บรรดาที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี หรือจะเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี สุดแต่ชื่อตำแหน่งจะเรียกกันนั้น
มีบางคนที่เป็นเชื้อมูลเหตุ นำไปสู่การร้องตรวจสอบ
1. ล่าสุด นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ร้องให้ กกต.ตรวจสอบ กรณีนายกฯ อุ๊งอิ๊งค์แต่งตั้ง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 319/2567 ลงวันที่16 ก.ย.2567 และการแต่งตั้ง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 348/2567 ลงวันที่ 4 ต.ค.2567 นั้น จะทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่
2. ประเด็นก็คือ อดีตของ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ซึ่งเคยต้องคำพิพากษาศาลฎีกาให้ลงโทษจำคุกมาแล้ว ก็เป็นเชื้อมูลเหตุที่ทำให้ถูกร้องตรวจสอบ
แต่จะเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมหรือไม่? เข้าลักษณะต้องห้ามหรือเปล่า? คงต้องติดตามผลการพิจารณาของหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง ซึ่งก็จะต้องดูแนวทางคำชี้แจงต่อสู้ของฝ่ายนายกฯ ด้วยเช่นกัน
3. กรณี นพ.สุรพงษ์นั้น ต้องยอมรับความจริงว่า ท่านเคยมีประวัติกระทำผิดจนต้องเข้าไปรับโทษในคุกจริง
เป็นความจริงที่ปรากฏต่อสาธารณะอยู่แล้ว
อันที่จริง มี 2 คดีด้วยซ้ำ
3.1 คดีแก้สัมปทานดาวเทียม
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม.66/2558
ป.ป.ช. เป็นโจทก์ฟ้อง
นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จำเลยที่ 1
นายไกรสร พรสุธี อดีตรองปลัดกระทรวง จำเลยที่ 2 และนายไชยยันต์พึ่งเกียรติไพโรจน์ ผอ.สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ จำเลยที่ 3
กรณีอนุมัติให้มีการแก้ไขสัมปทานดาวเทียมบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ (บริษัทไทยคม) โดยอนุมัติให้บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท ไทยคม จากเดิมไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40เข้าข่ายความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้ บริษัท ชินคอร์ป
ศาลฎีกา พิพากษาให้จำเลยทั้ง 3 คน มีความผิดจริง
พิพากษาลงโทษจำคุกนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี 1 ปี ไม่รอลงอาญา
ส่วนอดีตปลัดกระทรวงไอซีที และอดีต ผอ.สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ พิพากษาจำคุก 1 ปี แต่รอลงอาญา 5 ปี เนื่องจากเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่มีอำนาจในการอนุมัติแก้ไข และสั่งปรับคนละ 20,000 บาท ทันที
โดยนพ.สุรพงษ์ได้รับโทษในเรือนจำ จนกระทั่งพ้นโทษออกมาเรียบร้อยแล้ว
3.2 คดีแทรกแซงการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิธนาคารแห่งประเทศไทย
คดีนี้ น่าจะเป็นอุทาหรณ์แก่ผู้เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกประธานคณะกรรมการ ธปท.และผู้ทรงคุณวุฒิ ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ด้วย
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษา
คดีที่ ป.ป.ช.เป็นโจทก์
ยื่นฟ้อง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือหมอเลี้ยบ อดีต รมว.คลัง รัฐบาลนายสมัครสุนทรเวช เป็นจำเลย
ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เป็นเหตุให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับความเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
จากกรณีเมื่อปี 2551 นพ.สุรพงษ์ แต่งตั้งประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ (บอร์ด) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมิชอบ เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ดของ ธปท. บางรายมีลักษณะต้องห้าม ตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 ซึ่งเคยถูกผู้ตรวจการแผ่นดินชี้มูลความผิดไปแล้ว
ศาลฎีกาฯ พิพากษาว่า นพ.สุรพงษ์ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท แต่โทษรอลงอาญา 1 ปี
ศาลพิเคราะห์เห็นว่า ในคณะกรรมการคัดเลือกฯที่ นพ.สุรพงษ์ แต่งตั้งนั้น มีอยู่ 3 ราย ได้แก่ นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ นายวิจิตร สุพินิจ และนายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ทั้งสามรายเป็นกรรมการบริหารธนาคารทหารไทย กรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบธนาคารทหารไทย และรองประธานกรรมการและกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย(ขณะนั้น) ตามลำดับ ซึ่งทั้งสามธนาคารดังกล่าว อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ซึ่งบอร์ด ธปท. มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลนโยบายทางการเงิน และเสถียรภาพการเงินของประเทศ ดังนั้น การที่ นพ.สุรพงษ์ จงใจแต่งตั้งบุคคลทั้ง 3 ราย เพื่อให้เลือกบุคคลที่ต้องการให้เข้าไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด ธปท. จึงอาจมีส่วนได้ส่วนเสียในอนาคตกับธนาคารที่อยู่ใต้กำกับของ ธปท. ได้
การกระทำดังกล่าว จึงขัดกับ พ.ร.บ.ธนาคารฯ มาตรา 28/1 วรรคสาม และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 มาตรา 9 ถือว่าทั้ง 3 ราย เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการคัดเลือก นพ.สุรพงษ์ จึงมีความผิดตามคำฟ้อง
3.3 เบื้องลึก บทเรียนการคัดเลือกประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด ธปท.
รายละเอียดเชิงลึก เกี่ยวกับคดีแทรกแซงการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น
น่าศึกษาเป็นบทเรียนไว้ด้วย เพราะตอนนี้ กำลังมีการคัดเลือกประธาน บอร์ด ธปท.อยู่พอดี
ครั้งนั้น นพ.สุรพงษ์ รมว.คลัง สั่งการผ่านปลัดกระทรวงการคลัง ถึง นางพรรณี สถาวโรดม ผอ.สำนักเศรษฐกิจการคลัง (ขณะนั้น) ให้คัดเลือกรายชื่อบรรดาบุคคลผู้มีคุณสมบัติตาม พ.ร.บ.ธนาคารฯ ฉบับที่ 4
โดยใน พ.ร.บ.ธนาคารฯ ฉบับที่ 4 มีการระบุคุณสมบัติไว้ชัดเจนว่า ต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงไม่มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับ ธปท.
หลังจากนางพรรณี คัดกรองรายชื่อเสร็จแล้วและเสนอเรื่องไปยังปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อนำเรียน รมว.คลัง พร้อมกับยกร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด ธปท.
โดยมีบุคคล 3 ราย ที่ถูกนางพรรณีทำเครื่องหมายดอกจันไว้ คือ นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ นายวิจิตร สุพินิจ และนายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ซึ่งทั้งสามราย เป็นกรรมการบริหารธนาคารทหารไทย กรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบธนาคารทหารไทย และรองประธานกรรมการและกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย (ขณะนั้น) ตามลำดับ ซึ่งเป็นบุคคลต้องห้ามที่จะเป็นกรรมการคัดเลือกฯ ตาม พ.ร.บ.ธนาคารฯ ฉบับที่ 4
ต่อมา “หมอเลี้ยบ” ได้เรียกนางพรรณีเพื่อมาพูดคุยที่ห้องทำงาน 2-3 ครั้ง โดย“หมอเลี้ยบ” ได้เขียนรายชื่อบุคคลที่ต้องการให้เข้ามาเป็นคณะกรรมการคัดเลือกฯ 7-8 ราย ให้กับนางพรรณี โดยต้องการให้นำบุคคลเหล่านี้มาเป็นกรรมการคัดเลือกฯ ซึ่งปรากฏรายชื่อของนายสถิตย์ นายวิจิตร และนายชัยวัฒน์ รวมอยู่ด้วย ทั้งที่เป็นบุคคลต้องห้ามตามที่นางพรรณีเคยทำเครื่องหมายดอกจันเรียนไว้ก่อนหน้านี้แล้ว
หลังจากนั้น นางพรรณี จึงได้ดำเนินการตามที่ “หมอเลี้ยบ” สั่งการ ได้ยกร่างคำสั่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ โดยมี 3 บุคคลข้างต้นดังกล่าว และ “หมอเลี้ยบ” ได้เซ็นคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในวันเดียวกันกับที่ได้ร่างคำสั่งดังกล่าวทันที
ต่อมา กระทรวงการคลังได้ส่งรายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่งประธานและกรรมการในบอร์ด ธปท. ให้กับคณะกรรมการคัดเลือกฯ จำนวน 6 ราย โดยปรากฏชื่อของ นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด (อสส. ขณะนั้น) และ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. (ขณะนั้น) รวมอยู่ด้วย ส่วน ธปท. ได้ส่งรายชื่อให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ จำนวน 12 ราย โดยมีชื่ออย่าง ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นต้น
ทว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้คัดเลือกบุคคลจากกระทรวงการคลังถึง5 ราย จาก 6 ราย โดยที่นายชัยเกษม และ พล.ต.อ.พัชรวาท ได้เป็นด้วย และเลือกบุคคลที่ ธปท. คัดเลือกมาเพียงแค่ 1 ราย จาก 12 ราย
ประเด็นนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายชัยเกษม และ พล.ต.อ.พัชรวาทไม่ได้มีคุณสมบัติเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องในเรื่องนโยบายทางการเงิน หรือการชำระเงินทางบัญชี แม้แต่น้อย ซึ่งอาจแสดงให้เห็นเจตนาว่า ในการแต่งตั้งนายสถิตย์นายวิจิตร และนายชัยวัฒน์ ซึ่งเป็นบุคคลต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ธนาคารฯ ฉบับที่ 4 ให้เป็นกรรมการคัดเลือกฯ เพื่อจงใจให้เข้ามาเลือกบุคคลที่ “หมอเลี้ยบ” ต้องการให้เข้ามาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด ธปท. อยู่แล้ว
นอกจากนี้ นายสถิตย์ นอกเหนือจากเป็นกรรมการบริหารธนาคารทหารไทยแล้ว ยังมีตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง (ขณะนั้น) ด้วย จึงน่าเชื่อได้ว่าสาเหตุที่ให้นายสถิตย์เข้ามา เพื่อคัดเลือกบุคคลที่ “หมอเลี้ยบ” วางไว้อยู่แล้ว
4. นี่คือ “กรรมเก่า”
และยังน่าจะเป็นบทเรียนในอดีต เตือนสติมาปัจจุบัน ไม่ควรมีใครทำผิดซ้ำรอยเดิม
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี