วันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ปราโบโว ซูเบียนโตว่าที่ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย โพสต์ข้อความ “ขอบคุณ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่ให้เกียรติเชิญทานอาหารค่ำอย่างอบอุ่น ที่บ้านพักของท่านในกรุงเทพฯ ถือเป็นเกียรติต่อมิตรภาพระหว่างครอบครัวของเรา และตั้งตารอต้อนรับท่านในการเยือนอินโดนีเซีย” ในโพสต์นั้นมีภาพประธานาธิบดีอินโดนีเซียกับทักษิณ ยืนขนาบข้าง นายกฯแพทองธาร ชินวัตร ในชุดขาวสำหรับใส่ในพิธีการต่างๆ ยืนตรงกลางได้สร้างความสับสนให้แก่นักวิชาการ ด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ว่า เป็นเรื่องจริงไหม? การเยือนในฐานะเพื่อน หรือกึ่งทางการ?
หากเยือนฐานะเพื่อน ทำไมนายกรัฐมนตรีไทยสวมชุดขาวราชการต้อนรับในบ้าน หากเยือนกึ่งทางการทำไมเชิญ ว่าที่ประธานาธิบดีไปทานอาหารที่บ้านเป็นส่วนตัว ทั้งหมดนี้ คือ ความสับสนที่นักวิชาการด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ เตือนว่า “ระวังความซับซ้อนสัมพันธ์ไทย-อินโดนีเซีย” รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร โพสต์ข้อความ เมื่อวันที่ 10 กันยายนว่า
..“มองกรณีที่ ว่าที่ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เป็นแขกเยือนบ้านจันทร์ส่องหล้าถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยในบริบทการต่างประเทศของหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ที่ประธานาธิบดีมาเยี่ยมเยือนเป็นการส่วนตัว การเยี่ยมเยียนของบุคคลในตำแหน่ง ส่วนใหญ่จะเป็นทางการและมีกำหนดการที่ชัดเจน เพราะว่าหลายประเทศต้องการหลีกเลี่ยงความซับซ้อนในการดำเนินความสัมพันธ์ และหลีกเลี่ยงข้อครหาต่างๆ...แต่เรื่องนี้มีให้เห็นเป็นระยะๆ ถ้ามีความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ดี เป็นปกติมาก่อน มีการเยี่ยมเยียนกันไปมาหาสู่กันเป็นเวลาหลายสิบปี ตรงนั้นก็ถือว่าไม่ผิดปกติ แต่ในบางกรณี ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งใหม่ของบางผู้นำ แล้วก็มีความซับซ้อนในทางการเมือง ตรงนี้ก็ต้องระวัง เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความซับซ้อนได้
ส่วนในภาพที่ ว่าที่ประธานาธิบดีอินโดนีเซียเอาไปโพสต์และประเด็นที่นายกรัฐมนตรีใส่ชุดขาวด้วย ดูเหมือนแยกกันลำบากหรือเปล่า...จริงๆ แล้วความสัมพันธ์ไทยกับอินโดนีเซีย ก็ไม่ได้ถือว่าความสัมพันธ์ที่ดี ในรอบหลายปี ก็มีความห่างเหินอยู่พอสมควร อย่างบางกรณี เช่น การแก้ปัญหาในเมียนมา มีความซับซ้อน และเห็นต่างมาหลายปี จริงๆ แล้วการดำเนินความสัมพันธ์ของบุคคลที่ไม่ได้เป็นทางการ ในหลายกรณี ถ้าช่วยได้ก็ถือว่าเป็นผลดีเหมือนกัน ถ้าหากว่ามีการจัดระบบให้ชัดเจนว่า อยู่ในบริบทไหน ในบางประเทศจะตั้งกลุ่มบุคคลหรือบุคคลให้เป็นผู้แทนพิเศษประเทศในเรื่องเฉพาะนั้นๆ ทำให้เข้าระบบในการเป็นตัวแทนของประเทศ และก็ไม่ไปทับซ้อนกับเรื่องส่วนตัว เพราะฉะนั้น ในกรณีอย่างนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องแยกแยะแล้วก็จัดระบบให้ดี และ#ก็การแต่งชุดเข้าเฝ้าหรือชุดขาว กำลังมีการดำเนินการหลายอย่างที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ รวมถึงเรื่องของคดีต่างๆ ทำให้เกิดความซับซ้อนขึ้นมา
ขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่านอกจาก ว่าที่ประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้ให้ข้อมูลข่าวทางโซเชียลมีเดียว่า เป็นการเยี่ยมเยียนส่วนตัวของเพื่อน แต่ว่าประเด็นมากกว่านั้น ว่ามีอะไรคงต้องเป็นเรื่องต้องถกเถียงกันอีกนาน เมื่อเรื่องเหล่านี้ เป็นประเด็นขึ้นมาก็จะเกิดความซับซ้อน อย่างเช่นกรณีการแก้ปัญหาในเมียนมา และกรณีในเรื่องทะเลจีนใต้ หรือเรื่องกรณีที่จะมีการลงทุนว่ามีการดำเนินการทั้ง 2 ประเทศ ตรงนี้ยังไม่ชัดว่านอกจากการเยี่ยมเยียนส่วนตัวแล้วยังมีอะไรที่จะเกี่ยวข้องหรือเปล่า...เพราะก่อนนี้เรื่องบทบาทของทักษิณกับเรื่องการต่างประเทศไม่แผ่วเลย เรื่องเมียนมา มีเรื่องที่สมเด็จฮุนเซน ที่มีเรื่องของการเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนหรือเปล่า ถูกบรรจุเป็นนโยบายของรัฐบาลด้วย
เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายเป็นกังวลว่า จริงๆ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีคนต้องรับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้วก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหลัก และอยู่ในระบบ และความทับซ้อนตรงนั้นก็จะมีน้อย จะเห็นว่าผู้นำหลายประเทศ ไม่นิยมดำเนินเป็นการส่วนตัวมากนัก ยกเว้นจะมีผู้แทนพิเศษดำเนินการที่เป็นทางการ หรือกึ่งทางการตรงนี้จะมีเรื่องอื่นๆ เข้าใจว่า ในบรรยากาศของการแข่งขันของมหาอำนาจในภูมิภาค และการเผชิญหน้ากัน และเรื่องการเลือกตั้งในสหรัฐฯจะมีผลต่อการค้าการลงทุนต่อประเทศในกลุ่มอาเซียน ก็คงมีการพูดคุยกันหลายเวที เรื่องเหล่านี้อาจจะมีทั้งผลดีและมีข้อสังเกตอื่น ทำให้เห็นความซับซ้อนกับประเทศมหาอำนาจกับประเทศในกลุ่มอาเซียนก็ได้ ทั้งหมดเหล่านี้อยู่ที่ความตั้งใจที่จะให้โปร่งใสและเข้าระบบ และความชัดเจนปัญหาก็จะลดลงไป..” ทั้งหมดนั้นเป็นความกังวล และเตือนให้ระวังความซับซ้อนในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับอินโดนีเซียของนักวิชาการด้านมั่นคงและความสัมพันธ์ต่างประเทศ
ผู้เขียน ในฐานะผู้สังเกตการณ์มองว่าความซับซ้อนของความสัมพันธ์ไทย-อินโดนีเซีย มีมานานหลายปีแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งความต่างในประเด็นปัญหาวิกฤตการเมืองเมียนมา ประเทศไทยซึ่งมีชายแดนติดเมียนมาและมีประวัติศาสตร์ร่วมกันมานานหลายร้อยปี ไทยกับเมียนมา มีความสัมพันธ์ดีต่อกันตั้งแต่ระดับชาวบ้านถึงรัฐบาล และหน่วยงานมั่นคงไทยเข้าใจบริบทสังคมการเมืองและความมั่นคงในเมียนมาเหมือนกับที่เมียนมาเข้าใจบริบทสังคมการเมืองตลอดถึงความมั่นคงของไทย สองประเทศเพื่อนบ้านจึงถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมาตลอดเวลานับร้อยปี และเมื่อเกิดวิกฤตในเมียนมาหลังจากพลเอกมิน อ่อง หล่าย นำทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคเอ็นแอลดีของนางออง ซาน ซู จี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 รัฐบาลไทยในเวลานั้น จึงดำเนินนโยบายด้วยความระวังไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดและประคับประคองความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกฝ่าย
ส่วนอินโดนีเซีย ซึ่งถือว่าตัวพี่ใหญ่ในอาเซียนและมีคติกับกองทัพเมียนมา กรณีกดขี่ข่มเหงชาวโรฮีนจาซึ่งเป็นพี่น้องร่วมศาสนากับอินโดนีเซีย ดังนั้นเมื่อทหารยึดอาจจากรัฐบาลเลือกตั้ง อินโดนีเซียจึงกระโจนตามก้นอเมริกาในการคว่ำบาตร ต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาและสนับสนุนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG)ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาฝ่ายออง ซาน ซู จี และกองทัพพิทักษ์ประชาชน (PDF) กองกำลังติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา นั้นคือที่มาของความซับซ้อนในความสัมพันธ์ไทย-อินโดนีเซียในกรณีวิกฤตการเมืองเมียนมา
ตลอดเวลาสามปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียเป็นเจ้ากี้เจ้าการกีดกันไม่ให้ พลเอกมินอ่อง หล่าย เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน และกีดกันไม่ให้รัฐบาลเมียนมาร่วมกิจกรรมใดๆ ของประชาคมอาเซียน แต่ในเวลาเดียวกันอินโดนีเซียกลับสนับสนุนและชักจูงโน้มน้าวให้อาเซียนและประชาคมนานาชาติรับรองรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ฝ่ายนางออง ซาน ซู จี ให้เป็นรัฐบาลชอบธรรมของสหภาพเมียนมา
ในขณะที่ประเทศไทยและเพื่อนบ้านในสุวรรณภูมิ สปป.ลาว กัมพูชาและเมียนมา ใช้ความพยายามทำให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียในเมียนมารวมทั้งรัฐบาลทหาร และกลุ่มต้านต่างๆ ตลอดถึงกลุ่มชาติพันธุ์ได้พูดจาหารือกันอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อแสวงแนวทางแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ที่สำคัญในเวลานั้นประเทศไทยมีรัฐบาลและหน่วยงานมั่นคงที่เข้าใจปัญหาเมียนมาได้ใช้การทูตเงียบ (Quiet Diplomacy) ช่วยแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองเมียนมาคืบหน้าอย่างมีนัย เนื่องจากว่าในอาเซียนด้วยกันไทยประเทศเดียวเท่านั้น ที่มีปฏิสัมพันธ์กับทุกฝ่าย นายดอน ปรมัตถ์วินัย อดีตรองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศไทยเป็นคนเดียวที่ได้พบนางออง ซาน ซู จี และนำสารของเธอไปแจ้งต่อที่ประชุมอาเซียนในกรุงจาการ์ตา ว่าออง ซาน ซู จี สนับสนุนให้มีการเจรจาครอบคลุมทุกฝ่ายเพื่อหาข้อยุติความขัดแย้งด้วยสันติวิธี
จากนโยบายการทูตเงียบที่ก้าวหน้าอาเซียนมีฉันทามติให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการเจรจากับทุกฝ่ายชักชวนให้เข้ากระบวนการปรองดองแห่งชาติ แต่น่าเสียดาย ที่มีรายงานว่าในเดือนเมษายน ที่ผ่านมานายทักษิณได้พบกับผู้แทนรัฐบาลเงาหรือ NUG และผู้แทนกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาโดยเสนอตัวเป็นคนกลางในการเจรจา และถูกรัฐบาลทหารเมียนมาตำหนิว่า“แทรกแซงกิจการภายอย่างไร้มารยาท” ตั้งแต่นั้นมาบทบาทของไทยในภารกิจคนกลางเจรจากับทุกฝ่ายก็หยุดชะงักไปและไม่มีใครพูดถึงไทยในบริบทแก้ไขวิกฤตเมียนมาในที่ประชุมอาเซียน
จึงสรุปว่าการทานอาหารค่ำระหว่างพ่อนายกรัฐมนตรีไทยกับว่าที่ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย อาจทำให้ความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศอาเซียนตลอดถึงจีนมีความสับสนซับซ้อนมากกว่าหลายปีที่ผ่านมา
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี