจดหมายของนายถวัติมีตอนหนึ่งว่า
“ข้าพเจ้าจึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้นำเสนอสภาผู้แทนราษฎรวินิจ แต่นายมังกร สามเสน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่งฟ้องกลับคืนมายังข้าพเจ้า โดยอ้างเหตุว่าขัดต่อมาตรา 3 แห่งรัฐธรรมนูญ…”
มาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญขณะนั้นบัญญัติว่า
“องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”
ในการถกแถลงวันนั้น สมาชิกเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะลงมติ เพราะมองว่านายถวัติไม่ได้เป็นสมาชิกของสภาแห่งนี้ บางส่วนให้ตีความมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอให้สภาฯตีความนั้นทางนายกรัฐมนตรีก็ขอให้เลื่อนไปพิจารณาในวันหลัง และ วันหลังที่ว่านี้ก็นานต่อมาเกือบถึงสองเดือน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ได้เกิดกรณีกบฏบวรเดชขึ้นในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 กว่าที่ทางรัฐบาลจะจัดการปราบปรามกบฏเสร็จเรียบร้อยจนสามารถเปิดสภาฯให้รัฐบาลมาแถลงเรื่องราวของกบฏได้ก็ปลายเดือนตุลาคม และเรื่องนี้รัฐบาลยังต้องประสานกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย ซึ่งขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้แปรพระราชฐานไปประทับอยู่ที่เมืองสงขลา
วันเวลาได้ผ่านมานานจนถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ทางรัฐบาลจึงได้เสนอเรื่องนี้ให้สภาฯพิจารณา และสภาฯจึงได้ทราบว่าที่เรื่องถูกนำเข้ามาพิจารณาค่อนข้างช้าก็เพราะรัฐบาลได้พยายามอย่างรอบคอบและได้ส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พระยานิติศาสตร์ฯ กับหม่อมเจ้าวรรณไวยทยากร วรวรรณ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พระยานิติศาสตร์ฯได้กราบทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งขณะนั้นแปรพระราชฐานอยู่ที่สงขลา ว่ารัฐบาลจะทำเป็นคำแถลงของรัฐบาลเพิ่มเติมว่าที่จะตีความในมาตรา 3 นั้นก็เพราะสภาฯไม่ใช่ศาล
“เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบดังนี้แล้ว ก็ทรงพอพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง” ในวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีจึงได้เสนอญัตติด่วนว่าด้วยเรื่องการตีความในมาตรา 3 แห่งรัฐธรรมนูญ และสภาฯก็ได้มีมติรับญัตติด่วนของรัฐบาลเรื่องการตีความในมาตรา 3 ขึ้นมาพิจารณา ดังที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีนำเสนอต่อสภาฯ
“รัฐบาลขอเสนอญัตติตีความในมาตรา 3 แห่งรัฐธรรมนูญที่ยื่นไว้เป็นญัตติด่วน คือขอให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติตีความในมาตรา 3 ดั่งนี้ สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติไม่ใช่ศาล ไม่มีอำนาจชำระ คดีอาชญาหรือแพ่งที่เกี่ยวแก่พระมหากษัตริย์
ในกรณีแพ่งการฟ้องร้องไปยังโรงศาล ให้ฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส่วนในกรณีอาชญา ซึ่งหากจะบังเอิญเกิดขึ้นก็จะฟ้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ แต่สภาฯมีอำนาจที่จะจัดการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญเพื่อให้การเป็นไปโดยยุติธรรมได้ และกล่าวต่อไปว่าญัตตินี้นายกรัฐมนตรีมอบให้พระยานิติศาสตร์ไพศาลและหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ
ไปกราบทูลก่อนแล้ว มีพระกระแสรับสั่งว่าทรงโปรดร่างนี้”
ในวันนั้นที่ประชุมไม่มีใครค้าน แสดงว่าสภาฯได้แก้ปัญหาลงได้
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี