ขณะนี้ สถานการณ์สันติภาพโลก แขวนอยู่บนเส้นด้าย
ความตึงเครียดและสงคราม จ่ออุบัติใหญ่ และขยายวง
ประเทศไทย จะได้รับผลกระทบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน
1. อิหร่านระดมยิงขีปนาวุธเกือบ 200 ลูก ปูพรมหลายพื้นที่ทั่วอิสราเอล เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา
ส่งผลให้ผู้นำและกองทัพอิสราเอลประกาศกร้าว จะโต้กลับอย่างหนักหน่วงแน่นอน
ล่าสุด ประธานาธิบดีไอแซค เฮอร์ซ็อก แถลงผ่านโทรทัศน์ว่า อิหร่านเป็นภัยคุกคาม
นายเนทันยาฮู นายกฯอิสราเอล แถลงเตรียมโต้ตอบอิหร่าน
ขณะที่พลเอกไมเคิล คูริลลา ผู้บัญชาการกองกำลังส่วนกลางของสหรัฐ เพิ่งเดินทางไปหารือกับเจ้าหน้าที่กลาโหมอิสราเอล เกี่ยวกับแผนและการเตรียมความพร้อมที่อิสราเอลจะโจมตีอิหร่าน
2. ประเมินว่า ถ้าอิสราเอลโจมตีอิหร่านเร็วๆ นี้จริง
ฝ่ายอิหร่าน ก็จะต้องเอาคืนหนักกว่ารอบที่แล้ว เพราะได้ประกาศกร้าวไว้ก่อนหน้านี้
น่าสนใจว่า อิสราเอลจะโจมตีอิหร่านอย่างไร จุดใด ด้วยอาวุธแบบไหน? จะโจมตีโรงกลั่นน้ำมันของอิหร่าน หรือจะโจมตีโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน? หรือจะลอบสังหารบุคคลสำคัญ หรืออย่างไร?
แล้วจะตั้งรับการเอาคืนของอิหร่านหลังจากนั้น อย่างไร?
สุดท้าย ใครจะถูกลบออกจากแผนที่โลก?
ที่แน่ๆ ทั้งหมดนี้ จะกระทบกับสถานการณ์และราคาพลังงานโลก การเดินเรือ การส่งออกนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบ ตลอดจนบรรยากาศการค้า การลงทุน และการเดินทาง
ท่องเที่ยวทั่วโลก
ยังไม่นับสงครามรัสเซียกับยูเครนที่ยังดำเนินต่อไป
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ก็ยังดำเนินต่อไป ฯลฯ
3. เศรษฐกิจของประเทศไทยได้รับผลกระทบแน่นอน
เพราะไทยมีอัตราการเปิดประเทศทางเศรษฐกิจสูงมาก
แน่นอนว่า ความขัดแย้งระดับโลกเหล่านี้ เกินศักยภาพของไทยที่จะไปเปลี่ยนจุดยืนของประเทศคู่กรณี
แต่สิ่งที่ประเทศไทย และรัฐบาลไทย สามารถทำได้ คือ วางยุทธศาสตร์ แนวทางขับเคลื่อนประเทศ ให้ได้รับประโยชน์จากสถานการณ์โลกที่มีสงคราม มีปมขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์โลก อย่างชาญฉลาด และเตรียมความพร้อมรับมือกับผลกระทบอย่างรู้ทัน
4. รัฐบาล นำโดยนายกฯ อุ๊งอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร มีความตระหนักรู้ มีฝีมือเพียงพอหรือไม่?
คนไทยเชื่อมั่น ไว้ใจได้แค่ไหน เชื่อมือแค่ไหน?
มีอะไรให้มั่นใจ? ยกตัวอย่างชัดๆ
ขณะนี้ รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ยังประกาศจะแจกเงินหมื่นต่อในขณะที่ความจริง คือ
โครงการเดิม มีคนลงทะเบียนในทางรัฐ 36 ล้านคน(ยังไม่รวมคนไม่มีสมาร์ทโฟน)
แจกกลุ่มเปราะบางแล้ว 14 ล้านคน
เท่ากับว่า ถ้าจะแจกต่อ ยังต้องแจกอีกอย่างน้อยๆ36-14 = 22 ล้านคน
ถ้าแจก 22 ล้านคน คนละหมื่น ต้องใช้เงินอีกอย่างน้อย 220,000 ล้านบาท
แต่ในงบประมาณปี’68 หาเงินมาเต็มที่แล้ว (ลดเงินใช้หนี้ธนาคารรัฐก็แล้ว) จัดงบมาได้แค่ 187,000 ล้านบาท
ทั้งหมด แลกกับการกู้หนี้ยืมสินจนเกือบเต็มเพดานหนี้สาธารณะ 70% (66.8%) และสัดส่วนหนี้ของรัฐบาลต่อรายได้อยู่เกือบล้นเพดาน 35% (34.84%)
เรียกว่า บักโกรกเต็มที
ถ้าปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก เกิดสงครามขยายวง กระทบการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนจากต่างประเทศ ราคาพลังงานโลก ฯลฯ ประเทศจะต้องมีเงินไว้แก้ปัญหาอีกเท่าไหร่ไม่รู้
เฉพาะปัญหาในประเทศ ผลกระทบจากน้ำท่วม การเยียวยาฟื้นฟูใช้เงินอีกเท่าไหร่ การพัฒนาด้านอื่นๆ โครงการต่างๆ ของรัฐต้องใช้เงินอีกเท่าไหร่ (ที่จะมาขอจากงบกลาง) ฯลฯ
ประเทศเราไม่มีเรื่องจำเป็นต้องใช้เงิน 1.87 แสนล้านบาท มากกว่าเอาไปถลุงแจก จริงๆ หรือ?
แทบไม่ต่างกับเอาชีวิตของประเทศชาติ ไปไต่เส้นลวดข้ามหุบเหว
5. ตรงกันข้าม ในยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีแผนแม่บทและแผนย่อยรองรับ แต่ฝ่ายการเมืองบางกลุ่มพยายามด้อยค่า และรื้อทิ้งนั้น
แท้จริง ได้วางแนวทางครอบคลุมสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลก ไว้ชัดเจน และยังทันเหตุการณ์
น่าเสียดาย คนที่แห่ตามด้อยค่า โจมตี เพียงเพราะวาทกรรมว่าเป็นมรดกรัฐประหาร หรือเป็นสิ่งที่เกิดในยุครัฐบาลลุงตู่ แต่น้อยคนจะเคยอ่าน หรือพิจารณาเนื้อหาสาระจริงๆ
ผู้สนใจสามารถดูได้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๘๐) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม)
ประเด็น เรื่องการต่างประเทศ อาทิ
“......แผนย่อย ความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ มีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงและสามารถรับมือกับความท้าทายจากภายนอกได้ทุกรูปแบบสูงขึ้น และประเทศไทยมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการกำหนดทิศทางและส่งเสริมเสถียรภาพของภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งเป็นประเทศแนวหน้าในภูมิภาคอาเซียน
ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและโลกาภิวัตน์ที่ทำให้โลก มีความเชื่อมโยงมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ในช่วง ๒๐ ปีข้างหน้า ความท้าทายด้านความมั่นคงที่ไทยจะต้องเผชิญ จะเปลี่ยนแปลงไปจากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในมิติของภัยความมั่นคงรูปแบบเดิมและ รูปแบบใหม่
...แผนย่อย ความร่วมมือเศรษฐกิจและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ มีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการค้า การลงทุน การบริการ และความเชื่อมโยงที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย โดยมีระบบเศรษฐกิจที่เน้นนวัตกรรมดีขึ้นและประเทศไทยเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืนกับต่างประเทศ เพื่อร่วมกันบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก ผ่านการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับหลักการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงที่ผ่านมามีส่วนสำคัญมาจากรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวส่งผลให้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถรักษาระดับ การขยายตัวได้ในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และต้องเผชิญกับการแข่งขันจากประเทศที่มีระดับค่าจ้าง แรงงานต่ำกว่าในยุคโลกาภิวัตน์
การที่ไทยจะสามารถหลุดพ้นจาก “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” นี้ได้ ต้องอาศัยการพัฒนาตามเป้าหมายที่มุ่งสร้างเศรษฐกิจที่เน้นคุณค่าที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม รวมทั้งเร่งพัฒนา เศรษฐกิจดิจิทัล
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังสามารถคว้าโอกาสทองของการที่เอเชียผงาดขึ้นเป็นภูมิภาคที่เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นที่สุด โดยใช้ประโยชน์จากที่ตั้งเชิงภูมิศาสตร์ของไทย ควบคู่กับการสร้างความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมและโลจิสติกส์ในภูมิภาค และส่งเสริมความสะดวกในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย รวมถึงการใช้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคที่ไทยเป็นสมาชิก เพื่อส่งเสริมให้ไทย เป็นหนึ่งในศูนย์กลางการค้าและการลงทุนในเอเชียในอีก ๒๐ ปีข้างหน้า
โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมและการบริการที่ไทยมีความได้เปรียบเชิงแข่งขัน ในขณะเดียวกัน ไทยต้องแสวงหาโอกาสและลู่ทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่อยู่ ตลอดเวลาเพื่อกระจายความเสี่ยงจากการกีดกันทางการค้าที่ยังคงอยู่และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นในบางกรณี โดยเฉพาะจากกระแสนโยบายชาตินิยมในประเทศคู่ค้าที่สำคัญ รวมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถ และส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยขยายการลงทุนในต่างประเทศเพื่อเพิ่มโอกาสทางรายได้
นอกจากเศรษฐกิจไทยจะพึ่งพาต่างประเทศในเชิงอุปสงค์แล้ว ไทยยังต้องพึ่งพาต่างประเทศในเชิงอุปทานอีกด้วย อาทิ การพึ่งพาปิโตรเลียม ไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับ สภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนและมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง รวมทั้งแนวโน้มสำคัญอื่นๆ ที่ปรากฏในประเทศไทยและในระดับโลก อาทิ สังคมสูงวัย การขยายตัวของเมืองใหญ่ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ…”
6. เมื่อเร็วๆ นี้ สภาพัฒน์ จัดประชุมประจำปี หัวข้อ “พลิกความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ สร้างโอกาสประเทศไทย (Geopolitical Uncertainty : Navigating the Future)”
มีวิทยากรร่วมให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับประเด็นการบริหารจัดการเพื่อรับมือผลจากการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลก อาทิ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เป็นต้น
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ ได้นำเสนอในหัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลก : นัยต่อประเทศไทย” เนื้อหาน่าสนใจ
โดยชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ในภาพรวมจากการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลก การนำมาใช้ในการต่อรองผลประโยชน์ของขั้วอำนาจต่างๆ ในรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย ทั้งในรูปแบบความร่วมมือและขัดแย้ง อาทิ การทหาร ด้วยการใช้กำลังเข้ารุกรานหรือตอบโต้การรุกราน การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ระหว่างประเทศหรือการคว่ำบาตรหรือการกีดกันทางการค้า การแลกเปลี่ยนหรือเข้าครอบงำอุดมการณ์ แนวคิดทางการเมือง วัฒนธรรม และความเชื่อต่างๆ การปกป้องแบ่งปัน หรือแย่งชิงทรัพยากรต่างๆ รวมทั้ง การถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือปิดกั้นเทคโนโลยีจากประเทศฝ่ายตรงข้าม เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลกด้านต่างๆ ที่ผลต่อประเทศไทย อาทิ
สงครามการค้า เมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิก WTO ส่งผลให้สินค้าจีนสามารถเข้าถึงตลาดของประเทศสมาชิกได้ ประกอบกับทรัพยากรธรรมชาติในประเทศที่มีจำนวนมาก แรงงานที่มีค่าจ้างไม่สูง ส่งผลให้ประเทศจีนกลายเป็นโรงงานของโลกและเป็นผู้ส่งออกสำคัญของโลก
สหรัฐเริ่มดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าต่อจีน เพื่อลดการขาดดุลทางการค้าและมุ่งจำกัดบทบาทของจีนที่มีต่อเศรษฐกิจโลก นับเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
ขณะเดียวกัน จีนได้ดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจตอบโต้ทางสหรัฐฯ และพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่ม บทบาททั้งในส่วนของการค้าและการผลิตโลก รวมถึงนโยบาย Belt and Road Initiatives
สงครามรัสเซียและยูเครน อิสราเอลและกลุ่มฮามาส ส่งผลให้แนวโน้มการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่การผลิตโลกมีความเข้มข้นมากขึ้น ประเทศต่างๆ มุ่งย้ายฐานการผลิตกลับไปยังประเทศแม่ของบริษัท หรือไปยังประเทศที่เป็นพันธมิตร เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่การผลิต และหลีกเลี่ยงผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า
เงินลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ในระดับโลกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
เงินลงทุนจากประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปลดลงอย่างมาก แต่เงินลงทุนจากจีนและประเทศกลุ่ม BRICS อื่นๆ ปรับเพิ่มขึ้น
กลุ่มประเทศที่ยังคงมีมูลค่า FDI เพิ่มขึ้น อาทิ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินโดนีเซีย และเวียดนาม สะท้อนถึงการย้ายฐานการผลิตมายังกลุ่มประเทศดังกล่าว
แต่ไทยเป็นประเทศที่ FDI ลดลง จึงเป็นประเด็นท้าทายสำคัญในการกำหนดนโยบายของประเทศไทย เพื่อที่จะสามารถรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานและการย้ายฐานการผลิตดังกล่าว ฯลฯ
7. ทั้งหมด สะท้อนถึงความท้าทายด้านการบริหารประเทศ ในท่ามกลางสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป แหลมคมมากขึ้นทุกวัน โดยสงครามเริ่ม
ยกระดับและขยายวง
ประเทศไทย รัฐบาลไทย เตรียมพร้อมอะไรแล้วบ้าง?
ผู้นำประเทศ มีวิสัยทัศน์ ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์บริหาร ตลอดจนวุฒิภาวะ เพียงพอสำหรับสถานการณ์ระดับโลกเช่นนี้ หรือไม่?
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี