ในยุคที่ปัญหาคอร์รัปชันยังคงเป็นมะเร็งร้ายที่กัดกินสังคมไทย แต่รัฐบาลกลับดูเหมือนจะไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร คำถามที่หลายคนสงสัยคือ ประชาชนธรรมดาอย่างเราๆ จะทำอะไรได้บ้าง? คำตอบที่สำคัญมากข้อหนึ่งคือ “ข้อตกลงคุณธรรม” ซึ่งเป็นเครื่องมือทรงพลังที่ช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมต่อต้านการทุจริตได้อย่างเป็นรูปธรรม แม้ในยามที่ภาครัฐไม่ใส่ใจ
ข้อตกลงคุณธรรมคืออะไร?
ข้อตกลงคุณธรรม หรือ ที่รู้จักกันในชื่อภาษาอังกฤษว่าIntegrity Pact เป็นแนวคิดที่พัฒนาโดยองค์กรความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) และถูกนำมาปรับใช้ในประเทศไทยโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT
หัวใจสำคัญของข้อตกลงคุณธรรมคือการเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เช่น วิศวกร นักบัญชี หรือทนายความ โดยเฉพาะผู้ที่เกษียณแล้วและมีประสบการณ์สูง เข้าไปเป็น“ผู้สังเกตการณ์อิสระ” ในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณมหาศาล ซึ่งมักเป็นแหล่งที่มีการทุจริตคอร์รัปชันสูง
กลไกการทำงานของข้อตกลงคุณธรรม
1. การคัดเลือกผู้สังเกตการณ์: ผู้สังเกตการณ์อิสระจะถูกคัดเลือกร่วมกันโดยกรมบัญชีกลางและองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โดยพิจารณาจากความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับโครงการนั้นๆ
2. การเข้าร่วมประชุมสำคัญ: ผู้สังเกตการณ์จะได้เข้าร่วมการประชุมสำคัญๆ ของโครงการ ตั้งแต่การร่างขอบเขตงาน (Terms of Reference: TOR) ไปจนถึงการพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะการประมูล
3. การตรวจสอบและให้ความเห็น: ผู้สังเกตการณ์มีสิทธิ์ตรวจสอบเอกสารต่างๆ และให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงโครงการให้มีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
4. การรายงานความผิดปกติ: หากพบเห็นสิ่งผิดปกติหรือน่าสงสัย ผู้สังเกตการณ์สามารถทักท้วงได้ทันที และหากไม่ได้รับการตอบสนอง ก็สามารถรายงานต่อองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
5. การดำเนินการต่อ: หากพบหลักฐานการทุจริตจริง ACT ก็อาจจะพิจารณายื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ผลการวิจัยชี้ชัด: ข้อตกลงคุณธรรมได้ผลจริง
ผลการวิจัยล่าสุดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯซึ่งศึกษาโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคของไทยที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านบาท ระหว่างปี 2560-2566 แสดงให้เห็นประสิทธิผลของข้อตกลงคุณธรรมอย่างชัดเจน:
1. ประหยัดงบประมาณได้มากขึ้น: โครงการที่มีผู้สังเกตการณ์อิสระมักจะประหยัดงบประมาณได้มากกว่าโครงการที่ไม่มี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการขนาดใหญ่
2. ตัวเลขที่น่าประทับใจ: ในช่วงปี 2558-2560 ข้อตกลงคุณธรรมช่วยประหยัดงบประมาณได้ถึง 6,467 ล้านบาท จาก 35 โครงการ
3. อัตราการประหยัดสูง: เฉลี่ยแล้วสามารถประหยัดได้ถึง 19.52% ของงบประมาณในแต่ละโครงการ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก
4. ประสิทธิผลในโครงการใหญ่: ผลการวิจัยพบว่า ในโครงการที่มีงบประมาณเกิน 4 พันล้านบาท การมีผู้สังเกตการณ์อิสระมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับการประหยัดงบประมาณที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยได้ให้ข้อสังเกตว่า เนื่องจากผู้สังเกตการณ์อิสระมักถูกส่งไปดูแลโครงการที่มีความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว จึงยังไม่อาจสรุปได้อย่างเด็ดขาดว่าการประหยัดงบประมาณทั้งหมดเป็นผลโดยตรงจากการมีผู้สังเกตการณ์ แต่ก็เป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าข้อตกลงคุณธรรมเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการต่อต้านคอร์รัปชัน
กรณีศึกษา: เมื่อข้อตกลงคุณธรรมเป็นเกราะคุ้มกันให้กับคนสุจริต
ผม (ต่อตระกูล) ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โครงการข้อตกลงคุณธรรมนี้ได้ผลดีมาก เป็นที่นิยมมากของหน่วยงานของรัฐที่ต้องการได้งานก่อสร้างที่ดี เป็นวิธีป้องกันไม่ให้มีอิทธิพลใดๆ เข้ามาแทรกแซงเพื่อหาผลประโยชน์ได้อย่างดี ผมไปร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์อิสระในโครงการที่เข้าร่วมในข้อตกลงคุณธรรมนี้มาตั้งแต่เริ่มต้น ในสมัยที่ที่ยังมีโครงการต่างๆ ต้องการผู้สังเกตการณ์อิสระเข้าไปร่วมนั่งอยู่ในการประชุมคณะกรรมการจัดการประมูลแต่เสียดาย ช่วงหลังๆ โครงการนี้ถูกตัดงบประมาณลงยังดีที่มีบางหน่วยงาน เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เห็นประโยชน์ของมันแล้วแจ้งว่า ต่อให้ไม่มีงบก็จะขอจ่ายค่าเบี้ยประชุมให้ผู้สังเกตการณ์อิสระเอง เดือนละ 5,000 บาทต่อคน ซึ่งคุ้มแสนคุ้ม เพราะสามารถป้องกันคอร์รัปชันได้จริงและอาจประหยัดงบประมาณได้หลายล้านบาท
อีกประสบการณ์หนึ่ง ที่ผมไปเป็นผู้สังเกตการณ์อิสระ ในช่วงที่ผู้รับเหมาเข้ามาทำงานแล้ว งานนี้ผู้รับเหมาแอบมากระซิบกับผมว่า ขอบคุณที่มีคนกลางเข้ามารับรู้เป็นพยานว่า ถึงเขาจะเป็นมือใหม่เข้ามาสร้างถนนยกระดับ ในราคาต่ำกว่างบ เขาก็ทำงานได้อย่างดีตรงไปตรงมาฝ่ายเจ้าของโครงการก็ชอบที่มีคนกลางมาเป็นสักขีพยาน ว่าถึงเขาจะจัดประมูลมาเอง เขาก็เลือกได้ผู้รับเหมาดีๆ มาทำงานได้ เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายที่ตั้งใจทำอย่างอย่างสุจริต
ความเสี่ยงของเครื่องมือนี้?
เมื่อข้อตกลงคุณธรรมนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพสูง ป้องกันการคอร์รัปชันได้อย่างดีในโครงการที่เข้าร่วม ทำให้ที่ผ่านมามีความพยายามจากภาครัฐในการเตะตัดขาโครงการนี้ในหลายๆ รูปแบบ ทั้งการสร้างข้อจำกัดทางกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถขยายจำนวนโครงการที่เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมได้อย่างครอบคลุม จนถึงขั้นการตัดงบประมาณอันน้อยนิดของโครงการนี้ ทำให้ทีมงานข้อตกลงคุณธรรมมีช่วงสะดุดไปบ้าง
ดังนั้นสิ่งที่ประชาชนอย่างพวกเราทำได้ดีที่สุด คือ การส่งเสียงดังๆ ให้รัฐบาลเห็นว่า ประชาชนเห็นความสำคัญของข้อตกลงคุณธรรม และให้การสนับสนุนอยู่
อย่ามาเตะตัดขาแบบนี้ และกดดันให้เพิ่มการสนับสนุนด้วย เพื่อเราจะได้ทยอยอุดรูรั่วจากการคอร์รัปชันในประเทศไทยไปทีละจุดทีละจุดอย่างมีประสิทธิภาพครับ
รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และ ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี