ประเด็นเรื่องช้าง ควรต้องฟังควาญช้าง
ไม่ใช่เชื่อถือแต่ความคิดแบบฝรั่งตะวันตก ซึ่งกลุ่ม NGO ช้างเครือข่ายฝรั่ง หากินกับฝรั่ง สร้างกรอบความคิดหวังครอบให้โลกต้องเป็นไปตามแนวที่ตัวเองอยากจะให้เป็น
ทั้งๆ ที่ การเลี้ยงช้าง อยู่ในสังคมวัฒนธรรมไทยยาวนาน มีภูมิปัญญา มีวิถีและวิธีการเลี้ยงที่คนกับช้างผูกพันกัน เหมือนญาติในครอบครัว
ต่างจากสังคมวัฒนธรรมฝรั่ง โดยเฉพาะลูกหลานของนักล่าอาณานิคม
นี่คือข้อมูลและมุมมองจากบุคคล 2 คน ที่มีถิ่นกำเนิดแตกต่าง แต่ล้วนเข้าใจในความเป็นจริงเรื่องช้างอย่างลึกซึ้ง
1. “ลูซี่ เมโล่”
คุณ Supanut Benjadumrongkit ได้เล่าถึง “หัวใจสำคัญของการดูแลช้างแบบฉบับควาญช้างและซูคีปเปอร์”
นี่คือแบบฝรั่งเข้าใจโลกความจริง
บางส่วน ระบุว่า
“...ซูคีปเปอร์หญิงที่ชื่อ “ลูซี่ เมโล่” กับช้างน้อยที่ชื่อว่า “ชัฟเฟิ้ล” หรือชื่อเดิมคือน้องปาฏิหาริย์
ทั้งสองอยู่ที่สวนสัตว์ทารองก้า เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย
เป็นภาพตัวอย่างว่า คนที่ดูแลช้างกับช้างต้องเข้ากันให้ได้ คนดูแลช้างต้องเซฟตัวเองมีการพกตะขอ และการดูอารมณ์
ขณะเดียวกันช้างก็ต้องเชื่อใจและไว้ใจผู้ดูแลด้วยเช่นกัน
หลายคนอาจมองว่า การใช้ตะขอกับช้างดูโหดร้าย ป่าเถื่อน แต่จริงๆ มันคือข้อผูกมัดที่ทำให้คนกับช้างเข้ากันได้
ในปัจจุบัน การเลี้ยงดูช้างมีหลายรูปแบบมาก ทั้งในสวนสัตว์ ปางช้าง และศูนย์ดูแลสัตว์ป่า จะเป็นช้างแอฟริกาหรือช้างเอเชีย จะเป็นควาญหรือซูคีปเปอร์ ต่างก็ต้องมีธรรมเนียมและการปฏิบัติที่เป็นหลักสากล แม้ดูโหดร้ายและไม่น่ามองก็ตามที แต่มันคือสิ่งที่ทำให้คนกับช้างเข้ากันได้ในสถานที่เดียวกัน
4 หัวใจสำคัญในการดูแลช้าง
1.คนต้องควบคุมช้างได้ : ตราบใดที่ช้างเกิดคลุ้มคลั่งหรือควบคุมไม่อยู่ จำเป็นต้องมีการควบคุมและฝึกฝนทักษะคำสั่งพื้นฐานที่ทำให้ช้างเข้าใจ หรือข้อตกลงคนกับช้างในแง่ความใกล้ชิดสนิทกัน หากปราศจากคนควบคุมในสถานที่เกี่ยวข้องกับช้าง ช้างเองนี่แหละที่เป็นปัญหาใหญ่ในสถานการณ์คับขันได้
2.คนต้องรู้จักนิสัยช้างดี : ควาญและซูคีปเปอร์ต้องเข้าใจนิสัยช้างแต่ละเชือกรู้ความต้องการและการเอาใส่ใจประหนึ่งเหมือนญาติพี่น้องหรือเพื่อนร่วมงานที่อยู่ด้วยกันในที่เดียวกัน คนต้องเอาใจช้างแบบกลางๆ ไม่ตามใจเกินไป เพราะถ้าไม่เข้าใจนิสัยช้างเชือกนั้นๆ ก็จะเหมือนข้อแรกที่เราจะควบคุมช้างไม่ได้
3.ช้างต้องกินดีอยู่ดีแต่ควรพอดีไม่มากไปหรือน้อยไป : ทุกวันนี้หน่วยงานดูแลช้างในประเทศไทยก็ให้ความสำคัญในเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพ การออกกำลังกายที่เหมาะสม อาหารการกิน ที่อยู่อาศัย และสวัสดิภาพอันดีต่อช้างเรื่องการท่องเที่ยวและความเป็นอยู่ ไม่ใช่ว่าช้างใช้ชีวิตโดยที่ไม่ได้ทำอะไรเลยก็มีผลกับชีวิตได้
4.ช้างต้องรู้สึกปลอดภัย : แม้ช้างจะปลอดภัยในที่เลี้ยง แต่ต้องปลอดภัยจากทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นหมุนเวียน ไม่ว่าจะเรื่องใกล้ตัวอย่างปัญหาจากคนที่มาใกล้ช้าง หรือปัญหาใหญ่ๆทั้งปัญหาน้ำท่วม ไฟป่า ภัยแล้ง โรคระบาด แมลงสัตว์กัดต่อย เศรษฐกิจ และอื่นๆอีกมากมาย ช้างต้องรู้สึกปลอดภัย
ความคิดเห็นเรื่องปางช้างแต่ละแบบ
- เมื่อก่อนบิวคุงเป็นคนที่ค่อนข้างจะแอนตี้เรื่องการขี่ช้างและแสดงช้าง โตมากับคำว่า“ช้างไทยเป็นทาสการท่องเที่ยว” “ช้างไทยไม่มีอิสรเสรี”
แต่มาปัจจุบันนี้ ก็เข้าใจใหม่ว่า หน่วยงานปางช้างทุกวันนี้มีการจัดการดีขึ้น ช้างไม่แสดงความเครียดมากนัก แม้มีบางแห่งที่ใช้ความรุนแรงกับช้าง แต่เขาก็ทำงานกันทั่วถึงครอบคลุมกันหมดเพื่อจัดการปัญหาจากคนไม่กี่คนที่ทำให้การดูแลช้างถูกมองในแง่ลบ
- ปางช้างลักษณะ Elephant sanctuary ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของการเลี้ยงดูช้างแบบเชิงนิเวศ แต่แนวคิดที่มองด้านลบต่อปางช้างหรือสวนสัตว์อื่นๆที่ว่าเลี้ยงช้างด้วยวิถีดั้งเดิม อันนี้ไม่โอเคเท่าไร ต่อให้ PETA พยายามจะ Woke การเลี้ยงช้างแบบไร้โซ่ ไร้ตะขอ และไร้การควบคุม มันเป็นไปได้ยากมากครับ แล้วจะรู้ว่าช้างที่ไม่มีการควบคุมน่ะน่ากลัวขนาดไหน
- ถึงต่างชาติยุคใหม่จะพยายาม Woke ให้ช้างมีสิทธิเท่าเทียมกับคน มองว่าการล่ามโซ่ไม่ต่างกับการล่ามทาสในยุคค้าทาสในแอฟริกาและแคริบเบียน หรือการใช้ตะขอคือการทารุณกรรมไม่ต่างกับการลงแส้
แต่หากมองว่า ช้างคือหมาพันธุ์ใหญ่ละ ถ้าหมาพันธุ์ใหญ่ไร้การฝึกและการควบคุมที่ถูกต้องขาดการถูกจูงหรือสั่งบังคับ หมาใหญ่ก็ขาดวินัยอาจก่อเรื่องกัดคนตายได้ ช้างก็เช่นกัน
มันคือเทคนิคในการดูแลและควบคุมสัตว์ที่มนุษย์ทำมานาน 4,000 ปีแล้ว...
- ทุกวันนี้ เราควรมองช้างเลี้ยงและช้างป่าแยกกัน ชีวิตของทั้งสองคนละแบบกัน
ช้างป่ามีอิสรเสรีอันยิ่งใหญ่ในพงไพร ก็คือส่วนของช้างป่า
ช้างเลี้ยง เป็นเชื้อสายที่ผูกพันกับมนุษย์แบบมีเงื่อนไขที่ทั้งสองฝ่ายต้องเข้าใจกันและกันมาช้านานแล้ว
การเปลี่ยนวิถีแบบสุดโต่งอาจนำพาให้เกิดปัญหาได้ แต่ถ้าผสมผสานวิถีชีวิตด้วยกัน มันคือหนทางที่ทำให้ทั้งคนและช้างอยู่ร่วมกันได้”
2. “พฤ โอโดเชา”
ชายคนนี้ เป็นชาวปกาเกอะญอ มีบทบาทเคลื่อนไหวสิทธิชาติพันธุ์ เคารพวิถีดำรงชีวิตอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ ตามวิถีกะเหรี่ยง
เขาได้โพสต์อธิบายถึงความรู้เรื่องอุปกรณ์ สะท้อนความจริงที่ควาญช้างอยากเล่า เพื่อมาเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน
บางส่วน ระบุว่า
“..อุปกรณ์สื่อสารกับช้างเหล่านี้ทารุณช้างจริงหรือ หรือชาวโลกยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับวิถีช้างที่แท้จริง จากคนเคยเลี้ยงช้าง
วิธีอุปกรณ์ 7 อย่าง ที่ชาวฝรั่งชาวเมืองกล่าวหาว่าทารุณช้าง ข้อ 1-7 ครับ 1.พ่อครูผู้ฝึกลูกช้างเข้าคอตให้รู้จักภาษาและเครื่องมือสื่อสารกับมนุษย์ (ข้อนี้ใช้ทั้งพลังกายใจของคนกับลูกช้างหนักที่สุด) 2.ขะโบ๊ะ(ตะขอ) 3.ดอ(มีด) 4.ปลีทะ(โซ่ที่ใช้ผูกช้างกับต้นไม้)
5.ข่าแบ๊ะ(ตะขอค้องหูช้างเพื่อจูง) 6.เซาะเกอะชอจื้อ(โซ่รัดแขนช้างเหมือนใส่กุลแจมือคนเพื้อมิให้ช้างเดินหากินจนใกลเกิน) 7.เซาะเกอะชอแสว่(กระจับรัดแขน กันช้างบางตัวที่ส่ายหลังให้คนขี่ตก)
เหตุการณ์ครั้งนี้ ควรให้เกิดการจัดระบบ สวัสดิการให้ 1).ช้าง(เช่นแก่พิการอื่นๆ) 2).พ่อครูที่สอนช้าง 3). ควาญช้างที่ต้องดูแลช้าง 4). แพทย์สัตว์ที่คอยดูแลรักษาสุขภาพช้าง 4 กลุ่มนี้เป็นอย่างน้อยครับ
..ผมคนนึ่ง ที่ต้องมีอุปกรณ์พวกนี้ ช่วงดูแลช้าง ทุกอย่างอธิบายได้ แต่ไม่อธิบายกันทำไม
...อุปกรณ์เหล่านี้ จำเป็นสำคัญ มันเป็นเครื่องหมายหรือภาษาที่จำเป็นต้องใช้สื่อสารกับช้าง
ได้มีการฝึกให้ช้างเขารู้จักอุปกรณ์จากครูสอนช้าง ช่วงช้างยังวัยเด็ก ช่วงอายุ 2 ปี เพราะถ้าช้างแก่จะยิ่งสอนยากขึ้น เพื่อให้ลูกช้างทำตาม โดยแลกกับอาหารหญ้า กล้วย อ้อยเพื่อให้ลูกช้างทำตาม จดจำสารที่เราจะบอกกับช้าง
คือ ยอมให้ช้างฝึกหนักเจ็บตอนเด็กอาทิตย์ 2 อาทิตย์ เมื่อตอนโตช้างจะได้อยู่ร่วมกับสังคมมนุษย์ได้ง่าย มีอิสระทั้งชีวิตของช้าง
แม้จะถูกล่ามโซ่ หมายถึงผูกโซ่ไว้กับข้อมือช้าง 1 ข้าง แล้วนำปลายโซ่ไปผูกไว้กับต้นไม้หรือหลักสิ่งมั่นคง เพื่อมิให้ช้างต้องเพ่นพ่านตามใจ
เหมือนเราทำกรงกั้นลูกเล็กของเราไว้ เพื่อมิให้ลูกเราเผลอออกไปวิ่งเล่นที่ถนน ยามเรากำลังทอดไข่หรือทำธุระบางเวลา
เมื่อเราอยากปล่อยให้ช้างได้อิสระท่องเที่ยว เราก็แกะปลายโซ่ออก นำโซ่พับแล้วโยนโซ่ขึ้นพากที่หลังหรือคอโซ่ ช้างก็เดินไปได้อิสระ
แต่ถามว่าทำไมไม่แกะโซ่ออกที่แขน ต้องให้โซ่ติดตัวช้าง มีเหตุผลจำเป็น เหมือนเราเลี้ยงหมาทำไมต้องใส่ปลอกคอและผูกเชือกไว้ แล้วถึงจะกล้าพาเดินเที่ยวในที่สาธารณะ เพราะช่วงพาเที่ยว กลัวหมาจะวิ่งไปสร้างปัญหา แต่หมาตัวที่เชื่องอาจปล่อยเชือกที่ผูกหมาได้แต่มีเชือกหรือปลอกคอติดหมาไว้จะดีปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่า และยิ่งเป็นช้างยิ่งต้องจำเป็น
...แล้วทำไมต้องผูกโซ่ติดไว้ที่แขนช้างตลอด ถ้าเกิดเหตุอะไรฉุกเฉิน เราจับช้างได้ง่าย ลองคิดถ้าไม่มีเชือกผูกติดหมาไว้เกิดเหตุหมาวิ่งไปกัดหมาหมูของบ้านอื่น จะจับแยกให้เร็วทันเหตุการณ์อย่างไร มีน้ำท่วมมา เราจะจับหมาเพื่อย้ายหมาได้เร็วทันทีได้อย่างไร หรือทุกครั้งเราต้องเรียกแพทย์มายิงยาสลบแล้วถึงจะย้ายจับย้ายหมาได้ มันจะไม่ทันการ
แล้วช้างตัวใหญ่ แรงมาก หากเกิดเหตุฉุกเฉิน คนตัวเล็กแรงน้อยจะจับส่วนไหนไว้เพื่อหยุดช้าง จับมิให้ช้างวิ่งไปหากัน จับมิให้ช้างไปทำอันตราย ไม่มีเชือกผูกไว้ที่แขนช้าง เราจะจับส่วนไหนของช้างเพื่อหยุดเหตุ
...กลับกัน หากไม่ฝึกสอนช้างตอนเด็ก พอช้างโตขึ้น ทั้งชีวิตช้างตัวนั้นจะต้องถูกจองจำ ไม่ขังก็ต้องผูกไว้ตลอด ถ้าเชือกหลุดหรือ คอกพัง วุ่นกันทั้งปาง เพื่อจะไปจับช้างมาผูกไว้คืน เพื่อความปลอดภัยของตัวช้างเอง
การสอนฝึกช้างนั้น จึงมิใช่เรามีเจตนาที่จะทารุณกรรมช้างตามที่คนไม่รู้มองเห็นภาพและกล่าวหาว่าวิธีการของควาญช้างหรือวิธีการสอนลูกช้างจากครูฝึกสอนช้างเหล่านี้ เป็นการทารุณกรรช้างอย่างที่เข้าใจผิดกัน
เพราะการจะทารุณ ไม่ทารุณช้างนั้น อยู่ที่สำนึกหรือการเตรียมความเข้าใจให้ควาญช้างใหม่ให้มีจิตวิญญาณ สัญชาตญาณมีวิธีเทคนิค คุมอารมณ์ตัวเองได้ดีเข้าถึงช้างด้วย...
....การขาดข้อมูลที่จริงถูกต้องรอบด้าน จึงซ้ำเติมให้นักท่องเที่ยวไม่เห็นโลกช้างที่เป็นจริง เช่น เห็นว่าช้างคือของเล่นที่ปลอดภัย ไม่ควรมีอุปกรณ์ที่จะต้องมีข้อต่อสื่อสารกับช้าง อย่างที่เกิดขึ้นจนเกิดเหตุในทุกวันนี้มันเลยเถิดไป
ผมก็ยังสงสัยว่า ทำไมม้าตัวเล็กกว่าช้างหลายเท่า แต่คนขึ้นนั่งขี่ทั้ง 1 คนและ 2 คน แถมมีทั้งเบาะหลังคาบเหล็ก ให้วิ่งกระโดดข้ามโน่นนี่ แล้วไม่บอกกันว่าเป็นการทารุณทรมานสัตว์กันบ้างล่ะครับ เราน่าจะมีทางออกหรือคำอธิบายช้างได้นะ
...ผมคิดว่าปางช้างมากมาย ทำไมถึงเงียบ ต้องมีจุดกลัวหรือเกรงใจอะไรบางอย่างแน่ เช่น กลัวถูกกล่าวหาว่าตอนนี้ทารุณช้าง แล้วนักท่องเที่ยวรู้ แล้วจะไม่มาเที่ยว จึงปิดปากเงียบดีกว่า ซึ่งไม่เป็นประโยชน์กับช้าง ที่ชีวิตจริงจะต้องอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงอย่างไรเลย
สรุปเรื่องช้างยังมีอีกมากมายที่ถูกกดทับ ที่ยังไม่ปรากฏความจริงให้เห็น หลบเหมือนใต้ภูเขาน้ำแข็ง
แต่ถ้าจะให้ดี ทั้งกลุ่มคนโลกสวย และกลุ่มคนที่อยู่ในโลกของความเป็นจริง ไม่ควรจะมาขัดแย้งกันอย่างนี้ เพราะไม่เป็นประโยชน์กับช้างหรือควาญช้าง หรือระบบสวัสดิการของช้างเลย รวมทั้งภาพลักษณ์ของประเทศไทยด้วย
ความจริงอย่างไรก็ว่าไปอย่างนั้นจะดีกว่า และม้ายังสามารถนั่งได้ ทำไมช้างจะมีอุปกรณ์หรือเครื่องมือสื่อสารกับช้างในการดูแล เพื่อที่คนกับช้างจะได้อยู่ร่วมกันบ้างไม่ได้
ผมอยากชวนคิดถึงเครื่องมือเทคโนโลยีอะไรที่ จะทำให้มนุษย์มีเครื่องมือสื่อสารกับช้างเช่นใช้ AI ได้หรือเปล่า
คนที่ควรจะฟังเสียงของเขา ก็คือควาญช้างกับแพทย์ช้าง พ่อครูฝึกช้าง เพราะเวลาเกิดเรื่องอะไรกับช้างเราก็จะเรียกหา 3 คนนี้ก่อนว่าเขาอยู่ไหน เพื่อให้เขามาช่วยแก้ปัญหา
ขอให้ฟัง 3 คนนี้ดีๆ ครับ...”
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี