19 กันยายน 2567 เป็นวาระครบ 18 ปี การรัฐประหารรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร”
18 ปี แห่งการรำลึกอย่างบิดเบือน พูดความจริงครึ่งเดียว และสอพลอ
ความจริงต้องพูดให้ครบ ถ้าเธอไม่พูด ฉันจะพูดเอง
1) วันที่ 19 กันยายน 2567 นายดนุพร ปุณณกันต์สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่าวันนี้เมื่อ 18 ปีที่แล้ว คณะรัฐประหารได้ทำการยึดอำนาจรัฐบาลพรรคไทยรักไทย เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ภายใต้อำนาจเผด็จการ สิ่งที่เราสูญเสียไปคือ “โอกาสของประเทศ” พี่น้องประชาชน ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก
“การรัฐประหาร คือ อาชญากรรมร้ายแรงต่อมวลมนุษยชาติ เป็นอาชญากรรมต่อระบอบประชาธิปไตย ผลักประเทศให้เดินถอยหลังไปเกือบ 2 ทศวรรษ เราปฏิเสธการรัฐประหาร และรัฐประหารต้องไม่เกิดขึ้นอีก” นายดนุพร กล่าว
2) นายดนุพรขี้ขลาดหรืออาจจะโง่เขลาก็ไม่ทราบได้ ในการกล่าวถึงเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 และประดิษฐ์วาทกรรม “การรัฐประหาร คือ อาชญากรรมร้ายแรงต่อมวลมนุษยชาติ” มา ฉันจะชี้ให้ดูว่า “อาชญากร” ผู้ก่อ “อาชญากรรม” ต่อคนไทยทั้งประเทศ คือ ใคร?
3) รายงานของฮิวแมนไรท์วอชท์ เรื่อง “หลุมศพเท่าไรก็ไม่พอ สงครามยาเสพติด เอชไอวี/เอดส์ และการละเมิดสิทธิมนุษยชน” ระบุนโยบาย “สงคราม
ยาเสพติด” โดยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ว่า
“...สงครามยาเสพติด เป็นความรุนแรงที่รัฐให้การสนับสนุน ได้ทําลายชื่อเสียงของประเทศไทยในฐานะที่เคยเป็นประเทศประชาธิปไตยที่เคารพในสิทธิของประชาชนที่ก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การปราบปรามยาเสพติดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2546 ส่งผลให้เกิดการวิสามัญฆาตกรรมประชาชนมากกว่า 2,000 คน มีการจับกุมคุมขังโดยพลการ หรือการขึ้นบัญชีดําคนอีกหลายพันคน และการส่งสัญญาณให้มีการใช้ความรุนแรงอย่างโหดเหี้ยมโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาล ชื่อเสียงของประเทศไทยจากการต่อสู้กับปัญหาเอชไอวี/เอดส์ ซึ่งได้รับการยกย่องจากนานาชาติ จึงถูกทําลายด้วยบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว ที่ผลักดันให้ผู้ฉีดยา(เสพติด)ต้องหลบลงใต้ดิน
เมื่อครั้งเข้ารับตําแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2544 นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ประกาศนโยบาย “ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด” ให้เป็นภารกิจเร่งด่วน เขาสัญญาว่า รัฐบาลจะปฏิบัติตามกฎหมายปราบปรามการค้ายาเสพติดอย่างเข้มงวด และกําจัดเงื่อนไขทางกฎหมายและเงื่อนไขอื่นๆ ที่เป็น อุปสรรคต่อการบําบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ติดยาเสพติด
แม้ว่าเขาจะแสดงวาทศิลป์ ด้วยการให้คํามั่นสัญญาว่า จะปฏิบัติต่อปัญหายาเสพติดในประเทศไทยอย่างมีมนุษยธรรม แต่การรณรงค์ปราบปรามยาเสพติดของทักษิณก็พัฒนาอย่างรวดเร็วจนกลายเป็น “สงครามยาเสพติด” ที่รุนแรงและโหดเหี้ยม
ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2546 รัฐบาลทักษิณสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตํารวจและฝ่ายปกครองท้องถิ่น ขึ้นบัญชีบุคคลซึ่งเคยถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ให้เป็น
“ภัยคุกคามต่อความมั่นคง” ซึ่งจะต้องหาวิธีจัดการอย่าง “โหดเหี้ยม” และ “รุนแรง” ผลของการรณรงค์ในช่วงสามเดือนแรก เป็นเหตุให้มีการวิสามัญฆาตกรรม 2,275 ราย ซึ่งรัฐบาลอ้างว่า เป็นการฆ่ากันเองของกลุ่มผู้ค้ายา ทั้งที่จริงเป็นผลมาจากการ “ขึ้นบัญชีดํา” หรือ “บัญชีผู้ต้องสงสัย”ว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยไม่มีการเตรียมการอย่างดีพอ ทั้งยังมีส่วนคุกคามต่อผู้ทํางานเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน เจ้าหน้าที่ตํารวจทําการจับกุมโดยไม่มีการไต่สวน และมีการละเมิดกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ อีกมากมาย รวมทั้งการบังคับให้เข้ารับการบําบัดการเสพยา
รายงานฉบับนี้ ให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการละเมิดกฎหมายของรัฐในสงครามยาเสพติด ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ใช้ยา และผลกระทบต่อการเข้าถึงบริการด้านเอชไอวี/เอดส์ของผู้ใช้ยา
ฮิวแมนไรท์วอชท์ พบว่า ผลลัพธ์ประการหนึ่งของสงครามยาเสพติด คือ การผลักดันให้ผู้ใช้ยาจํานวนมากต้องหลบหนี และไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพซึ่งมีน้อยอยู่แล้ว ที่จะช่วยป้องกันพวกเขาจากการติดเชื้อเอชไอวี
จากการสัมภาษณ์ผู้ให้คําปรึกษาแก่ผู้ใช้ยาและเจ้าหน้าที่ภาคสนามพบว่า ผู้ใช้ยาที่แต่เดิมเคยเข้ารับบริการป้องกันการติดเชื้อ ต้องอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ บางครั้งต้องไปหลบอยู่ตามเทือกเขาห่างไกลในภาคเหนือของไทย ที่แม้กระทั่งเพื่อนๆ ก็ไม่สามารถหาพวกเขาพบ
นักวิจัยท่านหนึ่งซึ่งมีส่วนช่วยคัดเลือกผู้ใช้ยาหลายร้อยคนเพื่อเข้าร่วมในการศึกษาเพื่อหาทางป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีกล่าวว่า กว่าสามในสี่ของคนเหล่านี้ หายตัวไปเมื่อสงครามยาเสพติดเริ่มต้นขึ้น ในบรรดาผู้ใช้ยาที่เขาสํารวจได้ในระหว่างสงครามยาเสพติด มีบางส่วนระบุว่า มีการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันมากขึ้น (ซึ่งทําให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้น) เนื่องจากเข็ม และกระบอกฉีดยามีจํานวนลดลง
บรรยากาศแห่งความหวาดกลัว อันเป็นผลมาจาก “การวิสามัญฆาตกรรม” และ “การขึ้นบัญชีดํา” ทําให้ผู้ใช้ยาจํานวนมากต้องหลบซ่อนตัว และมีสภาพยํ่าแย่ลง
ไปอีก เนื่องจากการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตํารวจโดยไม่มีการไต่สวน และมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ
คนจํานวนมากที่ถูกจับกุมกล่าวกับ ฮิวแมนไรท์วอชท์ว่า เจ้าหน้าที่ตํารวจแอบยัดยาไว้ในกระเป๋าของพวกเขา บังคับให้ต้องสารภาพผิด ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทํา และข่มขู่จะจับกุมพวกเขา หากไม่ยอมเข้ารับการบําบัดการเสพยา
เจ้าหน้าที่ตํารวจยังต้องพยายามทํายอดให้ได้ตามโควตาที่ได้รับมา และบางครั้งต้องกล่าวหาผู้ที่มีประวัติการเสพยาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายา
ผู้ใช้ยาที่ถูกจับกุม มักจะถูกควบคุมตัวหรือถูกกักขังไว้ในศูนย์กักกัน หรือในเรือนจํา ซึ่งก็มีเฮโรอีนที่นั่น และก็มีการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันด้วย ในขณะที่ไม่มีโครงการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดและการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีอย่างเพียงพอ
มีรายงานว่าผู้ใช้ยาต้องแบ่งกันใช้เข็มฉีดยาในคุกกับเพื่อนมากถึงสิบกว่าคน เจ้าหน้าที่เรือนจําเองก็ไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อเอชไอวีและการติดเชื้อโดยผ่านกระแสเลือดหรือการเข้าถึงบริการป้องกันการติดเชื้อแก่ผู้ต้องขังแต่อย่างใดการสํารวจผู้ใช้ยา 1,865 คนในปี 2545 พบว่า อัตราการติดเชื้อของผู้ชายที่เคยถูกจับกุมคุมขัง มีมากกว่าเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับผู้ชายที่ไม่เคยถูกจับกุมคุมขัง
ประเทศไทยได้รับการยกย่องจากนานาชาติว่า เป็น “แบบอย่างการปฏิบัติ” ของการแก้ปัญหาโรคเอดส์อันเป็นผลสืบเนื่องจากความสําเร็จของการรณรงค์“การใช้ถุงยางอนามัย 100%” ในช่วงปี พ.ศ. 2533 แต่เมื่อพิจารณาถึงกลุ่มผู้ใช้ยา เราจะพบว่า รัฐบาลไทยกลับปฏิเสธ ไม่ให้บริการป้องกันการติดเชื้อที่มีประสิทธิภาพกับพวกเขา แต่กลับเลือกใช้นโยบายการจับกุมโดยไม่มีการไต่สวน การจับขังคุก และการบังคับให้เลิกยา
การนําเข็มฉีดยาเก่ามาแลกเข็มฉีดยาใหม่ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่องค์การอนามัยโลกส่งเสริม กลับถูกต่อต้านจากรัฐบาลไทย แม้ว่าสถิติที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า การแลกเปลี่ยนเข็มฉีดยามีประสิทธิภาพ ช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี โดยไม่ได้ไปเพิ่มจํานวนผู้ใช้ยาแต่อย่างใด
ตลอดช่วงเวลาที่มีการทําสงครามยาเสพติด รัฐบาลไทยส่งเสริมให้มีการใช้ความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติในระดับสูงสุดต่อผู้ที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ใช้ยาหรือผู้ค้า เมื่อมองจากภายนอกดูเหมือนว่านายกรัฐมนตรีทักษิณพยายามแยกแยะระหว่างผู้ใช้ยา ซึ่งเขากล่าวว่าควรได้รับการปฏิบัติเสมือนเป็น “ผู้ถูกกระทํา” และ “ผู้ป่วย” กับผู้ค้า ซึ่งจะต้องถูกลงโทษอย่างรุนแรง
แต่ในทางปฏิบัติ ทั้งผู้ใช้ยาและผู้ค้า กลายเป็นเป้าหมายของการไล่ล่าสังหารและการละเมิดสิทธิ ที่รัฐบาลเป็นฝ่ายสนับสนุน
ผู้ใช้ยาจํานวนมากถูกบังคับให้เข้ารับการบําบัดด้วยความหวาดกลัวต่อการจับกุมในระหว่างที่มีสงครามยาเสพติดผู้ที่สมัครเข้ารับการบําบัดก็จะถูกปฏิบัติด้วยวิธีที่หนักหน่วงแบบทหาร กล่าวคือ การควบคุมตัวไว้ในค่ายทหาร นอกจากการปฏิบัติอย่างโหดร้ายเช่นนี้แล้ว ผู้ใช้ยายังกล่าวถึงการเลือกปฏิบัติในสถานพยาบาลและหน่วยงานราชการ และการกีดกันไม่ให้สามารถเข้าถึงบริการรักษาด้านเอชไอวี/เอดส์ของรัฐ
ผลลัพธ์ที่ชัดเจนที่สุดของสงครามยาเสพติด ไม่ใช่การปราบปรามการค้ายาอย่างผิดกฎหมาย แต่กลับทําให้เกิดอันตรายเพิ่มมากขึ้น ผู้ใช้ยาส่วนใหญ่ที่ฮิวแมนไรท์วอชท์ สัมภาษณ์ ระบุว่า ยังมีการใช้เฮโรอีนหรือยาบ้าอย่างต่อเนื่องในช่วงที่มีสงครามยาเสพติด แม้ว่ายาจะมีราคาสูงขึ้นและหาได้ยาก ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาตั้งข้อสังเกตว่า ผู้รายงานตัวเพื่อเข้ารับการบําบัดการเสพยาในช่วงต้นปี 2546 ไม่ได้เป็นผู้ใช้ยาเลย แต่เป็นผู้ที่หวาดกลัวว่าจะตกอยู่ในอันตรายเพราะต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
คนจํานวนมากซึ่งมีชื่ออยู่ใน “บัญชีดํา” และ “บัญชีผู้ต้องสงสัย” ของรัฐบาล มักเกิดขึ้นจากการกลั่นแกล้งของคนรู้จัก การปราบปรามยาเสพติดซึ่งเปล่าประโยชน์เช่นนี้ กลับสร้างให้เกิดผลกระทบมากมายต่อคนไทยหลายพันคน ในขณะที่ชื่อเสียงด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยยังไม่พัฒนาดีขึ้น แต่มีผู้เสียชีวิตไปอันเป็นผลมาจากสงครามยาเสพติด ไม่ว่าจะเป็นเพราะว่าถูกยิงตายหรือต้องใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น ซึ่งงไม่มีทางฟื้นคืนชีวิตกลับมาได้”
4) นายชวน หลีกภัย ผู้นําฝ่ายค้าน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า นโยบายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาล จะทําให้เกิดการฆ่าคนได้โดยไม่จําเป็น เพราะคนที่กระทําผิดต้องดูลักษณะการกระทํา โดยใช้กฎหมาย มารองรับ โทษหนักของยาเสพติด คือ การประหารชีวิต ซึ่งเป็นคําสั่งของศาล ไม่ใช่ตํารวจ และผู้ปฏิบัติต้อง
รับผิดชอบ ไม่ใช่ผู้ให้นโยบาย...
5) นโยบายของรัฐบาลประชาธิปไตยของนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นนายเหนือหัวของนายดนุพร ยังมีพฤติกรรม “ทุจริตคอร์รัปชั่น” เอาประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติไปเป็นประโยชน์ส่วนตน จนเป็นคดีทุจริตติดตัว หนีหัวซุกหัวซุนออกนอกประเทศไทยไปกลับมารับสารภาพ และขอรับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนได้รับการอภัยลดโทษจากโทษจำคุก 8 ปี เหลือ 1 ปี คดีที่ว่านั้นมีอะไรบ้างดนุพรกล้าพูดไหม เธอไม่กล้า ฉันกล้า
1.คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษ แบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า คดีหวยบนดิน โดยศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุกนายทักษิณ 2 ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การสั่งการของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดังนั้นเงินที่จ่ายเกินไปกว่ารายได้ของการจำหน่ายสลากจึงถือว่าก่อให้เกิดผลขาดทุนแก่รัฐ
2.คดีสั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออก และนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อ4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพพม่า ศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีนายทักษิณ สั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออก และนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อจำนวน 4,000 ล้านบาท แก่รัฐบาลสหภาพพม่า โดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน เพื่อนำเงินกู้ดังกล่าวไปใช้ในการซื้อสินค้า และบริการของบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น
3.คดีให้บุคคลอื่น (นอมินี) ถือหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แทน โดยบริษัทชินคอร์ป เป็นคู่สัญญาต่อหน่วยงานของรัฐ และเข้าไปมีส่วนได้เสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม โดยศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 5 ปีไม่รอลงอาญา แบ่งเป็นฐาน เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ จำคุก 2 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการ หรือดูแลกิจการเข้ามามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้นจำคุก 3 ปี
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า นายทักษิณ ดำเนินการดังกล่าวเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ซึ่งได้รับสัมปทานดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท. ชื่อขณะนั้น) และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด หรือบริษัท ดีพีซี ได้รับสัมปทานดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท. ชื่อขณะนั้น) โดยทั้ง 2 บริษัทเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ชินคอร์ป ซึ่งจำเลยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ให้ทั้ง 2 บริษัทได้รับคืนเงินภาษีสรรพสามิตที่ชำระแล้ว โดยมีสิทธินำไปหักออกจากค่าสัมปทานที่ต้องนำส่งให้ ทศท. และ กสท. เป็นผลให้ ทศท. และ กสท. ได้รับความเสียหาย
สรุป : ดนุพรครับ รัฐบาลประชาธิปไตยที่ตั้งศาลเตี้ยฆ่าประชาชนจากนโยบายปราบปรามยาเสพติด, จากเหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ ตายไปกี่ศพ ลองนับดูนะครับ, รัฐบาลที่มีนายกฯ ฉกฉวยโอกาส หาประโยชน์เข้าตน เข้าหมู่โคตรญาติ,รัฐบาลที่ใช้อำนาจสั่งการให้ ปปง. ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินสื่ออย่างผิดกฎหมาย ทั้งสุทธิชัย หยุ่น จากเนชั่น, โรจน์ งามแม้น(เปลว สีเงิน) จากไทยโพสต์ และวารินทร์ พูนศิริวงศ์จากแนวหน้า, รัฐบาลที่แทรกแซงองค์กรอิสระ มีพฤติกรรมครอบงำสื่อ เป็นเผด็จการรัฐสภา เป็นรัฐบาลที่ “ชั่วช้า-บัดซบ-เลวทราม” หรือเป็นรัฐบาลที่ดีงามครับ
เป็น “อาชญากร” ที่ครบเครื่องกว่าการรัฐประหารหรือไม่ครับ
ตอบมา!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี