เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2567 กลุ่มบุคคลที่ใช้ชื่อว่า “คณะนิติชน-เชิดชูธรรม” ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร และรัฐมนตรีทุกคนในคณะรัฐมนตรี รวมทั้งสิ้น 36 คน ต้องสิ้นสุดลงหรือไม่
...เนื่องจากอาจขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม จากการร่วมกันแถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยขัดต่อกฎหมายสูงสุดของประเทศ มีลักษณะจงใจกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ชัดเจน ไม่ซื่อตรงต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างครบถ้วน และไม่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับข้าราชการภายใต้การบริหารของตนในเรื่องที่มีความสำคัญ ทำให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกคนในคณะรัฐมนตรี ไม่เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และอาจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง...
1) คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ระบุในคำร้องยื่นต่อ กกต.ว่า การร่วมกันแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ไม่ได้ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย
มีลักษณะจงใจกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ชัดเจน ไม่ซื่อตรงต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างครบถ้วน และไม่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับข้าราชการภายใต้การบริหารของตนในเรื่องที่มีความสำคัญ ทำให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกคนในคณะรัฐมนตรี ไม่เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และอาจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
2) คำร้องได้อ้างถึง เอกสารของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เรื่อง ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 162 ระบุไว้ว่า การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้การแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย มีความมุ่งหมายเพื่อกำหนดเงื่อนไขการเข้าบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี เป็นการป้องกันมิให้คณะรัฐมนตรีจัดทำนโยบายในลักษณะ “ประชานิยม”โดยไม่คำนึงถึงที่มาแห่งรายได้ของรัฐที่จะนำมาใช้จ่าย ซึ่งในการหาเสียงของพรรคการเมืองด้วยนโยบายที่ไม่ระบุถึงแหล่งเงินที่จะใช้ดำเนินนโยบาย จะมีผลให้พรรคการเมืองนั้นแม้จะได้รับเสียงข้างมากจนจัดตั้งคณะรัฐมนตรีได้ ก็จะไม่สามารถนำนโยบายที่หาเสียงไว้มากำหนดเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรีได้.... ซึ่งหมายถึงหากคณะรัฐมนตรีจะนำเอานโยบาย “ประชานิยม” ที่ใช้หาเสียงมากำหนดเป็นนโยบายเพื่อให้สามารถแถลงต่อรัฐสภาได้ จะต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบายไว้โดยละเอียดในคำแถลงนโยบาย
3) คำร้องยังได้ขยายความเพิ่มเติมด้วยว่า “รัฐธรรมนูญมาตรา 162 วรรคหนึ่ง มีความเคร่งครัด โดยมีคำว่า “ต้อง” ในทุกการกระทำที่บัญญัติไว้ คือ คณะรัฐมนตรี “ต้อง” แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยนโยบายที่แถลง“ต้อง” สอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ อีกทั้ง “ต้อง” ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย การชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ ที่จะทำให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 วรรคหนึ่งพิจารณาได้จากความหมายของคำว่า “ชี้แจง” ที่หมายถึง“พูดขยายความให้เข้าใจชัดเจน” (อ้างอิงความหมายจาก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554) โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวมิได้บัญญัติเพียงให้ “ระบุประเภท” ของแหล่งรายได้ที่จะนำเงินมาใช้ แต่บัญญัติให้ต้อง “ชี้แจง” แหล่งที่มาของรายได้ ดังนั้น คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีจึงต้องมีการขยายความให้รัฐสภามีความเข้าใจโดยชัดเจน ซึ่งความชัดเจนในบางเรื่องจะต้องแสดงในเชิงปริมาณเป็นตัวเลขด้วย เพื่อให้รัฐสภามีความเข้าใจและมองเห็นภาพได้อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้แทนของประชาชนและประชาชนได้รู้และเข้าใจว่าเงินภาษีของประชาชนหรือหนี้สาธารณะที่จะก่อขึ้น จะถูกนำไปใช้ในเรื่องใดบ้าง และเป็นสัดส่วนอย่างไร โดยมิใช่ระบุไว้แต่เรื่องที่จะดำเนินการแต่ไม่ได้กล่าวถึงแหล่งเงินที่จะใช้ดำเนินการ หรือกล่าวถึงแต่เพียงประเภทของแหล่งเงินโดยไม่มีรายละเอียดในแต่ละนโยบาย หรืออ้างว่าจะมีรายละเอียดเมื่อได้จัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งรัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติไว้เช่นนั้น แต่บัญญัติให้ต้องชี้แจงในขณะที่คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา”
4) คำร้องระบุอีกว่า คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากในคำแถลงนโยบายที่มีความยาวมากถึง 75 หน้า (รวมภาคผนวก) ไม่ได้ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบายไว้แม้แต่เพียงเล็กน้อย โดยเฉพาะนโยบายระยะเร่งด่วน 10 นโยบาย ในส่วนของนโยบายที่ 5 รัฐบาลจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะผลักดันโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเป็นนโยบายเดียวกับนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล ให้กับประชาชนประมาณ 50 ล้านคน ของคณะรัฐมนตรีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจากพรรคเพื่อไทยเช่นเดียวกับนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนโยบายที่สามารถคำนวณกรอบวงเงินที่จะใช้ดำเนินนโยบายได้ทันทีว่าเป็นวงเงินที่สูงประมาณ 5 แสนล้านบาท หรือต่ำกว่านั้นบ้างเล็กน้อยหากมีการปรับลด คณะรัฐมนตรีจึงต้องรู้ว่าจะใช้เงินจำนวนสูงนี้จากแหล่งเงินใด แต่ไม่ได้แถลงต่อรัฐสภาว่าจะนำเงินมาจากแหล่งรายได้ใด จะใช้เงินงบประมาณหรือเงินนอกงบประมาณโดยการกู้เงินจากแหล่งใด เป็นจำนวนเท่าใด หรือเป็นสัดส่วนอย่างไร นอกจากนโยบายนี้แล้วนโยบายอื่นๆ ที่มีอีกหลายนโยบาย ก็ไม่ได้ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้เช่นกัน ทำให้รัฐสภาไม่อาจรู้ได้ว่าคณะรัฐมนตรีจะกระจายเงินจากแหล่งรายได้ที่มีอยู่ไปยังนโยบายต่างๆ เป็นสัดส่วนอย่างไรบ้าง มีความทั่วถึงและเป็นธรรมกับประชาชนกลุ่มต่างๆ หรือไม่
5) คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ระบุในคำร้องด้วยว่าการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ ทำให้ไม่เป็นไปตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องยึดโยงกับประชาชนในทุกเรื่องที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ซึ่งแสดงถึงการขาดความรับผิดชอบต่อรัฐสภาในฐานะผู้แทนประชาชน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 164 วรรคสอง โดยประเทศไทยปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 และมาตรา 3 การ ไม่รับผิดชอบต่อรัฐสภาที่เป็นผู้แทนประชาชนจึงอาจเป็นการไม่เคารพต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 วรรคหนึ่ง จากการที่คณะรัฐมนตรีซึ่งพระมหากษัตริย์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ด้านบริหาร และพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยด้านบริหารผ่านทางคณะรัฐมนตรี แต่คณะรัฐมนตรีกลับได้ใช้อำนาจบริหารที่อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงอาจเป็นการไม่เคารพสักการะต่อองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงแต่งตั้ง อีกทั้งอาจไม่ได้กระทำตามที่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ก่อนเข้ารับหน้าที่ ว่าจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 เป็นการแสดงถึงการไม่ยึดมั่นต่อรัฐธรรมนูญของผู้ที่กระทำ หากการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จะเป็นการกระทำที่ใช้บังคับมิได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง จึงถือว่ายังไม่มีการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 วรรคหนึ่ง การเข้าบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีโดยไม่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และผิดต่อเงื่อนไขการเข้าบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ
6) คณะนิติชน-เชิดชูธรรม ระบุอีกว่า ผลของการจงใจกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรเห็นได้ชัดโดยไม่ต้องตีความ จึงทำให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทุกคนในคณะรัฐมนตรีตามประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ลงวันที่ 3 กันยายน 2567 จำนวนทั้งสิ้น 36 คน ได้กระทำการที่เป็นการจงใจหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศซึ่งบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจนโดยไม่ต้องตีความ ไม่มีความซื่อตรงต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างครบถ้วน ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับข้าราชการและพนักงานในองค์การของรัฐอื่นภายใต้การบริหารของตน จึงเป็นผู้ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ทำให้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) โดยการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต (ไม่ถึงขั้นต้องเป็นที่ประจักษ์) เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ หมวด 1 ข้อ 8 และการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ทำให้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) การที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกคน ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4)
7) ต่อมา นายวิษณุ เครืองาม อดีตที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ยื่นคำร้อง ว่า การแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของรัฐบาลน.ส.แพทองธาร ชินวัตร ไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย ตามมาตรา 162เนื่องจากขาดการชี้แจงเรื่องแหล่งที่มาของเงิน แบบนี้รัฐบาลจะยังบริหารประเทศได้อยู่หรือไม่ ว่า เชื่อว่ามีสิ่งเหล่านี้อยู่แล้วในนโยบาย เพราะว่าเรื่องนี้เคยถูกทักท้วงตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งได้ชี้แจงว่ามีแหล่งที่มาของเงิน อาจจะพูดสักคำหรือครึ่งบรรทัดก็ใช้ได้แล้ว เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนบอกไว้ว่าต้องนำเงินมาจากไหน หรือกี่บาท
เมื่อถามย้ำว่า หากไม่ได้พูดถึงแหล่งที่มาของเงินเลยจะได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงบประมาณ ทำงบประมาณมาหลายปี เขารู้อยู่แล้วว่าต้องใส่อะไร อย่างไร เพียงแต่ว่าบางคนหาไม่เจอ
ถามว่า หากต้องการเซฟรัฐบาลสามารถแถลงนโยบายต่อรัฐสภาใหม่ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีความจำเป็นต้องทำเช่นนั้น
8) นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า ที่นายวิษณุ เครืองาม ให้ความเห็นว่า ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าที่มาของรายได้เป็นอย่างไร และต้องแถลงอย่างไร ดังนั้น รัฐบาลพูดสักคำหรือพูดสัก 2 วรรคก็พอแล้ว และเชื่อว่าเจ้าหน้าที่อาจจะเขียนไว้แล้ว
ก็อยากให้รัฐบาลเชื่อนายวิษณุ จะได้เกิดกรณีแบบนายกฯเศรษฐาอีกครั้งหนึ่ง
ก็ขอบอกว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้นะครับ ว่าที่มาของรายได้นั้นมี 4 ประเภท คือ
• รายได้จากภาษีอากร
• รายได้จากการกู้ยืมเงิน
• รายได้จากรัฐพาณิชย์
• และรายได้อื่น
และรายได้ 4 ประเภทนี้แหละที่ต้องแถลง ว่า ในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลนั้นจะนำรายได้อย่างไหนมาใช้
รัฐธรรมนูญยังบัญญัติต่อไปว่า รายได้แผ่นดินดังกล่าวนี้ เมื่อรับมาแล้ว ต้องนำเข้าบัญชีเงินคงคลัง รัฐบาลจะนำไปใช้ไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอำนาจจากกฎหมายงบประมาณ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายงบประมาณ กฎหมายวิธีการงบประมาณและกฎหมายเงินคงคลังนี่คือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ที่ว่าไม่มีกฎหมายจึงไม่จริงนะครับ
และที่รัฐธรรมนูญบัญญัติว่า ต้องแถลงที่มารายได้นั้น คำว่า แถลง หมายถึง การพูดในสภา ไม่ใช่ เขียนเป็นเอกสารเก็บไว้ที่บ้าน ก็ในเมื่อรัฐบาลไม่ได้แถลงที่มารายได้ ที่จะนำมาใช้จ่ายตามนโยบาย จึงผิดมาตรา 162 จึงเป็นเหตุให้มีผู้ไปร้องถอดถอนคณะรัฐมนตรีทั้งคณะไงล่ะครับ
ถ้าดันทุรังกันต่อไปดีไม่ดีรัฐบาลจะถูกถอดถอนทั้งคณะ ก่อนปีใหม่นี้ ถ้าเชื่อนายวิษณุ ก็จะเสี่ยง แบบรัฐบาลเศรษฐา ถ้าเชื่อผม ก็ต้องขอเปิดสภาแล้วแถลงเสียให้ครบถ้วนถูกต้อง จะไม่ดีกว่าเอารัฐบาลและบ้านเมืองไปเสี่ยงหรือ
สรุป :
เรื่องนี้ ต้องรอความคืบหน้าจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ว่าจะทำงานได้เร็วช้าประการใด
และเพราะด้วยเหตุนี้ละกระมัง ที่เป็นส่วนหนึ่งให้รัฐบาลแพทองธารเร่งรีบในการแจกเงิน เพื่อทำคะแนน เร่งรีบในการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนมีแรงต้านจากพรรคร่วมรัฐบาล จนต้องถอย
และด้วย “ชะตาชีวิตสั้น” อันเป็นผลพวงจากคำร้องนี้จะผลักดันให้รัฐบาลแพทองธารเร่งรีบออกกฎหมาย“นิรโทษกรรม” ที่รวมคดี 112 ซึ่งเป็นผลดีต่อพรรคประชาชน(แนวร่วมมุมกลับ) และเป็นผลดีกับ นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ครอบครองนายกฯ ด้วยหรือไม่ แล้วแรงต้านจากฝั่งพรรคร่วมรัฐบาล กับแรงต้านของภาคประชาชนคนไทยจะดุเดือดเพียงใด
ติดตามกันต่อไป เพื่อจะเห็นว่า รัฐบาลแพทองธาร จะ “จบลงในสภาพไหน”!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี