“เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)” สืบเนื่องจากการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UN) เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2558 ได้มีมติเห็นชอบเป้าหมายดังกล่าวรวม 17 ประการ ประกอบด้วย 1.ขจัดความยากจน (No Poverty) 2.ขจัดความหิวโหย (Zero Hunger) 3.สุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี (Good Health and Well-being) 4.การศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality Education) 5.ความเท่าเทียมทางเพศ(Gender Equality) 6.มีน้ำสะอาดและสุขอนามัยที่ดี (Clean Water and Sanitation) 7.พลังงานสะอาดในราคาที่เข้าถึงได้ (Affordable and clean energy)
8.งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี (Decent Work and Economic Growth) 9.อุตสาหกรรม นวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน
(Industry, Innovation and Infrastructure) 10.ลดความเหลื่อมล้ำ (Reduced Inequalities) 11. เมืองและชุมชนยั่งยืน (Sustainable Cities and Communities) 12.การบริโภคและการผลิตอย่างรับผิดชอบ (Responsible Consumption and Production) 13.การปฏิบัติการเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) 14.การใช้ทรัพยากรในมหาสมุทรอย่างยั่งยืน (Life Below Water) 15.การใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน (Life on land)
16.สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง (Peace, Justice and Strong Institutions) และ 17.ความร่วมมือกันเพื่อเป้าหมาย (Partnerships for the Goals) ซึ่งแต่ละเป้าหมายจะมีตัวชี้วัดว่าต้องดำเนินการอะไรอย่างไรบ้าง โดยคาดหวังว่า ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะช่วยกันผลักดันการพัฒนาที่เกิดความยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ให้บรรลุผลได้ภายในปี 2573
ที่วงเสวนา “Bangkok Dialogue City : SDGs เทคโนโลยี ธุรกิจ การศึกษา ศาสนาและสื่อ” จัดโดยมูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ (มูลนิธิ สกพ.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายหลายองค์กร เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งหากนับตามกรอบเวลาของสหประชาชาติ (2558-2573) ก็ต้องถือว่าผ่านมาแล้วครึ่งทาง แต่จากรายงานต่างๆ พบว่า “ทั้งโลกยังคืบหน้าไปไม่ถึงไหน” โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่คาดว่าอาจต้องใช้เวลาถึงปี 2603 จึงจะทำได้สำเร็จ “ประเทศไทยจะไม่ต้องรอนานขนาดนั้นได้หรือไม่?”จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจในวงเสวนานี้
สุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง Toolmorrow กล่าวว่า ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคมีตั้งแต่ 1.ความร่วมมือเป็นคำที่ดูเหมือนง่าย แต่ในความเป็นจริงอาจไม่มีความต่อเนื่อง ประเภทปีนี้ร่วมมือแต่ปีหน้าไม่ร่วมมือแล้ว2.ความเปลี่ยนแปลงไป (Disruption) สิ่งที่เคยใช้ได้ผลก็ไม่ได้ผลแล้ว ดังนั้นการปรับตัวหรือการเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงต้องหาผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมมาสนับสนุน 3.ขาดแคลนทรัพยากร ต้องยอมรับว่าคนทำงานภาคสังคมมีน้อยและส่วนใหญ่มีอายุมาก ขาดคนรุ่นใหม่มาเป็นแถวสองเพื่อรับช่วงต่องบประมาณก็มีน้อย
“การขับเคลื่อนเรื่องพวกนี้มันต้องอาศัยความร่วมมือ อาศัยปัจจัย อาศัยทรัพยากรต่างๆ ค่อนข้างจะเยอะเลย ดังนั้นถ้าเกิดวางแผนไม่ดี ปรับตัวไม่ดี ก็เยอะเหมือนกัน ซึ่งการที่เกิดเหตุการณ์พวกนี้ขึ้นเกิดผลต่อเรื่องของการ Engage อีก เหมือนกับ Engage ว่าทำแล้วไม่เวิร์ก ทำแล้วปฏิสัมพันธ์กับชุมชนหรือสังคมไม่ดีต่อผมคิดว่าเรื่องแบบนี้มันมีปัจจัยที่เป็นผลกระทบตามมาผมคิดว่าเรื่องแบบนี้มันมีปัจจัยที่เป็นผลกระทบตามมา ตอนแรกฟังคำถาม อาจจะเป็นเรื่อง Collab (ความร่วมมือ)พอมองลึกๆ แล้วมันมีปัจจัยภายนอกที่มันซับซ้อน หรือปัจจัยภายในที่เราไม่ถูกพูดถึงหรือถูกเอามาคิดกันมากขึ้น” สุรเสกข์ กล่าว
สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวว่า แม้ปัจจุบันจะเป็นยุคที่มีช่องทางและข้อมูลข่าวสารมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถส่งเสียงได้ดัง “ในความโลกกว้างบางครั้งทางก็อาจแคบลง”เมื่อเทียบกับในอดีต เช่น สมัชชาคนจนมาชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล ปักหลักยาวนาน 99 วัน เป็นข่าวหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ สามารถสร้างอำนาจต่อรองเพื่อเจรจากับรัฐบาลได้
แต่ปัจจุบันมีการชุมนุม 99 วัน คนอาจไม่ทราบข่าวแม้จะมีพื้นที่ในสื่อ แต่สื่อก็ไม่ได้เป็นผู้กำหนดวาระการรับรู้ (Agenda) ของสังคม ซึ่งในมุมที่ก้าวหน้าขึ้น มีช่องทางสื่อสารใหม่ๆ แต่ในความหลากหลายนั้นกลับมีอำนาจต่อรองที่ลดลง ดังนั้น หลายๆ เรื่องที่ภาคสังคมพยายามขับเคลื่อน อาทิ การกระจายอำนาจ สิทธิชุมชน ปัญหาของกลุ่มคนชายขอบ แม้จะส่งเสียงได้แต่เสียงก็ไม่ดังมากพอเพราะสื่อไม่ได้รวมศูนย์อย่างในอดีต
“ฉะนั้นการเมืองการปกครองต้องกระจายอำนาจตามด้วยในการตัดสินใจ เพราะถ้ามารวมศูนย์การแก้ปัญหาอยู่ที่ส่วนกลางอย่างเดียว พลังเสียงมันจะไม่ดังเหมือนเดิมอีกแล้ว แต่การจะกระจายอำนาจตรงนี้ไปต้องใช้เวลา เช่นที่เขาพูดกันเรื่องเลือกตั้งอะไรต่างๆ ในระดับท้องถิ่น ก็คือเชื่อมโยงให้เห็นว่าการที่เราจะทำให้เสียงจากรากหญ้าชายขอบดังขึ้นมาเรื่อยๆ นอกจากทุกคนจะต้องแข่งกันเข้าถึงช่องทางในการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ในยุคนี้
ซึ่งจากข้อมูลของ Tellscore เรามีอินฟลูเอนเซอร์ทั้ง Part Time และ Full Time รวม 9 ล้านคน สะท้อนให้เห็นว่าทุกคนต้องกระโจนเข้าไปใน Social Media (สื่อสังคมออนไลน์) เพื่อให้มีเสียงดังขึ้นมา แต่บางทีมันก็ยากเหมือนกันในยุคนี้ที่ทุกคนก็ต้องแข่งกัน แล้วก็ขึ้นอยู่กับอัลกอริทึม ฉะนั้นเราจะรวมเสียงให้มันดังแล้วก็สร้างอำนาจต่อรองได้อย่างไร อันนี้ก็เป็นโจทย์ร่วมของยุคสมัยที่เราอาจต้องกำหนดวาระขึ้นมาว่าเราจะผลักดันเรื่องอะไร ซึ่ง SDGs ก็มีหลายเรื่องมาก” สุภิญญา กล่าว
ณัฐวุฒิ สุขโสมนัส ที่ปรึกษาสมาคมผู้ประเมินมูลค่าทางสังคมไทย กล่าวว่า อุปสรรคของ SDGs หรือความยั่งยืน หากไปดูผลการศึกษาของ UN ที่สอบถามตั้งแต่ความรับรู้ ซึ่งในภาคธุรกิจพบว่ามีประมาณร้อยละ 30 ที่ไม่รู้ ถามว่าเพราะเหตุใด? นั่นหมายถึงการสื่อสารที่ผ่านมายังทิ้งกลุ่มร้อยละ 30 นี้ไว้ข้างหลัง หรืออีกร้อยละ 70 ที่บอกว่ารู้ เหตุใดมีเพียงร้อยละ 40 ที่ใส่ไว้ในแผนหรือนโยบาย เท่ากับส่วนที่เหลือไม่เห็นความสำคัญหรือไม่? เพราะหากไม่เห็นว่าสำคัญหรือเกี่ยวข้องกับตนเองโดยตรงก็จะไม่ทำ
“ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้ว่าการเกิดน้ำท่วม การเกิดภัยพิบัติ การเกิดเรื่องต่างๆ จริงๆ มันคือพื้นฐานของเรื่องพวกนี้ เราไม่ได้ทำเรื่องของความยั่งยืน เราทำร้ายโลกกันมากเกินไป ถ้าไปดูงานวิจัยเขาบอกชัดเจนว่าทุกวันนี้เราใช้ทรัพยากรบนโลกนี้เหมือนกับเรามีโลก 6 ใบ เราใช้ทรัพยากรเยอะมากจริงๆ ก็ถ้าเรายังไม่ช่วยกัน แน่นอนวันใดวันหนึ่งจะถึงจุดจบของโลกใบนี้แน่นอน” ณัฐวุฒิ กล่าว
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี