กรณีโศกนาฏกรรมไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาของคณะนักเรียน จากโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมานั้น
มีผู้เสียชีวิต 23 คน เป็นครู 3 คน ที่เหลือเป็นนักเรียนอนุบาล และประถมศึกษา
นำมาสู่การถกเถียงแสดงความเห็นต่างๆ นานา
รวมถึงสื่อมวลชนบางส่วน ได้เปิดประเด็นให้คนร่วมโหวต ว่าควรยังมีการจัดทัศนศึกษาต่อไปอีกหรือไม่?
1. ถ้าเราจะใช้ตรรกะแบบที่ว่า เมื่อไปทัศนศึกษา แล้วเกิดไฟไหม้รถบัส มีเด็กตาย เพราะฉะนั้น แก้ด้วยการเลิกจัดทัศนศึกษา เป็นการใช้ตรรกะที่ไม่ได้แก้ปัญหาตรงจุด
ต่อไป เมื่อเกิดไฟไหม้ผับ มีคนตาย ก็ต้องเลิกผับทั้งหมด ไม่ต้องไปกวดขันระบบป้องกันอัคคีภัย เพราะเชื่อว่ายังไม่ก็แก้ไม่ได้
ถ้าการแข่งฟุตบอล มีคนตีกัน ก็ต้องเลิกจัดแข่งฟุตบอลทั้งหมด
ถ้าจัดสงกรานต์ มีคนเดินทางเยอะ คนตายบนท้องถนนเยอะ ก็เลิกจัดสงกรานต์ ฯลฯ
การใช้ตรรกะแบบนี้ มันง่าย แต่ไม่ตรงจุด และเป็นการทำลายโอกาสที่เด็กๆ จะได้รับประโยชน์จากการจัดกิจกรรมที่สามารถจัดได้อย่างปลอดภัย(ส่วนใหญ่ที่จัด ก็ปลอดภัย)
2. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุด โรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆารามได้พานักเรียนไปทัศนศึกษา จำนวน 112 คน
ประกอบด้วย นักเรียนชั้นอนุบาล 2 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3
โดยมีครู นักการภารโรง และนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู เป็นผู้ควบคุมเดินทางไปด้วย จำนวน 15 คน
ได้จ้างเหมารถบัส จำนวน 3 คัน
คันที่ 1 ประกอบด้วย นักเรียน 35 คน ครู 4 คน รวมเป็น 39 คน
คันที่ 2 ประกอบด้วย นักเรียน 39 คน ครู 6 คน รวมเป็น 45 คน (เป็นคันที่เกิดเหตุ)
คันที่ 3 ประกอบด้วย นักเรียน 38 คน ครู 5 คน รวมเป็น 43 คน
ปรากฏว่า เกิดเหตุกับรถบัสคันที่ 2 ยางหน้าขวาระเบิด และชนเข้ากับแบริเออร์ หลังจากนั้นเกิดไฟลุกขึ้นที่ด้านหน้ารถก่อน และได้ลุกลามไปทั้งคัน
มีผู้ที่ไม่สามารถออกจากรถได้ จำนวน 23 ราย จำแนก เป็นครู และนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู จำนวน 3 ราย และนักเรียน จำนวน 20 ราย
ผู้ได้รับบาดเจ็บที่ออกมาจากรถได้ เป็นเด็กนักเรียน จำนวน 3 ราย นำส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลแพทย์รังสิต
ในส่วนของผู้ไม่ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 19 คน จำแนกเป็น ครู 3 คน และนักเรียน 16 คน
ประเด็นสำคัญ คือ ควรตรวจสอบค้นหาว่า ทำไมจึงเกิดเหตุร้ายกับรถคันที่ 2?
สภาพรถเป็นอย่างไร? ปลอดภัยหรือไม่? ตรวจก่อนออกเดินทางหรือไม่?
การติดตั้งก๊าซได้มาตรฐานหรือไม่? ผิดพลาดตรงไหน?
พฤติกรรมคนขับเป็นอย่างไร? การขับประมาทหรือไม่?
ไฟลุกขึ้นมาได้อย่างไร? ทำไมไม่สามารถดับเพลิงได้? ระบบการดับเพลิงในรถมีปัญหาอะไร?
ทำไมไม่สามารถอพยพคนออกจากรถได้? ประตูฉุกเฉินใช้งานได้หรือไม่?
คนบนรถเคยได้รับการอบรมวิธีปฏิบัติการเผชิญเหตุแบบนี้ มาบ้างหรือไม่?มีการซักซ้อมมาก่อนหรือไม่? ฯลฯ
ทั้งหมด เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างความปลอดภัยมากกว่านี้ และยังเป็นการค้นหาความจริง ประกอบการดำเนินคดีและลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายด้วย
3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ แถลงยืนยันการดำเนินการช่วยเหลือดูแลเยียวยาและเรื่องสิทธิประโยชน์ของนักเรียนและคุณครู
นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงแนวทางเกี่ยวกับการจัดทัศนศึกษา ระบุว่า ตนได้สั่งการให้งดทัศนศึกษาทันที ทั้งทัศนศึกษาของนักเรียน และครู ถ้าไม่จำเป็น แต่ถ้าจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาจะต้องไปทัศนศึกษา ผอ.โรงเรียน จะต้องเป็นคนดู และเขตพื้นที่การศึกษาต้องไปกำกับเรื่องมาตรการความปลอดภัยที่ชัดเจน เช่น รถที่จะใช้เดินทางให้ประสานกับขนส่งเพื่อมาช่วยตรวจความพร้อมของรถก่อนเดินทาง และรถที่ใช้เดินทางต้องไม่เก่าเกินไปไม่เกิน 5 ปี
“...ให้จัดทำแผนการเดินทาง แผนเผชิญเหตุ พร้อมให้มีการซักซ้อมและปฏิบัติตามแผนอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้น
ส่วนการเข้าค่ายลูกเสือยังจำเป็น ก็ยังคงต้องมี แต่ต้องดูเรื่องความปลอดภัย
เด็กที่จะเดินทางไปทัศนศึกษา จะต้องแบ่งเป็นเด็กเล็ก และเด็กโต
ส่วนเด็กเล็กที่ยังช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องมีผู้ปกครองร่วมเดินทางไปด้วย และให้หลีกเลี่ยงให้เด็กเล็กออกนอกเขตพื้นที่จังหวัดถ้าไม่จำเป็น อาจจะให้ดูงานใกล้โรงเรียน
การทัศนศึกษาก็เป็นสิ่งจำเป็นต่อการเรียนรู้ เพราะถ้าห้ามเลยก็เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ ซึ่งเหตุที่เกิดขึ้นไม่มีใครอยากให้เกิด แต่อาจจะเกิดอุบัติเหตุที่เราคาดไม่ถึง..”
4. นายชิตเมธา ทาสมบูรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านม่วง ให้ข้อมูลและความเห็นที่น่าสนใจ
ระบุว่า โดยปกติทางโรงเรียนจะมีการจัดทัศนศึกษาปีละ 1 ครั้ง แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ จะต้องมีการทบทวนในหลายๆ เรื่อง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมาทางโรงเรียนจะไม่เคยเกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้นก็ตาม
“..โรงเรียนบ้านม่วง จะมีการประชุมกับคณะกรรมการสถานศึกษา ทบทวนเรื่องการไปทัศนศึกษา จะเน้นไปทัศนศึกษาใกล้โรงเรียนเป็นหลัก คำนึงถึงระยะทางและเวลาในการเดินทางต้องมีความเหมาะสม และเรื่องความปลอดภัยต้องมาอันดับแรก
ที่สำคัญ ก่อนออกเดินทางจะต้องจัดประชุมผู้ปกครองทุกครั้ง และเด็กนักเรียนจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองถึงจะอนุญาตให้เข้าร่วมกิจกรรม
นอกจากนี้ การเลือกรถโดยสารที่ใช้เดินทาง จะต้องเป็นบริษัทที่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัย ทั้งตัวรถ อุปกรณ์ดูแลความปลอดภัยผู้โดยสารรวมถึงคนขับ จะต้องมีความพร้อม หากรถโดยสารที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซ NGV จะไม่อนุญาตให้ใช้
ส่วนกรณีดราม่าในโลกโซเชียล เรียกร้องให้ยกเลิกทัศนศึกษานั้น โดยส่วนตัวคิดว่า
การเดินทางทัศนศึกษายังมีความสำคัญกับเด็ก
เพราะเด็กบางคนด้อยโอกาส พ่อแม่ไม่มีโอกาสได้พาไป ทางโรงเรียนให้ความสำคัญในส่วนนี้
แต่ว่าต้องละเอียดรอบคอบ และให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยหลายๆ ด้าน ความปลอดภัยต้องมาอันดับ 1
คณะครูที่เดินทางร่วมกับเด็ก ต้องมีความรู้เรื่องแผนเผชิญเหตุ ซึ่งโรงเรียนบ้านม่วง มีการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุ และการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับคุณครูเป็นประจำ เมื่อถึงคราวจำเป็นก็สามารถนำมาใช้ได้”
5. ครูต้อม ผู้อำนวยการบ้านเด็กดี Good Kids Preschool สถานศึกษาชั้นอนุบาลที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ได้แบ่งปันแนวคิดและแนวทางปฏิบัติที่น่าสนใจ สำหรับการดูแลการจัดทัศนศึกษาของเด็กอนุบาล
ระบุว่า
“...บ้านเด็กดียังเชื่อว่า กิจกรรมการเรียนรู้นอกสถานที่มียังความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัย
เพราะการเรียนรู้หลายอย่างไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงแค่ในห้องเรียน
และข้อดีของการให้เด็กได้มีประสบการณ์ตรง จากการได้ลงมือทำและเรียนรู้จากแหล่งการเรียนรู้สถานที่จริง ยังมีประโยชน์อีกมากมาย ในการกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กวัยนี้
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องอยู่ภายใต้มาตรการความปลอดภัยจากโรงเรียนบ้านเด็กดีหลายอย่าง เช่น...
- ความเหมาะสมของสถานที่ขององค์ความรู้ต่อวัยของเด็ก
- สถานที่ที่เลือกไปทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อการเรียนรู้ของเด็ก
- ความปลอดภัยของสถานที่ที่จะไปทำกิจกรรม
- ความยินยอมจากผู้ปกครองของเด็กๆ
- และมาตรการรักษาความปลอดภัยในการเดินทาง
สิ่งที่บ้านเด็กดีทำมาเสมอคือ...
-ครูจะเป็นผู้หาข้อมูลสถานที่ในการทัศนศึกษา และครูต้อม(ผอ.) จะเป็นผู้พิจารณาเป็นคนสุดท้ายในการตัดสินใจเสมอ
-ครูต้อมจะเป็นผู้ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่จะไปทำกิจกรรมด้วยตัวเอง และจะเข้าไปดูสถานที่นั้นก่อน หากไม่คุ้นชิน
- ทาง รร. จะเลือกสถานที่ไม่ไกลเกินไปในการเดินทางเพื่อเหมาะกับวัยของเด็ก
- ในการทัศนศึกษาทุกครั้งครูต้อมจะไปด้วยเสมอ และจะกลับเป็นคนสุดท้ายจนกว่าเด็กทุกคนจะขึ้นรถกลับ
- รถตู้ที่ใช้ในการเดินทางจะใช้คนขับที่ทางรร.ไว้ใจ (ลุงอาจ/ทอม)
- รถตู้ที่ใช้ จะไม่เลือกใช้รถที่ติดแก๊ส
- หลังจากรับ-ส่งนักเรียน คนขับรถจะขึ้นไปเช็คเด็กในรถเสมอ และเปิดประตูท้ายรถตู้ไว้เพื่อเช็คเด็ก
- ทุกครั้งจะมีครูนั่งรถไปกับเด็กๆ 2 ท่าน
- ภายในรถตู้จะต้องมีอุปกรณ์รักษาความปลอดภัย เช่น ถังดับเพลิง ที่เจาะกระจกหน้าต่างกรณีฉุกเฉิน กล่องปฐมพยาบาล ฯลฯ
- ในกรณีที่เลือกไปสถานที่ที่ต้องการการดูแลเพิ่มเติม ทาง รร. จะขอผู้ปกครองอาสาเพื่อเข้ามาช่วยดูแลเด็กเพิ่มเติม
- ทุกครั้งจะมีการทำหนังสือขออนุญาตจากผู้ปกครองก่อน...”
สรุป ต้นเหตุของความสูญเสีย ไม่ใช่การเดินทางไปทัศนศึกษา แต่เป็นการจัดการเรื่องความปลอดภัย
การเรียนรู้ของเด็กๆ ควรได้ดำเนินต่อไป แต่ต้องเข้มงวดเรื่องความปลอดภัย
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี