สถานการณ์พิบัติภัยจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังไม่ได้เอวังลงเสียทีเดียว ยังต้องเฝ้าระวังป้องกันแก้ไข บรรเทาเยียวยากันอีกดังพระราชดำรัส “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2516 ความว่า
“...การช่วยเหลือผู้ประสบภัยนั้นจะต้องช่วยในระยะสั้น หมายความว่า เป็นเวลาที่ฉุกเฉินต้องช่วยโดยเร็ว และต่อไปก็จะต้องช่วยให้ต่อเนื่อง........ส่วนเรื่องการช่วยเหลือในระยะยาวก็มีความจำเป็นเหมือนกัน.....เป็นผลว่าเขาได้รับการดูแลเหลียวแลมาจนกระทั่งได้รับการศึกษาที่สามารถทำมาหากินได้โดยสุจริตและโดยมีประสิทธิภาพเป็นพลเมืองดีของประเทศชาติ...”
ที่จริงแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวกับน้ำมีอยู่มาก มีมากอย่างกระจัดกระจายมีหน่วยงานภายใต้สังกัด 5 กระทรวง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ที่ดูแลดาวเทียม สามารถพยากรณ์ได้ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และรวมถึงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กระทั่งมีการตราพระราชบัญญัติแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 ในรัฐบาลลุงตู่ /- พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯคนที่ 29 ก่อนรัฐบาลมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี 2 สมัย
จะมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และลดความเหลื่อมล้ำอย่างเจตนารมณ์ของรัฐบาลสืบสันดานได้อย่างไร ในเมื่อความสูญเสียแต่ละครั้งมีมูลค่าเกือบเท่างบฯรายจ่ายประจำปีงบฯปกติ
พระราชบัญญัติแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 เป็นการนำแนวคิดการพัฒนาระบบการป้องกัน การเตรียมความพร้อม และการสร้างภูมิคุ้มกันโดยพัฒนาภูมิความรู้และเสริมสร้างความเข้มแข็งระดับชุมชน ในการเฝ้าระวังและรับมือกับสาธารณภัย การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและการสร้างภูมิต้านทานให้แก่ชุมชนตามแนวทาง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”
รวมทั้งการนำแนวคิดการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยเพื่อป้องกันภัยตามหลักสากลคือ “รู้รับ - ปรับตัว -ฟื้นเร็วทั่ว - อย่างยั่งยืน” (Resilience) โดยเสริมสร้างความตระหนักในการลดความเสี่ยงตั้งแต่ก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย และกำกับการดำเนินการขับเคลื่อนให้เป็นไปตามกรอบพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และสอดคล้องกับกรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ พ.ศ. 2558 - 2573 (Sendai Framework forDisaster Risk Reduction 2015 - 2030)
ยุทธศาสตร์การดำเนินงานตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 มุ่งเน้นการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย (Disaster Risk Reduction : DRR) การบูรณาการการจัดการในภาวะฉุกเฉิน (Emergency Management) การเพิ่มประสิทธิภาพการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน (Build Back Better and Safer) และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย
เป็นแนวทางหลักในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายของแผน และนำไปสู่ความสำเร็จในการจัดการความเสี่ยง จากสาธารณภัยซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน
ตามพ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีหน่วยงานหนึ่งที่เรียกว่า “คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ(กปภ.ช.)” มีหน้าที่ดูเรื่องนี้เต็มเวลา ซึ่งสามารถบูรณาการถอดบทเรียน และนำมาสู่การบังคับบัญชาแบบเรียกว่า “Single command” ไม่เช่นนั้นแล้วเวลามีปัญหา จะแก้ปัญหาไม่ทัน และจะหนักกว่าเดิมอีกด้วย ประเด็นคือ 1-2 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการกับพ.ร.บ.นี้อย่างไร เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผล และผลสัมฤทธิ์อย่างใด
รัฐบาลไม่ว่าจะมี “เทวดา”ครอบงำ สังฆกรรมสั่งการทว่า ภาวะโลกร้อนและภาวะฝนตกไม่มีทางที่จะลดน้อยลงวิกฤตน้ำท่วมและภัยแล้งจึงจะมีแต่ทวีคูณมากขึ้น ทำให้ผลกระทบและมูลค่าความเสียหายเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกร
ถ้ารัฐบาลยังประเมินสถานการณ์ หน้าไมค์หลังไมค์กับครม.สืบสันดานจะมีประสิทธิภาพเท่าการสั่งการให้คณะกรรมการที่มีอำนาจมีเครื่องไม้เครื่องมือตามกฎหมายบูรณาการถอดบทเรียนต่างๆ และบังคับบัญชาสั่งการป้องกันและบรรเทาปัญหาน่าจะเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลกว่าหรือไม่
สร้างบรรทัดฐานเพื่อการปฏิรูปการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทางธรรมชาติทุกด้านครั้งใหญ่
Put right man on the right jobยุติการสร้างภาพของนักการเมืองที่ไม่รู้ว่ามีไว้ทำไมไม่ดีกว่าหรือ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี