เมื่อสามสี่วันก่อนเห็นข่าวคุณ Ruth Porat ประธานบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุนAlphabet อันเป็นบริษัทแม่ของ Google เข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือเรื่องความคืบหน้าโครงการลงทุนของ Googleในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะสร้างงานกว่า 14,000 ตำแหน่ง ในช่วงปี 2568-2572 และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 4,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.3 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม การพบปะกันครั้งนี้ก็ต้องยกเครดิตให้อดีตนายกฯ เศรษฐา ที่ได้ปูทางเจรจาไว้ก่อนหน้านั้นในการชักชวน Google ให้มาลงทุนสร้าง Data Center และ Cloud Region ที่ไทย
ย้อนกลับเมื่อปี 1997 หรือ 27 ปีที่แล้ว Data Center แห่งแรกของ Google ถือกำเนิดขึ้นที่หอพักของ Sergey Brin (เซอร์เกย์ บริน) กับ Larry Page (แลร์รี่ เพจ) นักศึกษาสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
หนึ่งปีต่อมา ทั้งคู่ตัดสินใจทิ้งการเรียนระดับปริญญาเอกกลางคัน เพื่อออกมาตั้งบริษัทชื่อ Google
คำนี้เป็นศัพท์ทางคณิตศาสตร์ หมายถึง เลข “1” แล้วตามด้วยเลข “0” อีก 100 ตัว และความจริงแล้วต้องสะกดว่า “G-O-O-G-O-L”ไม่ใช่ Google ซึ่ง แลร์รี่ เพจ ก็ยอมรับว่า…เขาสะกดคำนี้ผิดตั้งแต่แรก แต่ตอนนั้นไม่มีใครรู้ ก็เลยปล่อยเลยตามเลยไป.....
Google เป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการในการค้นหาข้อมูลในโลกของอินเตอร์เนต โดยค้นหาข้อมูลจากข้อความ หรือตัวอักษรที่พิมพ์เข้าไป แล้วทำการค้นหาข้อมูล รูปภาพ หรือเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องแล้วนำมาแสดงผล ปัจจุบัน Google ถือว่าเป็นเครื่องจักรในการค้นหาข้อมูล (search engine) อันดับหนึ่งของโลก โดยก่อนหน้าที่ Google จะถือกำเนิดขึ้น เว็บไซต์ เช่น Yahoo! หรือ AltaVista ได้ถูกจัดให้เป็น search engine เบอร์หนึ่งและสองในโลกอินเตอร์เนต
Google พัฒนามาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ เซอร์เกย์ บริน และ แลร์รี่ เพจทั้งคู่ต้องการสร้าง search engine ที่มีประสิทธิภาพในการค้นหาข้อมูลที่ดีกว่า Yahoo! และ AltaVista
บรินและเพจพบกันในปี 1995 และอีกสามปีต่อมา พวกเขาก็ทำได้สำเร็จ ด้วยการพัฒนาสูตรคณิตศาสตร์ขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้สำหรับการเขียนอัลกอริทึม (Algorithm คือ ขั้นตอนวิธีในการเขียนชุดคำสั่งหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่ง) ในการสร้าง search engine ตัวใหม่ขึ้นมาและตั้งชื่อว่า “PageRank system”
ช่วงต้นปี 1998 ทั้งบรินและเพจตั้งใจที่จะนำระบบ PageRank ที่พวกเขาได้นำไปจดทะเบียนลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ไปเสนอขายให้กับเจ้าพ่อ search engineในตอนนั้นอย่าง Yahoo! และ AltaVista ในราคา 1 ล้านดอลลาร์ หลังจากนั้นพวกเขาจะได้กลับมาเรียนต่อปริญญาเอกให้จบ แต่ทั้งสองบริษัทต่างก็ปฏิเสธที่จะซื้อระบบ PageRank
Paul Flaherty นักศึกษาปริญญาเอกรุ่นพี่ของบรินและเพจที่สแตนฟอร์ด ผู้ออกแบบระบบ search engine ให้กับ AltaVista ให้เหตุผลว่า Digital Equipment Corp. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ AltaVista ไม่ต้องการพึ่งพาระบบที่ถูกพัฒนาจากบุคคลภายนอก ขณะที่ Yahoo! ให้เหตุผลว่า นโยบายของบริษัทนั้นต้องการให้ผู้ใช้ที่เข้ามาค้นหาข้อมูลใน Yahoo! ได้ใช้เวลากับเว็บไซต์นี้นานๆ ด้วยการดูโฆษณาสินค้าซื้อของ เช็คอีเมล หรือเล่นเกมไปด้วยพร้อมๆ กับการค้นหาข้อมูล ดังนั้น search engine ของ Yahoo! จึงถูกออกแบบมาให้ผู้ใช้ค้นหาข้อมูลได้ไม่รวดเร็วและตรงประเด็นเท่าระบบ PageRank ของบรินและเพจ
อย่างไรก็ตาม David Filo หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Yahoo! แนะนำให้ทั้งสองลาออกจากสแตนฟอร์ด แล้วออกไปตั้งบริษัทเอง เพราะตอนนั้นอินเตอร์เนตกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและเริ่มเป็นที่รู้จัก ถ้าทั้งคู่เชื่อมั่นในศักยภาพของระบบ PageRank ว่ามันดีจริง ผู้ใช้ก็จะมีทางเลือกมากขึ้นในการเลือกใช้ search engineที่ดีที่สุด
ช่วงปลายปี 1998 ทั้งคู่ตัดสินใจลาออกจากสแตนฟอร์ด เพื่อก่อตั้งบริษัท Google ด้วยความคิดที่ต้องการสร้างบริษัทให้เป็นเหมือนมหาวิทยาลัย กล่าวคือ เป็นแหล่งผลิตโครงการต่างๆ อันไม่ต่างกับมหาวิทยาลัยที่ต้องผลิตงานวิจัยใหม่ๆ ออกมาอยู่เสมอ และที่ Google ก็มีวัฒนธรรมองค์กรอย่างหนึ่งก็คือ เรื่อง“20 percent time” ซึ่งยืมมาจากสังคมวิชาการที่จะอนุญาตให้อาจารย์มหาวิทยาลัยสามารถไปทำในสิ่งที่ตนเองมีความหลงใหลส่วนตัว หนึ่งวันต่อสัปดาห์ โครงการต่างๆ ของ Googleนั้นจะทำงานเป็นทีม โดยเป็นทีมเล็กๆ ประมาณ 3-4 คน และอนุญาตให้พนักงานใช้เวลา 20% ของเวลาทำงานไปค้นหาสำรวจไอเดียหรือสิ่งที่ตนเองสนใจหลงใหลกับมันอย่างมากแล้วนำมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับทีมของตน
ปัจจุบัน Google มีโครงการนับร้อย และไม่จำกัดแต่เฉพาะด้านอินเตอร์เนตและเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่ยังมีโครงการด้านชีวโมเลกุล พันธุศาสตร์ (genetics) วิทยาศาสตร์ การแพทย์ หรือโครงการห้องสมุดดิจิทัล ที่เริ่มจาก Google Book ซึ่งเป็นโครงการที่ทำงานกับข้อมูลขนาดใหญ่ด้วยการทำเหมืองข้อมูล โครงการนี้เป็นการสแกน (scan) หนังสือจากห้องสมุดที่สแตนฟอร์ด ฮาร์วาร์ด มิชิแกน ออกซฟอร์ดและห้องสมุดนครนิวยอร์ก จำนวน 12 ล้านเล่ม มากกว่า 400 ภาษา เป็นจำนวนมากกว่า 5 พันล้านหน้า หรือ 2 ล้านล้านคำ ให้อยู่ในรูปดิจิทัลฟอร์ม แล้วเก็บไว้ในระบบฐานข้อมูลของบริษัท เพื่อที่จะให้คนทั่วไปได้เข้าถึงหนังสือจากห้องสมุดเหล่านี้ได้จากทุกที่ในโลก
จะว่าไปแล้ว โครงการเหล่านี้ยังถือว่าเป็นก้าวแรกๆ ของ Google เพราะ เซอร์เกย์บริน หนึ่งในผู้ก่อตั้งเคยบอกว่า...วันที่ 19 สิงหาคม 2004 ซึ่งเป็นวันที่ Google เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์วันแรกนั้นเปรียบเสมือนวันที่เด็กน้อย Google พึ่งเข้าเรียนชั้นประถมหนึ่งและพึ่งขึ้นประถมสอง ในปี 2005
ครับ ปัจจุบันปี 2024 ตอนนี้เด็กน้อย Google กลายเป็นเด็กหนุ่มวัย 20 ปี ที่เคยต้องการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ผ่านเครื่องจักรการค้นหาข้อมูลที่ดีที่สุดในโลกและก็ทำได้สำเร็จ ดังนั้นจึงหวังว่าผลประโยชน์จากการลงทุนสร้าง Data Center และ Cloud Regionในประเทศไทยครั้งนี้ คงตกอยู่กับคนไทยส่วนใหญ่มากกว่านักการเมืองหรือเจ้าสัวรายใดรายหนึ่ง ตามคำขวัญของบริษัทที่ว่า “Don’t’ Be Evil”
ดร.ธิติ สุวรรณทัต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี