กรณีน้ำท่วม กระทบปางช้างในพื้นที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
ปางช้างหลายสิบแห่ง ได้รับผลกระทบหมด แต่ที่มีช้างถูกน้ำพัดไปเสียชีวิต คือ ปางช้าง Elephant Nature Park หรือชื่อย่อคือ ENP
ซึ่งใช้วิธีเลี้ยงช้าง ดูแลช้าง แตกต่างจากที่อื่น
เรียกว่า มีจุดเด่น จุดขายที่มีความแตกต่าง คือ พยายามขับเน้นการให้ช้างอยู่อย่างเสรี มีคอกกว้าง ไม่มีล่ามโซ่ ไม่ให้ควาญใช้ตะขอฝึกช้างควบคุมช้าง ซึ่งถูกใจชาวต่างชาติและเอ็นจีโอระหว่างประเทศ รวมถึงคนที่สงสารช้างจำนวนไม่น้อย ซึ่งตอบสนองด้วยการท่องเที่ยว การซื้อสินค้า การบริจาคเงินสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ ฯลฯ
แต่จุดขายดังกล่าว กลายมาเป็นจุดตายในยามวิกฤต หรือไม่?
เมื่อวาน ได้ให้ข้อมูลการดำเนินการรับวิกฤตที่คุณแสงเดือน ชัยเลิศ ผู้บริหารปางช้างดังกล่าวไปแล้ว
ขณะที่หมอมามี-สพ.ญ.นฤพร กิตติศิริกุล ทีมสัตวแพทย์หมอช้าง เปิดใจชัดเจนว่าช้างที่เติบโตมากับแนวคิดที่ว่าห้ามใช้อุปกรณ์อะไรจับ แตะ สัมผัส ออกคำสั่ง ทำให้เมื่อเห็นเชือก ขอ โซ่ ก็ตั้งป้อมใส่คนที่เข้ามาแล้วว่าจะอันตราย ก็ตั้งท่าเตรียมสู้กลับ ควาญช้างที่ได้รับมอบหมายให้จัดหญ้า และทำความสะอาดคอกช้าง โดยไม่สามารถขี่ ฝึกฝนให้ช้างเคยชินกับน้ำเสียง และคำสั่งพื้นฐานได้เลย ไม่สามารถควบคุมให้ช้างเดินตาม หรือพาไปผูกมัดยังที่ปลอดภัยได้ นั่นคือ ข้อจำกัดอย่างหนึ่งในการช่วยเหลือที่สำคัญมาก
ประเด็นสำคัญเพิ่มเติม มีดังต่อไปนี้
1.ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง The Thai Elephant Conservation Center Lampang สรุปบทเรียน โพสต์เป็นบันทึกเตือนความจำ ระบุว่า
“...กันยายนต่อเนื่องถึงตุลาคม ฝนตกต่อเนื่องจนเกิดมวลน้ำจำนวนมหาศาลจากต้นน้ำแม่แตง ไหลเข้าสู่ลำน้ำแม่แตง สายน้ำแห่งการท่องเที่ยวธรรมชาติของเชียงใหม่ ที่ตลอดสองข้างลำน้ำมีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก รวมทั้งปางช้างต่างๆ เรียงรายตลอดลำน้ำแม่แตง
ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา จากรายงานของสถาบันคชบาลแห่งชาติ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (๒๕๕๘-๒๕๖๗) พบว่ามีปางช้างถึง ๔๙ ปาง (ช้างจำนวน ๕๔๖ เชือก)
เหตุระทึกเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่บ่ายวันพฤหัสบดีที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๗ มวลน้ำจำนวนมากไหลบ่าล้นตลิ่งทั้งสองฝั่งของลำน้ำแม่แตงอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่องจนถึงเช้ามืดวันศุกร์ น้ำเพิ่มระดับอย่างรวดเร็ว
ช้างส่วนใหญ่ถูกอพยพนำขึ้นไปผูกล่ามไว้ในที่สูง
ในขณะที่ปางช้างขนาดใหญ่ (มีช้างมากกว่าหนึ่งร้อยเชือก) ของมูลนิธิช้างและสิ่งแวดล้อม ยังคงสาละวนและพยายามขนย้ายช้างและสัตว์อื่นๆ อีกนับพัน อาทิสุนัข แมว แพะ โค กระบือ และสุกร ซึ่งยังคงไม่ทันการณ์ เป็นผลให้มวลน้ำจำนวนมหึมาไหลเข้าสู่ปางช้าง (ระดับน้ำสูงมากกว่า ๑.๕-๒.๐ เมตร เมื่อประเมินด้วยสายตา) การขนย้ายช้างนับร้อย เป็นเรื่องที่ยากและสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียมาก ทั้งชีวิตคนและช้าง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อช้างเหล่านี้มิได้ถูกฝึกหรือสื่อสารกับคนเลี้ยงอย่างใกล้ชิดมาก่อน
เราเริ่มจับตาอย่างใกล้ชิดว่าจะพอช่วยเหลือสนับสนุนอะไรได้บ้าง
คณะของสถาบันคชบาลแห่งชาติ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เริ่มเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องเมื่อเช้าตรู่ของวันศุกร์ จากการร้องขอของเจ้าหน้าที่มูลนิธิทางโทรศัพท์ โดยเบื้องต้นรับทราบมาว่าให้ช่วยเคลื่อนย้ายและดูแลช้างเพศผู้ที่ยังอยู่ในคอก แต่ไม่สามารถออกมาได้ ในขณะที่ระดับน้ำกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว คณะทำงานถูกตามตัว รวมทีมและประชุมอย่างเร่งด่วน และออกเดินทางในช่วงสายของวันนั้น
เมื่อแรกไปถึง พบว่า เส้นทางเข้าถึงปางช้างถูกตัดขาด ท่ามกลางกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก การติดต่อด้วยโทรศัพท์ไม่สามารถทำได้ ต้องสื่อสารผ่านวิทยุสื่อสารคลื่นสั้นเท่านั้น คณะจึงต้องรอจนถึงบ่ายแก่ๆ จึงได้เรือจากหน่วยกู้ภัย จ.กาฬสินธ์ุ ข้ามน้ำเพื่อไปดูช้างตัวผู้ในคอกต่างๆ เพื่อประเมินสถานการณ์
เราพบว่าช้างตัวผู้ยังอยู่ครบทั้งสิบเชือก ในสภาพที่ช้างลอยคออยู่ภายในคอก
แต่ที่แปลกใจ คือ ยังมีช้างตัวเมียอีกหลายสิบเชือกติดค้างอยู่ในคอกด้วย บ้างก็พิการขาเป๋ ตาบอด และยังทราบอีกว่าช้างอีกหลายเชือกได้สูญหายลอยไปกับน้ำด้วย เมื่อช่วงก่อนหน้า ซึ่งต่อมาพบซากของช้างฟ้าใส(วันเฉลิม)และพลอยทอง เป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่งต่อการสูญเสีย
คณะจึงตัดสินใจแบ่งทีมงานออกเป็น ๒ ทีมเพื่อช่วยเหลือช้างให้ครอบคลุมทั้งสองกลุ่ม การดำเนินการในภาวะวิกฤตและเร่งด่วนเช่นนี้ โดยหลักการแล้ว หากพบว่าช้างกับควาญสามารถสื่อสารกันได้ก็จะให้ควาญช้างเป็นผู้นำและกำหนดทิศทางการเดินของช้างเพื่อความปลอดภัย เพราะช้างเองมักเดินเฉพาะเส้นทางที่เคยชิน ซึ่งในกรณีนี้ช้างมักคุ้นชินกับการเดินแบบอิสระในทุ่งกว้างที่อยู่ติดกับน้ำแม่แตง ที่กำลังไหลเชี่ยว นับว่าอันตรายอย่างยิ่ง ฉะนั้นจึงจำเป็นที่ช้างเหล่านี้จะต้องมีควาญเป็นผู้ควบคุมทิศทาง
ในกรณีช้างเพศเมียหรือช้างที่ไม่ดุร้าย หากช้างกับควาญมิได้มีปฏิสัมพันธ์กันมาก่อน หรือมีแต่เพียงเล็กน้อย ในทางทฤษฎีที่มีการเคลื่อนย้ายช้างป่ามักวางยาซึมและนำทางด้วยผ้าพรางแสงตลอดทางเดินเพื่อนำช้างไปยังจุดที่ต้องการ แต่ในกรณีนี้มีน้ำท่วมสูงจึงค่อนข้างเสี่ยงที่จะวางยาซึม (ยาซึมช้างมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อ ทำให้งวงตกลงสู่พื้น) โดยในวันนั้นคณะทำงานที่ประกอบด้วยสัตวแพทย์ ควาญช้างจากสถาบันคชบาลแห่งชาติ ควาญพี่เบิ้ม(ปางที่อยู่ติดกัน) และภัทรฟาร์ม ซึ่งมีความชำนาญ ร่วมกับควาญช้างของมูลนิธิ ช่วยกันควบคุมและกำหนดเส้นทางด้วยเชือกให้ช้างเดินไปยังจุดที่ปลอดภัย แต่ก็ทุลักทุเลพอควร ด้วยเพราะควาญกับช้างสื่อสารกันแทบไม่รู้เรื่อง วันนั้นทีมเราช่วยเหลือช้างตัวเมียได้บางส่วนจนกระทั่งมืดค่ำจึงยุติภารกิจในเวลา ๑๙.๓๐ น.
ในกรณีช้างเพศผู้ เราไม่สามารถวางยาซึมช้างในขณะที่ยังอยู่ในน้ำได้ ซึ่งจากข้อมูลที่ทีมงานได้รับพบว่าช้างทุกเชือกไม่เคยผ่านการฝึก และบางเชือกมีประวัติทำร้ายคนมาก่อน
จึงเกิดคำถามว่าหากเคลื่อนย้ายออกมาได้แล้วจะนำช้างไปผูกล่ามอย่างไร ที่ไหน ทั้งในภาวะซึมหรือปกติ ด้วยเพราะช้างไม่คุ้นเคยกับคนหรือช้างใดๆ ช้างแต่ละเชือกอยู่ตัวเดียวในคอกมานาน ซึ่งจากการประเมินพบว่าช้างทุกเชือกยังมีสภาพร่างกายปกติ (ยกเว้นพลายขุนเดชที่บาดเจ็บที่ขาหน้า)
ดังนั้น จึงใช้วิธีวางแท่นพยุงให้ช้างสามารถใช้งวงยึดพยุงมิให้จมน้ำ หากพบว่าระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก เพราะจากประสบการณ์ตรงของคณะทำงานพบว่าช้างมักลอยน้ำและอยู่ในน้ำได้นานถึง ๒ วัน ๑ คืนในสภาพน้ำนิ่ง โดยไม่เกิดอันตราย ซึ่งจากสภาพช้างภายในคอกพบว่ากระแสน้ำยังคงไหลแต่ไม่เชี่ยวมากนักเมื่อเทียบกับในลำน้ำ ช้างน่าจะยังพอพยุงตัวเองไว้ได้ในระยะเวลาหนึ่ง ด้วยเพราะธรรมชาติของน้ำทางภาคเหนือมักมาเร็วไปเร็ว ไม่น่าจะท่วมนาน เราจึงกำหนดให้ทำแพต้นกล้วยไว้ให้ช้างเพื่อช่วยพยุง ต้นกล้วยยังเป็นอาหารและมีน้ำช่วยประทังชีวิตให้ช้างได้อีกด้วย ทั้งนี้ให้เฝ้าระวังพลายขุนเดชเป็นพิเศษ
โชคดีในช่วงเย็นของวันเดียวกัน ระดับน้ำเริ่มลดระดับลง เป็นสัญญาณว่าน้ำน่าจะลดลงเป็นปกติในไม่ช้า
....วันนี้ฝนตกเบาบางลงแล้ว แต่หากเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันอีก การเรียนรู้บทเรียนและเตรียมแผนเผชิญเหตุทั้งของปางและผู้เกี่ยวข้องเป็นสิ่งที่ต้องจัดทำ
แม้ในวันนี้ ช้างบ้านของไทยจะมีสถานะเป็นทรัพย์สินของผู้ถือครองตามกฎหมาย (พ.ร.บ.สัตว์พาหนะ) แต่จากเหตุการณ์หลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ล้วนกระทบจิตใจคนไทยส่วนใหญ่ หลายส่วนยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองติดตามอย่างใกล้ชิด จึงเป็นสิ่งที่ทุกท่านพึงตระหนักให้ดีว่า “ช้าง” มีสถานะยิ่งกว่าทรัพย์สิน แต่เขาคือสิ่งที่มีคุณค่า ที่สูงค่าอันประเมินมูลค่ามิได้ ซึ่งเป็นสมบัติของคนไทยเราทุกคน..”
2. คุณกัญจนา ศิลปอาชา หรือ NuNa Silpa-archa ซึ่งเคยช่วยช้างมาหลายกรณี โพสต์ข้อความว่า
“ทุกคนที่เขาเข้าไปช่วย .. เขาทำเต็มกำลัง ด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวของปางเอกชนด้วยซํ้า เพราะสงสารสัตว์..
ทางคุณหมอคชบาล มช. ไปเต็มทีม ซึ่งดิฉันแทบไม่เคยเห็นการรวมพลังเต็มที่แบบนี้ ..
ทหาร กู้ภัยมาจากทุกสารทิศ..
ควาญเก่งๆของปางอื่นเข้าไปช่วยเต็มที่ ..
ทุกคนวางความคิดส่วนตัว มุ่งช่วยสัตว์…
ถ้าไม่มีคนนอกเหล่านี้เสี่ยงชีวิตเข้าไปช่วย ช้างจะล้มมากกว่านี้..
แต่เมื่อฟังการให้สัมภาษณ์หลายสื่อเมื่อวานนี้…ยอมรับว่า..อึ้ง…
ที่ทุกฝ่ายพยายามพูดให้เข้าใจ คือ ระบบการเลี้ยงที่เหมาะสม ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องโซ่ค่ะ…
ระบบที่ต้องมีควาญเข้าถึงได้ยามเกิดเหตุฉุกเฉิน ..
แม้เรื่องมากมายที่ดิฉันอยากพูด แต่ก็คงจบแล้ว…
ขอให้สัตว์ที่ต้องเสียชีวิตครั้งนี้สู่ภพภูมิที่ดีนะคะ…และดิฉันขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เข้าไปช่วยเหลือสัตว์ค่ะ เหนื่อยกันมาก…
เขาไม่ขอบคุณ..แต่ดิฉันขอบคุณ..”
3. ข้อสรุปที่น่าสนใจ จากผู้ติดตามข้อมูลทั้งสองด้านท่านหนึ่ง ให้ความเห็นน่าสนใจว่า
“จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทำให้เลือกข้างได้เลยว่า ถ้าใครเลือกจะเลี้ยงช้างแบบปล่อยอิสระ ก็ควรมีการฝึกฝนให้ช้างสามารถทำตามคำสั่งคนดูแลได้ ในกรณีที่ต้องเคลื่อนย้ายฉุกเฉิน หรือเกิดเหตุภัยธรรมชาติแบบนี้ ช้างเลี้ยงเค้าไปไม่เป็น เอาตัวเองไม่รอด มันอันตรายกับตัวช้างมากๆ
อย่างกรณีน้ำท่วมครั้งนี้ เห็นคลิป คนพยายามเอาไม้พายดักหน้าช้างที่กำลังว่ายน้ำด้วยความตกใจ
ได้ยินคนตะโกนเอาของที่ช้างเคยชอบเคยหลอกล่อเค้าได้ เค้าไม่สนใจเลย ลอยผ่านเรือลำนั้นไป ถ้าไม่มีเรืออีกลำเข้ามาประกบช้าง ไม่รู้จุดจบจะเป็นแบบไหน
และที่สะเทือนใจที่สุด คือ ช้างพลาย 7 เชือกที่เจ้าของตัดใจให้ต้องลุ้นเอาว่าช้างจะรอดหรือร่วง เพราะช้างไม่เคยถูกฝึกถูกสอนการสื่อสารกับคน
โชคดีที่น้ำลดเร็ว ถ้าน้ำมาแบบเชียงราย เราทุกคนคนได้เห็นภาพที่เศร้าใจกันมากกว่านี้
ถ้าปรับแล้วดีกับช้าง ก็ปรับเถิดนะคะ เอาเหตุการณ์ครั้งนี้มาเป็นบทเรียน
อย่าให้ 2 พังต้องล้มไปเปล่าๆ...”
ตอกย้ำว่า เจ้าของปางที่เกิดความสูญเสีย นอกจากความเศร้าเสียใจแล้ว ก็ต้องตั้งสติ ฉุกคิดเหมือนกันว่า ทำไมปางอื่นไม่สูญเสียแบบนี้ ปางของตนเองมีอะไรบกพร่อง ต้องแก้ไข?
ส่วนที่เคยเป็นจุดขาย (แม้จะตั้งใจหรือไม่) ได้กลายเป็นจุดตายในยามวิกฤติ จะแก้อย่างไร?
ด้วยความปรารถนาดี
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี