กรณีน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีปางช้างอยู่หลายสิบแห่ง ได้รับผลกระทบหมด
แต่พบว่า ที่มีช้างล้ม คือ ปางช้าง Elephant Nature Park หรือชื่อย่อคือ ENP
ปางช้างแห่งนี้ ดูแลรับผิดชอบ โดยมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม Save Elephant Foundation SEF ซึ่งมีประธานมูลนิธิ คือ คุณเล็ก แสงเดือน ชัยเลิศ ซึ่งมีทั้งช้างและสัตว์อื่นๆ หมา แมว ม้า ฯลฯ
โดยมีช้าง และสัตว์หลายตัว ลอยไปกับน้ำ
จากนั้น พบว่า มีช้างล้ม 2 เชือก
ขณะที่ช้างปางอื่น ปลอดภัยทั้งหมด
หลังเกิดเหตุ มีข้อสังเกต ข้อวิพากษ์วิจารณ์ น่าสนใจ ดังนี้
1. ในช่วงวิกฤต กระแสน้ำไหลแรง ทะลักท่วม เจ้าหน้าที่กู้ภัย ฝ่ายปกครอง ปศุสัตว์จังหวัด เจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพย์ ทหาร ตำรวจ สัตวแพทย์ และควาญช้างของปางอื่นๆ ในพื้นที่แม่แตง ต่างเร่งระดมกำลังเข้าไปช่วยหลือปางช้าง Elephant Nature Park อย่างเต็มที่
ที่ผ่านมา ปางช้างแห่งนี้ มีวิธีการจัดการช้างต่างจากปางช้างอื่นๆ โดยไม่ล่าม ต่อต้านการใช้ตะขอควบคุมช้าง ทำคอกล้อมขนาดใหญ่ เป็นจุดขาย มีความแตกต่าง มีรายได้จากนักท่องเที่ยว มีสินค้าจำหน่าย และรับเงินบริจาคจากประชาชน องค์กรเอกชนต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โดยก่อนหน้านี้ มีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อวิธีจัดการช้างแบบที่มีควาญช้างฝึกช้างของปางอื่นๆ
แต่ปรากฏว่า ในช่วงวิกฤต ผู้ที่เสี่ยงชีวิตเข้าไปช่วยที่ช้าง กระทั่งรอดตายหลายตัว ก็คือ ควาญช้างของปางอื่นๆ
2. ก่อนจะเกิดโศกนาฎกรรมช้างถูกน้ำพัดตาย
คุณแสงเดือน ชัยเลิศ โพสต์อัปเดตว่า มีการย้ายช้างไปไว้ในที่ปลอดภัยแล้ว พร้อมโพสต์คลิปช้าง ระบุว่า
“หลายท่านได้สอบถามว่าตอนกลางคืนเอาน้องช้างไปนอนไหน
เนื่องจากทางเรายังไม่ไว้วางใจสถานการณ์เกี่ยวกับระดับน้ำ เนื่องจากมีคำเตือนมาจากทางเทศบาลว่าน้ำระลอกสองจะมาหลังเที่ยงคืน พวกเราจึงย้ายช้างมาอยู่ให้พ้นบริเวณน้ำท่วม ไปอยู่ตามสวนผลไม้ที่เช่าไว้ที่ไม่ไกลจากศูนย์บริบาลช้าง
ช้างก็น่าจะแปลกใจว่าทำไมพวกเขาไม่ได้กลับมายังโรงนอนเหมือนอย่างทุกคืน ฝนยังคงตกหนักอย่างต่อเนื่องทั้งคนทั้งช้างเปียกปอน เพราะไม่มีโรงนอน พวกเขาต้องอยู่ใต้ร่มไม้ ช้างทุกตัวไม่นอนเดินไปเดินมา แต่ไม่หนีไปไหน อยู่ใกล้ๆ ควาญ
สำหรับสัตว์เล็ก หมา แมว ลิง บางส่วนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงได้ย้ายพวกเขาไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยแล้ว
ขอบคุณควาญช้างและเจ้าหน้าที่ของเราทุกคนที่อุทิศตนทำงานช่วยกันดูแลช้างในยามที่ยากลำบากนี้
ขอบคุณทุกๆ ท่านที่ส่งข้อความมาสอบถามส่งความห่วงใยและส่งกำลังใจมาให้นะคะ”
แต่หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง ก็มีการร้องขอความช่วยเหลือ โดยระบุว่า
“ต้องการความช่วยเหลือด่วนค่ะ ตอนนี้น้ำเข้าท่วมหนักมากกว่าเดิม เข้าท่วมเต็มพื้นที่แล้ว ในหมู่บ้านเข้าท่วมหมดแล้ว ดิฉันขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องช่วยส่งกำลังคนมาช่วยหน่อยค่ะ พิกัดบ้านกึ้ดช้างอำเภอแม่แตงจังหวัดเชียงใหม่ ค่ะ ตอนนี้พวกเราไม่มีที่ไปแล้วค่ะ”
หลังระดมกำลังเข้าไปช่วยเหลือ ทราบว่ามีช้างตาย คุณแสงเดือนก็โพสต์แสดงความเสียใจ ระบุว่า
“มันเป็นวันแห่งความมืดมิดวันมหาวิปโยคของพวกเรา ภาพที่ดิฉันเห็นตอนที่สามารถเข้าไปในพื้นที่โดยเรือกู้ภัยมันหลอกหลอนจิตใจที่ไม่อาจลืมได้
การแจ้งเตือนว่าน้ำจะท่วมพวกเราได้ย้ายช้างที่อยู่ในที่ลุ่มขึ้นสู่ที่สูง แต่ใครจะคาดคิดว่าที่สูงแล้วยังไม่ปลอดภัย เมื่อน้ำท่วมถึงบนภูเขาจมหมู่บ้านกึ้ดช้างแทบทั้งหมู่บ้าน สัตว์ของเราที่อยู่ในพื้นที่ลอยคออยู่ในน้ำ เนื่องจาก ช้างที่เราให้นอนกลางคืนพวกเขาไม่ได้ล่ามโซ่ แต่มีโรงนอนที่มีรั้วกั้น แต่น้ำที่สูงสามเมตร แต่น้ำมาสูงเกินรั้วโรงนอนเกือบมิดหลังคาบางโรงนอน กระแสน้ำที่แรงมาก พัดเอาช้างตาบอดแม่พลอยทอง พังแม่มีบุญ และช้างหลายตัว ออกจากคอก หายไปต่อหน้าต่อตา
กระแสน้ำที่สูงและแรงอย่างนั้นมันยากที่จะควบคุมสถานการณ์ได้
ถึงแม้ในเวลานี้พวกเรายังติดตามหาครอบครัวคนงานคนเลี้ยงช้างเลี้ยงสัตว์ ลูกเด็กเล็กแดงอีกเยอะที่อาศัยในพื้นที่สูงฝั่งหมู่บ้านกึ้ดช้างและหลายคนพวกเรายังไม่ทราบชะตากรรม ว่าพวกเขาหายไปไหนบ้าง เพราะไม่มีสัญญาณและไม่มีการติดต่อ และพวกเขาอยู่ในพื้นที่ที่ไม่เคยมีน้ำท่วม
ช้างคุณยายหงส์ฟ้าที่อยู่คลินิกอ่อนแรงให้น้ำเกลืออยู่ แทบจะเดินไม่ได้
มันเป็นเรื่องยากลำบากที่จะย้ายช้างแก่ช้างป่วยแต่ละตัวออกไป พนักงานทำงานอย่างหนักฝ่ากระแสนน้ำที่สูงสามเท้าเข้าไปช่วยช้างทั้งไม่มีอุปกรณ์และเรือ แต่พวกเราพยายามกันทุกคนทำงานอย่างหนัก เพื่อช่วยเอาช้างที่ถูกแรงอัดของน้ำออกจากรั้วกัน ต้องใช้คนมาตัดเล็กออก ประตูโรงช้างเปิดไม่ได้ เพราะโคลนทับหมด
บางคอก ช้างยังได้ช่วยพังรั้วออกมา ตอนนี้ยังมีช้างสูญหายหลายตัว วัวควายสูญหายเยอะมาก หมาแมวทุกตัวปลอดภัย แต่พวกเราย้ายขึ้นไปปล่อยในที่สูง แต่ยังไม่มีกรงใส่
ดิฉันขอขอบคุณจิตอาสาทุกท่านหน่วยกู้ภัย หน่วยงานราชการ
ปางช้างหลายแห่งที่อยู่ในพื้นที่ ส่งคนส่งควาญมาช่วยพวกเราในการควบคุมช้างที่ตื่นตระหนกให้ออกมาจากน้ำ ดิฉันอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมกับทีมช่วยเหลือสัตว์จึงยังไม่ทราบว่ามีหน่วยงานไหนส่งคนมาช่วยบ้าง แต่เท่าที่ทราบจากพนักงานที่ประสานงานมีหลายหน่วยงานมาก ซึ่งดิฉันจะนำรายละเอียดมาขอบคุณทุกท่านต่อไป
เมื่อคืนนี้มีคนมาแจ้งว่าพบช้างสองตัวเสียชีวิต ซึ่งดิฉันใจสลายมาก...” – คุณแสงเดือนกล่าว
น่าคิดว่า นอกจากความเศร้าเสียใจแล้ว (ทุกคนล้วนเสียใจ) ความสูญเสียเกิดจากอะไร?
จากการประเมินสถานการณ์ผิด ? ขาดแผนเผชิญเหตุ? หรืออะไร? (ทำไมปางอื่นๆไม่เกิดเหตุแบบนี้?)
3. ข้อมูลและมุมมองของทีมสัตวแพทย์หมอช้าง
หมอมามี-สพ.ญ.นฤพร กิตติศิริกุล ทีมสัตวแพทย์หมอช้าง โพสต์เปิดใจ ระบุว่า
“เกริ่นก่อนว่า ปางช้างในส่วนแม่แตงมีกว่า 20 ปางที่อยู่บนถนนเส้นเดียวกัน พื้นที่เดียวกัน และได้รับผลกระทบกันทั้งหมด มีตั้งแต่ปางที่มีช้างหลัก 2-3 เชือก ไปจนถึง 100 เชือก คละกันไป แต่ปางที่ได้รับความสนใจทั้งการช่วยเหลือด้านการเงินอย่างมากล้น และความช่วยเหลือจากสื่อหลักกลับเป็นแค่ปางเดียว…
มีการแจ้งเตือนเรื่องน้ำล่วงหน้าแล้ว ทำให้แต่ละปางมีการเตรียมการตั้งรับ ย้ายช้างขึ้นที่สูง ทำให้ไม่เกิดอันตราย ซึ่งข้อนี้ต้องยกให้พี่ควาญช้างและเจ้าของที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับช้าง ฝึกให้ช้างเข้าใจการจับบังคับ(เปรียบเทียบคล้ายกับฝึกให้น้องหมาเข้าใจการใช้สายจูง คำสั่งลุกนั่งนอน) สามารถขี่-จูงช้างไปได้อย่างปลอดภัยทั้งคนทั้งช้าง + เมื่อสามารถสื่อสารได้เข้าใจก็สามารถพาไปไหนก็ได้อย่างอิสระ ร่วมกับการใช้โซ่ลามไว้ในบริเวณที่ปลอดภัย ซึ่งสามารถปรับความยาวสั้นของโซ่ได้ ไม่ต้องพึ่งกรงหรือคอก
เมื่อเกิดวิกฤต ชาวช้างทุกคนช่วยเหลือกันดีมากๆ ทั้งพี่ควาญช้าง พี่เจ้าของช้าง หมอช้าง รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องอยากจะช่วยช้างทุกเชือกให้ออกมาอย่างปลอดภัย แต่ต้องบอกว่าการเข้าช่วยเหลือช้างแต่ละตัวที่ประสบภัยอยู่มีข้อจำกัดด้านความปลอดภัยทั้งต่อคนที่เข้าไปช่วย และช้างที่รอความช่วยเหลือ ยกตัวอย่างข้อจำกัด…
ช้างที่เติบโตมากับแนวคิดที่ว่าห้ามใช้อุปกรณ์อะไรจับ แตะ สัมผัส ออกคำสั่ง ทำให้เมื่อเห็นเชือก ขอ โซ่ ก็ตั้งป้อมใส่คนที่เข้ามาแล้วว่าจะอันตราย ก็ตั้งท่าเตรียมสู้กลับ (ซึ่งถ้าช้างเอาจริงก็คือเจ็บหนักกันแน่ๆ)
ควาญช้างที่ได้รับมอบหมายให้จัดหญ้า และทำความสะอาดคอกช้าง โดยไม่สามารถขี่ ฝึกฝนให้ช้างเคยชินกับน้ำเสียง และคำสั่งพื้นฐานได้เลย ไม่สามารถควบคุมให้ช้างเดินตาม หรือพาไปผูกมัดยังที่ปลอดภัยได้
แต่ถึงอย่างนั้น พี่ๆ ควาญช้างที่มีความชำนาญในการควบคุมช้างก็ระดมคนกันเข้าไปช่วยช้างเหล่านั้นที่ติดอยู่ในคอก (เพราะเกินกำลังที่คนในปางเองจะสามารถช่วยกันพาออกมาได้ ด้วยข้อจำกัดข้างต้น…) และการเข้าหาช้างในจุดที่น้ำท่วมสูง หากเกิดอันตราย ตัวคนที่ช่วยเอง ถ้าหลบไม่ทัน ก็มีโอกาสบาดเจ็บหนักจากช้าง ยังไม่รวมกับการต้องฝ่าน้ำที่สูงและเชี่ยวเข้าไป
แม้ว่าปัญหาอุทกภัยจะไม่ได้มีต้นเหตุมาจากวิถีการเลี้ยงช้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่า วิถีการเลี้ยงช้างดั้งเดิมของคนไทยทำให้เกิด bonding ระหว่างคนและช้าง จนสามารถอพยพช้างส่วนใหญ่ให้พ้นภัยได้เกือบทั้งหมด แต่กลับกันการเลี้ยงช้างอีกวิถีทำให้เกิดข้อจำกัดมากมายขึ้น
ซึ่งถ้าวิถีการเลี้ยงช้างไม่สุดโต่งมากขนาดนี้ คนที่มีแนวคิดนี้ ไม่ไปว่าการเลี้ยงช้างดั้งเดิมจนเสียๆ หายๆ ลามไปถึงต่างประเทศแอนตี้การเลี้ยงช้างดั้งเดิม จนเลือกแบนและไม่เที่ยว มันก็น่าจะเป็นภาพที่ทุกคนร่วมด้วยช่วยกันฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกันได้อย่างดี
การออกมาพูดในเรื่องนี้อยากให้ทุกคนที่เสพข่าวได้มองหลายๆ ด้าน ถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น หรือให้เกิดการพูดคุยกันก็ดีกว่ารอจนทุกอย่างคลี่คลายแล้วทุกคนก็แยกย้าย…จบ
ทุกๆ คนก็รักช้างกันทั้งนั้น ถ้าเราช่วยกันตั้งแต่ยามสงบสุขก็อาจจะไม่มาถึงยามทุกข์แบบนี้ก็ได้…
ส่งกำลังใจต่อเนื่องให้ทีมหน้างานทุกท่านนะคะ”
น่าคิดว่า วิธีการเลี้ยงช้าง วิธีการดูแลบริหารขจัดการช้าง ที่เป็นจุดขายทางการตลาด ก็กลายเป็นดาบสองคมในยามวิกฤตด้วย
พรุ่งนี้ มาตามต่อ บทเรียนจากศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยฯ ผู้เข้าให้ความช่วยเหลือพาช้างหนีน้ำโดยตรง ชี้ว่าอย่างไร?
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี