โดยไม่ต้องเสียค่าโฆษณาให้กองทัพ หนังสือเรื่องในนามของความมั่นคงภายใน : การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย ของ รองศาสตราจารย์ ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ กลายเป็นหนังสือขายดีไปในบัดดล เมื่อกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน.....ขอความร่วมมือระงับการจำหน่ายหนังสือ เนื่องจากพบความคลาดเคลื่อนของข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อหน่วยงาน...
หนังสือเล่มนี้แก้ไขและปรับปรุงเพิ่มเติมมาจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในภาษาอังกฤษเรื่อง Infiltrating society: The Thai military’s internal security affairs ซึ่งได้รับเลือกจากวารสาร Foreign Affairs ให้เป็นหนึ่งในหนังสือที่ดีที่สุดของปี 2022 (๒๕๖๕)
อย่างไรก็ตาม กอ.รมน. ยังได้แก้เกี้ยวต่อไปว่า...บทความวิชาการสามารถนำเสนอได้อย่างเป็นเสรีภาพ แต่เนื้อหาภายในควรมีกระบวนการวิธีวิจัยที่ถูกต้อง ปราศจากอคติ และมีการนำเสนอข้อมูลตามความเป็นจริง
เมื่อเป็นเช่นนั้น....ถ้า กอ.รมน. คิดว่างานชิ้นนี้ของอาจารย์พวงทอง มีการสรุปอ้างเหมารวมว่าการดำเนินการของ กอ.รมน. คือการแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย และยังตรวจสอบพบว่ามีการนำเสนอข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไปจากความจริง อันทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิด ส่งผลให้เกิดความเสียหายและกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กร หรือมีระเบียบวิธีวิจัยที่ไม่ถูกต้อง
ดังนั้น กอ.รมน. ก็ควรจะใช้วิธีทางวิชาการ (academic method) มาตรวจสอบ นำงานวิจัยชิ้นนี้ไปย่อยไปไตร่ตรองว่ามีตรรกะ ความน่าจะเป็นจริง หรือหลักฐานสนับสนุนหรือไม่ และถ้าเจอหลักฐานหรือข้อมูลที่ตรงข้ามหรือขัดแย้ง ไปจนถึงขั้นหักล้างงานชิ้นนี้ได้ กอ.รมน.ก็ควรแจ้งหลักฐานเหล่านี้ให้อาจารย์พวงทองทราบ ท่านจะได้เข้าใจถูกต้อง
ดังเช่นที่ ศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร ได้ตรวจสอบพบข้อผิดพลาด ๓๑ จุด ในงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของนายณัฐพล ใจจริง เรื่อง “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (2491-2500)” อันนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ปัจจุบันสถานะงานวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ถูกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระงับการเผยแพร่ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ หลังจากมีการร้องเรียนจากอาจารย์ไชยันต์ ในปี ๒๕๖๑ โดยก่อนหน้านั้น วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ได้ถูกแก้ไข ปรับปรุงเพิ่มเติมและพิมพ์เป็นหนังสือขายดีเรื่อง “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี: การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (2491-2500)”
ในระบอบประชาธิปไตย หลักการเรื่อง “เสรีภาพทางวิชาการ” ถือเป็นหลักสำคัญหนึ่งที่ถูกเขียนลงในรัฐธรรมนูญของหลายประเทศ รวมทั้งรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ ของไทยด้วย
อย่างไรก็ตาม ในมาตรา ๓๔ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ๖๐ ระบุเพียงว่า...เสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของผู้อื่น.....
ขณะที่ รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๕๐ ได้เขียนไว้ครอบคลุมกว่า ในมาตรา ๕๐ ที่กำหนดให้...บุคคลย่อมมีเสรีภาพทางวิชาการ (วรรคหนึ่ง) และ...การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย และการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (วรรคสอง)
เสรีภาพในทางวิชาการ หมายถึง เสรีภาพของผู้สอนหรือผู้เรียนในการที่ถือเอาและแสดงออกซึ่งความเห็น โดยปราศจากความหวาดกลัวต่อการแทรกสอดตามอำเภอใจโดยรัฐ
โสเกรตีส นักคิดชาวกรีกโบราณ ผู้มีชีวิตในช่วง 470 -399 ก่อนคริสตกาล (พ.ศ. ๗๓ - ๑๔๔) น่าจะเป็นปัญญาชนคนแรกๆ ที่ต่อสู้เรื่องเสรีภาพทางวิชาการ จนต้องจบชีวิตลงด้วยการถูกศาล นครรัฐเอเธนส์พิพากษาประหารชีวิตด้วยการดื่มยาพิษ
ด้วยแนวทางการดำเนินชีวิตในฐานะนักปรัชญาที่มุ่งหาความจริง โดยใช้เหตุผลตรวจสอบเรื่องราวต่างๆอย่างไตร่ตรองรอบคอบ ก่อนที่จะเสนอความคิดของตนเองสู่สาธารณชน อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการค้นหาความรู้และความจริงดังกล่าวของโสเกรตีสกลับถูกตั้งข้อหาจากผู้ครองอำนาจนครรัฐเอเธนส์ ซึ่งถ้าจะกล่าวในบริบทสังคมบ้านเราปัจจุบันก็น่าจะประมาณว่า.....โสเกรตีสมีการกระทำที่เป็นภัยต่อสังคม ด้วยการยุยงปลุกปั่นเยาวชนด้วยแนวคิดหรือลัทธิที่ผิดๆ อันขัดต่ออุดมการณ์หลักของประเทศ...
ระหว่างการดำเนินคดี หากโสเกรตีสยอมรับผิดและประณามการกระทำที่ผ่านมาของตนเอง และขอความกรุณาจากศาล สัญญาว่าจะไม่ทำเช่นนั้นอีก เขาก็คงถูกปล่อยตัวจากศาล แต่พลเมืองแบบโสเกรตีสกลับไม่ทำเช่นนั้น เขาเลือกการที่จะมีเสรีภาพทางความคิดด้วยการกล่าวต่อศาลว่า....ถ้าศาลจะปล่อยตัวเขา โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเลิกเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตในทางปรัชญาหรือวิชาการอย่างที่ตนเคยถือปฏิบัติมา ก็จะไม่ยินยอม หากขอตายเสียดีกว่า...
ร่วมสมัยเข้ามาอีกนิด….ในปี 1837 (พ.ศ.๒๓๘๐ หรือ ช่วงสมัย ร.๓) ศาสตราจารย์เจ็ดคนจากมหาวิทยาลัยเกิททิงเง่น (Gottingen University) ประเทศเยอรมัน ได้ร่วมกันประท้วงการยกเลิกรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักร Hanover (ภายหลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมันในปัจจุบัน) โดยกษัตริย์ Ernest Augustus ซึ่งขึ้นปกครองราชอาณาจักรแทนกษัตริย์ William IV ที่พึ่งเสียชีวิตไป
ภายหลังขึ้นปกครองราชอาณาจักรฮันโนเวอร์ได้สามเดือน กษัตริย์ Ernest Augustus ก็ทำการประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 1833 ของราชอาณาจักร Hanover
ที่เคยใช้กันมา ด้วยเหตุผลที่ว่าตนเองไม่เคยยอมรับเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาก่อนเลย และบอกว่าถ้าตนได้เป็นกษัตริย์มาก่อนหน้านี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะไม่มีวันเกิดขึ้นมาได้พร้อมกับประกาศว่าจะร่างฉบับใหม่ขึ้นมาให้ตรงกับค่านิยมและความต้องการของตนเอง
การแสดงออกด้วยเสรีภาพทางความคิดซึ่งไม่เห็นด้วยกับการกระทำของผู้ปกครองที่เยอรมันครั้งนี้ นำโดยนักวิชาการ ๗ คนที่มาจากหลากหลายสาขาวิชา คือ Wilhelm Grimm และ Jacob Grimm สองพี่น้องซึ่งเป็นศาสตราจารย์ทางด้านภาษาศาสตร์และวรรณคดีศึกษา, Wilhelm Weber ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์, Georg Gervinus ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์, Heinrich Ewald ศาสตราจารย์ด้านเทววิทยาและบูรพาทิศศึกษา (Orientalist), Wilhelm Albrecht ศาสตราจารย์ด้านกฎหมาย และคนสุดท้ายคือ Friedrich Dahlmann ศาสตราจารย์ด้านนิรุกติศาสตร์ (Philology) วิชาที่ศึกษาทำความเข้าใจถึงที่มา ภูมิหลังและวิวัฒนาการของภาษาผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการประท้วง
การต่อสู้เพื่อเสรีภาพทางวิชาการของศาสตราจารย์ชาวเกิททิงเง่นทั้งเจ็ดนี้ ภายหลังได้ถูกเรียกว่า “GottingenSieben” หรือ “The Gottingen Seven”
แสตมป์ที่ระลึกครบรอบ 175 ปีของเหตุการณ์ Gottingen Seven
หลังการรณรงค์ได้หนึ่งเดือน ทำให้จาก GottingenSeven กลายมาเป็น Gottingen Protestation(การต่อต้านของชาวเกิททิงเง่น) เมื่อประชาคมเกิททิงเง่นคนอื่นๆ ทั้งอาจารย์และนักศึกษาได้ออกมาร่วมกันประท้วงการยกเลิกรัฐธรรมนูญครั้งนี้กับศาสตราจารย์ทั้งเจ็ดทำให้กษัตริย์ Ernest Augustus ใช้อำนาจกดดันสภามหาวิทยาลัยเกิททิงเง่นให้ตั้งกรรมการสอบสวนศาสตราจารย์ทั้งเจ็ดคนนี้
สิบวันต่อมา..สภามหาวิทยาลัยมีมติให้ทั้งถอดศาสตราจารย์เจ็ดออกตำแหน่งศาสตราจารย์ของGottingen University โดยสามท่าน คือ ศาสตราจารย์ Dahlmann, Gervinus และ Jacob Grimm นั้นต้องรับโทษหนักที่สุดคือโดนสั่งให้ออกนอกประเทศ (ราชอาณาจักรฮันโนเวอร์) ภายในสามวัน
ภายหลังถูกถอดออกจากตำแหน่งศาสตรจารย์ที่เกิททิงเง่น นักวิชาการทั้ง ๗ คน ก็กระจายไปสอนที่มหาวิทยาลัยในราชอาณาจักรอื่นๆ เช่น ศาสตราจารย์ Dahlmann และสองพี่น้องตระกูล Grimm ได้รับคำเชิญจากกษัตริย์ราชอาณาจักรปรัสเซียให้ไปศาสตราจารย์ที่ University of Bonn ส่วน Albrecht กับ Weberก็ไปเป็นศาสตราจารย์ทางกฎหมายกับฟิสิกส์ที่ LeipzigUniversity ตามลำดับ สำหรับ Gervinus ก็ไปเป็นศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ ที่ Heidelburg Universityและสุดท้าย Ewald ไปเป็นศาสตราจารย์ทางเทววิทยาที่ University of Tubingen
ดร.ธิติ สุวรรณทัต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี