วันนี้ (25 ก.ย.2567) ดีเดย์ เริ่มโอนเงินหมื่น โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้าบัญชีคนพิการและผู้ถือสิทธิโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
โดยวันนี้วันแรก จะโอนเข้าบัญชีคนพิการ และผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 0
พรุ่งนี้ (26 กันยายน 2567) จะโอนเข้าบัญชีผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 1-3
วันที่ 27 กันยายน 2567 ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 4-7
และวันที่ 30 กันยายน 2567 ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 8-9
รวม 14.55 ล้านคน (วงเงิน 1.45 แสนล้านบาท จากการขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติม)
เท่ากับว่า โอนเงินวันละประมาณ 4.5 ล้านคน
1. นี่เป็นโครงการแจกเงินโดยรัฐบาล ยอดเงินต่อหัวสูงที่สุด นับตั้งแต่มีประเทศไทยเป็นต้นมา
ส่วนโครงการเติมเงินหมื่น ดิจิทัล วอลเล็ต รัฐบาลก็ยังพยายามจะเดินหน้าแจกต่อ
เมื่อวานนี้ ได้เตือนว่า “รัฐบาลเสียพนัน ทุ่มเงินมือเติบมากขึ้นเรื่อยๆ?”
ได้พูดตรงๆ รัฐบาลควรพอได้แล้ว จะต้องยอมรับสภาพความจริง อย่าเอาประเทศเข้าไปเสี่ยงแทนพรรคการเมืองของตัวเอง
หยุดบริหารประเทศ แบบคนเล่นเสียพนัน แล้วทุ่มเงินมือเติบขึ้นเรื่อย โดยเอาเงินคนอื่นมาเล่น
หลังจากแจกกลุ่มเปราะบาง รัฐบาลควรหาทางลงได้แล้ว สำหรับนโยบายแจกเงิน
2. ล่าสุด ได้รับข้อขียนน่าสนใจ เรื่อง “จุดตาย!!! นโยบายแจกเงินหมื่น...ผิดทุกประตู?” โดย นิรชน ชัยธรรม
ข้อเขียนนี้ ชี้ประเด็นสำคัญ และให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์มาก ผู้เกี่ยวข้องพึงพิจารณาด้วยความตระหนัก
ใจความสำคัญ บางประเด็น ขออนุญาตสรุปโดยย่นย่อ ดังนี้
2.1 นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินหมื่น มีความล่อแหลมหลายประการที่จะถูกตรวจสอบจากองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ทั้งหมด5 องค์กร
คือ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ,ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการการเลือกตั้ง และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
เหตุเพราะประชาชนจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงประชาชนที่อยู่ในกลุ่ม 14 ล้านคนที่มีสิทธิ แต่ไม่ลงทะเบียนเพื่อรับแจกเงิน เห็นว่าพรรคเพื่อไทยกำหนดนโยบายนี้ขึ้นมาด้วยเจตนาไม่บริสุทธิ์
เนื่องจากเป็นนโยบายที่มีลักษณะเดียวกับการซื้อเสียงผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ
ด้วยการจะใช้เงินของแผ่นดินที่มาจากเงินภาษีของประชาชนจำนวนมากถึง5 แสนล้านบาท โดยหาเสียงว่าจะแจกเงินแบบให้เปล่ากับประชาชนทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 56 ล้านคน โดยวิธีการเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินดิจิทัลคนละ 1 หมื่นบาท แต่ใช้ข้ออ้างในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจบังหน้า และนำนโยบายนี้ไปใช้หาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
ทั้งที่ขณะหาเสียงยังไม่รู้เลยว่าจะหาเงิน 5 แสนล้านบาทนี้มาจากแหล่งเงินใด
2.2 การหาแหล่งเงินและดำเนินการหลายอย่าง ส่อไปในทางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงทำให้มีการทักท้วงกันอย่างรุนแรง
ทั้งจากองค์กรสำคัญต่างๆ นักวิชาการ สื่อมวลชน พรรคการเมืองฝ่ายค้านและประชาชนในทุกสาขาอาชีพ
จนต้องเปลี่ยนแปลงแหล่งเงิน และเลื่อนการแจกเงินตามนโยบายนี้ออกไปเรื่อยๆ6-7 ครั้ง และหมกมุ่นอยู่กับการหาแหล่งเงินมาเป็นเวลานานกว่า 1 ปี
สุดท้ายก็ได้ไม่ครบ แต่ยังคงดันทุรังที่จะทำไปก่อนบางส่วน
เพราะหากไม่ทำ ก็จะมีผลกระทบต่อคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้าของพรรคการเมืองที่เป็นเจ้าของนโยบายนี้
2.3 การนำเอาเงินภาษีของประชาชนจำนวนมากไปใช้ดำเนินนโยบายนี้ เป็นความพยายามทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนเมื่อครั้งหาเสียงเลือกตั้ง ว่าจะให้เงินเป็นรายบุคคลกับประชาชนทุกคนที่มีสิทธิเลือกตั้ง
เป็นการกระทำในทำนองเดียวกับการซื้อเสียงด้วยการสัญญาว่าจะให้ แต่มีความรุนแรงยิ่งกว่า เพราะเป็นการซื้อเสียงโดยใช้เงินของแผ่นดิน
นอกจากนี้ ยังมีความล่อแหลมที่จะกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายอีกหลายประการ จึงเป็นประเด็นที่อาจถูกร้องไปยัง 5 องค์กรอิสระ เพื่อให้มีการตรวจสอบนโยบายนี้และการจ่ายเงินแผ่นดินของนโยบายนี้อย่างเข้มข้น
2.4 องค์กรใดบ้าง?
(1) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
ประเด็นที่จะต้องตรวจสอบ คือ การใช้เงินงบประมาณเพิ่มเติม จำนวน 1.22 แสนล้านบาท ที่เป็นงบประมาณหลักสำหรับการแจกเงินเฟสแรกให้กับกลุ่มเปราะบางและผู้พิการ
ซึ่งนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้แถลงขอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อนำไปออกเป็นพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ว่าจะนำเงินงบประมาณที่ขอเพิ่มเติมไปใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการดิจิทัล วอลเล็ต โดยเป็นรายจ่ายลงทุน ร้อยละ 80 ซึ่งสำนักงบประมาณของรัฐสภา (สงร.) ทักท้วงว่าเป็นไปไม่ได้ที่ผู้รับแจกเงินจะนำเงินไปใช้เพื่อการลงทุนหรือนำไปใช้จัดหาทรัพย์สินประเภททุน แม้ขณะที่ของบประมาณจะนำเงินไปใช้แจกให้กับประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่กลุ่มเปราะบางหรือผู้พิการ
จึงเป็นเรื่องที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจะใช้อำนาจตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 เพื่อตรวจสอบว่า
การจ่ายเงินของแผ่นดินในการดำเนินการเฟสแรก เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ใน มาตรา 140 หรือไม่
เป็นการจ่ายเงินงบประมาณตามนโยบายที่มาจากคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ซึ่งได้ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบายโดยครบถ้วนและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 วรรคหนึ่ง หรือไม่
เป็นการใช้จ่ายในโครงการที่เป็นการเติมเงินผ่านดิจิทัล วอลเล็ต เพื่อเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ตามที่รัฐบาลนายเศรษฐาได้แถลงของบประมาณเพิ่มเติมไว้ หรือไม่
มีความจำเป็น หรือมีความคุ้มค่า และมีผลสัมฤทธิ์หรือประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงิน หรือไม่ ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล) ให้สัมภาษณ์ก่อนแจกเงินเฟสแรกว่าเศรษฐกิจของประเทศเริ่มดีขึ้นแล้ว...จึงอาจไม่จำเป็นต้องดำเนินนโยบายนี้แล้ว
ฐานะการคลังของประเทศมีความมั่นคง และโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจมีความเพียงพอแล้ว หรือไม่ ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีการแจกเงินแบบให้เปล่าแก่ประชาชนเป็นจำนวนเงินหลายแสนล้านบาท แทนที่จะนำไปใช้พัฒนาประเทศด้านอื่นที่ยังขาดแคลนอยู่อีกมาก
(2) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
นโยบายนี้และการดำเนินนโยบายในเฟสแรก มีลักษณะเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องอายุ หรือฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม หรือเหตุอื่นใด ที่จะกระทำมิได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคสาม หรือไม่
(3) ผู้ตรวจการแผ่นดิน
(4) คณะกรรมการการเลือกตั้ง
และ (5) คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในประเด็นว่า การกระทำที่อาจมีมูลความผิดทางอาญาจากการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมายและเกิดความเสียหายต่อเงินของแผ่นดิน
รวมการกระทำของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทยที่เกี่ยวข้องกับนโยบายนี้ตั้งแต่การหาเสียงเลือกตั้ง ว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ หมวด 1 ข้อ 8 หรือไม่
“..เรื่องนี้ เป็นการใช้เงินภาษีของประชาชนสูงสุดถึง 5 แสนล้านบาท
นำไปแจกแบบให้เปล่าแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมืองของพรรคการเมือง
ทั้งที่ประเทศไทยยังจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพื่อการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ อีกมาก
จึงควรต้องผ่านด่านการตรวจสอบของ 5 องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญให้ครบทุกด่าน
แต่หากนโยบายนี้ มีข้อสรุปว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไปก็คงจะมีนโยบายแจกเงินจากพรรคการเมืองต่างๆ
ซึ่งคงไม่ใช่แค่ 1 หมื่นบาท แต่จะประมูลซื้อเสียงจากประชาชนด้วยราคา 2-3-4-5 หมื่นบาท หรือมากกว่านั้นขึ้นไปเรื่อยๆ
และเมื่อพรรคใดได้เป็นรัฐบาล ก็คงต้องหมกมุ่นอยู่กับการหาเงินมาแจก จนแทบจะไม่มีเวลาบริหารประเทศด้านอื่นๆ
เห็นอย่างนี้แล้ว ยังจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดระดับความซื่อสัตย์สุจริตและมาตรฐานทางจริยธรรมกันอีกหรือ.....อนิจจา !!!” - นิรชน ชัยธรรม
กล่าวโดยสรุป
โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง....
หยุดบริหารประเทศ แบบคนเล่นเสียพนัน แล้วทุ่มเงินมือเติบขึ้นเรื่อย โดยเอาเงินคนอื่นมาเล่น
หลังจากแจกกลุ่มเปราะบาง รัฐบาลควรหาทางลงได้แล้ว สำหรับนโยบายแจกเงินหว่านแห
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี