พรรคการเมือง นักการเมือง ดูจะสุมหัวกันผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญ
ทำราวกับว่า ถ้ายังใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันต่อไปเรื่อยๆ ประเทศชาติจะล่มสลาย ประชาชนจะบาดเจ็บล้มตาย เศรษฐกิจจะวิกฤตหายนะ
แต่บางเรื่อง ที่ประชาชนได้ประโยชน์จับต้องได้ เช่น โครงการคนละครึ่งที่มีเสียงประชาชนเรียกร้องให้นำกลับมาใช้ รัฐบาลกลับมีท่าทียึกยัก กลัวจะเสียเชิงการเมือง
แบบนี้ ประชาชนคนไทยควรจะเห็นธาตุแท้ของนักการเมืองพรรคการเมือง ว่าทำเพื่อประโยชน์ของใครเป็นสำคัญ
1. พรรคเพื่อไทยขยับแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นร้อน ปล่อยผี แง้มฝาโลงลดความเข้มข้นของการตรวจสอบนักการเมือง
สื่อมวลชนรายงานว่า ในการประชุม สส.พรรคเพื่อไทย (พท.) เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา มีการแจ้งรายละเอียดถึงการยื่นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตรา
แบ่งเป็น 6 ประเด็น ได้แก่
“ประเด็นที่ 1 แก้ไขมาตรา 98 (7) ว่าด้วยการกำหนดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสส. ซึ่งห้ามบุคคลที่ต้องโทษจำคุกโดยพ้นโทษไม่ถึง 10 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดที่ทำโดยประมาทหรือลหุโทษ ให้รวมถึงความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วย
ประเด็นที่ 2 แก้ไขมาตรา 160 ว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรี ใน 3 ประเด็น คือ (4) ว่าด้วยมีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ โดยแก้ไขให้เป็นไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ประจักษ์ว่าไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตโดยกำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขบังคับใช้ (5) ไม่มีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยแก้ไขให้ชัดเจนว่า ต้องเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในศาลฎีกา และ (7) ว่าด้วยไม่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอลงโทษ เว้นแต่ทำผิดโดยประมาท ความผิดลหุโทษหรือความผิดฐานหมิ่นประมาท แก้ไขให้นำกรณีดังกล่าวเป็นเหตุความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 แทน
ประเด็นที่ 3 แก้ไขกลุ่มมาตราที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและจริยธรรมที่กำหนดเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรี คือ มาตรา 201 มาตรา 202 มาตรา 222 มาตรา 228 มาตรา 232 มาตรา 238 และมาตรา 246
ประเด็นที่ 4 แก้ไขมาตรา 211 ว่าด้วยมติของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคดีต่างๆ ที่กำหนดให้ถือเสียงข้างมาก แก้ไขโดยกำหนดเงื่อนไข กรณีเป็นคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพ สส. สว. สิ้นสุดลง หรือความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว และการวินิจฉัยว่ามีการฝ่าฝืนตามมาตรา 144 ให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ และแก้ไขเรื่องคำวินิจฉัยที่ผูกพันกับทุกองค์กรนั้นให้เฉพาะคำวินิจฉัยที่เป็นประเด็นหลักโดยตรงของเรื่องที่วินิจฉัยเท่านั้นที่จะผูกพัน
ประเด็นที่ 5 แก้ไขมาตรา 235 ว่าด้วยอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีของ สส. ซึ่งต้องส่งให้ศาลฎีกาในประเด็นมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ที่กำหนดให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่มีกำหนดเวลา และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งอีกไม่เกิน 10 ปี โดยแก้ไขระยะเวลา การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 5 ปี แต่ไม่มีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
ประเด็นที่ 6 แก้ไขมาตรา 255 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรรมนูญซึ่งเติมความเป็นวรรคสอง ให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถทำได้ และแก้ไขมาตรา 256 (8) กำหนดรายละเอียดของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ต้องผ่านการออกเสียงประชามติ คือ แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ และการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น ได้ตัดเงื่อนไขในประเด็นการแก้ไขเกี่ยวกับคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออำนาจนั้นได้ออก”
จะเห็นว่า ทั้งหมด ล้วนเป็นผลประโยชน์ของนักการเมืองอย่างชัดเจน
แถมเป็นผลประโยชน์ของนักการเมืองประเภทที่ไร้จริยธรรม ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ จึงได้ดิ้นรน พยายามจะแก้ไขเปลี่ยนแปลง
2. ขณะเดียวกัน การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง สังคมเรียกร้องให้ฟื้นโครงการคนละครึ่ง ช่วยรักษาระดับกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจร้านค้ารายย่อย
แต่ปรากฏว่า รัฐบาลยังรีรอ ยึกยัก
ทั้งๆ ที่ เข้าสู่สามเดือนสุดท้ายของปีแล้ว
สำหรับโครงการคนละครึ่ง ริเริ่มยุครัฐบาลลุงตู่ ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากว่าเป็นความชาญฉลาดในการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย รักษาระดับกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ
มีการดำเนินการช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 และไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ช่วงหลังสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด
โครงการคนละครึ่ง ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยมีกลุ่มเป้าหมายเริ่มต้น 10 ล้านคน ช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะหาบเร่ แผงลอย มีรายได้
จากการขายสินค้า โดยมีผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อยลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการนับล้านราย
การใช้จ่ายตามมาตรการนี้ รัฐบาลจะออกค่าใช้จ่ายมูลค่าครึ่งหนึ่งของสินค้าและบริการ โดยประชาชนจะต้องจ่ายเงินอีกครึ่งหนึ่งด้วยตนเอง
ทำให้เรียกมาตรการนี้ว่า “คนละครึ่ง” คือ รัฐบาลจ่ายครึ่งหนึ่ง ประชาชนจ่ายครึ่งหนึ่งนั่นเอง
โดยการจ่ายเงินนี้รัฐบาลจะจ่ายให้วันละ 150 บาทผ่านแอปเป๋าตังซึ่งประชาชนสามารถทำการสแกนจ่ายกับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งกับรัฐบาลได้ทุกร้าน
กลุ่มเป้าหมายโครงการ เป็นผู้ที่พอจะมีรายได้เพื่อมาร่วมจ่ายกับรัฐ ซึ่งเป็นการสร้างอุปสงค์ที่แท้จริง ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะหาบเร่ แผงลอย รวมไปถึงผู้ผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยรักษาระดับและทิศทางของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง
องค์ประกอบที่สำคัญของโครงการ คือ ระบบการใช้จ่ายด้วยแอปพลิเคชั่น“เป๋าตัง” และ “ถุงเงิน” ที่ต้องมีการลงทะเบียนและใช้ OTP รวมทั้งยืนยันตัวตนว่าเป็นเจ้าของโทรศัพท์จริง
ระบบดังกล่าวเป็นการสร้างการเรียนรู้ให้กับประชาชนจนถึงระดับฐานราก ให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาให้สังคมไทยเดินหน้าสู่ Digital Society ไปพร้อมๆ กัน และเป็นการลดการใช้เงินสด ทำให้การดำเนินโครงการโปร่งใส รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมาก
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ “คนละครึ่ง” ถือเป็นมาตรการที่ได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม
ดำเนินการไปแล้วถึงเฟส 4
แต่ละรอบมีการตั้งวงเงินการใช้จ่ายและรายละเอียดที่ต่างกันไป ดังนี้
คนละครึ่งเฟส 1
วงเงินโครงการคนละครึ่งเฟส 1 มีมูลค่า 30,000 ล้านบาท
วงเงินใช้จ่ายที่ให้ประชาชนรายบุคคลมีมูลค่า 3,000 บาท
กลุ่มเป้าหมายของโครงการ 10 ล้านคน
คนละครึ่งเฟส 2
วงเงินโครงการคนละครึ่งเฟส 1 มีมูลค่า 22,500 ล้านบาท
กลุ่มเป้าหมายของโครงการ 15 ล้านคน แบ่งเป็นผู้ร่วมโครงการรายเก่า 10 ล้านคนและผู้สมัครเข้าร่วมโครงการรายใหม่ 5 ล้านคน
การจ่ายเงินให้กับผู้ร่วมโครงการรายเก่า 500 บาท และผู้ร่วมโครงการรายใหม่คนละ 3,500 บาท
คนละครึ่งเฟส 3
คนละครึ่งเฟส 3 รอบแรก วงเงินโครงการคนละครึ่งเฟส 1 มีมูลค่า 93,000 ล้านบาท
กลุ่มเป้าหมายของโครงการ 31 ล้านคน
การจ่ายเงินให้กับผู้ร่วมโครงการรายเก่า 3,000 บาท
ส่วนคนละครึ่งเฟส 3 รอบเพิ่มเติม วงเงินโครงการคนละครึ่งเฟส 1 มีมูลค่า 42,000 ล้านบาท
กลุ่มเป้าหมายของโครงการ 28 ล้านคน
การจ่ายเงินให้กับผู้ร่วมโครงการรายเก่า 1,500 บาท
คนละครึ่งเฟส 4
วงเงินโครงการคนละครึ่งเฟส 1 มีมูลค่า 38,400 ล้านบาท
กลุ่มเป้าหมายของโครงการ 29 ล้านคน
การจ่ายเงินให้กับผู้ร่วมโครงการรายเก่า 1,200 บาท
สรุป
แต่ละรอบ ทำให้มีเม็ดเงินเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 2 เท่าของจำนวนเงินที่รัฐสนับสนุน
ที่ผ่านมา ร้านค้ารายเล็กรายน้อย จึงสามารถลืมตาอ้าปากได้บ้าง ทั้งๆที่ตอนนั้น เพิ่งจะฟื้นจากโควิด
แต่ปัจจุบัน ไม่มีสถานการณ์โควิดแพร่ระบาดแล้ว เศรษฐกิจบางส่วนฟื้นแล้ว แต่ร้านค้ารายเล็กรายน้อยกลับย่ำแย่ จึงสมควรต้องมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มนี้
รอดู รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ พรรคเพื่อไทย จะมีมาตรการแบบคนละครึ่งออกมาช่วยพยุงรายเล็กรายน้อย หรือไม่?
หรือจะเอาแต่เรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองของพรรคพวกตัวเองมาก่อน
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี