ผลการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีศรีลังกาเมื่อวันเสาร์ที่ 21 กันยายน 2567 ผลปรากฏว่าผู้กุมชัยชนะคือ นายอนุรา กุมารา ดิสซานายาเก (Anura Kumara Dissanayake) หัวหน้าพรรค Janatha Vimukthi Peramuna – JVP และหัวหน้ากลุ่มแนวร่วมพลังประชาชนแห่งชาติ (The National People’s Power - NPP)
ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ได้สร้างความสั่นสะเทือนให้กับแวดวงการเมืองศรีลังกาอย่างใหญ่หลวง เนื่องจาก
1.นายอนุรา เป็นผู้ฝักใฝ่ในอุดมการณ์ มาร์กซิสต์ (Marxist) ชัยชนะของเขาได้สะท้อนว่า สังคมศรีลังกาต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงรูปโฉมทางการเมือง และสังคมศรีลังการอย่างใหญ่หลวง (Transformation)
2.ชาวศรีลังกาได้แสดงความเหนื่อยหน่ายและการไม่ยอมรับการเมืองแบบอุตสาหกรรมการเมืองในครอบครัว หรือราชวงศ์การเมือง หรือตระกูลการเมือง ที่ครอบงำสนามการเมืองของศรีลังกามาเป็นเวลาหลายสิบปีอีกต่อไป
3.ชาวศรีลังกาพร้อมที่จะเสี่ยงและฝากอนาคตไว้กับผู้นำคนใหม่ที่จัดได้ว่าเป็นคนนอก (Outsider) จากแวดวงอุปถัมภ์เกื้อกูล และความคิดความอ่านว่าด้วยนโยบายและมาตรการในการพัฒนาประเทศในเชิงอุดมการณ์แบบมาร์กซิสต์ ที่ต้องการเห็นความทัดเทียมในสังคม และความยุติธรรมระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หรือนัยหนึ่งการตีกรอบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มสุ้มเสียงและสิทธิของฝ่ายลูกจ้างโดยภาครัฐควรจะต้องเข้ามามีบทบาทเพื่อช่วยเหลือกลุ่มที่ช่วยตนเองไม่ได้ และเสริมสร้างความสมดุลให้มากขึ้นในสังคม
นายอนุราเป็นนักเคลื่อนไหวมาโดยตลอดและประกาศความเป็นตัวตนว่าเป็นฝ่ายมาร์กซิสต์ และบัดนี้ได้เข้ามาเป็นนักการเมืองโดยสมบูรณ์ และยังก้าวขึ้นมาเป็นประมุขของประเทศอีกด้วย แต่ภารกิจที่เผชิญหน้าอยู่ค่อนข้างจะหนักหน่วง เนื่องจากเศรษฐกิจของศรีลังกาอยู่ในสถานะค่อนข้างล่มสลาย มีหนี้สินมากมาย และรัฐบาลชุดที่แล้วได้เริ่มเปิดการเจรจากับสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF) เพื่อกู้เงินมาฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ และในการนี้ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับเงื่อนไขต่างๆ ของ IMF โดยเฉพาะการรัดเข็มขัดต่างๆ ทั้งการใช้จ่ายภาครัฐและการลดการอุดหนุนจุนเจือ (Subsidy) เช่น ทางด้านพลังงานและสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งก็จะทำให้ภาครัฐขาดความคล่องตัวในการบริการสาธารณชน อีกทั้ง IMF ก็ต้องการให้ฝ่ายศรีลังกาแปรรูป (Privatization) วิสาหกิจรัฐต่างๆ ให้เป็นของเอกชน
ทั้งหมดนี้ก็ค่อนข้างจะเป็นเงื่อนไขที่อยู่ตรงกันข้ามกับความคิดอ่านแบบมาร์กซิสต์ ที่มุ่งประสงค์ให้ภาครัฐมีบทบาททั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งก็หมายความว่า ฝ่ายประธานาธิบดี อนุรา และฝ่าย IMF จะต้องมีการเจรจาเพื่อทบทวนเงื่อนไขและเพื่อปรับแนวคิดเข้าหากัน
สาเหตุที่เศรษฐกิจของศรีลังกาตกต่ำก็เป็นสาเหตุเดียวกันกับประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศ ที่ผู้นำประเทศเอาแต่หาประโยชน์เข้าตน จนมีการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างใหญ่หลวง และมีการฮั้วกันระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ จัดได้ว่าเศรษฐกิจตกต่ำด้วยน้ำมือของนักการเมืองที่ฉาวโฉ่ และน้ำมือของนักธุรกิจที่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม จนในที่สุดประชาชนพลเมืองก็ต้องมาแบกรับเคราะห์กรรมด้วยนโยบายและมาตรการรัดเข็มขัดต่างๆ ก็เป็นที่หวังว่าฝ่ายประธานาธิบดีอนุรา และฝ่าย IMF จะตระหนักในข้อนี้ และหาความปรองดองสมานฉันท์แบบถ้อยทีถ้อยปฏิบัติกันไปได้
ทั้งหมดนี้ การเข้ามาสู่ตำแหน่งอำนาจทางการเมืองของฝ่ายมาร์กซิสต์ดังกล่าวนั้น ได้เกิดขึ้นในสังคมเสรีประชาธิปไตย และมิได้มาด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร หรือการลุกฮือของประชาชนพลเมืองเป็นปฏิวัติสังคมแต่อย่างใด โดยที่ผ่านมา ฝ่ายประธานาธิบดี อนุรา ได้เปิดเผยตนเองอย่างแจ่มแจ้งแน่ชัด ไม่แอบแฝง ไม่ซ่อนเงื่อนซ่อนเร้น
ก็ขอฝากคำถามไปยังพรรคการเมืองไทยทุกพรรคว่าจะแสดงตัว แสดงอุดมการณ์ที่แท้จริงได้เมื่อใด? หรือยังจะติดหล่มอยู่กับลัทธิบูชาองค์บุคคลอย่างที่เป็นมาโดยตลอด?
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี