เมื่อวานนี้ (25 กันยายน 2567) รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์โอนเงิน 10,000 บาท สำเร็จแล้วกว่า 3.16 ล้านราย
ประชาชนที่ได้รับเงินพากันไปต่อแถวกดเงินจากตู้เอทีเอ็ม และถอนเงินตามสาขาธนาคารต่างๆ อย่างคึกคัก
1. เมื่อวานนี้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ
ยืนยันว่า โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ระบบเศรษฐกิจได้เติมเงินหมุนเวียนกว่า 145,552 ล้านบาท เป็นการสร้างเศรษฐกิจลูกใหม่ลูกใหญ่ครั้งแรก ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง และเงินก้อนนี้จะสามารถต่อลมหายใจให้กับพี่น้องประชาชนที่กำลังเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้
“นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรอบนี้ จะถึงมือประชาชนกลุ่มเปราะบางจำนวน 14.55 ล้านคน ทุกคนจะได้รับเงินสด 10,000 บาท ผ่านช่องทางบัญชีธนาคารที่ผูกพร้อมเพย์ไว้กับเลขบัตรประชาชนและช่องทางรับเงินเบี้ยคนพิการ โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ เมื่อเงินถึงมือประชาชนแล้วสามารถใช้จ่ายได้ทันที ซึ่งจะทยอยโอนเงินจนครบ
...นโยบายนี้จะช่วยกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประชาชน สร้างความหวังและนำคุณภาพชีวิตที่ดีมาให้กับประชาชน ทำให้ประชาชนมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ตามที่เคยได้กล่าวไว้
ขณะเดียวกัน รัฐบาลมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของพี่น้องประชาชนว่าจะมีการใช้เงินนี้อย่างมีประโยชน์
หรือบางครอบครัวที่ได้มากกว่าหนึ่งคน สามารถนำเงินมารวมกันเพื่อต่อยอดธุรกิจหรือสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับครอบครัวได้” – นางสาวแพทองธารกล่าว
2. สิ่งที่รัฐบาลควรสำเหนียก คือ การแจกเงินไม่ใช่ยาวิเศษ หรือแก้วสารพัดนึกในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ
ถ้ามันง่ายแค่แจกเงิน ป่านนี้ ทุกประเทศในโลก (แม้แต่ประเทศที่รวยกว่าไทย)เขาก็คงใช้วิธีแจกเงินกันหมด ก็คงรวยกันทั้งโลกหมดแล้ว
ตรงกันข้าม การแจกเงินแต่ละครั้ง ล้วนมีภาระต้นทุนที่ต้องใช้หนี้คืน
และยังมีค่าเสียโอกาสจากการนำเงินนั้นไปพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ที่จำเป็นขาดแคลนด้วย
3. เศรษฐกิจของประเทศ ไม่ได้วิกฤตทุกภาคส่วน แต่มีบางส่วนที่อ่อนแอ จำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือจริง
สำคัญ คือ รัฐบาลจะต้องลงมือแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างจริงจัง
ซึ่งจะต้องกึ่งบังคับให้ “กินยาขม” บ้าง
ไม่ใช่จะป้อนแต่ขนมหวาน ลดแลกแจกแถม ตามสันดานนักการเมืองสายพันธุ์นักเลือกตั้งอย่างเดียว
4. โจทย์ใหญ่ทางเศรษฐกิจหลายด้าน ที่ต้องติดตามแก้ไข และนับมือ อาทิ
4.1 แจกเงินหมื่นกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เจอผลลบจากอุทกภัย
วิจัยกรุงศรี ประมาณการ GDP ปี 2567 เติบโตที่ 2.4% ระบุว่า แม้โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มเปราะบางจะช่วยหนุนการบริโภคช่วงปลายปีนี้ แต่ความเสียหายจากน้ำท่วมอาจจำกัดผลบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ล่าสุด วิจัยกรุงศรียังคงประมาณการอัตราการเติบโตของ GDP ในปี 2567ไว้ที่ 2.4%
เพราะแรงสนับสนุนจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มเปราะบาง ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ
แต่ผลบวกดังกล่าว อาจถูกลดทอนด้วยผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยที่สร้างความเสียหายในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
เบื้องต้นจากการคาดการณ์ในกรณีฐาน (Base Case) วิจัยกรุงศรีคาดว่า พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจะอยู่ที่ประมาณ 8.6 ล้านไร่ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายทางทรัพย์สินมูลค่าประมาณ 3.1 พันล้านบาท และผลผลิตทางการเกษตรเสียหายมูลค่ารวม 43.4 พันล้านบาท
เมื่อรวมความเสียหายทั้งหมด คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 46.5 พันล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ -0.27% ของ GDP
4.2 การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศ ยังต้องรอ
วิจัยกรุงศรี มองว่ายังต้องติดตามการประชุมบอร์ดค่าจ้างครั้งถัดไป
จากกำหนดการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างเพื่อพิจารณาถึงการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศ ทั้งในวันที่ 16 และ 20 กันยายน พบว่ายังไม่มีมติใดๆเนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ จึงทำให้ต้องขยับเลื่อนออกไปอีก
ทั้งนี้ ในปี 2567 ประเทศไทยมีการปรับขึ้นค่าจ้างสองครั้งคือเมื่อวันที่ 1 มกราคม ปรับขึ้นทั่วประเทศแบ่งออกเป็น 17 อัตรา โดยอยู่ในช่วง 330-370 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ยปรับขึ้น 2.37%
และต่อมาวันที่ 12 เมษายน ปรับค่าจ้างเป็น 400 บาทต่อวัน เฉพาะโรงแรมที่มีลูกจ้างไม่เกิน 50 คนขึ้นไปใน 10 จังหวัดท่องเที่ยวและปรับบางเฉพาะพื้นที่
ปัจจุบัน แรงงานที่ได้ค่าจ้างน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำมีสัดส่วนอยู่เพียง 16% ของแรงงานทั้งหมด (เทียบกับ 38.8% ในปี 2557)
อย่างไรก็ตาม ยังมีธุรกิจที่มีการขยายตัวของผลิตภาพแรงงานในปัจจุบันต่ำกว่าการเติบโตของค่าจ้างที่แท้จริง (Negative productivity-wage gap) อาจเผชิญแรงกดดันมากขึ้นต่อผลกำไรและความสามารถในการแข่งขัน
เนื่องจากต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นอาจไม่สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงาน
โดยกลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงมากขึ้นจากการปรับขึ้นค่าจ้าง ได้แก่ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อิเล็กทรอนิกส์ ยางและพลาสติก อาหารและเครื่องดื่ม และยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ขณะที่ธุรกิจบริการอื่นๆ ส่วนใหญ่มีช่องว่างผลิตภาพแรงงานและค่าจ้างเป็นบวก อาทิ การเงิน และการค้า
ซึ่งสะท้อนว่าผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่อธุรกิจโดยภาพรวมอาจจำกัด
4.3 โอกาสจากภาคท่องเที่ยว
ไตรมาสสุดท้าย คือ เป็นช่วงที่ไทยมีโอกาสทองสำหรับเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ล่าสุด อโกด้า แพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการท่องเที่ยว เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลวันชาติจีนที่กำลังจะมาถึง ซึ่งเป็นวันหยุดยาวตั้งแต่วันที่ 1-7 ตุลาคม
โดย 5 อันดับจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงโกลเด้นวีค ได้แก่
1.โซล, ประเทศเกาหลีใต้
2.โตเกียว, ประเทศญี่ปุ่น
3.บาหลี, ประเทศอินโดนีเซีย
4.กรุงเทพฯ, ประเทศไทย
5.โอซาก้า, ประเทศญี่ปุ่น
การที่นักท่องเที่ยวจีนค้นหาที่พักในต่างประเทศเพิ่มขึ้นในปีนี้ เป็นสัญญาณดีที่จะมีการเดินทางออกมาเที่ยวมากกว่าปีที่แล้ว
และดีกว่านั้น คือ ประเทศไทยยังติดท็อป 5
4.4 ค่าเงินบาทแข็ง ส่งผลลบต่อการส่งออก และอาจรวมถึงการท่องเที่ยวไทย
ล่าสุด ค่าเงินบาทแข็งค่าถึงระดับ 32.60 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
น.ส.พิมพ์พันธ์ เจริญขวัญ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมา เงินบาทผันผวนมากขึ้น โดยปรับแข็งค่าขึ้น 3.8% ตั้งแต่ต้นปี และปรับแข็งค่าเร็วอยู่ในกลุ่มนำสกุลภูมิภาคในไตรมาส 3 จากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากกว่าการคาดการณ์ของตลาด ประกอบกับการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่ส่งผลเชิงบวกต่อทิศทางเงินสกุลภูมิภาค
ยืนยันว่า ธปท. ติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และพร้อมเข้าดูแลเมื่อเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากผิดปกติ เพื่อลดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเศรษฐกิจจริง
5. ประการสำคัญ การขับเคลื่อนโครงการงทุนของภาครัฐ และที่ภาครัฐร่วมกับเอกชนที่ยังล่าช้า อืออาด ยืดยาด อีกหลายโครงการ
ทั้งหมด ล้วนเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำหน้าที่รับผิดชอบในการขับเคลื่อนทั้งนั้น
แต่ดูเหมือนฝ่ายการเมืองในรัฐบาล แสดงอาการพุ่งเป้าไปที่แบงก์ชาติ
อ้างว่าต้องการให้ลดดอกเบี้ยนโยบาย
ซึ่งแน่นอน การลดดอกเบี้ย คือ การเหยียบคันเร่งการลงทุน ลดต้นทุนการผลิตภาคเอกชน และฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
แต่ถ้าเมื่อไหร่ ฝ่ายการเมืองกุมอำนาจเหนือแบงก์ชาติได้ จะทำลายความน่าเชื่อถือของนโยบายการเงินตลอดจนระบบกำกับดูแลสถาบันการเงินทั้งระบบ
ยังไม่นับว่า รัฐบาลอาจจะล้วงไปเอาทุนสำรองมาใช้ สุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปหรือไม่
ฝ่ายการเมืองในรัฐบาลจะต้องหยุด ก่อนที่จะสายเกินไป
หันมามุ่งเน้นบริหารจัดการสิ่งที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนเอง โดยสุจริตเพื่อประเทศชาติและประชาชน
ไม่ใช่มุ่งแต่จะสนองตอบนโยบายทางการเมือง เพื่อพวกพ้องที่เคยมีคดีทุจริตประพฤติมิชอบ
การแจกเงินหมื่น ไม่ใช่ยาวิเศษ หรือแก้วสารพัดนึกในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
การพยายามตีแบงก์ชาติเป็นเมืองขึ้น ก็มีแต่จะพาประเทศชาติลงเหวไปด้วยกัน
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี