การเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ครั้งแรกของสยาม ที่เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม ได้มีขึ้นในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมจนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ผลของการเลือกตั้ง ได้ผู้แทนราษฎรจำนวนทั้งหมด 78 นาย นั่นก็คือไม่มีผู้แทนราษฎรที่เป็นสุภาพสตรีแม้แต่คนเดียว
ในการออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรกนี้มีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ 4,278,231 คน และมีผู้มาใช้สิทธิ์มากถึงร้อยละ 41.45 คือมาใช้สิทธิ์ 1,773,532 คน นับว่าประชาชนมีการตื่นตัวและสนใจมาออกเสียงเลือกตั้งกันเป็นจำนวนมาก ถือว่าเป็นเครดิตของรัฐบาลที่พยายามส่งเสริมและดำเนินการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง แม้จะเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมก็ตาม มีการบันทึกไว้ว่าจังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งน้อยที่สุดคือจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มีผู้มาออกเสียงใช้สิทธิ์เพียงร้อยละ 17.71 เท่านั้น ส่วนจังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งมากที่สุดคือจังหวัดในภาคกลางได้แก่จังหวัดเพชรบุรี มีจำนวนมากถึงร้อยละ 78.82
หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยประชาชนซึ่งถือว่าเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 แล้ว จึงได้มีการแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 จำนวน 78 คนเท่ากัน ขึ้นแทนสมาชิกสภาฯชั่วคราวที่ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ในจำนวนสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้ง 78 คน มีสมาชิกของคณะราษฎรหรือคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองอยู่เกินกว่ากึ่งหนึ่ง ต่างกับสมาชิกฯชุดชั่วคราวที่มีสมาชิกคณะราษฎรอยู่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง
พิธีเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่นี้ได้มีขึ้นในวันที่ 10 ธันวาคม โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ความตอนหนึ่งว่า
“วันที่ 10 ธันวาคม เป็นศุภมงคลวารสำหรับประชาชนชาติไทย เมื่อปีกลายนี้เป็นวันประกอบพระราชพิธีพระราชทานพระบรมราชานุมัติให้ตราและประกาศรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม เพื่อประชากรจะได้ดำรงอิสราธิปไตยโดยสมบูรณ์สืบไป
การที่จะให้รัฐธรรมนูญเป็นผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์นั้น จะจะต้องมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรกอร์ปด้วย สมาชิกสมาชิกทั้งสองประเภท ดั่งมีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ … … ข้าพเจ้าขอถืออุดมฤกษ์นี้เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 2 เป็นการประชุมสมัยสามัญ บัดนี้เป็นต้นไป”
ส่วนการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2476 ได้มีขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2476 เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกล่าวเปิดประชุมและอ่านข้อบังคับการประชุมฯให้ที่ประชุมฟัง แล้วเชิญ หลวงวัฒนคดี ผู้แทนฯจังหวัดพังงาซึ่งมีอายุมากที่สุดขึ้นทำหน้าที่ประธานชั่วคราวกล่าวนำการปฏิญาณตนและดำเนินการเลือกตั้งประธานและรองประธานสภาฯ ซึ่งได้มีการเสนอชื่อพระยาเทพหัสดิน รวมอยู่ด้วย แต่ท่านผู้นี้ได้ขอถอนตัวโดยอ้างเหตุผลที่น่าสังเกตมาก
“คือตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นตำแหน่งสำคัญ ควรเลือกเอาบุคคลที่มีคุณวุฑฒิ และมีฐานะดีพอสมควร รับรองทูตและชาวต่างประเทศได้ สำหรับข้าพเจ้าไม่ปฏิเสธว่าข้าพเจ้าไม่กว้างในสมาคมสมาคมชาวต่างประเทศ แต่ถ้าว่าฐานะส่วนตัวของข้าพเจ้ายังไม่ดีพอ เพราะบ้านข้าพเจ้าเป็นที่สำหรับประกอบการอาชีพในการรีดนมโค เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าความเสียใจที่จะรับตำแหน่งนี้ไม่ได้ เกรงว่าจะเป็นที่อับอายขายหน้าแก่ชาวต่างประเทศ ถ้าจะมีการต้อนรับในครอบครัว…”
ข้ออ้างนี้ทำให้มีผู้ได้รับการเสนอชื่อรายอื่นได้ขอถอนตัว โดยอ้างเหตุผลเดียวกันว่าไม่มีบ้านใหญ่โตที่จะรับรอง มีผู้ได้รับการเสนอชื่อที่ไม่ถอนตัวก็คืออดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของประเทศ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ที่ประชุมจึงได้เลือกท่านเป็นประธานสภาฯและได้เลือกรองประธานสภาฯคนที่ 1 ซึ่งได้แก่พระยาศรยุทธเสนีย์ สมาชิกสภาฯ ประเภทที่ 2 และเลือกนายพลโท พระยาเทพหัสดิน สมาชิกสภาฯประเภทที่ 1 เป็นรองประธานสภาฯคนที่ 2
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี