สิ้นเดือนตุลาฯนี้ ธัมมชโย จะกลับมาหรือไม่?
น่าจับตามอง เพราะว่า คดีที่เคยถูกดำเนินคดีฟอกเงิน สมคบฟอกเงินรับของโจร น่าจะเริ่มหมดอายุความ?
1. ย้อนกลับไปสมัยรัฐบาล คสช. รมต.ยุติธรรมตงฉิน พลเอกไพบูลย์คุ้มฉายา (ปัจจุบันเป็นองคมนตรี)
ยุคนั้น ดีเอสไอสอบสวนดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด
คดีที่เกี่ยวกับธัมมชโย มีการออกหมายจับ สืบสวน ติดตาม ตรวจค้นเพื่อจับกุมอดีตพระธัมมชโย
ถึงขนาดต้องใช้อำนาจมาตรา 44 ในการเข้าตรวจค้นจับกุมในมหาอาณาจักรธรรมกาย (ซึ่งมีการบริหารจัดการทรัพย์สินอย่างแยบยล)
แต่สุดท้าย ไม่สามารถจับตัวได้
อดีตเจ้าอาวาสธรรมกายยังหายไปจนถึงวันนี้
“ธัมมชโย” เป็นผู้ต้องหาที่มี “หมายจับ” ติดตัวมาโดยตลอด
เท่าที่ปรากฏข่าว อาทิ หมายจับของศาลอาญา ข้อหาสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงินและร่วมกันรับของโจร จากการรับเช็คหลายฉบับจากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร, หมายจับของศาลจังหวัดเลย กรณีวัดป่าหิมวันต์ อ.ภูเรือ จ.เลยบุกรุกป่า, หมายจับของศาลจังหวัดสีคิ้ว จ.นครราชสีมา กรณีศูนย์ปฏิบัติธรรมเวิลด์พีซวัลเล่ย์ บุกรุกพื้นที่ป่า
ปัจจุบัน ยังไม่ปรากฏข้อมูลทางการว่า หมายจับที่เคยมีสิ้นสุดไปแล้วหรือไม่? คดีใดขาดอายุความแล้วบ้าง?
2. ธัมมชโยอ้างว่า ‘อาพาธ’ แล้วก็ล่องหนหายไปจนบัดนี้
ก่อนหน้านั้น ดีเอสไอตรวจสอบพบว่า ตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค. 2552-15 ก.พ. 2554 พระธัมมชโย วัดพระธรรมกาย รวมถึงเครือข่ายวัดพระธรรมกาย รับเช็คจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น หลายครั้ง เป็นเงินกว่า 1,205 ล้านบาท โดยไม่มีมูลหนี้กับสหกรณ์ฯ
ดีเอสไอพิจารณาแล้วเห็นว่า พฤติการณ์ดังกล่าวของพระธัมมชโยกับพวก อาจมีส่วนเป็นผู้สนับสนุนนายศุภชัยและเครือข่าย ในการยักยอกทรัพย์ของสหกรณ์ฯ หรือสนับสนุนให้ลักทรัพย์นายจ้าง หรือรับของโจร รวมถึงมีฐานความผิดฟอกเงิน ฯลฯ จึงมีการแจ้งข้อกล่าวหา และดำเนินคดีตามมา
หลังจากนั้น ปปง. ตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงมากมายหลายปม กระทั่งมีการฟ้องร้องให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน ชำระเงินคดีสหกรณ์คลองจั่น หลายคดี
น่าสังเกตว่า หลักฐานเป็นเช็คที่ถูกสั่งจ่ายจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
ลงนามโดยนายศุภชัย (อดีตผู้บริหารสหกรณ์ฯ อดีตไวยาวัจกรวัดธรรมกาย)
จ่ายให้วัดพระธรรมกายบ้าง พระธัมมชโยบ้าง (พระราชภาวนาวิสุทธิ์ขณะนั้น)
เช็คใบสุดท้าย เท่าที่ปรากฏ ลงวันที่ 15 ต.ค. 2552
คดีฟอกเงิน อายุความ 15 ปี ก็อาจหมดอายุความเดือน ต.ค. 2567 นี้หรือไม่?
ประกอบกับขณะนี้ บรรดาศิษย์ธรรมกายเข้าถือครองอำนาจรัฐได้แล้ว
อาจถึงควรแก่เวลา ที่พระธัมมชโย จะปรากฏกาย หรือไม่?
กลับมาออกหน้า นำธรรมกายสยายปีกคืนสู่ความยิ่งใหญ่ หรือไม่?
3. บรรดาทรัพย์สินที่มีดีเอสไอ และปปง.ติดตามตรวจสอบ และมีความเกี่ยวพันมาถึงธัมมชโย และ/หรือวัดพระธรรมกาย รวมถึงมูลนิธิในเครือข่าย
อาทิ
คดีเงินในบัญชีเงินฝากชื่อวัดและมูลนิธิเครือธรรมกาย 58 ล้านบาท ศาลตัดสินให้คืนสหกรณ์คลองจั่น
คดีอาคารเวิลด์พีซ เขาใหญ่ ศาลพิพากษาให้ ปปง.นำอาคาร 9 หลังไปขายทอดตลาด นำเงิน 588 ล้านบาท ชดใช้ให้สหกรณ์คลองจั่น และเงินที่เหลืออันได้จากการขายทอดตลาดให้ตกเป็นของแผ่นดิน
คดีที่ดิน 8 แปลงที่ตั้ง รพ.บุญรักษา ศาลพิพากษาให้ ปปง. ไปขายทอดตลาด นำเงิน 298 ล้านบาท ชดใช้ให้สหกรณ์คลองจั่น และเงินที่เหลืออันได้จากการขายทอดตลาดให้ตกเป็นของแผ่นดิน
คดีอาคารบุญรักษา ศาลพิพากษาให้ ปปง. ไปขายทอดตลาด นำเงิน 303ล้านบาท ชดใช้ให้สหกรณ์คลองจั่น และเงินที่เหลืออันได้จากการขายทอดตลาดให้ตกเป็นของวัดพระธรรมกาย
นอกจากนี้ ยังมีคดีอาคารวิหารคต 110 ล้านบาท, คดีอาคารลูกโลก 276 ล้านบาท,คดีที่ดินในชื่อนายบรรณพจน์ ฯลฯ อยู่ในชั้นศาล รอการตัดสินชี้ขาด
คดีเหล่านี้ เป็นเรื่องทางแพ่งสืบเนื่องจากการตรวจสอบเส้นทางเงินโดย ปปง.
บางคดี ทางธรรมกายมีความพยายามเจรจาไกล่เกลี่ยกับทางสหกรณ์คลองจั่น
4. ขณะเดียวกัน ยังมีคดีฟอกเงินของนายอนันต์ อัศวโภคิน อดีตศิษย์ธัมมชโยคนสำคัญ ที่เคยบริจาคเงินมหาศาล และดูแลโครงการก่อสร้างใหญ่ๆในมหาอาณาจักรธรรมกาย
นายอำนาจ เจตเจริญรักษ์ อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) ได้มีคำสั่งฟ้องนายอนันต์ อัศวโภคิน ฐานสมคบ โดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทําความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทําความผิด ฐานฟอกเงิน
แต่เมื่อถึงเวลานัดหมาย นายอนันต์ อัศวโภคิน ไม่ได้เดินทางมาพบพนักงานอัยการฯตามนัด อ้างเหตุผลอาการเจ็บป่วย พร้อมแสดงใบรองรับแพทย์ยืนยัน กระทั่งล่าสุด มีรายงานข่าวว่า นายอนันต์ยังรักษาอาการป่วยหนักอยู่จนถึงปัจจุบัน
คดีนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งคดีอาญา สืบเนื่องจากการสืบสวนขยายผลของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในยุครัฐมนตรียุติธรรม ชื่อ พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา
โดยดีเอสไอสอบสวนพบว่า นายศุภชัยได้สั่งจ่ายเช็คหลายฉบับ รวมประมาณ 275 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อหุ้นทั้งหมด (TAKE OVER) ของบริษัท เอ็ม-โฮมเอสพีวี 2 จำกัด และที่ดินของบริษัท 3 แปลง รวมถึงที่ดินโฉนดเลขที่ 31344 เนื้อที่ 46 ไร่ 3 งาน 56.2 ตารางวา ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงวัดพระธรรมกาย
หลังจากนั้น วันที่ 21 ธันวาคม 2554 คณะกรรมการบริษัทได้มีมติให้นำที่ดินของบริษัท โฉนดเลขที่ 31344 เนื้อที่ 46 ไร่ 3 งาน 56.2 ตารางวา ขายให้นายอนันต์ อัศวโภคิน
ทำสัญญาซื้อขาย ณ สำนักงานที่ดินอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2554 ภายหลังจากที่คณะกรรมการมีมติเพียง 2 วัน โดยซื้อขายในราคาไร่ละ 2 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 93,781,000 บาท
ขณะนั้น ราคาประเมินตารางวาละหนึ่งหมื่นห้าพันบาท คิดเป็นราคาที่ดินประมาณ 281 ล้านบาท เท่ากับว่า นายอนันต์ได้มาในราคาต่ำกว่าราคาประเมินถึง 3 เท่า
ต่อมา นายอนันต์ได้ขายที่ดินแปลงนี้ต่อให้บุคคลอื่นในราคา 492 ล้านบาทเศษ
พบว่า นายอนันต์ ได้นำเงินที่ได้จากการขาย ประมาณ 303 ล้านบาท บริจาคให้กับมูลนิธิคุณยายอาจารย์ มหารัตน์อุบาสิกา จันทร์ ขนนกยูง ซึ่งมีพระธัมมชโย เป็นองค์อุปถัมภ์ โดยมูลนิธิดังกล่าวเป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ในบริเวณมูลนิธิวัดพระธรรมกาย รวมถึงอาคารบุญรักษาด้วย
ดีเอสไอยังพบว่า นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ได้ทำหนังสือฉบับ ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2554 อันเป็นวันเดียวกันกับวันที่ไปทำสัญญาซื้อขายที่ดินฯ แสดงเจตนาถวายที่ดินโฉนดเลขที่ 31344 เนื้อที่ 46 ไร่ 3 งาน 56.2 ตารางวา ของบริษัทเอ็มโฮมฯ ให้กับพระธัมมชโยด้วย
ในที่สุด กลายมาเป็นคดีฟอกเงิน ที่นายอนันต์ยังไม่ได้ไปสู้คดีในศาล เพราะเหตุป่วยหนัก จนถึงปัจจุบัน
เช่นเดียวกับธัมมชโย ที่ไม่เคยไปสู้คดีฟอกเงินในชั้นศาล แต่เพราะหลบหนีคดีอยู่จนถึงปัจจุบัน
หากคดีหมดอายุความเดือนต.ค.นี้ ธัมมชโยจะกลับมา หรือไม่?
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี