เมื่อกลุ่มคนมารวมอยู่กันเป็นจำนวนมากขึ้นก็จะเกิดเป็นชาติ และการที่คนในชาติจะอยู่ร่วมกันได้โดยสงบนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกฎ ระเบียบ กติกาต่างๆ ซึ่งก็จะได้รับการพัฒนาตามบริบทของสภาพสังคม ตลอดจนธรรมเนียมประเพณี และศาสนา ซึ่งแต่ละชาติไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีรูปแบบของกฎหมายที่เหมือนกัน จึงเป็นที่มาของระบอบ เช่น ระบอบคอมมิวนิสต์ ระบอบสังคมนิยม ระบอบประชาธิปไตย เป็นต้น
ชาติไทยของเรานั้น เริ่มมีการนำกฎหมายมาใช้ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระเจ้าอู่ทอง โดยเป็นรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ที่มาจากประเทศอินเดียโดยผ่านมาทางมอญซึ่งเป็นกลุ่มชนที่มีความสัมพันธ์กับชนชาติไทยมานานแล้ว
กฎหมายไทยได้มีพัฒนาการมาตามลำดับในหลายรัชสมัยของพระมหากษัตริย์ที่ปกครองกรุงศรีอยุธยา อาทิ ในสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่มีช้างเผือกไว้ประดับบารมี พระองค์ได้ปฏิรูประบบราชการเป็นอย่างมาก มีการปรับกฎระเบียบต่างๆ และยังทรงมีความสามารถในด้านการรบ จึงได้รับการเทิดทูนให้เป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่ง
กฎหมายของชาติไทยซึ่งถือว่าเป็นแม่บทกฎหมายที่สำคัญมากเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ชำระกฎหมายเก่าที่มีมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล โดยได้ดำเนินการรวบรวมขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๔๗ เป็นกฎหมาย ๓ ฉบับ ฉบับแรกมีตราราชสีห์ประทับไว้ ฉบับที่ ๒ มีตราคชสีห์ประทับไว้ และฉบับที่ ๓ มีตราบัวแก้วประทับไว้ จึงเรียกกฎหมายนี้ว่ากฎหมายตราสามดวง และให้อารักษ์หลายท่านเขียนแยกเป็นฉบับหลวงและฉบับรองทรง โดยฉบับหลวง ๑ ชุด จะเป็นสมุดไทย ๔๑ เล่ม เมื่อรวม ๓ ชุดจึงเป็น ๑๒๓ เล่ม ความแตกต่างระหว่างฉบับหลวงและฉบับรองทรงคือฉบับรองทรงจะไม่มีตราประทับ เป็นที่น่าเสียดายว่าสมุดไทยเหล่านี้บางส่วนได้สูญหายไป คงเหลือเก็บไว้อยู่บ้างที่กระทรวงยุติธรรม หอสมุดแห่งชาติ และพิพิธภัณฑ์อัยการไทย
ความสำคัญของกฎหมายตราสามดวงมีอยู่หลายประการคือ เป็นกฎหมายของนักกฎหมายและการใช้เหตุผลของนักกฎหมายปรุงแต่ง เป็นกฎหมายที่มีลักษณะธรรมชาติ ไม่ละเว้นผู้ใดแม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย พระมหากษัตริย์และศาลมีส่วนสำคัญในการบัญญัติกฎหมายนี้ และไม่สามารถจะแก้ไขได้ ยกเว้นเมื่อเห็นว่ามีบางเรื่องที่ไม่เหมาะสมก็จะใช้การชำระสะสาง ไม่ใช้การแก้ไขหรือยกร่างขึ้นใหม่ เป็นกฎหมายที่ปรุงแต่งตามจารีตประเพณี และเป็นกฎหมายที่ใช้ในการชี้ขาดตัดสินคดี ไม่ใช่เขียนในลักษณะตำรากฎหมาย
กฎหมายตราสามดวงนี้ถูกใช้เป็นกฎหมายหลักของประเทศมาจนถึงแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช เป็นการใช้อยู่ยาวนานถึง ๑๐๓ ปี จึงมีการปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลตามแบบประเทศมหาอำนาจยุโรป และได้เลิกใช้กฎหมายตราสามดวง
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระองค์ ได้มอบให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระราชโอรสที่สำเร็จวิชากฎหมายเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ทรงเป็นประธานคณะกรรมการจัดทำกฎหมายขึ้น จนประกาศใช้ในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๕๑ เรียกว่ากฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ ถือเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกของไทยซึ่งเป็นกฎหมายอาญาที่ทันสมัยมาก เพราะได้นำหลักกฎหมายอันเป็นที่นิยมอยู่ในประเทศต่างๆมาดัดแปลงให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของสังคมไทย
กฎหมายลักษณะอาญาฉบับนี้ ถูกใช้บังคับมาจนถึงพ.ศ.๒๔๘๖ จึงมีการปรับปรุงใหม่ เรียกว่ากฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ.๒๔๘๖ และใช้ต่อเนื่องมาจนถึงพ.ศ.๒๔๙๙ จึงได้มีการปรับปรุงอีกครั้งหนึ่งเป็นประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันซึ่งเริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๐
หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ ก็เริ่มมีการจัดทำกฎหมายหลักของประเทศที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นกฎหมายสูงสุดกว่ากฎหมายอื่นๆ ทั้งปวงเพื่อใช้ในการบริหารประเทศตั้งแต่นั้นมา
ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว แต่ก็กลับปรากฏว่ามีการแก่งแย่งชิงอำนาจกันอยู่เสมอมา ทั้งจากนักการเมืองกันเองและจากการปฏิวัติรัฐประหาร ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งก็มักจะมีการแก้ไขหรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นไปตามสิ่งที่รัฐบาลหรือผู้ปกครองในยุคนั้นๆ จะเห็นชอบ
นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เรียกว่าพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.๒๕๗๕ มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ นั้น ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญรวมทั้งสิ้น ๒๐ ฉบับ และมีการแก้ไขในระหว่างการใช้ฉบับต่างๆ นั้นรวมทั้งสิ้น ๒๓ ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๔ ที่ได้กำหนดให้ “ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรหลักที่ทำหน้าที่ตีความรัฐธรรมนูญและวินิจฉัยข้อขัดแย้งข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ”
หันมาดูการเมืองไทยในปัจจุบันนี้ พรรคที่ได้เข้ามาบริหารประเทศคือพรรคเพื่อไทย นอกจากจะใช้นโยบายประชานิยมเป็นหลักแล้ว สิ่งหนึ่งที่พรรคนี้พูดมาตลอดคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนพรรคหลักของฝ่ายค้านซึ่งถูกยุบพรรคเป็นครั้งที่ ๒ แล้วเข้ามาสิงอยู่ในพรรคใหม่ ก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรืออย่างน้อยก็ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน
พรรคหลักฝ่ายค้านที่มีคำว่า “ประชาชน “เป็นชื่อพรรคนั้น จะพูดเสมอว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ใช่เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน ทั้งที่ความจริงแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ เป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ แต่เพราะได้ตั้งเป้าที่จะลดบทบาทของพระมหากษัตริย์และสถาบันกษัตริย์ โดยนำเอาเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมาเป็นคำพูดกรอกหูให้คนส่วนหนึ่งเกิดความเชื่อว่าทุกคนที่เกิดมาต้องเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในโลกใบนี้ และได้กระทำสิ่งต่างๆ จนเป็นที่มาของการถูกยุบพรรคครั้งหลังสุด
ส่วนพรรคเพื่อไทยซึ่งก็รู้กันดีว่าเป็นพรรคเพื่อใครนั้น ไม่ว่าผู้ก่อตั้ง เทือกเถาเหล่ากอและพลพรรคหลายคนเป็นผู้ที่มีชนักติดหลัง อันเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ถูกออกแบบไว้อย่างชัดเจนที่จะไม่ให้คนชั่ว คนไม่ดี หรือมีประวัติเสื่อมเสีย ไม่ว่าจะในเรื่องของความไม่ซื่อสัตย์ คดโกง ทุจริตคอร์รัปชั่นต่อแผ่นดินรวมทั้งจริยธรรมที่เสื่อมเสียได้เข้ามาบริหารบ้านเมือง โดยมีบทลงโทษที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน รุนแรง ที่จะป้องกันไม่ให้คนเหล่านั้นได้เข้ามาบริหารบ้านเมืองอีก หากมีการกระทำผิด
เป็นที่ทราบกันว่าขณะนี้พรรคประชาชนได้ยื่นร่างแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญไปเรียบร้อยแล้ว ถึงแม้ว่าจะยังไม่ปรากฏเนื้อหาสาระชัดเจนต่อสาธารณะ แต่ก็ค่อนข้างจะเชื่อได้ว่ายังยึดโยงอยู่กับเรื่องที่ได้กระทำมาโดยตลอด โดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การแก้กฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ อันเป็นกฎหมายที่คุ้มครองสถาบันกษัตริย์ แต่ก็เชื่อว่าเมื่อถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ก็จะไม่ผ่านการพิจารณา เพราะกระแสสังคมโดยประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ยอมรับในเรื่องนี้อย่างแน่นอน
ส่วนพรรคเพื่อไทยที่เพิ่งยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปเมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว ก็ปรากฏชัดเจนแล้วว่าจะขอแก้ใน ๒ เรื่องสำคัญ เรื่องแรกเป็นเรื่องของจริยธรรม ของนักการเมือง ซึ่งเคยส่งผลให้นายกฯคนก่อนต้องพ้นสภาพไป และยังอาจจะกระทบสมาชิกพรรคนี้อีกหลายคนที่มีปัญหาด้านจริยธรรมอยู่ ส่วนอีกประเด็นหนึ่งจะยึดโยงไปถึงเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตของนักการเมือง ที่หากกระทำผิดจะถูกลงโทษโดยศาลรัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ซึ่งรุนแรงพอสมควร ก็เช่นกันว่ายังอาจจะก่อปัญหากับอดีตนายกผู้ก่อตั้งพรรคนี้ และที่สืบเชื้อสายต่อกันมารวมทั้งพลพรรคทั้งหลายด้วย
ขณะนี้ประชาชนคนใดที่ประพฤติปฏิบัติอยู่ภายใต้กฎหมาย ก็ไม่ต้องวิตกกังวลแต่ประการใด เพราะจะไม่มีใครเดือดร้อนจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จึงมีคำถามว่าการแก้รัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้นให้เร็วๆ นี้ โดยใช้เสียงข้างมากลากไปของนักการเมืองทั้งหลาย เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน หรือเป็นการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ของใครกันแน่
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี