จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย เป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ 26 มีนาคม 2459 และเป็นมหาวิทยาลัยที่มีรากเหง้ามาจากโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2442 โดยแรกเริ่มอยู่ในเขตพระบรมมหาราชวัง โดยต่อมา 1 เมษายน 2445 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนมหาดเล็ก
ตราสัญลักษณ์ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคือพระเกี้ยว ซึ่งมีประวัติว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดให้พระเกี้ยว
เป็นพิจิตรเรขาประจำรัชกาลของพระองค์ ครั้นเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนสำหรับฝึกหัดข้าราชการฝ่ายพลเรือน ต่อมาคือโรงเรียนมหาดเล็ก
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระเกี้ยวเป็นเครื่องหมายหน้าหมวกของนักเรียน และมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราพระเกี้ยวเป็นเครื่องหมายของโรงเรียน ครั้นต่อมาเมื่อสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ได้อัญเชิญพระเกี้ยวเป็นตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมาตั้งแต่ต้นจนปัจจุบัน
พระเกี้ยว ตราสัญลักษณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเป็นมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนี้
ปี 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้สัญลักษณ์พระเกี้ยวอยู่บนเบาะรอง เป็นเครื่องหมายประจำมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นรูปแบบตามที่โรงเรียนสำหรับฝึกหัดข้าราชการฝ่ายพลเรือนเคยใช้มาก่อนแล้ว เพราะตราพระเกี้ยวเป็นตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 5 มูลเหตุที่รัชกาลที่ 5 ทรงใช้ตราพระเกี้ยวเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์ เพราะว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบิดาในรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระเกี้ยวแด่รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เพื่อทรงใช้ในพระราชพิธีโสกันต์ เมื่อพ.ศ. 2408 ซึ่งพระเกี้ยวก็คือ จุลมงกุฎ ดังนั้น รัชกาลที่ 5จึงทรงใช้ตราพระเกี้ยว หรือจุลมงกุฎเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์ และทรงใช้พระราชลัญจกรพระเกี้ยวประทับกำกับพระปรมาภิไธย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยที่ว่าด้วยเครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2482 ระบุให้ ตราพระเกี้ยววางบนหมอน เป็นเครื่องหมายราชการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (หมายเหตุในครั้งนั้นยังสะกดคำว่า จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย)
ในอดีตนั้น พบว่าหน่วยงานต่างๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้ตราสัญลักษณ์พระเกี้ยวต่างกันไปตามแต่จะสรรคิดสรรค์สร้าง โดยเฉพาะในแต่ละคณะวิชา จนทำให้เกิดความสับสนว่าตกลงแล้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะใช้ตราสัญลักษณ์ใดกันแน่ เพราะตรามหาวิทยาลัยไม่มีเอกภาพ จนกระทั่งในปี 2531 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีมติให้ใช้ตราพระเกี้ยวที่เขียนแบบโดย ภิญโญ สุวรรณคีรี จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นตราประจำมหาวิทยาลัยเพียงแบบเดียวเหมือนกันทั้งมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพของการใช้ตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ใช้ตราพระเกี้ยวที่เป็นเอกลักษณ์มาโดยตลอด จนมาถึงยุคบัญฑิต เอื้ออาภรณ์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้มีผู้บริหารรายหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสนอแนวคิด rebrand จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทุกคนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุชื่อคนคนนั้นได้ตรงกันคือ
เอกก์ ภทรธนกุล จากภาควิชาการตลาดคณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี
การ rebrand จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยเอกก์คือการเปลี่ยนตราสัญลักษณ์พระเกี้ยวแบบเดิมเป็นแบบ minimalism คือการลดความวิจิตรบรรจงของตราพระเกี้ยวเดิมลงให้เหลือแบบง่ายๆ ที่ดูแล้วก็พอจะเข้าใจได้ว่าคือพระเกี้ยว แต่สำหรับคนจำนวนหนึ่งก็วิพากษ์ว่าไม่ใช่พระเกี้ยวแต่มันคือสถูป ก็แล้วแต่จะวิจารณ์กันไปเพราะเป็นสิทธิที่สามารถวิจารณ์ได้ แต่คำถามสำคัญอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงตราประจำมหาวิทยาลัย สามารถกระทำได้โดยใครก็ได้เช่นนั้นหรือ ตราประจำมหาวิทยาลัยคือสิ่งที่บ่งบอกเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ดังนั้น การจะเปลี่ยนแปลงตรามหาวิทยาลัย ไม่ควรจะเกิดขึ้นโดยง่ายขอย้ำว่าการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ดีขึ้น พัฒนาขึ้นเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำ แต่ไม่ใช่เปลี่ยนแล้วลดคุณค่า ลดความน่าเชื่อถือ หรือลดเอกลักษณ์ดั่งเดิมของมหาวิทยาลัยลงไป
คนบางคนบอกว่าจะไปเอาอะไรหนักหนากับตรามหาวิทยาลัย เพราะมันก็คือสิ่งสมมุติ ก็ต้องบอกว่าหากคิดว่าตรามหาวิทยาลัยไม่สำคัญ ก็ต้องถามต่อไปว่าแล้วต้องไปให้ความสำคัญกับตรามหาวิทยาลัยเพื่ออะไร เมื่อคิดว่าไม่สำคัญก็ไม่ต้องมี แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสถาปนา และตราพระเกี้ยวก็คือตราประจำพระองค์ของรัชกาลที่ 5 หากผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งยุคของบัณฑิต และยุคของวิเลิศ ภูริวัชร จะบอกว่าตราพระเกี้ยวไม่ใช่เรื่องสำคัญของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ต้องบอกให้ชัด แล้วต้องประกาศให้ชัดเจนว่าเปลี่ยนแปลงตราพระเกี้ยวได้ รวมถึงประกาศให้เรียกชื่อมหาวิทยาลัย
แบบสั้นๆ ได้ว่า Chula ไม่ใช่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือจุฬาฯ หรือ Chulalongkorn University หรือ CU
เรื่องตราพระเกี้ยวแบบ minimalism กับชื่อ Chula นั้น ผู้เขียนและนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่งตั้งคำถามในเรื่องนี้มาตั้งแต่สมัยบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี และยังคงตั้งคำถามมาจนถึงยุคของวิเลิศ ภูริวัชร ดำรงตำแหน่งอธิการบดี คำถามหลักๆ ที่ถามทั้งโดยผ่านสื่อมวลชน และผ่านการส่งจดหมายโดยตรงถึงอธิการบดีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ ตกลงผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะประกาศให้ชัดเจนหรือไม่ว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีตราสัญลักษณ์แบบใดกันแน่ เพราะตราพระเกี้ยวที่ประทับบนใบปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เป็นแบบหนึ่ง ส่วนตราพระเกี้ยวบนป้ายประกาศต่างๆ และบนหนังสือบัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ถามย้ำว่าผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะใช้ตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยแบบใดกันแน่ ส่วนคำถามที่ถามมาโดยตลอดคือ ตกลงจะใช้ชื่อ Chulalongkorn University หรือ Chula ถามย้ำว่าผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแน่ใจหรือว่า Chula คือ Chulalongkorn University และขอถามเรื่องนี้ไปยัง สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ในฐานะนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย และต้องการทราบคำตอบจากสุรเกียรติ์ว่า Chula คือ Chulalongkorn University กระนั้นหรือ
ส่วนประเด็น rebrand จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ก็ต้องตั้งคำถามว่ามีความจำเป็นอะไรกับการrebrand และต้องถามว่า rebrand เพื่ออะไร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ของตัวเองไปขายสินค้าอะไรนอกเหนือจากการสอนหนังสือ และทำวิจัย รวมถึงการทำงานวิชาการ กระนั้นหรือ
หากคิดว่าต้อง rebrand จริงๆ ก็ต้องถามว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ดีตรงไหน มีข้อบกพร่องตรงไป การ rebrand จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีความสามารถทางวิชาการดีขึ้นเด่นขึ้นจนสามารถก้าวไปเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ใน 5ของโลกได้หรือ อันที่จริงต้องบอกว่าหวังสูงเกินไป เอาแค่ให้ติดอันดับ 1 ใน 50 ของมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกก็พอแล้ว
ชื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่มีเรื่องเสื่อมเสียใดๆ แต่ความเสื่อมเสียในสถาบันการศึกษาแห่งนี้มาจากพฤติกรรมของบุคลากรบางคนและผู้บริหารบางรายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การลดชื่อยาวๆ ลงมาเหลือชื่อสั้นๆ เป็นเรื่องของภาษาปาก เป็นเรื่องปกติที่คนทั่วไปกระทำกันมานานแล้ว แต่ไม่จำเป็นต้องลดชื่อเต็มในเวลาเขียนอย่างเป็นทางการลงมาเหลือเพียงคำสั้นๆ เพราะมันไม่ได้ทำให้ความน่าเชื่อถือทางวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น
การเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยทำได้ ในกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดเท่านั้น ขอย้ำว่าไม่มีใครที่เขามีความคิดในเชิงบวกเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยไปตามเรื่องตามราวแบบลมเพลมพัดเพราะมันคือการลดทอนความน่าเชื่อถือของตัวเอง
หากผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอึดอัดลำบากใจกับตราพระเกี้ยวแบบดั้งเดิมจนทำงานไม่ได้ ก็น่าจะขอบพระบรมราชานุญาตเลิกใช้ตราพระเกี้ยวให้เป็นกิจลักษณะ และหากคิดว่าชื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยาวไป ยากไป ก็น่าจะขอพระบรมราชานุญาตเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัย ก็น่าจะได้กระมัง
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี