เป็นเหตุสะเทือนขวัญที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นกรณีรถบัสพานักเรียนจากโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ไปทัศนศึกษาที่สำนักงานการไฟฟ้านครหลวง (กฟผ.) อ.บางกรวย จ.นนทบุรี แต่เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. ของวันที่ 1 ต.ค. 2567 ในขณะที่ขบวนรถบัสจำนวน 3 คัน ใช้เส้นทาง ถ.พหลโยธิน (ขาเข้า)
บริเวณใกล้กับห้างเซียร์รังสิต และอนุสรณ์สถานแห่งชาติ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี รถบัสคันที่ 2 เกิดยางแตกตามด้วยไฟลุกไหม้ทั่วคันรถ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งครูและนักเรียนรวมกัน 23 ศพ
และเป็นอีกครั้งที่คำว่า “ถอดบทเรียน” ถูกพูดถึงพร้อมคำวลี “ขอให้เป็นเหตุการณ์ครั้งสุดท้าย” ตามด้วยเสียงเรียกร้อง “ถึงเวลายกเครื่องรถบัสที่นำมาใช้รับ-ส่งคน (ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่) จริงๆ เสียที” มีนักวิชาการ มีผู้รู้ออกมาให้ความเห็น เช่น สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Sonthi Kotchawat” วันที่ 1 ต.ค. 2567 ยกตัวอย่าง “มาตรฐานรถบัสในทวีปยุโรป” ดังนี้
“ระบบความปลอดภัยของตัวรถบัสเพื่อใช้ทัศนศึกษาในประเทศแถบยุโรป” 1.ติดเซ็นเซอร์ป้องกันประตูปิดขณะผู้โดยสารขึ้นและลงจากรถ 2.ตัวถังเป็นโครงสร้างเหล็ก galvanized ซึ่งมีความแข็งแกร่งมากกว่าเหล็กทั่วไป 3.กระจกผ้าม่านในรถและพื้นยางปูรถต้องทำจากวัสดุป้องกันไฟลามตามมาตร ฐานของ EU 4.ในแต่ละที่นั่งมีเข็มขัดนิรภัย 2 จุด 5.มีระบบเบรกอัจฉริยะ Anti-Lock Braking System. (ABS) และ 6.ทางออกฉุกเฉินของรถบัสให้มีถึง 3 ที่ ได้แก่ ท้ายรถด้านขวามีประตูฉุกเฉินพร้อมป้าย EXIT บานกระจกเป็นกระจกนิรภัย Tempered glass ซึ่งสามารถใช้เป็นทางออกฉุกเฉินได้ ช่องพัดลมดูดอากาศใช้เป็นทางออกฉุกเฉินได้ด้วย
“ความปลอดภัยด้านป้องกันไฟไหม้ของยุโรป” 1.มีระบบดับเพลิงอัตโนมัติในห้องเครื่องยนต์ 2.ถังดับเพลิง 2 ถัง 3.ค้อนทุบกระจก 4-6 อัน 4.ระบบ fire Alarmในจุดหล่อแหลม เช่น ล้อ ห้องเครื่อง ห้องเก็บสัมภาระ ห้องคนขับและห้องโดยสาร 5.เชื้อเพลิงที่ใช้สำหรับรถบัสยุโรป จะใช้น้ำมันดีเซล Euro5 ไม่ใช่ก๊าซ เพราะปลอดภัยกว่าและไม่ปล่อยฝุ่น 2.5 6.ยางรถยนต์รถบัสยุโรปต้องยึดเกาะถนนได้ดีตามมาตรฐาน Euro 7.พนักงานขับรถในยุโรปต้องมีใบขับขี่รถบัสหรือได้ Certificated และมีประสบการณ์ขับขี่ สามารถยืนยันตัวตนได้
ประเด็นต่อมาที่ถูกตั้งคำถามคือ “รถคันเกิดเหตุจดทะเบียนตั้งแต่ปี 2513 โครงรถ (แชสซี-Chassis) มีอายุถึง 54 ปี นานเกินไปหรือไม่?” ประเด็นนี้ จิรุตม์วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2567 ยอมรับว่า “ตามมติคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง กรณีรถโดยสารไม่ประจำทาง 30ไม่มีการกำหนดอายุการใช้งานแชสซี” ในขณะที่รถโดยสารประจำทางที่วิ่งระยะทางไม่เกิน 300 กม. กำหนดอายุการใช้งานของแชสซีรถไม่เกิน 40 ปี, รถโดยสารประจำทางที่วิ่งระยะทางไม่เกิน 300-500 กม. กำหนดอายุแชสซีไม่เกิน 35 ปี,
รถโดยสารประจำทางที่วิ่งระยะทางเกิน 500 กม. กำหนดอายุแชสซีไม่เกิน 30 ปี ส่วนรถหมวด 1 ที่วิ่งในเมืองอายุแชสซีไม่เกิน 50 ปี อย่างไรก็ตาม กรมการขนส่งทางบกจะประชุมในรายละเอียด เพื่อกำหนดกรอบและมาตรฐานรถโดยสารไม่ประจำทาง 30 ในเรื่องของข้อกำหนด อายุการใช้งานรถ รวมถึงพนักงานประจำรถเพิ่มเติม
โดยหากต้องมีการแก้กฎหมายก็จะเร่งดำเนินการ
ในวันเดียวกัน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งการ 5 มาตรการเร่งด่วน ประกอบด้วย 1.กรมการขนส่งทางบก เรียกรถโดยสารสาธารณะประจำทางและไม่ประจำทางที่ใช้ เชื้อเพลิงก๊าซ CNG (หรือ NGV) ทั้งหมดเข้ารับการตรวจสภาพรถ จำนวน 13,426 คัน ภายใน 60 วัน 2.ให้ยกระดับมาตรฐานการประกอบการขนส่งรถโดยสารไม่ประจำทาง ให้เข้ารับการตรวจสภาพเพื่อดูเรื่องการให้บริการ ซึ่งถือเป็นการสังคายนารถโดยสารสาธารณะทั้งหมด เพื่อให้เกิดความปลอดภัย
3.ให้กรมการขนส่งทางบก บูรณาการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและสถานศึกษาธิการ และสถานศึกษาทั่วประเทศ ในกรณีที่จะนำรถเช่าเหมา หรือรถโดยสารไม่ประจำทางไปใช้บริการ ให้ประสานงานกับสำนักงานขนส่งจังหวัดเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยก่อนออกเดินทางทุกครั้ง 4.พนักงานขับรถและผู้ประจำรถ ต้องได้รับการอบรม และทดสอบ การเผชิญเหตุ การช่วยเหลือผู้โดยสารตามหลักสูตรการเผชิญเหตุและการช่วยเหลือผู้โดยสาร (Crisis Management) ทุกคนต้องได้รับการฝึกอบรม
และ 5.จะออกกฎหมาย ระเบียบ เพื่อให้ผู้ประกอบการต้องมีการแนะนำข้อมูล และแนวทางเผชิญเหตุฉุกเฉินในการใช้บริการเช่นเดียวกับสายการบิน โดยเมื่อผู้โดยสารขึ้นรถพนักงานต้องให้การแนะนำการใช้อุปกรณ์ฉุกเฉินกรณีมีเหตุ และเส้นทางการหนีภัย เพื่อให้ผู้โดยสารเตรียมพร้อมหากมีเหตุฉุกเฉิน ส่วนเรื่องก๊าซ NGV ยังไม่ถึงขั้นให้ยกเลิกการใช้ แต่ขอให้มีการตรวจสอบความปลอดภัยใหม่ทั้งหมด เพื่อจะได้ดูว่าตรงไหนเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เกิดประกายไฟและระเบิดได้ง่าย
ยังมีที่น่าตกใจ กับการออกมาเปิดเผยของ สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2567 ที่ระบุว่า ร้อยละ 95 ของรถทัศนาจรหรือรถรับจ้างไม่ประจำทาง ที่มีอยู่ในระบบประมาณ 1 หมื่นคัน ไม่ผ่านมาตรฐานด้านการลุกไหม้ ซึ่งก็คือ “เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งภายในรถไม่ได้ทำจากวัสดุทนไฟ” เนื่องจากแม้จะมีกฎหมายออกมาแล้ว “แต่กฎหมายไม่มีผลบังคับย้อนหลัง” ควบคุมแต่เพียงรถใหม่เท่านั้น จึงเปรียบเสมือน “ระเบิดเวลา” ไม่รู้จะเกิดเหตุซ้ำรอยอีกเมื่อใด
ดังนั้น “ภาครัฐอาจจะต้องเข้ามาร่วมกับผู้ประกอบการให้ปรับปรุงมาตรฐานดีขึ้น โดยสร้างแรงจูงใจต่างๆ” เช่น การให้เงินช่วยเหลือโดยตรงไปยังผู้ประกอบการ หรืออาจมีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีทุนในการปรับปรุงมาตรฐานรถ ทั้งการเปลี่ยนวัสดุไวไฟ เช่น เบาะที่นั่ง ม่าน พรม ให้เป็นไปตามมาตรฐาน UNECE ซึ่งคือการใช้วัสดุที่ทนไฟได้ในระดับหนึ่ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟลุกไหม้จะไม่เร็วและแรง สามารถช่วยซื้อเวลาให้ผู้โดยสารหนีออกภายนอกตัวรถได้
ย้อนไปเมื่อต้นปี 2560 เกิดเหตุรถตู้โดยสารเส้นทางกรุงเทพฯ-จันทบุรี ชนกับรถกระบะ เป็นโศกนาฏกรรมที่มีผู้เสียชีวิตนับสิบรายเช่นกัน ซึ่งผลการตรวจสอบพบคนขับรถตู้ต้องทำรอบไป-กลับหลายรอบในเวลาอันสั้น นำไปสู่การออกมาตรการจำกัดเวลาขับของพนักงานขับรถ และการติด GPS เพื่อควบคุมความเร็วไม่ให้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ก็ต้องตามดูกันต่อไปว่า เหตุสลดครั้งล่าสุดกับรถบัสโดยสารไม่ประจำทาง จะนำไปสู่การ “ยกเครื่อง” ความปลอดภัยอย่างไรบ้าง!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี