เมื่อชุมชนรวมตัวกันจนเป็นชาตินั้น หากแต่ละชาติต่างคนต่างอยู่ ไม่ต้องมีการติดต่อซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะในลักษณะของความเป็นมิตรหรือในบางครั้งก็เป็นไปในลักษณะของความเป็นศัตรู ก็คงจะไม่ต้องมีเครื่องหมายหรือสิ่งที่แสดงถึงสัญลักษณ์ของความเป็นชาตินั้นๆ แต่เมื่อได้มีการติดต่อกันขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะในรูปแบบใด ก็จำเป็นต้องมีเครื่องแสดงตัวตนของความเป็นชาติ และนั่นคือที่มาของการเกิดสัญลักษณ์ของแต่ละชาติที่เรียกว่าธงชาติ
ธงชาติไทยก็มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน โดยในยุคเริ่มต้นจะมีลักษณะเป็นเพียงธงซึ่งใช้แสดงความเป็นตัวตนในกิจกรรมต่างๆ โดยแรกเริ่มนั้นใช้เป็นเพียงเครื่องหมายของกองทัพแต่ละกอง เช่น สีแดงสำหรับกองทัพเรือ
ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีการเดินทางของคณะราชทูตฝรั่งเศสเพื่อเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา โดยจะต้องเดินทางผ่าน ป้อมบางกอก ซึ่งปัจจุบันคือป้อมวิชัยประสิทธิ์ โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๒๒๓
ได้มีกำหนดการว่า เมื่อเรือเลอเตอวูร์เคลื่อนผ่านป้อมบางกอกและเห็นธงของชาติไทยก็จะมีการยิงปืนสลุต แต่ผู้บังคับการป้อมเข้าใจผิดและไม่เคยปฏิบัติมาก่อน ได้นำเอาธงชาติฮอลันดาซึ่งใช้ในการค้าขายชักขึ้นแทน เมื่อกัปตันเรือฝรั่งเศสเห็นเช่นนั้นจึงไม่ยอมยิงสลุต จนกว่าจะมีการเอาธงฮอลันดาลงเสียก่อน โดยจะชักธงอะไรขึ้นแทนก็ได้ แต่ไม่ใช่ธงของชาติอื่นใด เนื่องจากชาติไทยตอนนั้นยังไม่มีธงชาติโดยเฉพาะ จึงใช้ธงของทหารเรือซึ่งเป็นธงสีแดง ที่ถูกใช้มาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๑๙๙ ขึ้นแทน เมื่อเรือฝรั่งเศสเห็นดังนั้นจึงเริ่มยิงสลุตเพื่อเป็นการให้เกียรติ และทางป้อมบางกอกของไทยก็ยิงสลุตตอบนัดต่อนัดเช่นกัน จึงนับเอาเหตุการณ์นี้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ธงชาติไทย
การใช้ธงสีแดงเป็นสัญลักษณ์ของชาติเป็นมาอย่างยาวนานจนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ในปีพุทธศักราช ๒๓๒๕ จึงเริ่มมีการนำสัญลักษณ์ต่างๆ มาประดับบนธงพื้นสีแดง โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เพิ่มรูปจักรสีขาวในธงสีแดง และเริ่มใช้เป็นธงประดับเรือรบหลวง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งในช่วงเวลานั้นพระองค์ได้ช้างเผือก ๓ เชือกไว้ประดับบารมี คือพระยาเศวตกุญชร พระยาเศวตไอยรา และพระยาเศวตคชลักษณ์ ซึ่งนับเป็นเกียรติยศยิ่ง แสดงถึงบุญบารมีที่พระองค์ทรงมี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เพิ่มรูปช้างสีขาวเข้าไว้ภายในวงจักรสีขาว ของธงที่เคยใช้อยู่เดิม เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นรัชสมัยของพระเจ้าแผ่นดินอันมีช้างเผือก และใช้ธงนี้ประดับอยู่กับเรือรบหลวงตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๓๖๐
ในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยได้ทำสนธิสัญญาอื่นๆ อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งกับสหราชอาณาจักร ในปี ๒๓๙๘ พระองค์มีพระราชดำริว่าธงที่ใช้อยู่นั้นมีพื้นสีแดงซึ่งซ้ำกับธงประเทศอื่นหลายประเทศ จำเป็นต้องมีธงชาติใช้เป็นของตัวเอง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ใช้ธงพื้นสีแดงมีรูปช้างเผือกสีขาวอยู่ตรงกลาง โดยเอารูปจักรซึ่งเป็นเครื่องหมายเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ออก และให้ใช้ธงนี้ติดตั้งได้ทั้งในเรือหลวงและของเอกชน ซึ่งต่อมาพบหลักฐานใหม่ว่าธงที่มีรูปช้างเผือกแบบไม่มีจักรนั้น ถูกนำมาใช้ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้วตั้งแต่พ.ศ ๒๔๙๔
ธงช้างเผือกได้ถูกใช้เป็นธงชาติสยามยาวนานถึง ๕ รัชกาล จนถึงวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่ารูปช้างไม่สง่างามพอ จึงให้ปรับรูปช้างเป็นลักษณะช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าข้างเสาธง แต่ก็ได้ใช้อยู่เป็นระยะเวลาสั้นๆ โดยต่อมาได้โปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนรูปแบบธงชาติเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีแถบยาวสีแดง ๓ แถบ สลับกับแถบสีขาว ๒ แถบ เรียกว่าธงแดงขาว ๕ ริ้วโดยส่วนใหญ่ใช้เพื่อการค้าขายกับต่างชาติ แต่ยังคงใช้ธงช้างเผือกเป็นธงสัญลักษณ์
ในปีพ.ศ. ๒๔๖๐ ได้มีการเปลี่ยนแถบสีแดงที่ตรงกลางธงให้เป็นสีน้ำเงินแก่ เพื่อให้เกิดความสง่างามมากขึ้น และเป็นลักษณะของธง ๓ สีทำนองเดียวกับธงชาติ ของฝ่ายพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ ๑ คือธงของประเทศฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้ทั้ง ๓ ประเทศนั้นพอใจในธงชาติไทยเป็นอย่างยิ่ง และนอกจากนี้สีน้ำเงินยังเป็นสีของสถาบันพระมหากษัตริย์ การมีสีน้ำเงินในธงชาติ จึงเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงพระองค์ในวาระเหตุการณ์ต่างๆ ด้วย
ในการเปลี่ยนแปลงสีของธงชาติเป็น ๓ สีนั้น ได้โปรดให้เจ้าพระยารามราฆพ เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งเป็นเสนาธิการทหารบกในเวลานั้น ให้ออกแบบธงและนำกลับไปถวายเพื่อทูลขอความเห็น ซึ่งในที่สุดได้มีการนำเรื่องธงนี้เข้าหารือในที่ประชุมคณะเสนาบดีซึ่งได้มีการลงมติเห็นชอบให้รูปแบบธงชาติที่คิดขึ้นใหม่นี้เป็นธงชาติไทย รวมทั้งออกประกาศในพระราชบัญญัติธงพุทธศักราช ๒๔๖๐ เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ.๒๔๖๐
จึงถือเอาวันที่ ๒๘ กันยายนของทุกปีเป็นวันพระราชทานธงชาติไทย
จึงเห็นได้ว่าธงชาติไทยนั้นมีกำเนิดหรือความเป็นมายาวนานพอสมควร และองค์พระมหากษัตริย์ที่ปกครองแผ่นดิน เริ่มตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชซึ่งเป็นพระมหาราชองค์ที่ ๓ ของชาติไทย และพระมหากษัตริย์ต่อมาอีกหลายพระองค์ได้ให้ความสำคัญและมีพระวิสัยทัศน์ที่จะทำให้ธงชาติไทยเป็นสัญลักษณ์ของชาติ ที่แสดงถึงตัวตนของความเป็นชาติที่น่าภาคภูมิใจ
ธงสามสีของชาติไทยถูกกำหนดให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดกว้าง ๖ ส่วน ยาว๙ ส่วน ด้านกว้าง ๒ ใน ๖ ส่วนตรงกลางเป็นสีขาบ (สีน้ำเงินแก่) ต่อจากแถบสีขาบออกไปทั้งสองข้าง ข้างละ ๑ ใน ๖ ส่วน เป็นแถบสีขาว ต่อจากสีขาวออกไปทั้ง ๒ ข้าง เป็นแถบสีแดง เรียกว่าธงไตรรงค์
โดยสีแดงหมายถึงเลือดอันยอมพลี เพื่อธำรงรักษาชาติและศาสนา สีขาว หมายถึงความบริสุทธิ์แห่งพระศาสนา และสีน้ำเงินหมายถึงสีส่วนพระองค์ของ พระมหากษัตริย์
ซึ่งทั้งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์จะต้องธำรงอยู่ตลอดกาล โดยคนไทยทุกคนจะต้องร่วมกันรักษาไว้
ขอย้อนกลับมาถามนักการเมืองทั้งหลายที่มักจะชอบอ้างว่าตัวเองเป็นผู้แทนราษฎร เพราะมาจากการเลือกตั้งทั้งจากคะแนนโดยตรงและจากบัญชีรายชื่อจากพรรคที่ได้คะแนนจากความนิยมของประชาชนว่า ขณะนี้ท่านทั้งหลายกำลังปฏิบัติหน้าที่เพื่อจะธำรงไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์จริงหรือไม่
พรรคการเมืองบางพรรค ได้แสดงตัวตนอย่างชัดเจนถึงการที่จะนำประเทศชาติให้เข้าไปเป็นสมุนของชาติมหาอำนาจ โดยมีเครือข่ายเชื่อมโยงและได้รับการสนับสนุนอย่างชัดเจน ในขณะเดียวกันก็มีความพยายามมาโดยตลอด ในการที่จะบั่นทอนสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งโดยการพยายามจะแก้รัฐธรรมนูญจนถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อจะนำไปสู่การออกกฎหมายที่ไม่ให้อำนาจคุ้มครองพระมหากษัตริย์และสถาบันอีกต่อไป ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็ถือว่าเป็นกระบวนการคิดที่เรียกว่าเป็นความชั่วร้าย เป็นเสมือนต้นไม้พิษที่ไม่มีรากแก้ว ที่ยึดโยงกับแผ่นดินนี้ ในขณะเดียวกันก็ผลิดอกออกผล ซึ่งช่วงที่เป็นดอกก็มีกลิ่นเหม็นเน่าสะอิดสะเอียน และเมื่อกลายเป็นผลก็เต็มไปด้วยพิษ ซึ่งเมื่อร่วงหล่นลงสู่พื้นดินก็ทำลายแผ่นดินซึ่งเป็นถิ่นที่อาศัยจนเสียหายไปหมด
ในขณะเดียวกัน พรรคการเมืองบางพรรคที่มีผู้นำที่อ่อนด้อยประสบการณ์ ซึ่งดูเหมือนน่าจะขาดทั้งความสามารถ ความเฉลียวฉลาด อารมณ์และวุฒิภาวะ แล้วมาเป็นผู้บริหารระดับผู้นำประเทศ ก็มีรากที่มาจากการทุจริต โกงกิน รวมทั้งน่าจะมีปัญหาทางจริยธรรมอยู่ด้วย ซึ่งก็ดูเหมือนว่าได้ใช้ความคิดและการกระทำทั้งที่ถูกครอบครองและครอบงำจากบุคคลที่มีประวัติเสื่อมเสียจนถูกศาลตัดสินจำคุกมาแล้วด้วยมาใช้ในการบริหารประเทศ แล้วจะหวังอะไรได้
ไม่อาจจะมองเห็นได้เลยว่าอนาคตของชาติจะเป็นอนาคตที่สดใส มีความเจริญรุ่งเรือง มีเศรษฐกิจที่ดี และประชาชนได้อยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุข แล้วนักการเมืองบางส่วนซึ่งยังถือได้ว่าเป็นนักการเมืองน้ำดี กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ จะยินยอมให้ประเทศชาติของเราต้องเดินไปอย่างนี้หรือ
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี