เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 348/2567 เรื่อง แต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติม โดยเนื้อหาระบุว่า
ตามที่ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 319/2567 เรื่อง แต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 16 กันยายน 2567 นั้น เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินและการขับเคลื่อนงานของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 จึงแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เพิ่มเติม เพื่อทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาและพิจารณาเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่างๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ดังนี้ 1.นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส
2.นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
1) ดร.รัชดา ธนาดิเรก อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า
“นายกฯแพทองธาร ทำเหมือนเพิ่งเกิดเมื่อวาน หรือความจำไม่ดี ถึงได้ตั้งคนนี้เป็นที่ปรึกษา เอามาเป็นด้วยคุณสมบัติอันควรด้านไหน “เผาเลยครับพี่น้อง เผา ผมรับผิดชอบเอง” แล้วอย่าไปแนะนำใครให้ออกมาเผาอีกล่ะ
2) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลตั้งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เกี่ยวข้องกับการตอบโต้เรื่องการชุมนุม หรือการเมืองโดยเฉพาะเลยหรือไม่ ว่า อันนี้อาจจะเป็นเวลาที่พอดีแต่ไม่เกี่ยวกัน เนื่องจากได้ทำงานร่วมกันในสมัยเป็นครอบครัวเพื่อไทย และเห็นความสามารถหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง การบริหารจัดการที่ให้คำปรึกษาตนมาโดยตลอดจึงคิดว่าไทม์มิ่งตรงนี้เหมาะกับนายณัฐวุฒิ ที่จะเข้ามาทำงานพอดี และนอกรอบได้พูดคุยปรึกษากันเรื่อยๆ และคิดว่าน่าจะทำประโยชน์ได้เยอะ
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามถึงเหตุผล ที่นายณัฐวุฒิ ยอมกลืนเลือดกลืนเนื้อ กลับมาทำงานกับรัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าว ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมหลายกลุ่ม ที่มาปักหลักชุมนุมร้องแก้ไขปัญหาต่างๆข้างทำเนียบรัฐบาล ซึ่งกีดขวางการจราจร นั้นได้มอบหมายให้นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไปเจรจาพูดคุยแก้ไขปัญหาต่อไป
3) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ขยับตัวในเรื่องนี้ทันที โดยเขาได้เปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ กกต. รีบทำการตรวจสอบตามหน้าที่และอำนาจว่า การแต่งตั้ง นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 319/2567 ลงวันที่ 16 กันยายน 2567 และการแต่งตั้ง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 348/2567 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2567 นั้น จะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่
4) นายเรืองไกร กล่าวว่า ตามแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 21/2567 วันที่ 14 สิงหาคม 2567 เป็นกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกรัฐมนตรี ถูกศาลวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ในฐานะนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5)
5) กรณีของนายเศรษฐา ต้องพ้นจากตำแหน่งมีมูลเหตุจาก การตั้งบุคคลเป็นรัฐมนตรี ทั้งที่บุคคลนั้นเคยถูกศาลมีคำสั่งลงโทษจำคุกมานานแล้ว กรณีดังกล่าวจึงเป็นการวินิจฉัยในทำนองที่ว่า การที่นายกรัฐมนตรีไปตั้งคนที่มีลักษณะเคยต้องโทษจำคุกดังกล่าว จึงถือว่านายกรัฐมนตรีมีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
นายเรืองไกรกล่าวว่า เมื่อนำแนวคำวินิจฉัยมาเทียบเคียงกับกรณีที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกคำสั่งแต่งตั้งนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ซึ่งเคยต้องคำพิพากษาศาลฎีกาให้ลงโทษจำคุกมาแล้ว และกรณีออกคำสั่งแต่งตั้งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ซึ่งเคยต้องคำพิพากษาศาลฎีกาให้ลงโทษจำคุกมาแล้วเช่นกัน กรณี จึงน่าจะเข้าข่ายเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) ตามมาได้ ตนจึงมีเหตุอันควรขอให้ กกต. รีบทำการตรวจสอบต่อไปโดยด่วน
นายเรืองไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า หาก กกต. ตรวจสอบแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องมีมูล ขอให้ กกต. รีบส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยโดยเร็ว ตามความในมาตรา 170 วรรคสาม พร้อมทั้งมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ตามความในมาตรา 82 วรรคสอง ด้วย
6) ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นั้น เคยถูก ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้จำคุก 2 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของณัฐวุฒิกับพวก มีพฤติการณ์ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองเป็นเรื่องร้ายแรง กรณีพามวลชนบุกบ้านสี่เสาเทเวศร์ ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ
7) แต่คดีที่เกี่ยวเนื่องกับวาทกรรมอมตะของณัฐวุฒิที่ว่า “เผาเลยครับพี่น้อง เผา ผมรับผิดชอบเอง” นั้น ต้องไปดูรายงานข่าวเมื่อวันที่ 16 ต.ค.2562 เมื่อเวลา 10.00 น.ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่ นายประสงค์กังวาฬวัฒนา เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท บางกอกสหประกันภัยจำกัด (มหาชน) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, กระทรวงมหาดไทย, นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล อดีต รมว.มหาดไทย, กระทรวงกลาโหม, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม และอดีต รมว.กลาโหม ยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์, นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.),นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. และ นพ.เหวงโตจิราการ แกนนำ นปช. เป็นจำเลยที่ 1-10 กรณีสืบเนื่องจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐทำการสลายการชุมนุม นปช. ที่ชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 ต่อมาเกิดเหตุการณ์เผาอาคารในหลายจุดทั่วกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยสำนวนนี้เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายกรณีเผาอาคารพาณิชย์ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ใกล้อาคารห้างสรรพสินค้าเซ็นเตอร์วัน และอาคารดอกหญ้า
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด ส่วนศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 8-10 (แกนนำ นปช.) ร่วมกันชำระเงินจำนวน 30,509,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 พ.ค. 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 8-10 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 638,710 บาท ให้แก่โจทก์ กับให้จำเลยที่8-10 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 50,000 บาท
และในที่สุด ศาลฎีกาได้พิพากษาแก้ให้จำเลยที่8-10 ร่วมกันชำระค่าอาคารพาณิชย์ที่พิพากษาพร้อมทรัพย์สินที่โจทก์เสียหาย จำนวน 21,356,650 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 พ.ค. 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับค่าขาดผลประโยชน์ 1,200,000 บาท เดือนละ 100,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 พ.ค. 2554) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระค่าอาคารพาณิชย์ที่พิพากษาพร้อมทรัพย์สินที่โจทก์เสียหายเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ ให้เสียค่าเสียหายได้ไม่เกิน 24 เดือน ให้จำเลยที่ 8-10 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนทรัพย์สินโจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความรวม 100,000 บาท
8) อนึ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2562 ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีเกี่ยวกับการวางเพลิงเผาทรัพย์ช่วงระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เมื่อปี 2553 โดยมีนางนุชทิพย์ บรรจงศิลป์ นายสิริเชษฐ์ สุขประสงค์ดี นางมนัสนันท์ สุขประสงค์ดี และบริษัทยูแอลซี ซอฟแวร์ เป็นโจทก์ที่ 1-4 ฟ้องจำเลย 11 คน ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ, กระทรวงการคลัง, กระทรวงกลาโหม กองทัพบก, นายจตุพร พรหมพันธุ์,นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง,นายทักษิณ ชินวัตร, กรุงเทพมหานคร และม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร
โดยโจทก์ฟ้องว่าได้รับความเสียหายจากการวางเพลิงเผาอาคาร จำนวน 3 คูหา ตั้งอยู่ที่บริเวณถนนราชปรารถ กรุงเทพมหานคร ในช่วงระยะเวลาที่มีการชุมนุมของกลุ่มนปช. เรียกค่าเสียหายทั้งสิ้น 385,920,800 บาท
ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และ กทม. ส่วนจำเลยคนอื่นยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน อย่างไรก็ดี ศาลฎีกาพิพากษากลับให้นายจตุพร พรหมพันธุ์,นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง อดีตแกนนำ นปช. ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,347,000 บาท และให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 2-3 เป็นเงิน 12 ล้านบาท และชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 6 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
9) นายเรืองไกร อาจต้องทบทวนคำร้อง หรือต้องยื่นคำพิพากษาของศาลในคดีเหล่านี้ด้วย เพื่อชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมที่เข้าข่ายขาดจริยธรรม ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา ก่อนจะยื่นให้ศาลตัดสินต่อไป หรืออย่างน้อยๆ ก็ควร “ขุดข้อมูล” เหล่านี้ ออกมาย้ำเตือนต่อสังคม พร้อมกับติดตามความคืบหน้าว่า นายณัฐวุฒิได้ชดใช้เงินตามคำสั่งศาลจนครบถ้วนแล้วหรือไม่ และสอดคล้องกับ “บัญชีทรัพย์สิน” ที่ยื่น ตอนมีตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่อย่างไร
เมื่อจะเป็นนักร้อง ต้องร้องให้ถ้วนถี่
ขออย่างเดียว อย่าร้องว่า “เผาเลยครับ พี่น้อง เผา ผมรับผิดชอบเอง”
เพราะมีคน “ปากพาซวย” เป็นตัวอย่างให้เห็นแล้ว ว่าท้ายที่สุด ได้ทำร้ายบ้านเมืองอย่างไร”
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี