ช่วงเวลาของการจัดบ้านแปลงเมืองหลังพ.ศ. 2475 นั้น คือต้องจัดโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินใหม่ ซึ่งก็พยายามแก้ไขเท่าที่จำเป็นไม่ใช่รื้อเสียทั้งหมด ดังจะเห็นได้จากการออกกฎหมายบริหารราชการแผ่นดินที่กำหนดการบริหารการปกครองท้องถิ่นขึ้นอย่างชัดเจน แต่การตั้งหน่วยงานใหม่นั้นมีน้อยมาก ในช่วงเวลานั้น ก่อนสิ้นสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกของสยาม ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งสุดท้ายในสมัยประชุมเมื่อวันที่6 ธันวาคม พ.ศ. 2476 ที่มีเรื่องให้พิจารณาหลายเรื่อง แต่การพิจารณาผ่านกฎหมายสำคัญที่ให้ตั้งหน่วยงานของรัฐที่สำคัญคือหนึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกา และสอง สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน องค์กรทั้งสองนี้ ได้มีอยู่สืบมาจนถึงทุกวันนี้
หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นผู้แถลงเสนอร่างกฎหมายตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่า
“เรื่องคณะกรรมการกฤษฎีกานี้เป็นเรื่องค้างมาตั้งแต่รัฐบาลที่ได้ตั้งขึ้นภายหลังพระราชทานรัฐธรรมนูญแล้ว ว่าเราจะยกฐานะของกลุ่มร่างกฎหมายให้มีสภาพเป็นศาลปกครอง อย่างที่เขาได้กระทำมาแล้วหลายประเทศ ความความคิดอันนั้นมาภายหลังนี้เราก็ได้กลับนำเอามาใช้อีก ในเวลาปัจจุบันนี้คือเรามีความประสงค์อยากให้มีคณะกรรมาธิการคณะหนึ่ง ให้มีหน้าที่จัดร่างกฎหมาย สำหรับหน้าที่อื่นๆ ทั่วไป จะให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครอง ข้อนี้เป็นปัญหาสำคัญอยู่ อะไรที่เราเรียกว่าคดีปกครอง เวลานี้เรายังไม่มีกฎหมายวางไว้… นอกจากนั้นมีรายละเอียดที่ว่า ควรมีกรรมการชนิดใดบ้าง และผู้ที่จะตั้งเป็นกรรมการนั้นจะมีคุณสมบัติอย่างไร…”
เมื่อมีมติรับหลักการในร่างกฎหมายฉบับนี้แล้ว ทางประธานสภาฯได้ขอให้ใช้อนุกรรมการเต็มสภาเป็นผู้พิจารณาต่อไปในวาระที่ 2 เรียงตามมาตรา และในวาระที่ 3 ผ่านร่างกฎหมาย ซึ่งก็ผ่านได้ด้วยดี
จากนั้นหลวงประดิษฐ์ฯ เป็นผู้นำเสนอร่างกฎมายว่าด้วยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
“…ความประสงค์ที่ให้มีคณะกรรมการตรวจเงินนี้ ก็เพราะเดิมเรามีกลุ่มตรวจเงินแผ่นดิน แต่เราจัดไปในทำนองทะบวงการเมือง หาใช่เป็นกรรมการที่ควรจะเป็นไม่ ถ้าหากว่าขืนเป็นกรม อยู่เช่นนี้แล้ว แม้ที่สุดจะให้กรมไปตรวจเงินกระทรวง ไม่ควรทำ เพราะกระทรวงมีฐานะใหญ่กว่ากรมมาก แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเราอยากให้มีกรมตรวจเงินแผ่นดินตามทำนองบางประเทศเขา ให้มีคณะกรรมการบ้าง ทางอังกฤษให้คณะกรรมการมีฐานะตรวจบัญชี เหตุฉะนั้นเราควรเดินวิธีให้มีคณะกรรมการตรวจงานแผ่นดินนี้ขึ้นคั่นแรกเราจะปล่อยให้คณะกรรมการนี้มีอำนาจเหมือนคนตรวจบัญชี… เมื่อเรามีผู้คนพอแล้ว จะยกฐานะให้เป็นอิสระเหมือนทุกๆ ประเทศ”
ต่อจากนั้น สภาฯก็ได้พิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้โดยอนุกรรมการเต็มสภา ลงรายละเอียดพิจารณาแต่ละมาตรา มีสมาชิกขอแก้ไขบ้างเล็กน้อย ผ่านไปวาระที่ 3 สุดท้ายก็มีมติผ่านกฎหมายให้ออกมาบังคับใช้
คณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินทั้งสองชุดที่ว่านี้ ได้ยืนยงสืบต่อมาในระยะเวลา 91 ปี นับตั้งแต่มีการสร้างระบอบการปกครองระบบรัฐสภาของไทยมาจนตราบถึงทุกวันนี้ โดยองค์กรแรกนั้นเป็นคณะที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล ในอดีตที่ผ่านมาแม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาล ก็จะมิได้มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการที่เคยมีมาอยู่แต่เดิม เพียงแต่ตั้งคนเข้ามาแทนตำแหน่งที่ว่างลงและที่จะให้เป็นศาลปกครองนั้น ภายหลังได้มีการตั้งศาลปกครองแยกออกมาอีกองค์กรหนึ่ง ส่วนคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินนั้นเป็นหน่วยงานที่ตรวจดูการใช้เงินของรัฐ ว่่าถูกต้องไหม มีการรั่วไหลใช้โดยมิชอบหรือไม่ ในปัจจุบันนี้ได้พัฒนามาเป็นหนึ่งในองค์กรอิสระ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีความเป็นอิสระมาก รัฐบาลไม่อาจไปกำหนดตัวกรรมการหรือผู้บริหารแต่อย่างใด
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี