เวรกรรม ไม่มีอายุความ...
ปมสนามกอล์ฟอัลไพน์ กับธรณีสงฆ์ที่ถูกเล่นแร่แปรธาตุต่อๆ กันมา ก็เช่นกัน
แล้วเรื่องนี้ กำลังจะกลับมาหลอกหลอนนายกฯ อุ๊งอิ๊งค์
1. ปัจจุบัน สนามกอล์ฟอัลไพน์ อยู่ในครอบครองของบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด
ครอบครัวชินวัตรถือหุ้นมาตั้งแต่ปี 2544
ทุนล่าสุด 747 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ มีชื่อนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เคยเป็นกรรมการ ร่วมกับนางสาวพินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ และ นายอุดมศักดิ์
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ต่อมา เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2567 บริษัทฯจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการ (หลังนางสาวแพทองธารเป็นนายกฯ วันที่ 18 สิงหาคม 2567)
ระบุว่านางสาวแพทองธารลาออก เมื่อ 15 สิงหาคม 2567 (พร้อมกับบริษัทอื่น 20 บริษัท นางสาวแพทองธาร ถือหุ้นอย่างน้อย 19 บริษัท มูลค่าเกือบหมื่นล้านบาท)
น่าสนใจว่า ในส่วนของ บริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด รายงานหมายเหตุประกอบงบการเงิน ระบุว่า
“ที่ดินส่วนใหญ่ของบริษัทพื้นที่ประมาณ 444 ไร่ มีมูลค่าจำนวนเงินรวม 286.29 ล้านบาท
ซึ่งบริษัทได้รับการจดทะเบียนการโอนขายที่ดินมรดกจากมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยกรมที่ดิน จังหวัดปทุมธานี ตั้งแต่ปี 2533
ต่อมา ในปี 2544 อธิบดีกรมที่ดินได้มีคำสั่งที่ 2308/2544 ให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ดินแปลงดังกล่าวของบริษัท
และในปี 2545 บริษัทอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายต่ออธิบดีกรมที่ดิน และผู้รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทยได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน
แต่ว่าเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้อ่านคำสั่งศาลฎีกายืนคำพิพากษาให้ลงโทษอาญากับผู้รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทยสำหรับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินดังกล่าว
ซึ่งในระหว่างปี 2562 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 บริษัทยังไม่ได้รับข้อมูลหรือการประสานงานเกี่ยวกับประเด็นกรรมสิทธิ์ที่ดินสนามกอล์ฟจากหน่วยงานรัฐแต่อย่างไร
ฝ่ายบริหารของบริษัทได้พิจารณาประเมินความเสี่ยง ระบุผลกระทบอันอาจเกิดขึ้นและแนวทางในการบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับประเด็นกรรมสิทธิ์ในที่ดินสนามกอล์ฟส่วนใหญ่ของบริษัทดังกล่าว และคาดว่าจะยังไม่มีผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ในที่ดินสนามกอล์ฟสำหรับการดำเนินกิจการให้บริการสนามกอล์ฟต่อสมาชิกของบริษัทในอนาคต”
2. เรืองไกรยื่นสอบนายกฯ อุ๊งอิ๊งค์
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า วันนี้ (1 ต.ค. 2567) ตนจะไปยื่นหนังสือเพื่อขอให้กกต. ตรวจสอบนายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) กรณีเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด ตั้งแต่เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 จนถึงวันที่ 3 กันยายน 2567 ว่าเข้าข่ายมีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160(4) หรือไม่
การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมข้อ 8 หรือไม่
และเข้าข่ายเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่
นายเรืองไกร เปิดเผยว่า กรณี บริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด เพิ่งมีการโอนหุ้นจาก นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ไปให้คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ เมื่อต้นเดือนกันยายน ซึ่งเมื่อใช้เวลาตรวจสอบสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและหมายเหตุประกอบงบการเงินและเอกสารที่เกี่ยวข้องแล้ว มีเหตุอันควรขอให้ กกต. ตรวจสอบต่อไป ดังนี้
“...ข้อ 1. หมายเหตุประกอบงบการเงินบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2566 หมายเหตุ 8 ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์-สุทธิ (ต่อ) (ตามที่ระบุก่อนนี้)
ข้อ 2. ตามหลักฐานที่ขอคัดจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2567 บริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด ได้ส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ซึ่งเป็นการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 และมีการอนุมัติงบการเงิน รอบปีบัญชี 31 ธันวาคม 2566 ด้วย
ข้อ 3. สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 ลำดับที่ 4 ปรากฏชื่อนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ถือหุ้นจำนวน 22,410,000 หุ้น จากจำนวนหุ้นทั้งหมด 74,700,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 30 ระบุเลขหมายใบหุ้น 5229001-74700000 ลงวันที่ 08/09/2559 วันลงทะเบียนผู้ถือหุ้น 11/01/2544
ข้อ 4. ต่อมา ตามหลักฐานที่ขอคัดจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 บริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด ได้ส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ซึ่งคัดจากสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 ลำดับที่ 1 ปรากฏชื่อคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ถือหุ้น 2 จำนวน คือ
1. จำนวน 7,470,000 หุ้น จากจำนวนหุ้นทั้งหมด 74,700,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 10 ระบุเลขหมายใบหุ้น 17430028-24900027 ลงวันที่ 8/9/2559 วันลงทะเบียนผู้ถือหุ้น 11/1/2544 และ
2. จำนวน 22,410,000 หุ้น จากจำนวนหุ้นทั้งหมด 74,700,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 30 ระบุเลขหมายใบหุ้น 52290001-74700000 ลงวันที่ 3/9/2567 วันลงทะเบียนผู้ถือหุ้น 3/9/2567
ข้อ 5. จากข้อมูลข้างต้น จึงน่าจะเชื่อได้ว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้โอนหุ้นจำนวน 22,410,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 30 ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด ให้แก่คุณหญิงพจมาน
ดามาพงศ์ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 เนื่องจากเลขหมายใบหุ้น 52290001-74700000 ตรงกัน
ดังนั้น จึงทำให้เข้าใจได้ว่า ในวันประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 30 เมษายน 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ต้องรู้หรือควรรู้ว่าที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ตามที่ระบุไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด สำหรับปีสิ้นสุด วันที่ 31 ธ.ค. 2566 หมายเหตุ 8 ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ – สุทธิ จำนวน 444 ไร่นั้น เป็นที่ดินที่อธิบดีกรมที่ดินได้มีคำสั่งที่ 2308/2544 ให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ดินแปลงดังกล่าวไปแล้ว ผู้บริหารบริษัท และผู้ถือหุ้นบริษัท ซึ่งนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เคยเป็นอยู่ย่อมต้องรู้ว่า ที่ดินสนามกอล์ฟ 444 ไร่ดังกล่าวยังคงมีปัญหาความไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 6. ดังนั้น การที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี นับตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2567 มาจนถึงปัจจุบัน
แต่ในวันที่ 3 กันยายน 2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เพิ่งมาโอนหุ้นจำนวน 22,410,000 หุ้นในบริษัทดังกล่าวให้คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์
กรณี จึงอาจทำให้เห็นได้ว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ย่อมต้องรู้หรือควรรู้ว่า การเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว ซึ่งมีที่ดินจำนวน 444 ไร่นั้น ที่อธิบดีกรมที่ดินได้มีคำสั่งที่ 2308/2544 ให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ดินแปลงดังกล่าวไปแล้ว ย่อมอาจจะเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม
ทั้งนี้ ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขแดงที่ คมจ.1/2565 วันที่ 7 เมษายน 2565
และตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขแดงที่ คมจ.2/2566 วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ประกอบกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 21/2567 วันที่ 14 สิงหาคม 2567
ข้อ 7. จากข้อเท็จจริงที่กล่าวมาข้างต้น ประกอบกับพยานเอกสารจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและเอกสารข่าวที่เกี่ยวข้อง จึงน่าจะเพียงพอเพื่อให้ กกต. ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม เพื่อส่งเรื่องกรณีที่นายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2567 จนถึงวันที่ 3 กันยายน 2567 ซึ่งบริษัทมีที่ดินจำนวน 444 ไร่ ที่อธิบดีกรมที่ดินได้มีคำสั่งที่ 2308/2544 ให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ดินแปลงดังกล่าวแล้ว
ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเร็วว่า กรณีดังกล่าวจะเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว หรือไม่...”
นายเรืองไกร ยังให้ข้อสังเกตด้วยว่า แบบ บอจ.5 ณ วันที่ 30 เม.ย. 2567 นามสกุลคุณหญิงพจมาน สะกดด้วยคำว่า “ดามาพงษ์”
แต่ตามแบบ บอจ.5 ณ วันที่ 4 ก.ย. 2567 นามสกุลคุณหญิงพจมาน สะกดด้วยคำว่า “ดามาพงศ์”
นอกจากนี้ เลขหมายใบหุ้นของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ตามแบบบอจ.5 ณ
วันที่ 30 เม.ย. 2567 ที่ระบุว่า 5229001-74700000 น่าจะตก 0 ไปหนึ่งตัว ที่ถูกควรจะเป็น 52290001-74700000
3. น่าสนใจว่า กรณีนี้ หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องจะตรวจสอบ และจะมีผลออกมาประการใด?
จะกระทบต่อการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของนางสาวแพทองธาร หรือไม่?
คงจะต้องให้นายกฯ ได้ชี้แจงด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริง ด้วยเหตุและผล
คงจะต้องดูกันที่ “เจตนา”
โดย “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา”
แต่กรณีที่ถึงที่สุดไปแล้ว ก็คือคดีทุจริตที่ดินธรณีสงฆ์สนามกอล์ฟอัลไพน์
อันทำให้อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ต้องติดคุก
และกรณีนี้ ก็เสมือนบ่วงกรรมที่ติดตัวนายทักษิณ ชินวัตร และผู้ครอบครองต่อมาด้วยเช่นกัน
เพราะอะไร?
ที่ดินแปลงนี้ เป็นส่วนหนึ่งในที่ดินซึ่งคุณยายเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ทำพินัยกรรมยกที่ดินเนื้อที่เกือบพันไร่ ให้วัดธรรมิการามวรวิหาร
แต่นักการเมืองกับพวกอาศัยอำนาจรัฐในยุคนั้น เล่นแร่แปรธาตุ
กระทั่งมีการโอนให้มูลนิธิ ก่อนขายต่อให้บริษัทอัลไพน์ ซึ่งขณะนั้นคนใกล้ชิดนายเสนาะ เทียนทอง เป็นเจ้าของ
ต่อมา ปี 2542 ขายต่อให้ครอบครัวของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร จนถึงปัจจุบัน (นายทักษิณเคยให้สัมภาษณ์ถึงสนามกอล์ฟที่ซื้อต่อจากนายเสนาะด้วย)
พอถึงยุครัฐบาลทักษิณ...
ช่วงเดือนก.พ. ปี 2544 กฤษฎีกายืนยันว่าที่ดินอัลไพน์เป็นธรณีสงฆ์
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2544 นายสมศักดิ์ เอี่ยมไธสง รองอธิบดีกรมที่ดิน สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนที่ดิน เพื่อให้กลับไปเป็นธรณีสงฆ์
ขณะนั้น ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ และครอบครัวชินวัตรเองก็ครอบครองสนามกอล์ฟอัลไพน์อยู่
ปรากฏว่า นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองปลัดมหาดไทยขณะนั้น อาศัยอำนาจรักษาการปลัดมหาดไทย เพิกถอนคำสั่งรองอธิบดีกรมที่ดิน เอื้อประโยชน์แก่บริษัทของครอบครัวนายทักษิณ
หลังจากนั้น นายยงยุทธก็ได้ดิบได้ดี ได้ขึ้นเป็นปลัดมหาดไทย
เกษียณแล้วยังได้มาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ยุครัฐบาล “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ ยิ่งลักษณ์นายกฯ”
แต่ในที่สุด นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ถูกดำเนินคดี และถูกศาลปราบโกงพิพากษาว่ามีความผิด ลงโทษจำคุก 2 ปี ฐานใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต คดีถึงที่สุดแล้ว
ศาลชี้ว่า นายยงยุทธปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มบริษัทอัลไพน์และนายทักษิณ แสวงหาผลประโยชน์ต่างตอบแทน หวังให้ได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่งระดับสูงในภายหลัง
การกระทำของนายยงยุทธ เป็นการทำลายศรัทธาผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างคุณยายเนื่อม
น่าคิดว่า การกระทำอุกอาจ อาศัยอำนาจรัฐ อำนาจการเมือง แปลงธรณีสงฆ์เป็นสนามกอล์ฟ มีผู้ได้รับผลประโยชน์ในทางธุรกิจ และยังครอบครองอยู่ตลอดมา จนถึงปัจจุบัน
กฎแห่งกรรม จะตามทันหรือไม่?
จะในชาตินี้ หรือชาติหน้า?
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี