การแก้ปัญหาหนี้ค่าเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตกมาเป็นความรับผิดชอบและหน้าที่ของผู้ว่ากทม. ชัชชาติ และสภา กทม.ชุดปัจจุบัน
แม้ว่าจะเป็นปัญหาที่หมักหมมมาก่อนนี้
1. ในยุครัฐบาลประยุทธ์ ที่ไม่มีการจ่ายค่าเดินรถ เพราะตอนนั้น ไม่ใช่เพราะเจตนาจะเบี้ยว หรือชักดาบ
แต่เพราะมีแนวนโยบายที่จะใช้มาตรา 44 แก้ปัญหา โดยให้รัฐไม่ต้องควักเงินจ่ายเลยสักบาท แลกกับการเจรจาขยายสัมปทานให้เอกชน
2. ปรากฏว่า แนวทางมาตรา 44 ขยายสัมปทานสายสีเขียว ถูกต่อต้าน โดยเฉพาะจากกระทรวงคมนาคมยุคนั้น (แต่สายสีน้ำเงินเคยทำแบบเดียวกัน ไม่มีปัญหา)
ยืดเยื้อมาจนเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. แล้วเอาเรื่องนี้ไปเป็นประเด็นการเมือง หาเสียง โจมตี และขายฝันกันว่า จะเก็บค่าโดยสารได้ถูกๆ โดยไม่ต้องขยายสัมปทานเอกชน ฯลฯ
พอผู้ว่าฯชัชชาติเข้ามาบริหาร ก็เจอกับความเป็นจริงกับตัวเอง ว่ามันมีสัญญาสัมปทานผูกมัดไว้อย่างไร
หากไม่เจรจาตามแนวทางมาตรา 44 ก็จะต้องจ่ายค่างานระบบไฟฟ้าฯ และจะต้องจ่ายค่าเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมๆ กว่า 7 หมื่นล้านบาท
กระทั่งศาลพิพากษาคดีถึงที่สุด ค่อยจ่ายหนี้ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) มูลค่า 23,112 ล้านบาท (จ่ายแล้ว)
ล่าสุด หนี้ค่าเดินรถสายสีเขียว ศาลปกครองสูงสุดก็พิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว ว่าต้องจ่ายอีก 11,000 ล้านบาท (รวมดอกเบี้ยจนถึงปัจจุบันราว 14,000 ล้านบาท)
แต่จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่จ่ายเงินส่วนนี้ ขณะที่ดอกเบี้ยยังเดินไปเรื่อยๆ ทุกวัน
ความล่าช้า จึงมีราคาค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เสียหายแก่ กทม.เอง
ยังไม่นับภาระหนี้ค่าเดินรถในห้วงเวลาต่อมา ซึ่งบางส่วนฟ้องเป็นคดีในศาลปกครองแล้ว บางส่วนยังไม่ได้ฟ้อง
โดยทางบีทีเอสได้เดินรถตามสัญญาเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้ค่าจ้างตามสัญญาเลย
ทั้งหมด ล้วนแต่มีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทุกวัน
คิดแล้วดอกเบี้ยเพิ่มรวมวันละประมาณ 7 ล้านบาท !!!
3. เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2567 ได้มีการประชุมระหว่าง กทม. บีทีเอส และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกเองนี้
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายคีรีกาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมหารือเรื่องการชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับ BTS ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) หลังการประชุม มีการแถลงข่าวร่วมกัน
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ แถลงร่วมกันกล่าวว่า วันนี้ได้หารือกันเรื่อง BTS ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยเรามีภาระที่จะต้องจ่ายเงินอยู่ ซึ่งแบ่งภาระหนี้ออกเป็น 4 ส่วน
ส่วนที่ 1 คือ ส่วนที่ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาออกมาแล้ว เรื่องนี้เราได้ทำเรื่องเข้าสภากรุงเทพมหานครเพื่อขออนุมัติใช้เงินสะสมจ่ายขาดมาดำเนินการแล้ว ขณะนี้สภา กทม. ได้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณารายละเอียดต่างๆ คาดว่าจะดำเนินการชำระได้ก่อน 180 วัน
ส่วนที่ 2 และ 3 คือ ส่วนที่มีฟ้องอยู่ในคดีศาลปกครองถึงปี 2565 และจากปี 2565 ถึงปัจจุบัน ซึ่งเดินรถไปแล้ว
ทั้งส่วน 2 และ 3 นี้ ตามหลักแล้วน่าจะปฏิบัติตามแนวทางของส่วนที่ 1 แต่เพื่อให้เดินหน้าได้อย่างรอบคอบและรวดเร็วขึ้นจึงมีความเห็นร่วมกันว่าจะตั้งคณะทำงานระหว่าง BTS กทม. และเคที (บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด) เพื่อพิจารณาส่วนที่ 2 และ 3 ถึงปัจจุบันว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ รวมทั้งเรื่องที่ค้างในศาลปกครองซึ่งยังไม่ได้มีคำตัดสินออกมา
ส่วนที่ 4 คือ หนี้อนาคต ซึ่งจะมีหนี้ที่เราต้องจ่ายตามสัญญาระหว่างเคทีกับ BTS เป็นหนี้การเดินรถ
โดยส่วนต่อขยายที่ 2 มีการเก็บเงินค่าโดยสารมาแล้วส่วนหนึ่ง แต่ปัจจุบันของส่วนต่อขยายที่ 2 เรายังไม่ได้จ่ายต่อไปให้ทาง BTS จึงขอว่าตรงส่วนนี้ ถ้าเคทีจ่ายมาก่อนได้ก็จะช่วยบรรเทาภาระของทาง BTS ได้ เรื่องนี้ทางฝ่ายบริหารจะรีบไปดำเนินการและพิจารณา โดยเฉพาะเรื่องในอนาคต ที่มีสัญญาต่อถึงปี 2585 ซึ่งควรทำให้ถูกต้องและให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โดยต้องมีการพิจารณาร่วมกันระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติด้วย
วันนี้ ก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อพิจารณาภาระหนี้ในส่วนที่ 2 และ 3 ที่ยังไม่ได้ชำระ รวมทั้งเรื่องในอนาคตด้วย
“เราเห็นใจทาง BTS เพราะเขามีภาระและค่าใช้จ่ายต่างๆ ทุกวัน
ในขณะเดียวกัน กทม. ต้องดำเนินการตามระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องเดินหน้าหาทางออกไปด้วยกัน
ขอขอบคุณทาง BTS ที่ช่วยเดินรถในเส้นทางสำคัญให้แก่ประชาชนชาวกรุงเทพฯ” - ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
ด้านนายคีรี กล่าวว่า จากการหารือวันนี้ ท่านผู้ว่าฯ มีความเข้าใจถึงความเดือดร้อนของทางบริษัทที่เสียสละเดินรถทุกวัน แม้ยังไม่ได้รับค่าจ้างเดินรถ รวมทั้งท่านได้กล่าวว่าจะพยายามเข้าใจทุกกระบวนการ ซึ่งต้องขอขอบคุณทาง กทม. ท่านผู้ว่าฯ และคณะทำงาน ทั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทางบริษัทจะได้รับการชำระเงินก้อนนี้ได้เร็วที่สุดเพื่อเราจะได้ให้บริการต่อไป
4. ถ้อยแถลงร่วมกันข้างต้น สะท้อนสัญญาณที่ดีของการแก้ปัญหา
แต่อีกด้านหนึ่ง เป็นหลักฐานมัดตัวผู้ว่าฯชัชชาติ จะอ้างว่าไม่รู้ หรือไม่เข้าใจถึงภาระหนี้ค่าเดินรถ ความรับผิดชอบ ตลอดจนความเดือดร้อนเสียหายของเอกชน
ไม่ได้อีกต่อไป
ประการสำคัญ ในการแถลงร่วมกัน ยังมีการเปิดเผยถึงอัตราดอกเบี้ยหนี้ค่าเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระบุว่า วันละ 2.7 ล้านบาทต่อวัน รวมราว 1.4 หมื่นล้านบาท (เฉพาะก้อนที่ศาลตัดสินไปแล้ว) แล้วยังมีก้อนที่ 2 และ 3 อีก ในขณะก้อนที่ 4 กทม.ก็ต้องจ่ายเงินทุกวันที่ 20 ของเดือนถัดไป ซึ่งถ้าช้าเกินสัญญา ก็จะมีดอกเบี้ยอีก
รวมแล้ว ดอกเบี้ยทั้งหมด จึงตกวันละประมาณ 7 ล้านบาท !!!
ต้นทุนความล่าช้าตรงนี้ ผู้ว่าฯกทม. และสภา กทม. จะปฏิเสธความรับรู้ไม่ได้เช่นกัน
ถ้าปล่อยให้มีการถ่วงเวลา ยิ่งล่าช้า ความเสียหายก็ตกแก่ กทม.เอง
อนึ่ง ตามที่ผู้ว่าฯชัชชาติแถลงแจกแจงภาระหนี้เดินรถเป็น 4 ส่วน กางข้อมูลชัดๆ ได้แก่
1.หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 ตั้งแต่เดือนพ.ค.2562 ถึง พ.ค.2564 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือนเม.ย.2560 ถึง พ.ค.2564
คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดสั่งให้ชำระ 11,755 ล้านบาท ภายใน 180 วันพร้อมดอกเบี้ยสําหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) บวก 1% ต่อปี รวมแล้วประมาณ 14,000 ล้านบาท
2.หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือนมิ.ย.2564 ถึง ต.ค.2565 วงเงิน 11,811 ล้านบาท โดย BTS ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางวันที่ 22 พ.ย.2565 และอยู่ขั้นตอนพิจารณาของศาลปกครองกลาง ถ้ามีคำพิพากษาในทิศทางเดียวกับคดีแรกจะทำให้กรุงเทพมหานคร และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ต้องชำระอัตราดอกเบี้ยอัตราเดียวกัน
3.หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือนพ.ย.2565 ถึง มิ.ย.2567 วงเงิน13,513 ล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ย ซึ่งผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้ายังไม่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง
และ 4.หนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือนมิ.ย.2567 ถึงปัจจุบัน โดยสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายจะสิ้นสุดปี 2585
5. ขณะนี้ การแก้ปัญหาเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2567 การประชุมสภากรุงเทพมหานคร ผู้ว่าฯกทม. ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า กรุงเทพมหานครมีความประสงค์จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เป็นค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งสภากรุงเทพมหานครได้ให้ความเห็นชอบจ่ายขาดเงินสะสมแล้ว ซึ่งตามหลักการได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... เป็นจำนวนไม่เกิน 14,549,503,800 บาท (หนึ่งหมื่นสี่พันห้าร้อยสี่สิบเก้าล้านห้าแสนสามพันแปดร้อยบาทถ้วน) เป็นรายจ่ายพิเศษจ่ายจากเงินสะสมจ่ายขาดของกรุงเทพมหานคร จึงขอความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร
โดยเสนอข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ..
ในคราวนั้น นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้แจ้งต่อที่ประชุมชัดเจนว่า หากเราไม่สามารถพิจารณาเงินก้อนนี้ได้ภายใน 30 กันยายนนี้ ซึ่งอยู่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะทำให้ข้ามไปสู่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการชำระหนี้และอัตราดอกเบี้ย ดังนั้น จึงต้องพยายามขอความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานครสำหรับเงินก้อนนี้ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้ได้ส่วนเรื่องการจ่ายชำระหนี้จะเป็นขั้นตอนต่อไป
ปรากฏว่า ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ ก่อนรับหลักการ จำนวน 24 คน กำหนดเวลาพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เพื่อพิจารณาหลักการของร่างข้อบัญญัติดังกล่าว
บัดนี้ ล่วงมาสู่ปีงบประมาณ 2568 แล้ว การพิจารณายังไม่แล้วเสร็จ (แต่ยังไม่เกินกรอบเวลา 30 วัน)
ติดตามว่าสภากรุงเทพมหานครจะดำเนินการอย่างไร?
ถ้าข้อบัญญัติเกี่ยวกับการเงินที่นำเสนอโดยฝ่ายบริหาร ในเรื่องสำคัญแบบนี้ สะดุด หรือมีปัญหา ผู้ว่าฯกทม. จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร?
ดอกเบี้ย จะเดินเพิ่มขึ้นไปอีกเท่าไหร่? ใครจะรับผิดชอบ?
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี