ปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในแวดวงสหกรณ์เป็นเรื่องจริง ดังที่เคยเล่าไว้หลายครั้ง
ยอดรวมเงินฝากที่อยู่ใต้การดูแลของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนทั้งหมด ราว 1,400 แห่ง ในประเทศไทย มูลค่ากว่า 1,300,000,000,000 บาท (1.3 ล้านล้านบาท)
มันคือ ภูเขาเงินทองกองใหญ่ดีๆ นี่เอง
ล่าสุด ศาลอาญาพิพากษาจำคุกอดีตประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ จุฬาฯ เป็นเวลา 5 ปี คดียักยอกทรัพย์ฯ “สอ.จฬ.” เสียหาย 1.4 พันล้านบาท
ถือเป็นกรณีล่าสุดของคดีโกงสหกรณ์ ที่มีคำพิพากษาออกมา
1.สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ย.2567 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.600/2566
พิพากษาว่า จำเลย (นายบัญชา ชลาภิรมย์) มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 (เดิม) ประกอบมาตรา 254 เดิม ให้จำคุก 5 ปี
สำหรับคดีนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินทางอาญา ได้ส่งสำนวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาในคดีพิเศษที่ 40/2564 กรณีทุจริตในสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำกัด ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353 และ 354
โดยจากการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน พบว่าผู้ต้องหา (นายบัญชา ชลาภิรมย์) ซึ่งเป็นอดีตผู้บริหาร สอ.จฬ. ชุดที่ 53 ได้มีการอนุมัตินำเงินไปฝาก/ให้กู้แก่ 3 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำกัด,สหกรณ์เคหสถานนพเก้ารวมใจ จำกัด และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด
ซึ่งผู้ต้องหาได้กระทำ โดยอาศัยที่ตนมีอำนาจหน้าที่ โดยการครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 และยักยอกทรัพย์สินที่ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น หรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใดๆ โดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 353 และได้กระทำในฐานเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 354 ด้วย มูลค่าความเสียหายกว่า 1,400ล้านบาท
ทั้งนี้ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ดีเอสไอ ได้ส่งสำนวนคดีพิเศษพร้อมตัวผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ เมื่อวันที่ 13 ก.พ.2566 และต่อมาวันที่3 มี.ค.2566 พนักงานอัยการ ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลอาญา ซึ่งศาลอาญารับไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่อ.600/2566
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด นายบัญชาได้ยื่นขอปล่อยชั่วคราว (ขอประกันตัว) เพื่อต่อสู้คดีในชั้นศาลอุทธรณ์ ซึ่งศาลฯมีคำสั่งอนุญาตฯ คดีจึงยังไม่ถึงที่สุด ยังต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ต่อไป
2. สหรณ์ออมทรัพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีสินทรัพย์รวม 35,760 ล้านบาท
เป็นเงินรับฝากฯ 14,908 ล้านบาท
มีสมาชิกถึง 15,592 ราย โดยสมาชิกสหกรณ์ส่วนใหญ่ คือ บุคลากรของจุฬาฯ
กรณีทุจริตประพฤติมิชอบที่เกิดขึ้น สร้างความเสียหายแก่สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ อย่างยิ่ง
ตามรายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินของ สอ.จฬ. สำหรับปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2566พบว่า สอ.จฬ. ได้ตั้งค่าเผื่อเงินฝากสงสัยจะสูญ กรณีสหกรณ์เคหสถานนพเก้ารวมใจ จำกัด (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) เต็มจำนวน 955.1 ล้านบาท โดยค่าเผื่อฯดังกล่าว คำนวณจากยอดหนี้ตามคำพิพากษา 1,063.15 ล้านบาท หักด้วยหลักทรัพย์ที่นำมาจำนองเฉพาะที่ดิน 2 แปลง มูลค่าคงเหลือจากขายทอดตลาด 108.04 ล้านบาท
ส่วนลูกหนี้เงินให้กู้และเงินฝาก รายสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ซึ่ง สอ.จฬ.ได้ฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่พ.2712/2565 ทุนทรัพย์ที่ฟ้อง 1,291.27 ล้านบาทนั้น ศาลล้มละลายกลางได้มีคำพิพากษาตามหมายเลขคดีแดงที่ พก58/2566 ลงวันที่ 27 ก.ย.2566 ให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นฯ ชำระเงินต้นจำนวน 963.54 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย 3% ต่อปี ให้ สอ.จฬ. ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ธ.ค.2566 มียอดคงเหลือ 1,012.75 ล้านบาท และตั้งค่าเผื่อฯแล้ว 77.83 ล้านบาท
ล่าสุด ทราบว่า สอ.จฬ.ได้รับชำระหนี้จากสหกรณ์คลองจั่น1 พันกว่าล้านล้านแล้ว
อย่างไรก็ตาม ยังมีลูกหนี้อีกหลายราย รวมถึงกรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐีด้วย
3. ก่อนหน้านี้ ผมได้เคยชี้ให้เห็นปมทุจริตหลายกรณีในวงการสหกรณ์ “สหกรณ์ สหโกง วังวนกลโกงฯ” เรียกได้ว่า ในอดีต สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ เคยถูกรุมทึ้ง ปู้ยี่ปู้ยำ
โดยผู้บริหารสหกรณ์เอง นำเงินออกไปฝาก หรือให้กู้แก่สหกรณ์หลายแห่ง ดำเนินการโดยมิชอบ
ยกตัวอย่าง
สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จํากัดเงินกู้ มูลค่าความเสียหายต้นเงิน 1,431 ล้านบาท
สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จํากัดเงินฝาก มูลค่าความเสียหายต้นเงิน 200 ล้านบาท
สหกรณ์เคหสถานนพเก้ารวมใจจํากัดเงินฝาก มูลค่าความเสียหายต้นเงิน 915 ล้านบาท
ชุมนุมสหกรณ์ธนกิจไทย จํากัด เงินฝาก มูลค่าความเสียหายต้นเงิน 550 ล้านบาท ฯลฯ
ทําให้ สอ.จฬ.ได้รับความเสียหายจากต้นเงินรวมกว่า 3 พันล้านบาท
ปัจจุบัน เงินส่วนใหญ่ยังไม่ได้คืน
4. กรณีนี้ ควรทำให้วงการสหกรณ์ได้ตระหนักร่วมกัน ถึงความสำคัญของระบบกำกับดูแลตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ สร้างธรรมาภิบาลในวงการสหกรณ์
ที่ผ่านมา เมื่อเกิดปัญหาแล้ว ยังปล่อยให้ผู้เกี่ยวข้องกับการทุจริตสร้างความเสียหาย ได้กลับมามีตำแหน่งอำนาจหน้าที่ในคณะกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯอีกด้วย ผู้เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแล ไม่ควรจะปล่อยให้เกิดเรื่องเช่นนี้อีกเด็ดขาด
ถ้ายังปล่อยไปตามยถากรรม ความล้มเหลวของระบบกำกับจัดการเครือข่ายโกงสหกรณ์ จะเป็นบาปกรรมนำไปสู่ความเสียหายรุนแรงอีกในอนาคตอย่างแน่นอน
ชีวิตสมาชิกสหกรณ์และครอบครัว ตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบต่อเนื่องอีกนับแสนนับล้านคน จะเป็นโศกนาฏกรรมในวงการสหกรณ์ต่อไป
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี