รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ทำการขึงเส้น “จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ไว้ตึงเปรี๊ยะ ตึงเสียจนนักการเมืองเทาๆ เหงา เนื่องจากไม่มีเก้าอี้ใหญ่ให้นั่งโดยเฉพาะหลังอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ตกเก้าอี้ เพราะตั้งคนที่เข้าข่าย “ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษื” เป็น “รัฐมนตรี” มาถึงรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร เราจึงได้เห็นว่า ชาดา ไทยเศรษฐ์ กับร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่าไม่มีเก้าอี้รัฐมนตรีให้นั่งทันที เพราะพรรคเพื่อไทย กลัวเป็นภัยต่อเก้าอี้นายกฯของ “คุณหนู” จึงเป็นที่มาของการเคลื่อนไหว เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับ “จริยธรรม”
ยังน่ายินดีว่า มีนักการเมืองที่พอจะ “เป็นหลัก” ให้สังคมได้ ออกมาแสดงความเห็นที่น่าคิด
1) นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลพื้นที่ภาคใต้ กล่าวถึงการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีการหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขจริยธรรม สส. และรัฐมนตรี ว่า ความเห็นส่วนตัวคิดว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ควรแก้ไขอยู่แล้วเพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ตนไม่สนับสนุนให้มีการแก้ไขเรื่องจริยธรรม เพราะคนที่จะเข้าสู่ตำแหน่งทุกคนต้องยินดีที่จะให้ตรวจสอบมาตรฐานจริยธรรม และคณะกรรมการจริยธรรมที่มีอยู่เขาคงไม่ตีความเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เขาต้องตีความในเรื่องที่เป็นหลักการ
“ผมคิดว่าผู้บริหารประเทศทุกคน ต้องพร้อมได้รับการตรวจสอบ ถ้ากระดุมเม็ดแรกไม่ผ่านก็ไม่ควรเป็นผู้บริหารประเทศ ผมคิดว่าเรื่องการตรวจสอบจริยธรรมเราไม่ควรไปแตะ ควรแตะเรื่องการทำงานดีกว่า วันนี้กฎหมายของประเทศ นอกจากรัฐธรรมนูญแล้วยังมีกฎหมายลูกที่หลายองค์กรยังมีปัญหาอยู่ เราก็ต้องผลักดันแก้ไขให้ได้” นายชัยชนะกล่าว
2) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงกรณีท่าทีของพรรคภูมิใจไทยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขมาตรฐานจริยธรรม หลังจากที่ นายภราดร ปริศนานันทกุลรองสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ออกมาแถลงไม่เห็นด้วย ว่า คนการเมืองเป็นคนสาธารณะ ถ้าไม่อยากให้ตรวจสอบก็เล่นการเมืองไม่ได้ การเข้ามาการเมืองไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐมนตรี แค่เป็นที่ปรึกษาเป็นเลขานุการ หรือรับตำแหน่งใดๆ ทางการเมือง กรรมการรัฐวิสาหกิจ ก็ต้องแจ้งทรัพย์สินแล้ว นั่นคือบทแรกของการตรวจสอบ
“ผมคิดว่าคนที่มาทำงานสาธารณะรับใช้บ้านเมือง ใช้อำนาจรัฐในการบริหารราชการแผ่นดิน ก็ต้องรับการตรวจสอบเป็นการเช็ค and Balance ถ้าเราไม่ได้ทำอะไรผิดก็ไม่ต้องกลัวการตรวจสอบ นักร้องมีอยู่ทั่วไป เขาก็ร้องได้ ในสิ่งที่เราทำผิดถ้าเราไม่ได้ทำผิด พิสูจน์อย่างไรก็ไม่ผิด เขาก็มีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดี หรือถูกฟ้องร้อง ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเราเองมากกว่า” นายอนุทิน กล่าว
ส่วนจะเป็นจุดยืนของพรรคหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่ามันไม่ใช่จุดยืน แต่มันเป็นวิถีชีวิต(Day of Life) เช่น“ถ้าไม่อยากตรวจสอบก็ให้ทำธุรกิจอยู่ที่บ้าน เสียภาษีตามที่จะต้องเสีย ก็ไม่มีใครสามารถมาบอกให้แสดงทรัพย์สินบริษัทได้ยกเว้นทำผิด”
3) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่พรรคร่วมรัฐบาล 2 พรรค ออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เกี่ยวกับจริยธรรมนักการเมืองว่า ขณะนี้ตนกำลังพยายามนัดพูดคุยให้ได้ทั้งหมด มีทั้งที่เป็นวาระปกติ ที่จะได้พูดคุยกันระหว่างหัวหน้าพรรคการเมืองจะได้ทราบประเด็น ว่าเห็นด้วยเหมือนกันก็ไปด้วยกันถ้าไม่เห็นด้วยเหมือนกันก็ไม่ต้องไป เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ริเริ่มจากพรรคเพื่อไทย แต่มีหัวหน้าพรรคหลายส่วนไม่สบายใจเรื่องนี้ เราถึงเริ่มดำเนินการว่าอยากจะคุยกัน เช่นเดียวกับที่สภาได้พูดกันในประเด็นนี้ ดังนั้น ยังไม่สามารถสรุปได้ แต่หากถามว่าเป็นปัญหาหรือไม่ ตนว่าหัวหน้าพรรคร่วมทั้งหมดเห็นตรงกัน ถึงได้มีความพยายามที่จะพูดคุยกันว่า มีประเด็นไหนหรือจะนัดกันเมื่อไร แต่ช่วงนี้ทุกคนมีภารกิจเยอะ ไม่ใช่เพียงเรื่องนี้เรื่องเดียว อีกทั้งได้มีการพูดคุยกันในกลุ่มไลน์อยู่แล้วพยายามจะคุยกันให้ครบ หากคุยแล้วสรุปได้ตรงกันก็ไม่ต้องนัดประชุมก็ได้
ส่วนควรแก้เรื่องปัญหาชาวบ้านมากกว่าแก้เรื่องจริยธรรมนักการเมือง นายภูมิธรรม กล่าวว่า ก็คิดไม่ต่างกัน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะประเด็นจริยธรรมที่มีปัญหา แต่ยังอีกหลายเรื่อง และบางเรื่องเรากำลังเข้าสู่กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ต้องใช้ระยะเวลาในกระบวนการประชามติ ซึ่งตอนนี้กฎหมายประชามติ ก็พร้อมที่จะเข้าไปทำหน้าที่เพื่อเปิดประตูในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ส่วนที่ยังมีความห่วงใยก็มีการพูดคุยกัน ก่อนที่จะเข้ามาร่วมคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน โดยพรรคเพื่อไทยโดยในฐานะแกนนำรัฐบาล ได้หยิบประเด็นนี้ขึ้นมาดำเนินการให้สมบูรณ์และเสร็จ ส่วนผลจะเป็นอย่างไร ต้องดูพรรคร่วมทั้งหมดพูดคุยกัน
ส่วนมีพรรคร่วมใดที่อยากแก้รัฐธรรมนูญ นายภูมิธรรมกล่าวว่า เท่าที่ฟังดูเกือบทุกพรรคที่คุยกับตน แต่ก็เป็นการคุย ถ้าจะให้เป็นทางการก็ต้องคุยกันในนามพรรคการเมือง ส่วนมั่นใจหรือไม่ถ้าได้คุยกับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว จะเดินต่อได้เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายภูมิธรรม ย้ำว่า ต้องรอให้หัวหน้าพรรคร่วมพูดคุยกันก่อน เพราะยังมีประเด็นเรื่องสถานการณ์ ที่เห็นว่าเหมาะ มีทั้งสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ตนว่าไม่มีปัญหา เพียงแต่เราคุยกันให้ชัดเจนว่ามันอยู่ในสถานการณ์ที่เราเกี่ยวข้องมากแค่ไหน และสถานการณ์เป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องหารือกัน ถ้ามีความเห็นแตกต่างกันก็จะต้องมีการนัดประชุม โดยตนพยายามจะนัดประชุมให้เร็วที่สุด
ส่วนที่ชาวบ้านมองว่า ทำไมไม่เร่งแก้ปัญหาปากท้อง ก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ชาวบ้านไม่ได้มอง และรัฐบาลก็พยายามแก้เรื่องปัญหาปากท้องอยู่แล้ว การบริหารราชการแผ่นดินประเด็นมีเต็มไปหมด หลายอย่างไม่จำเป็นต้องรอก็สามารถทำได้ วันนี้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องแต่ละเรื่อง ก็ทำหน้าที่ของตน ถ้าจะไปสรุปว่าชาวบ้าน มองอย่างนั้นอย่างนี้ก็ไม่ตรงข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงคือ วันนี้ทุกฝ่ายกำลังทำหน้าที่ ทุกด้าน อย่างฝ่ายเศรษฐกิจก็กำลังดูแก้ปัญหากระตุ้นเศรษฐกิจ ฝ่ายที่รับผิดชอบเรื่องน้ำท่วม ก็ดำเนินการอยู่ ไม่ใช่ว่าทุกอย่างหยุดหมดแล้วมาทำเรื่องรัฐธรรมนูญ ต้องเข้าใจให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้น จะทำให้ยิ่งสื่อความไม่เข้าใจ และก็ต้องมาอธิบายอีก
ทั้งนี้ หากรอให้การแก้ไข รัฐธรรมนูญโดย สสร. ทั้งฉบับ จะสง่างามกว่าการแก้รายมาตราหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตนว่าอย่าไปคิดลึกขนาดนั้น เพียงแต่ ดูว่าอะไรคือความจำเป็น ถ้ามีความจำเป็นก็ต้องแก้ ซึ่งความ จำเป็นของแต่ละคนไม่เท่ากัน ก็ต้องหารือกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ทุกอย่างที่จะแก้ผ่านตัวแทนของประชาชน มันสง่างามทั้งหมด
ส่วนนายกรัฐมนตรีมองว่าเป็นเรื่องจริยธรรมใช่หรือไม่นายภูมิธรรม ยืนยันว่าไม่ใช่นายกมอง ซึ่งตนฟังมาจากพรรคร่วมต่างๆ ตนเป็นคนประสานงาน พยายามจะทำหน้าที่หาข้อสรุป ซึ่งการที่พรรคเพื่อไทยเป็นคนเรียก และบอกว่าเป็นการกดดันพรรคร่วมเพื่อทำเรื่องของตัวเองมันไม่ใช่ และเรามีหลายเรื่องที่ต้องพูดคุยกัน หากคุยกันเห็นไม่ตรงกันในช่วงต้นจะถอยก็ได้ เพราะนี่คือการร่วมมือกันของพรรคร่วมที่ใช้เหตุและผล
ส่วนเรื่องนิรโทษกรรมจะเดินหน้าต่อในรัฐบาลนี้หรือไม่นายภูมิธรรม กล่าวว่า ต้องแล้วแต่สภา ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่พร้อมระบุว่า ในเมื่อสื่อถามว่าควรจะทำเรื่องอื่นก่อน ก็ควรจะถามเรื่องอื่นก่อนไม่ควรถามเรื่องนี้
4) นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ได้เดินทางมายื่นคำร้องเพื่อขอให้ ป.ป.ช.ไต่สวน และวินิจฉัยกรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและหรือพรรคการเมืองได้ยื่นแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอำนาจ ป.ป.ช. และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบจริยธรรมนักการเมือง ฯลฯ เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามรัฐธรรมนูญ ม.185 หรือไม่
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากมีพรรคการเมืองบางพรรคต้องการแก้ในประเด็นจริยธรรม และอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ และ ป.ป.ช.ในการวินิจฉัยเรื่องดังกล่าว มีประเด็นที่อาจไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 185 โดยตรง ที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ใช้สถานะหรือตําแหน่ง การเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภากระทําการใดๆ อันมีลักษณะที่เป็นการก้าวก่าย หรือแทรกแซง (หน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ) เพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม”
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีนักการเมือง/พรรคการเมืองบางพรรคต่างมีบาดแผลจากการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญกันทั้งสิ้น ถูก ป.ป.ช.วินิจฉัยส่งศาลฎีกาพิพากษาลงโทษ และหรือถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค ทำให้อดีตนักการเมืองหลายคนต้องพ้นจากตำแหน่ง หลุดจากวงโคจรของการเป็นนักการเมืองไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็ล้วนมีผลมาจากการฝ่าฝืนจริยธรรมแทบทั้งสิ้น และยังมีเข้าคิวรอถูกไต่สวนและวินิจฉัยอีกมาก ดังนั้น การที่พรรค การเมือง นักการเมืองรีบเร่งขอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในเรื่องที่เกี่ยวกับจริยธรรม โดยไม่สนใจเรื่องปากท้อง เรื่องลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน จึงอาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 185 ว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์โดยตรง
“ด้วยเหตุดังกล่าว องค์กรรักชาติ รักแผ่นดินจึงต้องนำความไปยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้ดำเนินการไต่สวน และมีความเห็นเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ตามอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจิต 2561 ซึ่งหาก ป.ป.ช.วินิจฉัยว่าเข้าข่าย ก็อาจต้องส่งเรื่องไปยังศาลฎีกา เพื่อดำเนินการเอาผิดนักการเมืองต่างๆ ที่ลงชื่อในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราดังกล่าวต่อไป ซึ่งเราเคยเห็นผลงานของ ป.ป.ช.เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาหลายกรณีแล้ว และเนื่องจากพรรคการเมือง นักการเมืองกำลังจะเข้ามาก้าวก่ายอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.โดยตรงอีกด้วยจำจะต้องสั่งสอนนักการเมืองต่างๆ ให้จำเป็นบทเรียนเสียบ้าง”นายศรีสุวรรณ กล่าว
สรุป : เรื่องการแก้ไขเพื่อการ “หย่อนยานจริยธรรม” อันเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ “นักการเมืองสีเทา” คือ “หายนะของรัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์” ถ้ากล้าดี อยากท้าทายประชาชนและกฎหมาย ก็ลองดู และครั้งนี้จะได้เห็น“จุดยืน” ของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทยพรรครวมไทยสร้างสร้าง และพรรคประชาธิปัตย์ด้วยว่าเมื่อ “ข้ามขั้ว” ไปตั้งรัฐบาลแล้ว จะถึงขั้น “ข้ามเส้น” ความถูกต้องดีงาม ไปเห็นดีเห็นชอบกับเขาด้วยหรือเปล่า!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี