l การแสวงหาสัจจะ จากความเป็นจริง
๑.คือ หลักคิดในเรื่องของความเป็นไปที่แน่นอนของธรรมดา หรือกฎธรรมชาติ กฎของสังคม เป็นเรื่องที่เป็นวิทยาศาสตร์ ที่มีเหตุมีผล พิสูจน์ได้
๒.เป็นหลักพื้นฐานเบื้องต้น ในการเข้าถึงความจริงของเรื่องราวต่างๆ ทั้งหลายเมื่อเราสามารถใช้สติปัญญา เข้าถึงความจริงแล้วเราย่อมสามารถเข้าใจพื้นฐาน ที่มาของเรื่อง ที่จะศึกษา ค้นคว้า หรือ ทำงานต่อไปได้ อย่างถูกต้อง ถูกทิศ ถูกทาง
๓.ตรงกันข้าม หากเราไม่เริ่มแสวงหาความเป็นจริงของเรื่องราวก่อน เราย่อมจะเดินไปอย่างไม่รู้ทางต้องคลำทาง ไม่รู้ว่าจะไปถูกทิศหรือถูกทางหรือเปล่ามันจะนำมาซึ่งความผิดพลาด หรือสูญเสีย ทรัพยากร ทุน พลัง เวลา ฯลฯ ไปอย่างเปล่าประโยชน์ อย่างเช่นผู้นำ นักการเมือง นักคิด นักวิชาการ และสื่อฯ ในสังคมไทยที่เริ่มต้นจาก ความเชื่อ ความปรารถนา อยากจะทำ หรือเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติ
สุดท้าย ก็ไม่บรรลุผล เกิดผลเสียหายครั้งแล้วครั้งเล่า จนเกิดวิกฤตการเมืองและปัญหาต่างๆ ในสังคมไทยมายาวนาน
สัจจะ แปลว่า ความสัตย์ ความซื่อ
ถ้าขยายความตามศัพท์แยกได้ ๓ ลักษณะ คือ มีความจริง ความตรง และความแท้จริง
คือ
๑.ความจริง คือ ภาวะที่เป็นอย่างนั้น หรือภาวะที่เป็นของมันอย่างนั้น นี้เรียกว่าสัจธรรม ความจริง
๒.ความตรง คือ ความประพฤติทางกาย วาจา ตรงไม่บิดพลิ้ว ไม่บ่ายเบี่ยง
๓.ความแท้ คือ ไม่เหลวไหล ตรงข้ามกับคำว่า อสัจ ซึ่งแปลว่า ไม่จริง บิดพลิ้ว
แต่ถ้าในทางปฏิบัติ สัจจะ คือ ความรับผิดชอบ
หมายความว่า ถ้าจะทำอะไรแล้ว ต้องตั้งใจทำจริง ทำอย่างสุดความสามารถ ให้เป็นผลสำเร็จ การที่ใครจะสามารถสร้างตัวขึ้นมาได้นั้น ต้องมีสัจจะเป็นพื้นฐาน เพราะคนที่มีสัจจะเป็นพื้นฐานจะมีความรับผิดชอบต่องานที่ทำทุกอย่าง ไม่ปล่อยผ่านกับสิ่งที่ได้รับมา จะทำทุกสิ่ง ที่มาถึงมือ อย่างสุดกำลัง และเต็มความสามารถ
ลักษณะของสัจจะ มีด้วยกัน ๕ ประการ คือ
1.สัจจะต่อความดี
2.สัจจะต่อหน้าที่
3.สัจจะต่อการงาน
4.สัจจะต่อวาจา
5.สัจจะต่อบุคคล
l มาลงลึกในรายละเอียด (เรียบเรียงจากข้อมูลที่เชื่อถือได้)
ประการที่ 1 สัจจะต่อความดี
คือ การประพฤติตนเป็นคนที่เที่ยงแท้ มั่นคงต่อความดีไม่หันเหไปในทางชั่ว ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์เช่นไร ในทางปฏิบัติ การจะมีสัจจะต่อความดีได้นั้น ต้องคิดให้เห็นถึงคุณความดีได้อย่างแจ่มแจ้ง และเห็นโทษของความชั่วได้ชัดเจน พยายามรักษาความดีในตนไว้ คิดและทำอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นข้อดี ตามความจริง จะพัฒนาเป็นนิสัยติดตัวเราไปตลอดต้องละ กรรมกิเลส 4, อคติ 4, อบายมุข 6และต้องปรับความเห็นของตน ให้ถูก ให้เป็นสัมมาทิฐิ ให้ได้
หากเป็นพระ ต้องรักษาสิกขาวินัย สืบทอดพระพุทธศาสนา
หากเป็นฆราวาส ต้องทำมาหากินตั้งตนให้ได้ สร้างหลักฐานให้กับวงศ์ตระกูล ใครจะอยู่ในหน้าที่อะไร ต้องพยายามหาดีของตนให้ได้ หากหาดีนอกทางเสียแล้ว จะเสียความจริงต่อความดี
ประการที่ 2 สัจจะต่อหน้าที่
คือ การที่ใครก็ตามที่เกิดมา ย่อมมีหน้าที่ติดตัวมาด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้น จึงควรมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน
ใครเป็นสามี รับผิดชอบต่อหน้าที่สามี เลี้ยงครอบครัวให้ดี ไม่ปันใจให้หญิงอื่น จริงใจกับภรรยา
ใครเป็นภรรยา จริงใจต่อหน้าที่ของภรรยาดูแลการงานในบ้านให้เรียบร้อย ไม่เที่ยวเตร่ไม่เล่นการพนันเผาผลาญทรัพย์ เป็นลูก ต้องมีความรับผิดชอบว่า เราเป็นลูกมีหน้าที่รักษาวงศ์ตระกูลให้ดี ถ้าพ่อแม่แก่เฒ่า ต้องเลี้ยงดูท่าน ไม่ว่าใครจะเป็นอะไร ทุ่มไปกับหน้าที่ของตัวให้เต็มที่ หากทำเช่นนี้ได้จึงเรียกว่า มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่
ประการที่ 3 สัจจะต่อการงาน
สัจจะต่อการงาน คือการตั้งสัจจะลงไปในงาน หมายถึงการทำงานนั้นต้องทำจริง เมื่อมีหน้าที่แล้ว ย่อมมีงานตามมา คนที่ไม่จริงต่อการงาน มีอยู่3 ประเภทด้วยกัน คือ
พวก “ทุจฺจริต” คือ พวกที่ทำงานเสีย
พวก “สิถิล” คือ พวกที่ทำงานเหลาะแหละ
พวก “อากุล” คือ พวกที่ทำงานคั่งค้าง
l ประการที่ 4 สัจจะต่อวาจา
สัจจะต่อวาจา คือ จริงต่อวาจา นั่นคือคำพูดของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นการพูดด้วยปาก หรือการเขียน ตลอดจนการแสดงอาการที่เป็นการปฏิญาณต่อผู้อื่นก็ตาม สัจจะต่อวาจามีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือ
พูดอย่างไรทำอย่างนั้น คือ เมื่อพูดออกไปแล้วก็ต้องพยายามทำให้ได้จริงตามที่พูดทำอย่างไรพูดอย่างนั้น คือ การพูดคำจริง เมื่อเราทำอะไรลงไปก็พูดไปตามนั้น การกระทำต้องตรงกับคำพูดของตัวเองเสมอ
l ประการที่ 5 สัจจะต่อบุคคล
สัจจะต่อบุคคล คือ ต้องเอาจริงต่อบุคคล ในที่นี้คือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา จริงต่อบุคคลนั้นหมายถึง การเป็นผู้ที่ประพฤติต่อคนอื่นอย่างสม่ำเสมอ ไม่กลับกลอก และความจริงต่อบุคคลจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยความจริงใจต่อกัน ถ้าเราอยากให้คนอื่นเขาจริงใจต่อเรา เราก็ต้องให้ความจริงกับเขาด้วย
l โดยสรุป ต้องทำความเข้าใจในหลักการสำคัญดังนี้
๑.หน้าที่ คือ ความรับผิดชอบ ที่ต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ ไม่ดี หรือ อาจจะเกิดผลเสียต่อตนและคนอื่น
๒.หน้าที่ของบุคคลหนึ่ง อาจจะมีหลายสถานะ
(๑) ความเป็นลูก พ่อแม่ สามี ภรรยาปู่ ย่า ตายาย
(๒) ความเป็นเด็ก หนุ่มสาว ผู้ใหญ่ชรา
(๓) ความเป็นผู้ประกอบอาชีพในสังคม เกษตรกร กรรมกร เอกชน ข้าราชการ ทหาร สื่อ
(๔) ความเป็นนักการเมือง ฯลฯ
๓.ยิ่งบุคคลมีตำแหน่งหน้าที่การงานสูง ความรับผิดชอบยิ่งมาก
(๑) ทำดี ก็มีผลต่อส่วนรวมมาก
(๒) ทำไม่ดี ย่อมมีผลเสียหายต่อบ้านเมืองมาก
๔.การทำหน้าที่ได้ดี ต้องเริ่มต้น “การแสวงหาสัจจะจากความเป็นจริง” ตามที่กล่าวมาข้างต้น
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี