ผู้คนอาจไม่รู้ก็ได้ว่าที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการคนแรกนั้นคือ คือเชื้อพระวงศ์คนสำคัญที่มีพระนามว่า หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรวรวรรณ และนายกรัฐมนตรีที่เลือกท่านวรรณ เป็นที่ปรึกษานั้นก็คือพระยาพหลพลพยุหเสนา เมื่อพระยาพหลฯขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ท่านได้ขอและได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรให้หม่อมเจ้าวรรณไวยากร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเข้าประชุมสภาฯ เพื่อชี้แจง แทนนายกรัฐมนตรี เวลาผ่านไปประมาณ 2 สัปดาห์ เมื่อ พระยาพหลฯ ได้ทำหนังสือขอลาออกจากนายกรัฐมนตรีและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นชอบด้วย เรื่องจึงกลับมาที่สภาฯ และในวันนั้นหม่อมเจ้าวรรณ ได้เป็นผู้อธิบายหลักการ ให้ความเห็น เพื่อที่สภาฯจะได้มีมติมีความที่น่าสนใจดังนี้
“เรื่องนี้เกี่ยวกับระเบียบการ มติไว้ใจนั้นย่อมทำได้ทุกเมื่อ ไม่ใช่ว่าลงมติหนหนึ่งแล้วใช้ได้ตลอดไปจนกว่าจะลงมติว่าไม่ไว้ใจ เพราะนโยบายต่างๆ ย่อมมีข้อเป็นหลักดำเนินการเกิดขึ้นเนืองๆ ถ้าเกิดขึ้นเมื่อใดรัฐบาลก็ต้องขอมติไว้ใจทีหนึ่ง ในที่นี้พระยาพหลฯ ท่านถือว่าท่านไม่มีความสามารถพอสำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งหวังว่าท่านสมาชิกทั้งหลายคง
ไม่เห็นด้วยกับความเห็นเรื่องนี้ แต่เมื่อยังไม่ได้ลงมติไปให้แน่นอนก็จะเป็นที่สงสัย ฉะนั้นถ้าแม้ว่าสภาฯ นี้ยังเห็นว่าท่านควรจะต้องดำรงอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อไปแล้ว ก็ควรที่จะลงมติความไว้ใจเสียอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะได้ลบล้างความสงสัยในข้อนี้ได้”
จากนั้นเมื่อสมาชิกสภาฯยังมีคำถามและข้อสงสัยอยู่ ท่านวรรณก็ได้ช่วยให้ความเห็น
“ตามรัฐธรรมนูญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ทรงตั้งนายกรัฐมนตรี แต่ว่านายกรัฐมนตรีนั้น สภาฯ เป็นผู้เลือกขึ้นไปคราวนี้จะต้องมีเครื่องหมายอะไรที่ว่าสภาฯ เลือกในที่นี้สภาฯ ได้เลือกไว้ก่อนแล้ว ครั้นพระยาพหลฯท่านลาออก ซึ่งตามทางการต้องถือว่าลาออกจากสภาฯ เหมือนกันโดยทางไว้ใจ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ทรงตั้ง ทีนี้ถ้าจะวางรูปมติว่าสภาฯ สนับสนุนพระราชปรารภ ทางรัฐธรรมนูญอาจจะตีความขัดกันได้ เพราะจะเกี่ยวการตั้งนายกรัฐมนตรี ที่ข้าพเจ้าแถลงมานั้นสภาฯ ไม่ต้องสนับสนุน แต่ประธานสภาฯ เป็นผู้รับพระบรมราชโองการ เพราะฉะนั้นจะต้องสรรผู้ที่สภาฯไว้ใจ”
ในวันนั้น สภาฯได้ลงมติให้พระยาพหลฯเป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อไป
ท่านที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีผู้นี้ ไม่ใช่จะอธิบายเพียงเรื่องใหญ่ๆ อันสำคัญทางรัฐศาสตร์หรือทางการเมืองเท่านั้น แม้ในเรื่องทางบริหารทั่วไปท่านนายกฯก็ได้ขอให้หม่อมเจ้าวรรณได้เป็นผู้ชี้แจงหรืออธิบายแทนรัฐบาล ดังเช่น นโยบายในการออกลอตเตอรี่ของรัฐบาล
“การออกสลากลอตเตอรี่ที่จริงเป็นหน้าที่ฝ่ายบริหาร ถ้าจะออกก็ยอมทำได้ แต่ถ้าว่าเกี่ยวกับหลักนโยบายซึ่งควรจะได้รับความไว้ใจของสภาฯ เพราะข้อนี้มิได้มีบ่งชัดชัดในคำแถลงนโยบาย ฉะนั้นจึงเสนอมา ถ้าสภาฯ ได้อนุมัติความไว้ใจในหลักนโยบายอันนี้ ทางบริหารก็จะได้ดำเนินการต่อไป คือไม่อยากทำอะไรลงไปที่ไม่ได้รับความไว้ใจของสภาฯ ส่วนหน้าที่โดยตรงเป็นหน้าที่บริหาร แต่เกี่ยวกับหลักนโยบายซึ่งอยากขอให้สภาฯ นี้ลงมติไว้ใจก่อนที่จะปฏิบัติการไป”
ช่วงเวลา ประมาณห้าเดือนของรัฐบาลพระยาพหลฯ 1 หม่อมเจ้าวรรณ ได้ทำหน้าที่ที่ปรึกษาที่สำคัญ ต้องอธิบายชี้แจงในสภาฯแทบทุกนัด เป็นการทำหน้าที่ ซึ่งคนเห็นว่ามากกว่ารัฐมนตรีเสียอีก เพียงแต่ว่าไม่ได้เป็นรัฐมนตรี จึงอาจมีคนสงสัยว่าทำไมคนที่มีความรู้ความสามารถเช่นนี้ พระยาพหลฯจึงไม่ตั้งเป็นรัฐมนตรีเพื่อเข้ามามาช่วยทำงานเสียเลย เหตุที่ทำไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป ต้องอยู่เหนือการเมือง
“มาตรา 11 พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปโดยกำเนิดหรือโดยแต่งตั้งก็ตามย่อมดำรงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง”
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี