คดีทุจริตประพฤติมิชอบ ในลักษณะสินบนข้ามชาติ ถือเป็นเรื่องอื้อฉาวข้ามประเทศ
ส่วนใหญ่ จะเป็นบริษัทต่างชาติมาติดสินบนนักการเมืองหรือเจ้าหน้าที่รัฐไทย แต่ถูกทางการต่างชาติจับได้ไล่ทันเอกชนต่างชาติที่เป็นฝ่ายให้สินบน เรื่องเลยแดงออกมา จากนั้นจึงฉาวข้ามมาถึงฝ่ายรับสินบนในประเทศไทย
หลายกรณี ทางการไทยยังเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายที่รับสินบนในบ้านเราไม่ได้
บางกรณี ก็เอาผิดได้ ติดคุกติดตะรางไปก็มี
ล่าสุด ก็มีเรื่องสินบนข้ามชาติอื้อฉาวอีกแล้ว
1. สินบนเงินสด ทัวร์ต่างประเทศ และอาบอบนวด
กรณีล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (SEC) หรือ ก.ล.ต.สหรัฐ ระบุว่าผู้บริหารระดับสูง และพนักงานของบริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด (Wirtgen (Thailand) Co.,Ltd.) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ“เดียร์ แอนด์ คอมพานี” (Deere & Company) ได้จ่ายสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐของไทย ได้แก่ กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กองทัพอากาศ เพื่อให้ได้สัญญางาน
โดยสินบนนั้น อยู่ในรูปของการให้เงินผ่านบุคคลที่สาม การพาไปเที่ยวต่างประเทศ รวมถึงการพาไปที่ร้านอาบอบนวด
พฤติกรรมในรายละเอียด SEC พบว่า ตั้งแต่ปลายปี 2560 ถึง 2563 พนักงานของบริษัท เวิร์ทเก้น ประเทศไทย ได้มีการติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยในหลายหน่วยงาน และยังติดสินบนพนักงานของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเพื่อชนะการขายงานให้กับบริษัทนั้น ส่งผลทำให้บริษัท เวิร์ทเก้นฯ หากำไรได้ประมาณ 4.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (144,731,536 บาท) จากสินบนเหล่านี้
นั่นเป็นการละเมิดกฎหมาย FCPA โดยบริษัทเดียร์ฯ ยินยอมที่จะจ่ายเงินเพื่อยุติการดำเนินตรวจสอบเกี่ยวกับการละเมิด ด้วยการจ่ายเงินประมาณ 5.4 ล้านดอลลาร์ (181,750,500 บาท) และจ่ายเงินค่าปรับทางแพ่งอีก 4.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (151,458,750 บาท) รวมเป็นเงิน 9.93 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 334 ล้านบาท
ยกตัวอย่าง
สำนักข่าวอิศรา เจาะรายละเอียด พบว่า ปี 2562 ได้มีการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ 4 คน จากกรมทางหลวง ด้วยการพาไปเที่ยวเยอรมนี (2 คนเป็นกรรมการจัดซื้อ และพาภรรยาไปด้วย)
ทริปดังกล่าว ใช้เวลา 8 วัน รวมไปเที่ยวที่สวิตเซอร์แลนด์ เมืองอินเทอร์ลาเคิน เมืองเซอร์แมท และทะเลสาบลูเซิร์น ตลอดจนช้อปปิ้งและท่องเที่ยวในบริเวณเทือกเขาแอลป์ พักโรงแรมหรูตลอด
ใช้จ่ายเงินประมาณ 47,500 ดอลลาร์สหรัฐ (1,575,622 บาท) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายด้านความบันเทิงให้กับเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงในระหว่างทริป
ปรากฏว่า จบทริป บริษัทได้ยื่นซองประมูลงาน ในวันที่ 16 ต.ค. 2562 ได้งานมูลค่า 498,567 ดอลลาร์สหรัฐ (16,536,470 บาท) และหนึ่งเดือนต่อมา ในวันที่ 20 พ.ย. 2562 ก็ชนะการประกวดราคาคิดเป็นมูลค่า 1,451,432 ดอลลาร์สหรัฐ (48,162,868 บาท)
ในรายงานยังระบุด้วยว่า ตั้งแต่ปี 2561 ถึง 2563 บริษัทฯ ยังได้ชําระเงินสดโดยตรงและการชําระเงินผ่านตัวแทนบุคคลที่สาม เพื่อติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กรมทางหลวง,กรมทางหลวงชนบท และกองทัพอากาศ
ตัวอย่างในส่วนของเงินสินบน ได้มีการสั่งให้ผู้จัดการฝ่ายการเงินดำเนินการ โดยระบุคำสั่งดังนี้ “ประสานงานกับกรมทางหลวงเตรียมซองจดหมายไว้ 5 ซอง และถอนเงินสดเตรียมพร้อมไว้ด้วย โดยคุณอาจจะรับเงินเป็นจำนวน 1 แสนบาทเพื่อใช้ในวันที่ส่งมอบ” ผู้จัดการฝ่ายการเงินได้ถามกลับไปว่า “สำหรับซองจดหมาย 5 ซอง ให้ผมใส่เงินในแต่ละซอง ซองละ 2 หมื่นบาทเลยหรือไม่”ซึ่งกรรมการผู้จัดการกล่าวตอบกลับไปว่าไม่ เขาจะทำเรื่องนี้เอง
นอกจากนี้ มีรายงานว่า ยังได้ใช้งานที่ปรึกษาที่เป็นบุคคลที่สาม ดำเนินการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่จากกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทด้วยเช่นกัน เพื่อที่จะได้รับสัญญาการประกวดราคาจำนวน 4 ครั้ง คิดเป็นมูลค่าสัญญาประมาณ 4.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (155,072,020 บาท)
ได้มีการทำข้อตกลงคอมมิชชั่นปลอมกับที่ปรึกษาบุคคลที่สาม ซึ่งไม่ได้ให้บริการที่ถูกต้องตามกฎหมาย และกลายเป็นเพียงช่องทางในการให้สินบนกับเจ้าหน้าที่รัฐไทย
โดยข้อตกลงคอมมิชชั่นปลอม ทำให้มีการอนุมัติจ่ายเงินรวม 285,129 ดอลลาร์สหรัฐ (9,470,559 บาท)
ในส่วนของสินบนเที่ยวอาบอบนวด มีรายงานค่าใช้จ่ายตั้งแต่เดือน พ.ย. 2562 -มี.ค.2563 ระบุว่า มีค่าใช้จ่ายการใช้บริการอาบอบนวดหลายแห่ง ในประเทศไทย เพื่อจะสร้างอิทธิพลต่อเจ้าหน้าที่ของกองทัพอากาศอย่างไม่เหมาะสม ในช่วงเวลาที่บริษัทกำลังเข้าร่วมการประกวดราคา
ข้อมูลระบุว่า ผู้ที่ไปใช้บริการอาบอบนวดในช่วงเดือนธ.ค. 2562 และอีกครั้งในเดือน มี.ค. 2563 เป็นเจ้าหน้าที่ในกองทัพอากาศ ที่มีบทบาทหน้าที่ในการพิจารณาสัญญาให้กับผู้ชนะการประกวดราคา
จากนั้น บริษัทฯ ชนะการประกวดราคา 2 สัญญาของกองทัพอากาศ ในช่วงเดือน มี.ค.และเดือน เม.ย. 2563 คิดเป็นมูลค่าสัญญารวม 665,000 ดอลลาร์สหรัฐ (22,157,135 บาท)
ฯลฯ
ขณะนี้ ป.ป.ช. กำลังได้เข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้แล้ว
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็อยู่ระหว่างการตรวจสอบและชี้แจงเช่นกัน
2. คดีสินบนโรลส์รอยซ์ การบินไทย จ่อถึงศาลปราบโกง
สำหรับคดีเจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกรับเงินจากบริษัท โรลส์รอยซ์ ผู้ขายเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน Boeing 777-200ER ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาคดีนี้ ตั้งแต่เดือน ก.ค.2565
จากนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณาเพื่อฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
ปรากฏว่า อสส.มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดี โดยเห็นว่าข้อกล่าวหาไม่ครบองค์ประกอบความผิด ไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นจึงส่งสำนวนกลับ ป.ป.ช.
ล่าสุด คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ฟ้องดำเนินคดีเอง
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า คาดว่าจะแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหา ไปรายงานตัวต่อศาล เพื่อฟ้องคดีภายในวันที่ 25 ก.ย.2567 นี้
คดีนี้ เกี่ยวกับคดีสินบนโรลส์รอยซ์ ช่วงระหว่างปี 2547-2548 (ช่วงก่อนนั้น คดีขาดอายุความ)
สุดท้าย ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางอาญา 2 คน คือนายทนง พิทยะ อดีตประธานกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษาอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัทฯ และนายกวีพันธ์ เรืองผกา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการเงินและการบัญชี ฝ่ายบริหารงานนโยบายบริษัทฯ และอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัทฯ
ขณะนี้ ผู้ถูกชี้มูล ยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์ และมีสิทธิต่อสู้คดี พิสูจน์ความสุจริตต่อไป
3. คดีสินบนโรลส์รอยซ์ ปตท.สผ. ชี้มูลความผิดแล้ว
คดีนี้ เกี่ยวกับการจัดซื้ออุปกรณ์ Feed Gas Turbine Compressor สำหรับแท่นผลิตกลางโครงการอาทิตย์ (Project PTT Arthit) ปรากฏว่า มีการจ่ายเงินให้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นจำนวนกว่า 300,543 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 10,000,000 บาท)ให้กับเจ้าหน้าที่ ปตท.สผ.บางราย
ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิด นาย จ. อดีตกรรมการบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ. ) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ กับพวก
การไต่สวนของ ป.ป.ช. พบพฤติการณ์มุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยให้บริษัท โรลส์รอยซ์เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับบริษัท ปตท. สำรวจและ ผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในการสั่งซื้อ Feed Gas Turbine Compressor จำนวน 2 เครื่อง มูลค่าการจัดหารวม 24,663,303 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 900,000,000 บาท)
โดยนาย ผ. (หนึ่งในผู้ถูกชี้มูล) ได้รับผลประโยชน์ ตอบแทนจากบริษัทโรลส์รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม ซึ่งจ่ายเงินค่าคอมมิชชั่นเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของบริษัท Q ในประเทศสิงคโปร์ และโอนต่อไปยังบุคคลใกล้ชิดของนาย ผ. จำนวนรวม 300,543 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 10,000,000 บาท) อันเป็นการรับทรัพย์สินที่มิควรได้โดยชอบ ด้วยกฎหมาย
ขณะนี้ สำนวนอยู่ในชั้นพิจารณาของอัยการ ผู้ถูกชี้มูลยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์
4. คดีลงทุนโครงการปลูกปาล์มน้ำมันที่อินโดนีเซีย
คดีนี้ เป็นมหากาพย์ เริ่มตั้งแต่ช่วงปี 2550 บริษัทปตท.กรีนฯ ใช้เงินลงทุนจาก ปตท.แม่ มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท
งานนี้ ปตท.แม่ เป็นผู้ตรวจสอบพบความผิดปกติหลายประการ อาทิ ดำเนินการฝ่าฝืนมติของ ปตท. ซื้อสิทธิในที่ดินปลูกปาล์มแพงเกินควร ฯลฯ เกิดความเสียหายร้ายแรง จึงได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้อง
ปตท.ได้ฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายกว่า 2 หมื่นล้านบาท จากอดีตผู้บริหารบางรายด้วย ขณะนี้ คดีอยู่ในชั้นศาล
ป.ป.ช.ตรวจสอบพบข้อพิรุธ ในประเด็นการซื้อขายที่ดินในโครงการ PT.Az Zhara และ PT.KPI ที่ฝ่ายเจ้าของที่ดินทำสัญญากับเอกชนที่ปรึกษา และมีค่านายหน้า โดยมีเงินกว่า 32 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรากฏเส้นทางการเงินและพฤติกรรมของผู้เกี่ยวข้องกับนายหน้ามีพิรุธอย่างหนัก มีคนไทยเกี่ยวข้อง เกี่ยวพันกับผู้บริหารบางราย และพบเส้นทางการเงินที่ไหลไปยังคนไทยรายอื่น และเอกชนต่างประเทศ ผ่านธนาคารในฮ่องกง ฯลฯ
ล่าสุด เมื่อเดือน เม.ย. 2566 ป.ป.ช.มีมติไต่สวน “อดีตบิ๊ก ปตท.”หลังมีหลักฐานเชื่อมโยง เป็นตัวเชื่อมระหว่าง ปตท.กรีน กับ ปตท.แม่
อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการชี้มูลความผิด
5. คุก 50 ปี สินบนข้ามชาติเทศกาลหนัง
จะเห็นว่า คดีสินบนข้ามชาติ ส่วนใหญ่ ยังไม่สามารถเอาผิดใครได้
บางคดีที่ไม่สามารถเอาผิดใครได้ อาทิ คดีจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดในสนามบิน หรือ “CTX 9000”, คดีสินบนข้ามชาติจัดซื้อกล้อง CCTV ติดในรัฐสภา เป็นต้น
แต่คดีที่ผิดเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงในบ้านเรา ถึงขนาดติดคุกตะตะราง ก็มี
ยกตัวอย่าง คดีสินบนข้ามชาติเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ(ช่วงปี 2546-2550)
ที่มาของคดีนี้ จุดเริ่มต้นจากการจับโกงกันที่ต่างประเทศก่อน
เป็นการดำเนินคดีตามกฎหมายการกระทำอันเป็นการทุจริตข้ามชาติ(Foreign Corrupt Practices Act) หรือ FCPA ของสหรัฐ กระทั่งศาลนครลอสแองเจลิส ตัดสินว่า นายเจอรัลด์ กรีน และนางแพทริเซีย กรีน สองสามีภรรยา เจ้าของบริษัทผลิตภาพยนตร์ในสหรัฐ มีความผิดข้อหาติดสินบน นางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการ ททท. ประเทศไทย โดยจ่ายเงินให้นางจุฑามาศไปทั้งหมด 1.8 ล้านดอลลาร์ เพื่อแลกกับการให้ ททท. คัดเลือกเป็นผู้จัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ หรือ Bangkok International Film Festival ช่วงปี 2546 – 2550
ในไทย ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ น.ส.จิตติโสภา ศิริวรรณ ลูกสาว ในความผิดฐานเรียก รับ หรือยอมรับสินบน, ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ฯลฯ จากพฤติการณ์รับเงินตอบแทนจากสามี-ภรรยานักธุรกิจภาพยนตร์ชาวสหรัฐ มูลค่ากว่า 60 ล้านบาท
ช่วงระหว่างวันที่ 30 พ.ค.2546 ถึงวันที่ 16 ต.ค.2549 มีการโอนเงินจากเครือข่ายของสามีภรรยาตัวแสบ เข้าบัญชีของลูกสาวนางจุฑามาศ ในสิงคโปร์ อังกฤษ และหมู่เกาะเจอร์ซีย์ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ 41 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,384,694 เหรียญสหรัฐ
ระหว่างวันที่ 12 ธ.ค.2546 และวันที่ 1 เม.ย. 2548 0มีการโอนเงินไปที่บัญชีของ K.L. (เพื่อนสนิทของผู้ว่าการ ททท.)โดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ 4 ครั้ง แคชเชียร์เช็ค 1 ครั้ง รวมเป็นเงิน 319,000 เหรียญสหรัฐ
รวมเงินประมาณ 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐ
สุดท้าย ศาลปราบโกงพิพากษาจำคุก 50 ปี
นอกจากคดีอาญาแล้ว นางจุฑามาศยังถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ในข้อหาร่ำรวยผิดปกติด้วย
ถือเป็นอุทาหรณ์ เตือนสติผู้เกี่ยวข้อง คดีสินบนข้ามชาติ สร้างความอื้อฉาวข้ามทวีป
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี