“ข้าวปริมาณมันมากก็จริง แต่มูลค่ามันสู้กับสินค้า แม้แต่สินค้าเกษตรตัวอื่นๆ เช่น ทุเรียน รวมถึงเดี๋ยวนี้เราจะเห็นในหลายๆ ประเทศเองเขาก็สร้างสินค้าที่มีมูลค่าที่ได้มากกว่าในแง่ผลผลิตข้าว แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากชาวนายังมีจำนวนมากประมาณ 3.5-4 ล้านครัวเรือน ซึ่งก็ยังมีเศรษฐกิจการปลูกข้าวอยู่ ไม่ได้ปลูกข้าวทั้งหมดแต่ยังปลูกข้าวอยู่ ถ้ารวมพื้นที่มันยังมีพื้นที่จำนวนมาก ฉะนั้นข้าวในเชิงความสำคัญต่อชีวิตของผู้คนในภาคเกษตรก็ยังถือว่าสำคัญอยู่”
รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง สมาชิกวุฒิสภา (สว.) และอดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับรายการ “Farmers Talk” ทางช่องยูทูบ “landactionthai” ของมูลนิธิชีวิตไท เมื่อเร็วๆ นี้ ถึงการที่รัฐไทยยังคงมอง “ข้าว” ในฐานะ“พืชเศรษฐกิจ” แม้ปัจจุบันจะมีสินค้าอื่นๆ ที่มีมูลค่าสูงกว่าก็ตาม โดยประวัติศาสตร์การส่งออกข้าวของไทยนั้น เริ่มตั้งแต่ “สนธิสัญญาเบาว์ริง” ที่รัฐไทย (หรือสยาม) ทำกับอังกฤษในปี 2398 และหลังจากนั้นได้มีการขุดคลองที่เป็นจุดเริ่มต้นของระบบชลประทาน เช่น คลองมหาสวัสดิ์ คลองรังสิตประยูรศักดิ์ เป็นต้น
แม้บทบาทของข้าวจะลดลงในเชิงเศรษฐกิจ แต่ในทางการเมืองยังมีความสำคัญ “หากดูครัวเรือนชาวนา 4 ล้านครัวเรือน คิดเป็นจำนวนคนอาจถึง 20 ล้านคนเป็นฐานเสียงที่มีจำนวนไม่น้อย พรรคการเมืองจึงต้องมีนโยบายที่สนับสนุนชีวิตของชาวนาหรือผู้ปลูกข้าว” เห็นได้จากช่วงที่มีการเลือกตั้ง จะมีนโยบายที่หลายคนเรียกว่า “ประชานิยม”ที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือหรืออุดหนุนชาวนา
คำถามต่อมา “เมื่อข้าวไม่ใช่พืชเศรษฐกิจที่มีบทบาทสูงอีกแล้วสำหรับประเทศไทย..เหตุใดจึงยังมีคนปลูกอยู่เป็นจำนวนมาก?” อาจารย์ประภาส อธิบายว่า จริงๆ มีชาวนาที่หันไปปลูกพืชอื่นด้วย เช่น ผักบุ้ง ผักชีฝรั่ง เตยหอม ฯลฯ เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงพอกับรายจ่าย แต่ก็ยังไม่ได้เลิกปลูกข้าวเสียทีเดียวเพราะพืชอื่นใช้แรงงานในการปลูกและเก็บเกี่ยวมากกว่าข้าว จึงใช้วิธีแบ่งที่ดินเพื่อทำนาส่วนหนึ่ง และปลูกพืชอื่นๆ อีกส่วนหนึ่ง ประกอบกับรัฐบาลยังมีนโยบายเอื้อต่อชาวนา ทำให้ยังมีคนปลูกข้าวอยู่
“ข้าวให้รายได้พูดง่ายๆ คือน้อยมากเทียบกับรายได้ที่ต้องการใช้ในครัวเรือน ผมยกตัวอย่าง 20 ไร่ ถ้าเราปลูกข้าวทั้งหมด ปลูกข้าวที่เรียกว่า ข้าว กข ข้าวแข็งอายุสั้นปีนี้ดีหน่อยได้ตันละประมาณ 1 หมื่นบาท ก่อนหน้านี้5-6 พันบาทมาตลอด ถ้าผลิตดูแลดีที่สุด ลงทุนปุ๋ย-ยาต่างๆ ดูแลอย่างดี ก็จะได้ไร่ละประมาณ 1 ตัน ก็คือ 1,000 กิโลกรัมก็ได้ 1 หมื่นบาท 20 ไร่ก็ 2 แสนบาท สมมุติทำ 2 ครั้งใน 1 ปี ก็จะได้ประมาณ 4 แสนบาท
แต่ว่าการลงทุน ถ้าไม่คิดค่าแรงของตัวเอง ค่าลงทุนการผลิตก็ประมาณครึ่งหนึ่ง ก็คือถ้าปีหนึ่งทำ 2 ครั้ง ก็ได้ 4 แสนบาท ลงทุนไปครึ่งหนึ่งก็ประมาณ 2 แสนบาท ซึ่งโดยเฉลี่ยไม่มีใครมีนา 20 ไร่แล้ว แต่การทำนา 2 ครั้ง ครั้งแรกไม่มีทางที่จะได้ไร่ละตัน เพราะจะไปเก็บเกี่ยวช่วงฤดูร้อน ข้าวก็จะไม่ค่อยผสมเกสร เทียบให้ดูว่าถึงแม้ได้กำไรสักปีละ 2 แสนบาท ครัวเรือนหนึ่งมี 3-4 คน รายได้เฉลี่ยต่อเดือนก็ประมาณหมื่นกว่าบาท มันอยู่ไม่ได้” อาจารย์ประภาส ระบุ
อาจารย์ประภาส ซึ่งมีพื้นเพมาจากครัวเรือนชาวนาในพื้นที่ จ.นครปฐม ก่อนจะไปเป็นนักวิชาการ จนเกษียณแล้วจึงกลับมาเป็นชาวนาอีกครั้ง โดยร่วมก่อตั้ง “กลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านโฉนดชุมชนคลองโยง-ลานตากฟ้า” อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม กล่าวต่อไปว่า โครงสร้างการผลิตข้าวแบบเดิมที่ส่งเสริมการปลูกข้าวอายุสั้นเพื่อการส่งออก เช่น ข้าวนึ่ง ซึ่งส่งไปยังภูมิภาคตะวันออกกลาง ไม่ช่วยให้ชาวนาสามารถอยู่ได้ จึงเห็นอีกทางเลือกหนึ่งคือความพยายามปรับเปลี่ยนมาเป็นการปลูก “ข้าวอินทรีย์” โดยมี 2 ลักษณะ คือ
1.จัดตั้งกลุ่มผูกปิ่นโต ชาวนารวมกลุ่มผลิตเอง ตั้งแต่การปลูกข้าว สีข้าว ทำบรรจุภัณฑ์ โดยมีผู้บริโภคเป็นผู้สั่งซื้อล่วงหน้าและเป็นลูกค้าประจำ สร้างความสัมพันธ์กันในทางการตลาด 2.ผลิตเพื่อแปรรูป นำผลผลิตข้าวอินทรีย์แปรรูปเป็นแป้งหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทั้งนี้ ปัจจุบันแม้แต่คนปลูกข้าวก็ไม่ได้กินข้าวที่ตนเองปลูก แต่ไปซื้อข้าวบรรจุถุงมาบริโภค ซึ่งตนเรียกว่า “ข้าวไม่มีหัวนอนปลายเท้า” ขัดแล้วก็นำมาใส่ถุง ในขณะที่ข้าวพื้นถิ่น เช่น ขาวเกยไชย ใน จ.นครสวรรค์ โดยมีการพูดคุยกันในกลุ่มว่าน่าจะเป็นทางรอดทางหนึ่งในการสร้างมูลค่าของการผลิตข้าว
เมื่อมองในแง่ “ชาวนา (หรือเกษตรกร) กับการเป็นฐานเสียงสำคัญในทางการเมือง” หากดูงบประมาณที่ใช้จัดทำนโยบายอุดหนุนภาคเกษตร พบว่า อยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาทต่อปี ในจำนวนนี้ร้อยละ 70 เป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับข้าวหรือชาวนา ดังนั้น ประเด็นที่น่าจะพูดคุยกันต่อไป คือ “รัฐบาลใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อประคับประคองรายได้ของชาวนา นำมาสู่คำถามว่าควรนำงบประมาณไปปรับปรุงโครงสร้างที่ยั่งยืนมากกว่าการอุดหนุนหรือไม่?” เพราะการใช้งบฯ อย่างที่ผ่านมาก็ไม่สามารถทำให้ชาวนามีชีวิตอยู่ได้ด้วยการปลูกข้าว
“ไม่มีชาวนาที่ไหน เอาแถวนี้ก่อนแล้วกัน (ทุ่งนครชัยศรี) ซึ่งปลูกข้าวกันมาตั้งแต่ยุคบุกเบิกหลังสนธิสัญญาเบาว์ริง ไม่มีครัวเรือนชาวนาใดที่มีรายได้จากการทำนาอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว และไม่มีครัวเรือนซึ่งมีรายได้หลักจากการทำนาที่จะทำให้ชีวิตในเศรษฐกิจครัวเรือนอยู่ได้ รายได้จากการทำนาเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ที่เราเห็นภาพว่ามีการค้าขายหรือปรับมาปลูกพืชอย่างอื่น เหมือนกับจ้างงานตัวเองฉะนั้นการอุดหนุนในเชิงนโยบายชาวนา ผมคิดว่าข้อเสนอของ TDRI (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย)ก็คือการเสนอให้ลดการปลูกข้าวลงในพื้นที่ที่เหมาะสม
ที่มากไปกว่านั้นคือการพัฒนาการปลูกข้าวคุณภาพสูงเพื่อการส่งออกที่จะได้ราคาดี รวมถึงอย่างเช่นในเวียดนาม เขาก็ปรับไปสู่ข้าวอินทรีย์ ผมคิดว่าทิศทางนี้เป็นทิศทางที่ควรจะปรับในเชิงโครงสร้าง ในการอุดหนุนการผลิตข้าวในรูปแบบข้าวอินทรีย์ ซึ่งตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรื่องโรครวน หรือประเด็นเรื่องสุขภาพ แล้วก็สอดคล้องกับตลาดซึ่งต้องการข้าวหรืออาหารเพื่อสุขภาพ” อาจารย์ประภาส ระบุ
อาจารย์ประภาส ให้ข้อสรุปโดยย้ำว่า สังคมชาวนาที่อยู่ด้วยรายได้หลักจากการผลิตข้าวไม่มีอีกต่อไปแล้ว ชาวนาจำนวนมากก็ปรับตัวกันไปแล้ว นโยบายช่วยเหลือโดยรัฐจึงเป็นเพียงการสร้างคะแนนนิยมกับฐานเสียง อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่ารัฐจะไม่คิดเรื่องนโยบายเพื่อปรับโครงสร้าง เช่น โครงการนาอินทรีย์ล้านไร่ แต่ยังขาดการประเมินติดตามผลที่ชัดเจน ปัจจุบันโครงการสิ้นสุดไปแล้ว ใช้งบประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อโครงการจบไป เท่าที่สอบถามชาวนาก็ทราบว่าหลายคนกลับมาปลูกข้าวโดยใช้สารเคมีเช่นเดิม
ดังนั้น “นโยบายของรัฐควรสนับสนุนข้าวอินทรีย์ในกลุ่มที่มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นถิ่นขึ้นมา” เช่น ขาวเกยไชย (จ.นครสวรรค์) หอมนครชัยศรี (จ.นครปฐม) โดยเฉพาะสำหรับตลาดบริโภคภายในประเทศ ซึ่งมีตัวอย่างจาก ญี่ปุ่น ที่มีข้าวพันธุ์ท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่ขายเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม “การตลาดถือเป็นความท้าทายสำคัญของกลุ่มข้าวอินทรีย์” การสนับสนุนให้มีตลาดรองรับผู้ผลิตที่ต้องการปรับเปลี่ยนสู่การปลูกข้าวที่ดีต่อสุขภาพ ที่ผู้บริโภคก็พร้อมจ่าย เป็นอีกแนวทางที่น่าสนใจนอกเหนือจากการแปรรูป!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี