ผู้สื่อข่าวที่ทำสื่อ หรืออาชีพสื่อมวลชนนั้น แต่ไหนแต่ไรมา..ได้รับการเปรียบเปรยว่าทำหน้าที่เหมือน“หมาเฝ้าบ้าน”..ซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกว่า“watchdog”
ที่มีการเปรียบเปรยเช่นนั้นก็เพราะว่า..วิชาชีพของสื่อนั้น นอกจากจะต้องทำ“ความจริงให้ปรากฏ”แล้ว..ยังทำหน้าที่ตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ใช้อำนาจรัฐ..ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานไหนหรือองค์กรใด..โดยเฉพาะรัฐบาลที่เป็นฝ่ายบริหาร..มิให้มีการฉ้อฉลหรือใช้อำนาจไปในทางที่ผิด..อันอาจส่งผลเสียหายต่อชาติบ้านเมือง..เรื่องนี้ก็เป็นหน้าที่ของสื่อโดยวิชาชีพด้วย..จึงคล้ายกับ“สุนัข”ที่คอยเห่าเตือนและระแวดระวังภัยให้แก่เจ้าของบ้าน..ซึ่งก็คือประชาชนผู้เสียภาษีนั่นเอง
แต่ทุกวันนี้“สื่อ”หรือผู้สื่อข่าว..จะยังคงทำหน้าที่เช่นที่กล่าวนั้นมีอยู่อีกมากน้อยแค่ไหน..ก็ต้องปล่อยให้ประชาชนเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย..เพราะทุกวันนี้สื่อจำนวนไม่น้อย..ร่ำรวยกับการทำอาชีพ“หมาเฝ้าบ้าน” ซึ่งมีให้เห็นอยู่ดาษดื่น..ประเภทเห่าไปรับเงินไป..คือ ไม่ได้เป็น“หมา”ที่เห่าเพื่อเตือนและระแวดระวังภัยให้แก่เจ้าของบ้าน..แต่เห่าเพื่อทำให้เกิด“มูลค่าเพิ่ม”..จนเกิดคดีฟ้องร้องและต้องไปแก้ต่างฟอกตัวกันในศาล
ยกเรื่องเรื่อง“หมาเฝ้าบ้าน”ขึ้นมาพูด..ก็เพื่อจะเปรียบเทียบกับนักการเมือง หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เรียกกันว่า“สส.”..ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบยิ่งกว่าคนในอาชีพสื่อที่เป็น“หมาเฝ้าบ้าน”..เพราะ สส.เป็นผู้แทนของปวงชนในการทำหน้าที่เป็นปากเสียง..และคอยพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมือง..อันจะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนผู้เป็นเจ้าของบ้าน
วันนี้มีเรื่องที่จะต้องจับตาอย่างใกล้ชิดกับการเคลื่อนไหวของ สส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร..เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560..ฉบับ“ปราบโกงนักการเมือง”ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน..ว่าด้วยเรื่อง“จริยธรรม-ความซื่อสัตย์”..โดยจะมีการแก้ไขเป็นรายมาตรา..ที่ครอบคลุมอำนาจ 3 สถาบันหลักของประเทศ..ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ, ฝายบริหาร และฝ่ายตุลาการ..รวมทั้งองค์กรอิสระ..ชนิดที่รื้อทิ้งทั้งหมดเพื่อให้เป็นคุณแก่“นักการเมืองสีเทา”ทั้งหลาย
การเคลื่อนไหวดังกล่าว เป็นความร่วมมืออย่างสอดประสาน..ระหว่างรัฐบาลคือพรรคเพื่อไทย กับฝ่ายค้านคือพรรคประชาชน..โดยพรรคเพื่อไทยเป็น“ตัวตั้งตัวตี”ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรวมทั้งหมด 6 ประเด็น..ซึ่งถือว่าเป็น“ยาแรง”ที่จะปราบโกงนักการเมืองตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560
ประเด็นแรก..แก้มาตรา 98 ด้วยการแก้ไขมาตรา 98 (7)..ว่าด้วยการกำหนดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. ซึ่งห้ามบุคคลที่ต้องโทษจำคุก..โดยพ้นโทษไม่ถึง 10 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง..เว้นแต่ในความผิดที่ทำโดยประมาทหรือลหุโทษ..ก็แก้ไขใหม่ให้รวมถึงความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วย
ประเด็นที่สอง..แก้ไขมาตรา 160 ซึ่งได้บัญญัติถึงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรีไว้หลายประการ..ดังที่นายเศรษฐา ทวีสิน ถูก“เชือด”มาแล้ว..พรรคเพื่อไทยจะแก้ไขมาตรานี้ 3 ประการด้วยกัน
ประการแรก มาตรา 160 (4) จากที่บัญญัติไว้ว่า “มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์”..ก็แก้ไขเป็น “ไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ประจักษ์ว่า..ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต”..โดยกำหนดให้ใช้ได้ทันทีนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขมีผลบังคับใช้
ประการที่สอง..มาตรา 160 (5) จากที่บัญญัติไว้ว่า “ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน..หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง”..โดยแก้ไขเพิ่มเติมระบุชัดลงไปว่า “ผู้เป็นรัฐมนตรีต้องอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีในศาลฎีกา”
และประการที่สาม..มาตรา 160 (7) จากที่บัญญัติไว้ว่า “ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก..แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด..หรือมีการรอลงโทษ..เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท..ความผิดลหุโทษ..หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท”..แก้ไขเป็น “ให้นำกรณีดังกล่าวเป็นเหตุความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 แทน”..ซึ่งก็คือ หากมีข้อสงสัยว่าความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงหรือไม่..ประธานสภาผู้แทนราษฎร, ประธานวุฒิสภา และ กกต.สามารถส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้
อีก 4 ประเด็นสำคัญที่พรรรคเพื่อไทยเป็นตัวตั้งตัวตีในแก้ไข คือ..หนึ่ง-การแก้ไขกลุ่มมาตราที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและจริยธรรม..ที่กำหนดเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรี..ในมาตรา 201, มาตรา 202, มาตรา 222,มาตรา 228, มาตรา 232, มาตรา 238 และมาตรา 246..เรียกว่าโละทิ้งทั้งหมด..ไม่ให้รัฐธรรมนูญฉบับ“ปราบโกง”ทำอะไรนักการเมืองชั่วที่มีปมเรื่องความ“ซื่อสัตย์”และ“จริยธรรม”ได้
สอง-เป็นการล้วงลูกไปถึงฝ่ายตุลาการ ก็คือ..แก้ไขมาตรา 211 ว่าด้วยมติของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคดีต่างๆ ที่กำหนดให้ถือเสียงข้างมาก..ก็แก้เป็น..ให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่..และแก้ไขเรื่องคำวินิจฉัยที่ผูกพันกับทุกองค์กร..ให้เป็น“เฉพาะคำวินิจฉัยที่เป็นประเด็นหลักโดยตรงของเรื่องที่วินิจฉัยเท่านั้นที่จะผูกพัน”
สาม-แก้ไขมาตรา 235 ว่าด้วยอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีของ สส. ซึ่งต้องส่งให้ศาลฎีกาในประเด็นที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ..จากเดิมให้อำนาจศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งได้ตลอดไปโดยไม่มีกำหนดเวลา..ก็แก้เป็นมีกำหนด 5 ปี..และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจากเดิมหนดไว้ 10 ปี..ก็ไม่ต้องมีการเพิกถอนสิทธิ..เท่ากับว่ายกเลิกไปโดยปริยาย
และสี่แก้ไขหมวด 15 เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ..โดยเพิ่มเป็นวรรคสองของมาตรา 255..กำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถทำได้..จากการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 (8) คือ..ให้ออกเสียงประชามติเฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป, หมวด 2 พระมหากษัตริย์ และการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น
ประเด็นนี้ก็เท่ากับว่า..ไม่ต้องออกเสียงประชามติ..ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับคุณสมบัติ..หรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดํารงตําแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ..หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่..หรืออํานาจของศาลหรือองค์กรอิสระ..หรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่..หรืออํานาจได้
สรุปแล้ว หาก“ยาแรง”จากมาตราต่างๆ ที่บัญญัติผูกมัดกันไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ“ปราบโกงนักการเมือง”ฉบับนี้..ถูกแก้ไขได้เป็นผลสำเร็จ..ก็เป็นอันว่าเรียบร้อยนักการเมืองชั่วร้ายทั้งหลาย
จาก สส.ที่เป็นยิ่งกว่า“หมาเฝ้าบ้าน”..ก็กลายเป็น “มคปด.” !
รุ่งเรือง ปรีชากุล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี