ชาติไทยของเราตั้งอยู่บนผืนแผ่นดินที่รู้จักกันดีในชื่อสุวรรณภูมิ อันเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ตรงกับคำว่าสุวรรณภูมิที่แปลว่า แผ่นดินทองคำ พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นที่ราบลุ่มมีแม่น้ำหลายสายกระจายอยู่ทั่วๆ ทุกภาค แม่น้ำสายสำคัญที่สุดคือ เจ้าพระยาที่ไหลผ่านกรุงเทพฯ โดยแม่น้ำสายนี้ มีต้นน้ำมาจากแม่น้ำ ๔ สายทางภาคเหนือคือ ปิง วัง ยม และน่าน
ต้องนับว่าเป็นความชาญฉลาดของพระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ในการเลือกพื้นที่ตั้งเมืองหลวง เพื่อจะให้เมืองแห่งนั้นดำรงอยู่ได้อย่างยาวนาน โดยมีผลกระทบ
จากภัยธรรมชาติให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะน้ำท่วมที่เป็นผลมาจากปริมาณน้ำฝนจำนวนมากจนเกิดน้ำหลาก
การตั้งเมืองในอดีตจึงมักจะอยู่ในบริเวณที่ดอน โดยพบว่าเมืองโบราณต่างๆ นั้น จะมีตำแหน่งที่ตั้งในทำเล
๒ แบบคือ “สันดินธรรมชาติริมน้ำ” คือสันดินที่อยู่ในแนวลำน้ำ และ “ลานตะพักลำน้ำ” คือที่ลาดเชิงเขาหรือพื้นที่ดอนสูง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วม
ตัวอย่างของเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ในอดีตที่ตั้งอยู่บนสันดินธรรมชาติริมน้ำ คือ กรุงศรีอยุธยา ส่วนเมืองหลวงที่ตั้งอยู่บนลานตะพักลำน้ำคือกรุงสุโขทัย รวมทั้ง นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ด้วย
เมื่อเอ่ยถึงทำเลที่ตั้งกรุงสุโขทัยนั้น คงต้องกล่าวถึงพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งพระองค์ทรงมีบทบาทอย่างยิ่งในการจัดการน้ำ โดยกรุงสุโขทัยนั้นตั้งอยู่บนลานตะพักน้ำใกล้ภูเขา มีการสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในเมือง มีการทำทำนบกักเก็บน้ำที่ไหลจากลำธารบนภูเขา ก่อนที่จะทดน้ำผ่านลำคลองเข้าไปหล่อเลี้ยงเมือง ที่รู้จักกันดีคือทำนบพระร่วงหรือสรีดภงส์เพื่อทดน้ำผ่านคลองเสาหอลงไปเลี้ยงเมืองสุโขทัยถือเป็นการจัดการน้ำที่ดีมาก เพราะนอกจากจะป้องกันน้ำท่วมเมืองแล้ว ยังสามารถใช้น้ำเพื่อการเกษตรกรรมและบริโภคได้ตลอดทั้งปี
เช่นเดียวกับการสร้างเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่โดยพญามังราย ซึ่งสร้างขึ้นหลังกรุงสุโขทัย โดยพญามังรายได้เชิญพระสหาย ๒ พระองค์คือ พ่อขุนงำเมืองเจ้าเมืองพะเยา และพ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยมาร่วมวางแผนก่อสร้างด้วย เนื่องจากเวียงกุมกามที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นนั้น ถึงแม้ว่าจะอยู่บนสันดินธรรมชาติริม
แม่น้ำปิง แต่ภายหลังแม่น้ำปิงเปลี่ยนทิศทางทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ จนเวียงกุมกามไม่เหมาะที่จะเป็นเมืองสำคัญอีกต่อไป
กษัตริย์ทั้ง ๓ พระองค์ คือพญามังราย พญางำเมืองและพญาร่วงหรือพ่อขุนรามคำแหงนั้นเป็นพระสหายกันมายาวนาน โดยทั้ง ๓ พระองค์ต่างสำเร็จการศึกษาวิชาการสร้างและปกครองเมืองมาจากเมืองละโว้ ซึ่งเคยอยู่ภายใต้การปกครองของขอม จึงมีความรู้ในเรื่องการวางผังเมืองและการจัดการระบบชลประทานอย่างดี
นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ถูกสร้างขึ้นบนทำเลที่เป็นลานตะพักน้ำ ซึ่งเป็นที่ลาดเชิงดอยสุเทพ เมื่อถึงฤดูฝนน้ำที่ไหลลงมาจากดอยจะถูกกักเก็บไว้ที่เวียงเจ็ดลิน ปัจจุบันคืออ่างแก้วที่อยู่ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อนที่จะมีการชักน้ำผ่านคูน้ำซึ่งจัดทำเป็นทำนบต่างระดับลงมาเรื่อยๆ และมาลงยังเมืองเชียงใหม่ ตรงมุมกำแพงที่แจ่งหัวรินเพื่อระบายเข้าคูเมือง น้ำส่วนเกินจะไหลล้นออกไปทางลำน้ำแม่ข่าก่อนจะลงสู่แม่น้ำปิงต่อไป
ส่วนกรุงศรีอยุธยานั้น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ พระเจ้าอู่ทอง ได้ตัดสินพระทัยย้ายกรุงศรีอยุธยาจากเมืองอโยธยา ข้ามแม่น้ำมาอยู่บนเกาะซึ่งมีลักษณะเป็นสันดินธรรมชาติริมลำน้ำขนาดใหญ่พอสมควร มีแม่น้ำ ๓ สายล้อมรอบคือแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสักและแม่น้ำน้อยโดยเมื่อสร้างเมืองครั้งแรกนั้น ได้สร้างคันดินสูง ๒-๓ เมตร เพื่อเสริมเป็นพนังกั้นน้ำก่อนที่จะปักเสาไม้ระเนียดด้านบนคันดินเพื่อใช้ประโยชน์เป็นกำแพงเมืองอีกด้วย โดยในบริเวณเกาะมีการขุดคูคลอง ทั้งแนวเหนือสู่ใต้และตะวันออกสู่ตะวันตกตัดกันหลายสายเพื่อใช้หล่อเลี้ยงพื้นที่รวมทั้งเป็นช่องทางระบายน้ำลงสู่แม่น้ำด้วย จวบจนมาถึงสมัยของสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ กำแพงดินดังกล่าวจึงถูกสร้างเป็นกำแพงก่ออิฐหนา ๓ เมตร มีความสูงราว ๖ เมตรนอกจากใช้ในการป้องกันน้ำท่วมเกาะเมืองแล้ว ยังใช้ในการป้องกันศัตรูได้ดีขึ้นด้วย
ศึกสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยาและอาณาจักรหงสาวดีเกิดขึ้นหลายครั้ง โดยเกือบทั้งหมดฝ่ายหงสาวดีจะเป็นผู้รุกราน เช่น พระเจ้าตระเบ็งชะเวตี้ยกทัพใหญ่มาตีแต่ไม่สำเร็จ แล้วต่อมาพระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์พม่าที่ได้ชื่อว่าผู้ชนะสิบทิศ ก็ได้ยกทัพมาโดยอ้างว่าเพื่อขอช้างเผือก ซึ่งนำมาสู่การเสียอิสรภาพของชาติ ส่วนใหญ่กองทัพพม่าจะยกมาในช่วงฤดูหนาวและเข้าตีกรุงศรีอยุธยาในช่วงฤดูร้อน หากศึกสงครามยืดเยื้อก็จะถึงฤดูน้ำหลากที่ทำให้กองทัพของพม่าประสบปัญหาอยู่เสมอมา จึงนับว่าทำเลที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยาที่อยู่บนเกาะเมืองนั้น ได้ช่วยกรุงศรีอยุธยาในการศึกสงครามได้พอสมควร
ปฏิเสธไม่ได้ว่า น้ำคือสิ่งสำคัญที่สุดในการดำรงชีวิตของมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ การใช้ประโยชน์จากน้ำจึงต้องมีวิธีจัดการให้ดีที่สุด และก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าน้ำนั้นต้องขึ้นกับป่าหรือต้นไม้จำนวนมากนั่นเองในการที่จะรักษาสมดุลของธรรมชาติ พื้นที่ใดขาดน้ำมากก็จะแห้งแล้งจนถึงกับอาจกลายเป็นทะเลทราย ในขณะเดียวกันพื้นที่ใดที่ขาดป่าหรือป่าถูกทำลายก็จะไม่มีสิ่งใดที่จะดูดซับน้ำไว้ไม่ให้ไหลหลาก ทำให้เกิดปัญหาได้มากมาย
ถึงแม้มนุษย์จะมีสมองอันชาญฉลาดที่ธรรมชาติให้มา แต่ก็อย่าหวังว่าจะเอาชนะธรรมชาติได้ ควรต้องคิดให้ออกว่าจะใช้สมองจัดการให้เกิดสภาพสมดุล ของน้ำกับป่าได้อย่างไร
การเกิดสภาวะลานีญ่าในปีนี้ ทำให้ปริมาณน้ำฝนมากขึ้นอย่างผิดปกติ รวมทั้งในประเทศเพื่อนบ้านด้วย จากการที่ป่าจำนวนมากโดยเฉพาะทางภาคเหนือได้ถูกทำลายโดยฝีมือของมนุษย์ที่หวังแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว จึงทำให้ไม่มีต้นไม้ที่จะอุ้มน้ำไว้ได้ เมื่อเกิดฝนตกจำนวนมาก ทำให้น้ำจำนวนมากเซาะทำลายผิวดินจนเกิดการถล่มของแผ่นดินเชิงเขาหลายๆ แห่ง และน้ำจำนวนมหาศาลนั้นก็พัดพา ดินโคลนลงมาท่วมพื้นที่ราบมากมายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
โดยเฉพาะเหตุการณ์น้ำท่วมที่อำเภอแม่สายและอำเภอเมืองของจังหวัดเชียงราย ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่าเมื่อน้ำลดแล้วจะเห็นภาพของดินโคลนจำนวนมหาศาลตกค้างอยู่ในทุกพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นท้องถนนหรือบ้านเรือนของประชาชนที่ถูกกองดินโคลนท่วมสูงเกือบถึงเพดาน และสิ่งที่เกิดขึ้นนี้อย่าได้โทษธรรมชาติเลย ต้องโทษมนุษย์เรานั่นแหละ
ถึงแม้ประเทศไทย จะมีเขื่อนขนาดใหญ่และเล็กหลายแห่ง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งและยังป้องกันน้ำท่วมได้เป็นบางส่วนด้วยก็ดี แต่ถ้าน้ำมีปริมาณมาก ก็ยากที่จะป้องกันน้ำท่วมได้ การสร้างกำแพงกันน้ำตามริมแม่น้ำใหญ่หลายๆ แห่ง รวมทั้งแม่น้ำเจ้าพระยาในส่วนใกล้กรุงเทพฯ ในที่สุดก็ไม่อาจจะป้องกันน้ำท่วมได้ ไม่ต้องพูดถึงกระสอบทรายที่เอามาทับถมกันบริเวณชายฝั่งเมื่อน้ำท่วมสูงขึ้นก็พังทลายไปหมด
น้ำท่วมในปีนี้ก็จะยังมีอยู่ต่อไป เช่น ที่เกิดขึ้นจังหวัดเชียงใหม่ขณะนี้ รวมทั้งบางพื้นที่ในภาคเหนือเช่นแม่สายก็เกิดน้ำหลากท่วมรอบที่ ๒ เช่นกัน ส่วนจังหวัดที่อยู่ทางใต้ลงมาก็เตรียมรับน้ำท่วมได้เลย เพราะมวลน้ำจำนวนมหาศาลจากภาคเหนือในที่สุดก็จะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาลงมายังภาคกลาง และในที่สุดก็จะไหลลงสู่กรุงเทพฯและปริมณฑล และหากมีพายุหรือฝนตกหนักในระยะนี้อีก ก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงน้ำท่วมได้
ประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ตามแนวลำน้ำ จึงต้องเตรียมพร้อมที่จะช่วยเหลือตนเองให้มากที่สุด อย่าได้เรียกร้องอะไรจากรัฐบาล ที่ไม่สามารถบริหารจัดการด้านการเงินการคลังของประเทศได้ดี จนขณะนี้หนี้สาธารณะเกือบแตะเพดานสูงสุดแล้ว และไม่สามารถที่จะมีงบประมาณเพียงพอในการดำเนินการทั้งในการป้องกัน ตั้งรับ แก้ไขและเยียวยาปัญหาน้ำท่วมให้ดีได้อย่างแน่นอน
คงเป็นเรื่องที่ต้องจดจำว่า เมื่อใดก็ตามที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นสตรีเพศที่ขาดประสบการณ์ เมื่อนั้นจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ เหตุการณ์ในปี ๒๕๕๔ เป็นสิ่งที่คนไทยจดจำได้ดี และก็คงจะเช่นเดียวกันกับเหตุการณ์ในปี ๒๕๖๗ นี้ ซึ่งก็น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจว่า ประเทศไทยเราควรจะให้สตรีที่ขาดประสบการณ์ครองเมืองหรือไม่
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี