โดยทั่วไปสังคมไทยนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ และไม่เคยผ่านสงครามกลางเมือง ไม่เคยต้องต่อสู้เพื่อปลดแอกจากเจ้าอาณานิคมใดๆ ซึ่งแม้ว่าจะมีความต่างในความคิดอ่าน และวิธีการ แต่ก็จัดได้ว่ายังพออยู่ในกรอบของการถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่ได้สุดโต่ง
ในการนี้ก็ถือได้ว่า สังคมไทยเรามีความโชคดีและมีโอกาสที่จะพัฒนาตนเองไปได้อย่างก้าวไกลอีกทั้งก็อยู่ในฐานะที่จะจุนเจือช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา และเมียนมา ที่ตกระกำลำบากกันมาโดยตลอด
กรณีของเมียนมา ตลอดประวัติศาสตร์ ก็มีชีวิตอยู่กับการสู้รบมาโดยตลอด จนช่วงประวัติศาสตร์ร่วมสมัยใน 80 ปีที่ผ่านมาโดยประมาณ ก็มักจะเห็นแต่การปกครองบ้านเมืองโดยฝ่ายกองทัพ และมีการปราบปรามประชาชนเป็นระยะๆ จนสุกงอมกลายเป็นสงครามกลางเมืองอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นสังคมที่บ้านแตกสาแหรกขาด นำภาระมาให้กับประเทศเพื่อนบ้านทั้งไทย จีน อินเดีย และบังกลาเทศ ซึ่งต่างมีชายแดนติดต่อกับเมียนมาโดยปริยาย
คุณภาพชีวิตของชาวเมียนมาตกต่ำลงไปเรื่อยๆ ไร้ซึ่งปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต ต้องโยกย้ายถิ่นฐานออกจากบ้านเกิดไปที่อื่นๆ ภายในประเทศ เพื่อหนีการสู้รบ หรือไม่ก็มาหาที่พักพิงตามบริเวณชายแดนจากประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ เป็นชีวิต
ที่น่าสลดใจและไร้อนาคต
ในกรณีของกัมพูชา ก็ตกอยู่ท่ามกลางสงครามอินโดจีน การปกครองของฝ่ายเขมรแดงที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ตามด้วยสงครามกลางเมือง และรับช่วงต่อด้วยการยึดครองของเวียดนามอยู่พักหนึ่ง จนกระทั่งประชาคมโลกโดยองค์การสหประชาชาติต้องเข้ามาแทรกแซงจัดการเรื่องสันติภาพ และจัดการการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งก็ดำเนินการไปได้อยู่พักหนึ่ง และบัดนี้ กัมพูชา ก็กลายเป็นสังคมประชาธิปไตยที่ไม่เสรี (Illiberal Democracy) โดยมีพรรคการเมืองพรรคเดียวนำพา และครอบงำประเทศ เป็นเผด็จการพรรคเดียวที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยที่ไม่มีคู่ต่อสู้ และภายในพรรคการเมืองดังกล่าวนั้น ก็มีครอบครัวฮุนเป็นใหญ่ที่สุด อำนาจทางการเมืองกระจุกตัว และผู้มีอำนาจทางการเมืองก็ทำตัวเป็นเจ้าของทรัพย์สินและความมั่งมีมั่งคั่งของประเทศ ที่ดินทั้งหมดอยู่ในมือของกลุ่มอำนาจเพียงไม่กี่สิบครอบครัว เกษตรกรชาวกัมพูชาไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง และอย่างเก่งก็เป็นได้แค่กรรมการภาคเกษตร
ฉะนั้นชาวกัมพูชาจึงต้องออกเดินทางไปหางานทำที่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะที่ประเทศไทย และถ้ามีการศึกษาหน่อยคือมีความรู้และทักษะ ก็พอจะหางานทำได้ในประเทศอื่นๆ แต่ก็ยังเป็นจำนวนน้อยนิดอยู่ ความเหลื่อมล้ำในสังคมกัมพูชาจัดได้ว่าอยู่ในระดับสูงสุดประเทศหนึ่งของโลก ล่าสุด รัฐบาลสวีเดนได้ตัดสินใจปิดสถานทูตที่กรุงพนมเปญ และยุติการให้ความร่วมมือช่วยเหลือในการพัฒนาทั้งต่อฝ่ายรัฐบาลและต่อบรรดาองค์กรภาคประชาสังคม ด้วยเหตุผลของข้อจำกัดต่างๆ ที่ทำให้ความช่วยเหลือไม่ลงไปถึงมือของประชาชน อีกทั้งสิทธิเสรีภาพที่มีข้อจำกัดอย่างยิ่งนั้นไม่อำนวยต่อการปฏิบัติงาน และเป็นที่คาดว่า ประเทศผู้ให้ความช่วยเหลืออื่นๆ (Donor countries) ก็คงจะดำเนินตามสวีเดนในไม่ช้านี้อีกด้วย
สำหรับประเทศไทยเรา ก็มีข้อคิดว่าทั้งกัมพูชา และเมียนมานั้นเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ประเพณีวัฒนธรรมใกล้ชิดและคล้ายคลึงกันอย่างมาก อีกทั้งไทย กัมพูชา และเมียนมา ต่างเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียน หรืออยู่ในครอบครัวความร่วมมือระดับภูมิภาคด้วยกัน ฉะนั้นความห่วงใย การมีมิตรจิตมิตรใจ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น
ไทยเราอยู่ในฐานะให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมได้อย่างมากมาย ซึ่งเป็นเรื่องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อีกทั้งไทยก็สามารถที่จะปรับปรุงระบบการรับแรงงานกัมพูชาและเมียนมา ให้เข้ามาทำงานในประเทศไทยได้มากขึ้น ก็เป็นการช่วยเหลือคุณภาพชีวิตของชนชาติทั้งสองอีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ เมื่อไทยแสดงตนเป็นหัวเรือใหญ่ ประเทศต่างๆ และองค์การสหประชาชาติก็พร้อมจะยื่นมือเข้ามาร่วมด้วย เพราะทุกฝ่ายก็ตระหนักในศักยภาพ และบทบาทนำของไทย ที่จะแก้ไขปัญหาวิกฤตทางการเมืองเมียนมา ที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี