ถ้ารัฐธรรมฉบับปี 2560 ที่นักการเมืองจ้องจะฉีกทิ้งแล้วยกร่างฉบับใหม่เพื่อให้สมประโยชน์ของตนเอง-พูดภาษาคนได้..รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คงจะพูดเหมือนที่นักการเมืองชอบอ้างกัน..คือฉันก็มาจากประชาชนเช่นเดียวกับที่พวกคุณได้รับเลือกตั้งเป็น สส.
พรรคการเมืองหลัก 2 พรรคที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือพรรคเพื่อไทยฝ่ายรัฐบาล และพรรคประชาชนฝ่ายค้าน..หากเทียบเสียงกับรัฐธรรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ผ่านความเห็นชอบจากการออกเสียงลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559..รัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากความเห็นชอบของประชาชนถึง 16,820,402 เสียง หรือ 16.82 ล้านเสียง คิดเป็นร้อยละ 61.35 ของผู้ออกมาใช้สิทธิ์ทั้งหมด 29,740,677 คน หรือ 29.74 ล้านคน
ขณะที่การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 พรรคเพื่อไทยได้รับเลือกเป็นอันดับสอง..ได้คะแนนเสียงจากระบบบัญชีรายชื่อ 10,962,522 คะแนน หรือ 10.96 ล้านเสียง คิดเป็นร้อยละ 29.22 ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด 39,514,964 คน หรือ 39.51 ล้านคน..ส่วนพรรคก้าวไกลหรือพรรคประชาชนในปัจจุบันที่ได้เลือกเป็นอันดับหนึ่ง..ได้คะแนนเสียงจากระบบบัญชีรายชื่อ 14,438,851 คะแนน หรือ14.43 ล้านคะแนน คิดเป็นร้อยละ 38.48 ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด
และอย่างที่บอกหากรัฐธรรมนูญฉบับที่นักการเมืองกระเหี้ยนกระหือรือจะฉีกทิ้งกันอยู่นี้พูดแทนประชาชนที่ลงประชามติเห็นชอบได้..ก็คงจะบอกกับ สส.ของทั้งสองพรรคการเมืองนี้ว่า ฉันมาจากเสียงของประชาชนถึงร้อยละ 61.35 ของจำนวนผู้มาออกเสียงลงประชามติทั้งหมด..แต่ สส.อย่างพวกแกทั้งสองพรรคที่มาจากเสียงของประชาชนไม่ถึงร้อยละ 50..กลับจะใช้วิสัยเยี่ยงโจรฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบของประชาชนส่วนใหญ่ตามระบอบประชาธิปไตย
รัฐธรรมนูญฉบับนี้เคยถูกนักการเมืองแก้เพื่อสนองประโยชน์ตนเองไปแล้วครั้งหนึ่งในปี 2564 เกี่ยวกับการเลือกตั้ง สส.ใน 3 ประเด็น คือ ประเด็นแรก-สส.500 คน จากเดิมแบ่งเขต 350 คน เปลี่ยนเป็น 300 คน และแบบบัญชีรายชื่อจากเดิม 150 คนเปลี่ยนเป็น 100 คน, ประเด็นที่สอง-ให้ใช้บัตรเลือกตั้ง สส.2 ใบ..เลือก สส.แบ่งเขตและ สส.บัญชีรายชื่อ..จากเดิมใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว..และประเด็นที่สาม-การคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค..ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับการเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศ..แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรค..จากเดิมใช้สูตรคำนวณหา สส.พึงมี..คือจำนวน สส.ที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมีได้ตามคะแนนเสียงที่ได้รับ
อย่างไรก็ตาม..ก่อนหน้านี้เมื่อปลายช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยต้องการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา..เกี่ยวกับคุณสมบัติของนักการเมืองที่จะเข้าไปมีอำนาจ..คือการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี..ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน..มีบทบัญญัติที่เข้มข้นในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์..และไม่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง..แต่ก็ถูกคัดค้านต่อต้านจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน คือ พรรคภูมิใจไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติ..ส่งผลทำให้พรรคเพื่อไทยต้องถอยหลังทันที
แต่นั่นก็มิได้หมายความว่าพรรคเพื่อไทยจะถอดใจไม่เดินหน้าต่อ..หากแต่ยังมีความหวังที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ..ด้วยการแก้ไขกฎเกณฑ์การออกเสียงลงประชามติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564..ที่มีเงื่อนไขเข้มแข็ง..ในการป้องกันไม่ให้นักการเมืองคิดจะฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญแล้วยกร่างกันขึ้นมาใหม่ได้อย่างง่ายดายตามอำเภอใจ
ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ..ที่พรรคเพื่อไทยมีความหวังและมีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมธรรมนูญฉบับใหม่..ก็คือ การเปลี่ยนกฎเกณฑ์การออกเสียงลงประชามติที่กำหนดเงื่อนไขเสียงข้างมากไว้ 2 ชั้น หรือที่เรียกว่า“double majority”
โดยสรุปก็คือ..จากชั้นแรกหรือด่านแรก-ผู้มาใช้สิทธิต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิทั้งหมด..ก็ตัดทิ้งไป.. และชั้นที่สองหรือด่านที่สอง-เสียงที่ลงมติเห็นชอบจะต้องเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ..ก็แก้เป็น..ให้ใช้เกณฑ์เสียงข้างมากของจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ..และคิดว่าอย่างไรเสีย..ร่างกฎหมายฉบับนี้คงจะผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาชุดใหม่..โดยไม่มีปัญหาอุปสรรคใดมาขวางกั้น
แต่ที่ไหนได้ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติที่มีการแก้ไขกฏเกณฑ์ซึ่งผ่านวาระ 3 ของสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว..กลับถูกสมาชิกวุฒิสภาลงมติไม่เห็นด้วยในวาระ 2 เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา..โดยให้กลับไปใช้กฎเกณฑ์เดิม..คือ“double majority”..ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ-ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564
เมื่อเป็นเช่นนี้..ร่างกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติฉบับที่รื้อทิ้งฉบับเดิม..ก็จะต้องมีการพิจารณาใหม่ด้วยการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมของทั้งสองสภา..คือสภาผู้แทนฯ กับวุฒิสภาขึ้นมาพิจารณา..และถ้าหากคณะกรรมาธิการชุดนี้ไม่สามารถตกลงกันได้..ก็ต้องส่งร่างคืนไปให้แต่ละสภาลงมติ..โดยในขั้นตอนนี้หากสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบ..ก็ต้องรอไปอีก 180 ก่อนที่สภาผู้แทนฯ หรือ สส.จะใช้ร่างกฎหมายของตนลงมติ..ผลออกมาเป็นประการใดก็เป็นไปตามนั้น
ดังนั้น..ที่พรรคเพื่อไทยหวังว่าการลงประชามติแบบชั้นเดียว..โดยให้ใช้เสียงข้างมากของจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิชี้ขาด..จะผ่านออกมาบังคับใช้ทันการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568..เพื่อจะได้ออกเสียงประชามติสำหรับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่..พร้อมกับการเลือกตั้ง สมาชิก อบจ.ไปในคราวเดียวกัน..จึงไม่ทันและต้องล่าออกไป..อีกทั้งหนทางข้างหน้าจะเป็นเช่นใดก็มิอาจคาดเดาได้
สำคัญที่สุดก็คือ ถ้าหากรัฐธรรมนูญ“ปราบโกงนักการเมือง”ฉบับนี้ยังมีผลบังคับใช้อยู่..ก็มีความเสี่ยงที่“มาดามแพ-แพทองธาร ชินวัตร”จะถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พ้นจากจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี..เช่นเดียวกับที่นายเศรษฐา ทวีสิน โดนเชือดมาแล้ว..ซึ่งเวลานี้มีข้อหานับสิบเรื่อง..ที่“นักร้อง”ทั้งเปิดเผยตัวตนและนิรนามยื่นร้องถอดถอน“มาดามแพ”ให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้แล้วทุกช่องทาง
คงต้องมีสักเรื่องที่จะทำให้“มาดามแพ”นายกรัฐมนตรีของบ่าวพรรคเพื่อไทย..หรือ“คุณหนูอุ๊งอิ๊งค์”ที่เป็นดีเอ็นเอของ“นายใหญ่-นายหญิง”แห่งบ้านจันทร์ส่องหล้า..มีอันต้องหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี.. ก่อนที่จะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อสนองประโยชน์นักการเมืองที่มีประวัติด่างพร้อยทั้งหลาย !
รุ่งเรือง ปรีชากุล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี